ตลาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศ : ชูกลยุทธ์แข่งขันลดราคา

การแข่งขันในตลาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น หลังจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้ออกใบอนุญาตแก่ผู้ให้บริการรายใหม่ รวมทั้งการให้บริการโทรศัพท์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ประกอบกับมูลค่าตลาดในแต่ละปีที่สูงกว่า 10,000 ล้านบาท ทำให้ตลาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศเป็นที่น่าสนใจและดึงดูดผู้ให้บริการรายใหม่เข้าสู่ตลาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงสภาพตลาดและแนวโน้มการเติบโตของตลาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

ลักษณะการให้บริการ … VoIP มีบทบาทสำคัญมากขึ้น ด้วยจุดแข็งด้านราคา

ตลาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศสามารถแบ่งการให้บริการออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
1. โทรศัพท์ระหว่างประเทศแบบต่อตรงผ่านเลขหมายปลายทางเพียงช่องสัญญาณเดียว(International Direct Dialing: IDD) เป็นรูปแบบของโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่ใช้กันโดยทั่วไป โดยผู้ใช้บริการจะโทรศัพท์แบบต่อตรงผ่านหมายเลข Access Code ด้วยโครงข่ายโทรศัพท์ระหว่างประเทศบนเทคโนโลยี TDM (Time Division Multiplexing) ซึ่งมีคุณภาพเสียงดี อัตราการหลุดของสัญญาณต่ำ แต่ค่าบริการจะอยู่ในระดับสูง โดยปัจจุบันมีผู้ให้บริการ IDD ด้วยเทคโนโลยี TDM อยู่ประมาณ 5 ราย

2. โทรศัพท์ระหว่างประเทศผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Voice over Internet Protocol: VoIP) เป็นการแปลงสัญญาณเสียงเพื่อส่งต่อไปยังปลายทางผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การโทรแบบ VoIP มีทั้งแบบใช้และไม่ใช้เลขหมายโทรศัพท์ รวมทั้งยังมีหลายรูปแบบด้วย เช่น คอมพิวเตอร์ไปคอมพิวเตอร์ (PC-to-PC) คอมพิวเตอร์ไปโทรศัพท์ (PC-to-Phone) โทรศัพท์ไปคอมพิวเตอร์ (Phone-to-PC) และโทรศัพท์ไปโทรศัพท์ (Phone-to-Phone) เป็นต้น ทั้งนี้ การโทรแบบ VoIP มีข้อดีคือค่าบริการอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมีต้นทุนในการดำเนินการต่ำกว่าการโทรแบบ IDD รวมทั้งยังสามารถเพิ่มเติม Application ต่างๆ เช่น การประชุมทางไกลผ่านวิดีโอ (Video Conference) การโทรศัพท์แบบเห็นหน้า (Video Call) เป็นต้น แต่ก็มีข้อเสียคือคุณภาพของสัญญาณเสียงต่ำ ทำให้อัตราการหลุดของสัญญาณสูง รวมทั้งอาจมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือและความปลอดภัย เนื่องจากเป็นการส่งสัญญาณผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นเครือข่ายสาธารณะ ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ VoIP อยู่ประมาณ 20 ราย อย่างไรก็ตาม บริการ VoIP โดยไม่ใช้เลขหมายในการโทรนั้นอาจเผชิญข้อจำกัดจากความรู้ความเข้าใจของผู้ใช้บริการที่ส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยบางส่วนยังมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยากในการใช้งาน ทำให้ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้ที่มีความรู้พื้นฐานในการใช้งานอินเทอร์เน็ต

3. โทรศัพท์ระหว่างประเทศผ่านบัตรโทรศัพท์ (International Calling Card) ผู้ใช้บริการจะต้องทำการซื้อบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศจากผู้จัดจำหน่ายต่างๆ เพื่อนำมาใช้โทรได้ตามมูลค่าบนบัตร ส่วนการคิดค่าบริการจะคิดตามอัตราที่ระบุไว้บนบัตร ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศประมาณ 40 ราย

ทั้งนี้ ในส่วนของการให้บริการจะเห็นได้ว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศบางรายเปิดให้บริการทั้ง 3 รูปแบบ คือ IDD VoIP และบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ

