การลงทุนในทองคำ…ยังคงเผชิญกับความผันผวนตามภาวะตลาดเงินตลาดทุนโลก

สถานการณ์ทองคำของโลกกำลังเผชิญความผันผวนอย่างมาก โดยในช่วงเดือนมีนาคมราคาทองคำทะยานตัวไปถึงระดับ 1002.3 ดอลลาร์ฯ / ออนซ์ ซึ่งเป็นราคาที่สูงเป็นประวัติการณ์ หลังจากนั้นราคาทองคำได้เริ่มดิ่งตัวลงมาเรื่อยๆจนมาสู่ระดับต่ำสุดในช่วงต้นเดือนกันยายน โดยอยู่ที่ระดับ 746.8 ดอลลาร์ฯ / ออนซ์ ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดตั้งแต่ต้นปี 2551 เลยทีเดียว จะเห็นว่าในช่วงระยะเวลาภายใน 2 เดือนราคาทองคำดิ่งตัวลงมาเกือบ 24% อย่างไรก็ตามขณะนี้ราคาทองคำได้ทยอยปรับตัวขึ้นมาจากจุดต่ำสุดแล้ว โดยขณะนี้ราคาทองคำ ณ วันที่ 8 ต.ค. 2551 อยู่ที่ระดับ 906.50 ดอลลาร์ฯ / ออนซ์ ภายหลังการพร้อมใจกันปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงฉุกเฉินของธนาคารกลางชั้นนำของโลกถึง 8 แห่ง ได้แก่ธนาคารกลางสหรัฐ ยุโรป อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา สวีเดน จีน และฮ่องกง ในขณะเดียวกันกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ประกาศปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งในปีนี้และปีหน้าลงจากเดิมอีกด้วย ทั้งนี้การขึ้นลงของราคาทองคำมีสาเหตุมาจากการซื้อขายเก็งกำไรระยะสั้นของกองทุนต่างประเทศ (Hedge Funds) รวมถึงภาวะความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากปัญหาความยืดเยื้อของวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯที่มีผลลุกลามไปยังสถาบันการเงินในประเทศอื่นของโลก อาทิ อังกฤษ ยุโรป และเยอรมนี

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลและการเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำตลอดช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงแนวโน้มราคาทองคำในตลาดโลกและประเทศไทยไว้ ดังนี้

การปรับตัวของราคาทองคำในตลาดโลกและในประเทศไทย
• ช่วงขาขึ้นของราคาทองคำ (ม.ค. – มี.ค. 2551) ในช่วงต้นปีเป็นช่วงที่เรียกว่าขาขึ้นของราคาทองคำก็ว่าได้ โดยราคาทองคำในตลาดโลกได้ทะยานตัวขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง ไปสู่ระดับราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ระดับ 1,002.3 ดอลลาร์ฯ / ออนซ์ ณ วันที่ 17 มี.ค. 2551 ขณะที่ราคาทองคำของไทยก็ปรับตัวขึ้นไปตามราคาตลาดโลก ทั้งนี้การที่ราคาทองคำดีดตัวขึ้นมาสูงมาก มีสาเหตุมาจากปัจจัยต่างๆดังนี้ ประการแรก ค่าเงินดอลลาร์ฯอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากความยืดเยื้อของปัญหาวิกฤตการณ์สินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Sub-prime) รวมถึงปัญหาความมั่นคงของสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ทำให้สถาบันการเงินต่างๆและกองทุนเก็งกำไรต่างเทขายสินทรัพย์ที่เป็นเงินดอลลาร์ฯออกมา และหันไปให้น้ำหนักกับการลงทุนในเงินสกุลอื่น หรือสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากกว่า เช่นทองคำ จนเป็นเหตุให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ประการที่สอง ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ โดยปัจจัยที่สร้างแรงกดดันเงินเฟ้อมาจากการพุ่งทะยานทำสถิติใหม่ของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2550 เป็นต้นมา ทำให้มีการลงทุนในทองคำมากขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อดังกล่าว ประการที่สาม การซื้อขายทองคำอย่างเสรีในส่วนต่างๆของโลก ดังเช่นกรณีประเทศจีนที่เปิดให้มีการซื้อขายทองคำล่วงหน้าได้อย่างเป็นทางการในวันที่ 9 ม.ค. 2551 ทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ในจีนต่างแห่กันมาลงทุนในตลาดซื้อขายทองคำล่วงหน้าเพื่อเก็งกำไรกันอย่างคับคั่ง ทั้งนี้ตลาดซื้อขายทองคำของจีนเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอินเดียเลยทีเดียว

ช่วงที่มีความผันผวนขึ้นลงของราคาทองคำสูง (เม.ย.–ก.ค. 2551) ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้ราคาทองคำผันผวนขึ้นลงเนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯเผชิญกับความผันผวนค่อนข้างมากทำให้นักลงทุนโยกเงินไปมาระหว่างสินทรัพย์เงินสกุลดอลลาร์ฯกับทองคำ ทั้งนี้ในช่วงดังกล่าวตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯหลายตัวที่ประกาศออกมาปรับตัวดีขึ้นเกินความคาดหมาย ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในเงินดอลลาร์ฯกลับมาบ้าง แต่อย่างไรก็ตามสหรัฐฯก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องของสถาบันการเงินและความเสี่ยงเงินเฟ้อที่ขยายตัวขึ้นไปเรื่อยๆ จึงทำให้การซื้อขายเก็งกำไรทองคำในช่วงเวลาดังกล่าวมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูงและส่งผลให้ราคาทองคำผันผวนค่อนข้างมาก

ช่วงขาลงของราคาทองคำ (ตั้งแต่กลางเดือน ก.ค. 2551 เป็นต้นมาจนถึงเดือนต้นเดือน ก.ย. 2551 ) โดยราคาทองคำดิ่งลงมาสู่ราคาต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2551 ณ ระดับ 746.8 ดอลลาร์ฯ / ออนซ์ ณ วันที่ 11 ก.ย. 2551 ขณะที่ราคาทองคำแท่งในประเทศได้ลงไปอยู่จุดต่ำสุดที่บาทละ 12,650 บาท ในวันที่ 11-12 ก.ย. 2551 ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำดิ่งตัวลงมาอย่างเห็นได้ชัดมาจาก ประการแรก การฟื้นตัวของค่าเงินดอลลาร์ฯ เนื่องจากก่อนหน้านี้ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ทยอยประกาศออกมานั้นดีเกินคาด ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ รวมถึงการที่ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศในแถบยูโรโซนที่ประกาศออกมาค่อนข้างน่าผิดหวัง ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนอาจจะประสบกับภาวะถดถอย กอปรกับการกระเตื้องขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้บรรดากองทุนต่างประเทศ (Hedge Funds) ลดการเก็งกำไรในทองคำลง และหันไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นแทน เช่น ตลาดหุ้น ประการที่สอง ความเสี่ยงเงินเฟ้อที่ลดลงจากจากการดิ่งตัวของราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่องหลังมีสัญญาณอุปสงค์ของความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงจากปัจจัยการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้มีการเทขายสัญญาคำสั่งซื้อทองคำออกมาเป็นจำนวนมาก ประการที่สาม การที่ธนาคารกลางโดยเฉพาะในแถบยุโรปต่างเทขายทองคำออกมาเพื่อที่จะนำรายได้จากการขายทองคำมาเพิ่มการสำรองเงินตราต่างประเทศและนำเงินมาอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดเงิน เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในทั่วทุกภูมิภาค

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนจนถึงปัจจุบันราคาทองคำกลับมามีแนวโน้มปรับขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯมีความผันผวนมากจากข่าวร้ายวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯที่ประสบปัญหาสภาพคล่องเป็นอย่างมาก ทำให้นักลงทุนมีความวิตกกังวลที่จะลงทุนในสินทรัพย์เงินสกุลดอลลาร์ฯจึงมีการโยกเงินไปลงทุนในทองคำมากขึ้น อย่างไรก็ตามหลังจากที่รัฐสภาสหรัฐฯได้ลงมติอนุมัติแผนฟื้นฟูภาคธนาคารวงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ฯ เรียบร้อยแล้ว ก็ทำให้ราคาทองคำเริ่มปรับตัวลงมาเล็กน้อย แต่ล่าสุดราคาทองคำก็ได้ขยับตัวขึ้นอีก หลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกที่นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