ภาวะการแข่งขันในตลาด … แข่งขันสูง ชูกลยุทธ์ด้านราคา

ภาวะการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศเริ่มมีการแข่งขันสูงขึ้น หลังจาก กทช. ได้ออกใบอนุญาตแก่ผู้ให้บริการรายใหม่ในตลาด ส่งผลให้จำนวนผู้ให้บริการในตลาดเพิ่มขึ้น ทั้งผู้ให้บริการ IDD (เทคโนโลยี TDM) และ VoIP โดยผู้ให้บริการ VoIP ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider: ISP) อยู่ก่อนแล้ว ผู้ให้บริการแต่ละรายต่างเน้นดำเนินกลยุทธ์แข่งขันด้านราคาเป็นหลัก ส่งผลให้อัตราค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศปรับลดลงมามาก ปัจจุบันค่าบริการโทรศัพท์แบบ IDD (เทคโนโลยี TDM) ขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 8 บาท/นาที ส่วนค่าบริการโทรศัพท์แบบ VoIP ผ่าน Access Code ขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 5 บาท/นาที และแบบไม่ผ่าน Access Code ขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 0.25 บาท/นาที รวมทั้งผู้ให้บริการยังนำกลยุทธ์การโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ มาใช้แข่งขันกันดึงดูดลูกค้าในแต่ละประเภท ทั้งตลาดที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของบริการและตลาดที่ให้ความสำคัญกับราคา ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวและค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ใช้บริการหันมาให้ความสำคัญกับราคาค่าบริการมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการ VoIP เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ใช้บริการ VoIP ผ่านเลขหมาย Access Code ทำให้ส่วนแบ่งมูลค่าตลาด VoIP มีสัดส่วนอยู่ในระดับสูงประมาณร้อยละ 40 ใกล้เคียง IDD (เทคโนโลยี TDM) ที่มีประมาณร้อยละ 55 อย่างไรก็ตาม การให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ใช้บริการและการปรับรูปแบบการใช้งานให้ง่ายมากขึ้นยังคงเป็นโจทย์สำคัญแก่ผู้ให้บริการ VoIP โดยเฉพาะแบบไม่ใช้หมายเลข หากต้องการขยายตลาดและฐานผู้ใช้บริการให้สูงขึ้น

สำหรับในด้านส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ยังเป็นของผู้ให้บริการรายเดิมในตลาด เนื่องจากเดิมโทรศัพท์ระหว่างประเทศเป็นบริการที่อยู่ในลักษณะการผูกขาดโดยรัฐ แม้ในปัจจุบันจะมีการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในตลาดมากขึ้นก็ตาม แต่ผู้ให้บริการรายเดิมยังคงมีความได้เปรียบในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความคุ้นเคยหรือความสะดวกในการใช้งานของลูกค้า เทคโนโลยีการให้บริการ ตลอดจนการเชื่อมต่อกับโครงข่ายในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการรายใหม่ที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อาจมีความได้เปรียบจากฐานลูกค้าในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่และสามารถจัดทำโปรโมชั่นร่วมได้อีกด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศอาจมีข้อจำกัดในการเลือกใช้บริการ เนื่องจากขณะนี้ผู้ใช้บริการบางส่วนไม่สามารถเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการทั้งหมดในตลาดได้ เช่น ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่บางเครือข่ายจะใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศได้จากผู้ให้บริการร่วมในเครือข่ายเท่านั้น เป็นต้น โดยการเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างผู้ให้บริการทั้งหมดอยู่ในระหว่างดำเนินการและคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้

สำหรับตลาดบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศมีส่วนแบ่งในมูลค่าตลาดรวมประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น เนื่องจากผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับบริการแบบ IDD และ VoIP อีกทั้งตลาดบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศมีผู้ประกอบการในตลาดเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการแข่งขันกันลดราคา อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการก็ได้มีการปรับกลยุทธ์ให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากขึ้น เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด เช่น เพิ่มบริการจดจำเลขหมาย เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายให้สะดวกมากขึ้น เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า การที่ตลาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศดึงดูดผู้ให้บริการรายใหม่เข้าสู่ตลาด ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากต้นทุนเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มถูกลง ความได้เปรียบด้านต้นทุนจากความสามารถในการใช้ต้นทุนในการประกอบการบางส่วนร่วมกันกับธุรกิจเดิมที่ทำอยู่ก่อนได้ (Economy of Scope) รวมทั้งการขยายตลาดหรือต่อยอดบริการของผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเพื่อแสวงหากำไรเพิ่มขึ้นและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ครบวงจร (Horizontal Diversification) ตลอดจนกระแสของธุรกิจในการหลอมรวมการให้บริการที่เกี่ยวข้องเข้าไว้ด้วยกัน (Convergence) ดังจะเห็นได้จากผู้ให้บริการรายใหญ่ในตลาดส่วนใหญ่จะเป็นผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต

สำหรับภาพรวมตลาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 10,500-11,000 ล้านบาท หดตัวประมาณร้อยละ 8-12 เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากปี 2550 ที่มีมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท หดตัวประมาณร้อยละ 8 โดยมีเหตุผลสำคัญมาจากการใช้กลยุทธ์แข่งขันกันลดราคาของผู้ให้บริการ โดยเฉพาะผู้ให้บริการรายใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาด อีกทั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญแรงกดดันจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้ผู้ใช้บริการหันไปเลือกใช้บริการโทรศัพท์แบบ VoIP และบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ซึ่งมีราคาถูกกว่าโทรศัพท์แบบ IDD (เทคโนโลยี TDM) จึงส่งผลให้มูลค่าตลาดโดยรวมปรับตัวลดลงจากปีก่อน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนปริมาณการใช้โทรศัพท์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอัตราค่าบริการที่ถูกลง รวมทั้งราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นก็เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการโดยเฉพาะนักธุรกิจหันมาใช้การโทรศัพท์ระหว่างประเทศหรือการประชุมทางไกลทางโทรศัพท์และวิดีโอ (Teleconference/Video Conference) แทนการเดินทางไปติดต่อธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากราคาตั๋วเครื่องบินปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมากว่าร้อยละ 50 จากการคิดค่าธรรมเนียมน้ำมัน (Fuel Surcharge) ของสายการบิน

แนวโน้มปี 2552 … แข่งขันสูงยิ่งขึ้น ทำให้มูลค่าตลาดอาจยังคงลดลง

สำหรับแนวโน้มตลาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศในปี 2552 คาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มการแข่งขันที่สูง โดยเฉพาะผู้ให้บริการ IDD (เทคโนโลยี TDM) และ VoIP ผ่านเลขหมาย Access Code เนื่องจากการเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ ส่งผลให้ผู้ใช้บริการจะมีทางเลือกในการเลือกใช้บริการมากขึ้น ทำให้คาดว่าผู้ให้บริการจะยังคงแข่งขันกันดำเนินกลยุทธ์ลดราคา แต่ราคาอาจมีโอกาสปรับลดลงได้ในอัตราที่น้อยกว่าปีนี้ เนื่องจากฐานราคาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำแล้ว รวมทั้งคาดว่าจะเกิดการแข่งขันกันพัฒนาคุณภาพการให้บริการเพื่อดึงดูดลูกค้ามากยิ่งขึ้น อีกทั้งผู้ให้บริการ VoIP และผู้จำหน่ายบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และการให้บริการเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันการแข่งขันในตลาดให้สูงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้าคาดว่าจะยังคงต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวลงจากวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา ทำให้เศรษฐกิจไทยอาจชะลอตัวลงตามไปด้วย ซึ่งอาจจะส่งผลให้ปริมาณการใช้งานโทรศัพท์ระหว่างประเทศชะลอตัวลงและมูลค่าตลาดมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงอีก โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าตลาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศในปี 2552 จะมีมูลค่าประมาณ 10,000-10,500 ล้านบาท หดตัวประมาณร้อยละ 5-10 เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากปี 2551 ที่มีมูลค่าประมาณ 10,500-11,000 ล้านบาท หดตัวประมาณร้อยละ 8-12 แม้จะเป็นการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นการหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงผลของสงครามราคาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นย่อมส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่จะได้รับบริการในราคาที่ถูกลงและคุณภาพดีขึ้น