ผลกระทบจากการผันผวนของราคาทองคำที่มีต่อตลาดทองคำในประเทศ
เนื่องจากราคาทองคำของไทยมีความสัมพันธ์กับราคาทองคำในตลาดโลกเกือบ 100% ทำให้ทิศทางของราคาทองคำในประเทศผันผวนขึ้นลงตามราคาในตลาดโลกอย่างมาก โดยในจังหวะที่ราคาทองคำดิ่งลงไปมากนั้น ร้านทองจำเป็นต้องออกใบจองให้แก่ลูกค้าไว้ก่อน เนื่องจากสต๊อกทองคำมีไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และยังต้องใช้ระยะเวลาในการสั่งนำเข้าทองคำขณะนั้นประมาณหนึ่งอาทิตย์จนมีผลทำให้มีการนำเข้าทองคำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือน ส.ค.–ก.ย. (เดือน ส.ค. 2551 มีมูลค่าการนำเข้าทองคำสูงถึง 32,972.23 ล้านบาท เทียบกับมูลค่านำเข้าเฉลี่ยในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า 9,361.98 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวของการนำเข้าถึง 250%) อย่างไรก็ตามในจังหวะที่ราคาทองคำเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ลูกค้ารายย่อยก็จะนำทองคำมาขายทำกำไรกับร้านทองจำนวนมาก ทำให้ร้านทองต้องส่งออกทองคำเพื่อลดผลกระทบ (เดือน ก.ค. มีการมูลค่าส่งออกทองคำ 16,330.9 ล้านบาท เทียบกับมูลค่าส่งออกเฉลี่ยในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า 6,477.99 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวของการส่งออกถึง 150%) ภาพดังกล่าวนอกจากจะสะท้อนถึงพฤติกรรมการปรับตัวของร้านทองท่ามกลางภาวะความผันผวนของราคาทองคำแล้ว ก็ยังสะท้อนถึงความสนใจของนักลงทุนรายย่อยในทองคำที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

แนวโน้มของราคาทองคำที่ยังคงจะผันผวน
แม้ว่าในช่วงตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมจนกระทั่งสิ้นเดือนกันยายน และช่วงปลายเดือนกันยายนไปจนถึงต้นเดือนตุลาคม ราคาทองคำได้ทยอยปรับลดลงมาจากสาเหตุหลากปัจจัย อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่าราคาทองคำอาจจะมีปัจจัยหนุนแต่ก็จะยังคงมีความผันผวน โดยปัจจัยที่ต้องจับตาได้แก่

ปัจจัยในระยะสั้น
1. ความผันผวนเศรษฐกิจของสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลก
ดังจะเห็นได้จากปัญหาวิกฤตทางการเงินของสถาบันการเงินสหรัฐฯหลายแห่งที่กำลังเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องอย่างมาก ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯได้พยายามได้เสนอแผนกู้วิกฤตภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเพิ่งผ่านการพิจารณาของรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามเนื่องจากขอบเขตของปัญหาวิกฤตการเงินในครั้งนี้ได้ขยายวงกว้างออกไป จึงทำให้อาจต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หรือ 1 ปี จนกว่าปัญหาดังกล่าวจะลงไปสู่จุดที่เลวร้ายที่สุด ขณะเดียวกันในช่วงเวลาดังกล่าวอาจจะมีข่าวร้ายในตลาดการเงินสหรัฐฯตามมาอีกจนทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอาจจะให้เงินดอลลาร์ฯ ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันต่อไปอีกระยะหนึ่ง (ดอลลาร์ฯอ่อนค่าลงไป) จนทำให้นักลงทุนโยกการลงทุนมายังทองคำมากขึ้น โดยในขณะนี้ราคาทองคำในตลาดโลกได้เริ่มขยับตัวขึ้นมาอยู่เหนือ 900 ดอลลาร์ฯ / ออนซ์แล้ว อย่างไรก็ตามแนวโน้มราคาทองคำอาจจะไม่ได้ขยับขึ้นไปตามที่คาดการณ์ไว้ หากมีปัจจัยอื่นแทรกเข้ามาในช่วงเวลาดังกล่าว เช่น ถ้าตลาดมีความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในสหรัฐฯอาจฟื้นตัวได้เร็ว และมาตรการกอบกู้วิกฤตการเงินของทางการสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการอื่นๆ อาทิ มาตรการด้านอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางชั้นนำของโลกได้ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่องในตลาดเงินท่ามกลางวิกฤตการเงินที่เลวร้าย เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ฯลฯ รวมถึงมาตรการอื่นๆที่อาจจะออกมาเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งอาจมีผลในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและช่วยยับยั้งความเสียหายในตลาดการเงินโลกได้ จนทำให้ค่าเงินดอลลาร์ฯกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง หรือการเทขายทองคำออกมาเพื่อเก็งกำไรของบรรดากองทุนต่างๆ เป็นต้น