สรุปและข้อคิดเห็น

ภาวะการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น หลังจาก กทช. ได้ออกใบอนุญาตแก่ผู้ให้บริการรายใหม่ในตลาด ส่งผลให้จำนวนผู้ให้บริการในตลาดเพิ่มขึ้น ผู้ให้บริการแต่ละรายต่างเน้นดำเนินกลยุทธ์แข่งขันด้านราคาเป็นหลัก ส่งผลให้อัตราค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศปรับลดลงมามาก โดยปัจจุบันค่าบริการโทรศัพท์แบบ IDD (เทคโนโลยี TDM) ขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 8 บาท/นาที ส่วนค่าบริการโทรศัพท์แบบ VoIP ผ่าน Access Code ขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 5 บาท/นาที และแบบไม่ผ่าน Access Code ขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 0.25 บาท/นาที รวมทั้งผู้ให้บริการยังนำกลยุทธ์การโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ มาใช้แข่งขันกันดึงดูดลูกค้า ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวและค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ผู้ใช้บริการจึงหันมาให้ความสำคัญกับราคาค่าบริการมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการ VoIP เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ใช้บริการ VoIP ผ่านเลขหมาย Access Code รวมทั้งยังส่งผลให้ส่วนแบ่งมูลค่าตลาด VoIP อยู่ในระดับสูงประมาณร้อยละ 40 ใกล้เคียงกับ IDD (เทคโนโลยี TDM) ที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 55 สำหรับบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศมีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น เนื่องจากผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับบริการแบบ IDD และ VoIP อีกทั้งตลาดบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศก็มีผู้ประกอบการในตลาดเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการแข่งขันกันลดราคาระหว่างกัน

ภาพรวมตลาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 10,500-11,000 ล้านบาท หดตัวประมาณร้อยละ 8-12 เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากปี 2550 ที่มีมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท หดตัวประมาณร้อยละ 8 โดยมีเหตุผลสำคัญมาจากการใช้กลยุทธ์แข่งขันกันลดราคาของผู้ให้บริการ อีกทั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญแรงกดดันจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นป็นอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้ผู้ใช้บริการหันไปเลือกใช้บริการโทรศัพท์แบบ VoIP และบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ซึ่งมีราคาถูกกว่าโทรศัพท์แบบ IDD (เทคโนโลยี TDM) จึงทำให้มูลค่าตลาดโดยรวมปรับตัวลดลงจากปีก่อน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนปริมาณการใช้โทรศัพท์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นค่าบริการที่ถูกลง รวมทั้งราคาน้ำมันที่สูงขึ้นก็เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการโดยเฉพาะนักธุรกิจหันมาใช้การโทรศัพท์ระหว่างประเทศหรือการประชุมทางไกลทางโทรศัพท์และวิดีโอมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มตลาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศในปี 2552 คาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มการแข่งขันที่สูง โดยเฉพาะผู้ให้บริการ IDD (เทคโนโลยี TDM) และ VoIP ผ่าน Access Code เนื่องจากการเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ ส่งผลให้ผู้ใช้บริการจะมีทางเลือกในการเลือกใช้บริการมากขึ้น ทำให้คาดว่าผู้ให้บริการจะยังคงแข่งขันกันดำเนินกลยุทธ์ลดราคา แต่ราคาอาจมีโอกาสปรับลดลงได้ในอัตราที่น้อยกว่าปีนี้ เนื่องจากฐานราคาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำแล้วรวมทั้งแข่งขันกันพัฒนาคุณภาพการให้บริการให้สูงขึ้น นอกจากนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีหน้าคาดว่าจะชะลอตัวลงกว่าปีนี้ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณการใช้งานโทรศัพท์ระหว่างประเทศชะลอตัวลงและมูลค่าตลาดมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงได้อีก โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าตลาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศในปี 2552 จะมีมูลค่าประมาณ 10,000-10,500 ล้านบาท หดตัวประมาณร้อยละ 5-10 แม้จะเป็นการหดตัวในอัตราที่ชะลอลง แต่ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากปี 2551ที่มีมูลค่าประมาณ 10,500-11,000 ล้านบาท หดตัวประมาณร้อยละ 8-12