2. ความต้องการของทองคำที่เพิ่มขึ้นของผู้ซื้อทองรายใหญ่ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง เทศกาลเฉลิมฉลองในอินเดีย (ผู้ซื้อทองรายใหญ่ที่สุดของโลก) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาทองคำขยับขึ้นในทุกๆปี โดยความต้องการทองคำในอินเดีย จะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลวิวาห์ ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงเดือน ก.ย. ถึงเดือน ธ.ค. นอกจากนั้นกลุ่มผู้ซื้อก็จะซื้อโลหะมีค่าและทองคำเพื่อใช้ใน “เทศกาลทิวาลี” หรือ “เทศกาลแห่งความสว่าง” ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2545 เป็นต้นมา เทศกาลเฉลิมฉลองในอินเดียเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนราคาทองคำพุ่งขึ้นทุกๆปี และจากสถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ราคาทองคำมักปรับตัวขึ้นโดยเฉลี่ย 10.1% ในช่วงเดือน ก.ย. ถึง ธ.ค.ของทุกปี

ปัจจัยในระยะยาว

สำหรับในระยะยาว ราคาทองคำคาดว่ายังมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นได้อีกเนื่องจากเมื่อพิจารณาถึงการลงทุนในทองคำพบว่าอุปสงค์ในทองคำยังคงมีมากกว่าอุปทานของทองคำ โดยส่วนใหญ่แล้วความต้องการลงทุนในทองคำ มาจากการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับเกือบ 70% เลยทีเดียว นอกจากนั้นก็ใช้เป็นปัจจัยการผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆเช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ วัสดุทันตกรรม หรือเหรียญต่างๆ ดังที่รายงาน Gold Demand Trends ของสภาทองคำโลก ณ วันที่ 13 ส.ค. 51 ว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 มีการใช้เม็ดเงินดอลลาร์ฯในการลงทุนในทองคำทั่วโลกทั้งหมดถึง 21,198 ล้านดอลลาร์ฯ โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 ถึง 9% จากเดิมที่อยู่ระดับ 20,496 ล้านดอลลาร์ฯ โดยอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของทองคำนั้นจะอยู่ในประเทศ อินเดีย จีน อียิปต์ สหรัฐฯและเวียดนาม ขณะที่ปริมาณทองคำที่ผลิตได้จากเหมืองทั่วโลกกลับมีอย่างจำกัด เนื่องจากการสำรวจทองคำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีจำนวนที่น้อยมาก และแม้ว่าจะมีการสำรวจเพิ่มขึ้นก็ต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมหาศาล โดยขั้นตอนในการสร้างเหมืองแต่ละแห่งเพื่อที่จะสามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ต้องใช้ระยะเวลาถึง 7 ปี ขณะที่เหมืองบางแห่งก็ต้องประสบกับภาวะการชะงักงันในการผลิตทองคำเนื่องจากประสบกับวิกฤตทางด้านพลังงาน อันส่งผลให้ปริมาณการผลิตทองคำในตลาดโลกลดต่ำลงมามากกว่าปกติ กอปรกับการที่ธนาคารกลางของประเทศชั้นนำของโลกอาจจะทำการลดการเทขายทองคำออกมาเนื่องจากมีความกังวลต่อภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยธนาคารกลางเหล่านี้น่าจะกลับมาให้ความสำคัญกับเงินสำรองของประเทศในรูปของทองคำมากขึ้น จึงทำให้ทองคำบางส่วนหายไปจากตลาด จนกระทั่งส่งผลบวกต่อราคาทองคำที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นได้ในระยะยาว นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ระดับโลกอ้างอิงถึงผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเยลและเพนซิวาเนียที่พบว่าการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ในระยะ 10 ปี จะได้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในตราสารทุนถึง 300% เลยทีเดียว เนื่องจากแนวโน้มของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในระยะยาวจะปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจุบันตามความต้องการของผู้บริโภคที่เติบโตสูงขึ้นในประเทศจีนและอินเดีย ในขณะที่แหล่งผลิตมีอยู่จำกัด เช่นทองคำ น้ำมัน และสินค้าเกษตร

สรุปโดยรวม สถานการณ์ราคาทองคำเผชิญความผันผวนตลอดตั้งแต่ต้นปี 2551 เป็นต้นมา ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการเก็งกำไรของกองทุนต่างประเทศและความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก รวมถึงวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯที่มีผลลุกลามไปประเทศอื่นๆด้วย ทั้งนี้ราคาทองคำเผชิญทั้งทิศทางขาขึ้นและขาลง โดยในช่วงต้นปี 2551 จนไปถึงกลางเดือน มี.ค.2551 นั้นเป็นช่วงขาขึ้นของราคาทองคำเนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ฯอ่อนแอจนทำให้บรรดากองทุนเก็งกำไร (Hedge Funds) ต่างเทขายสินทรัพย์ที่เป็นเงินดอลลาร์ฯออกมา และหันไปให้น้ำหนักกับการลงทุนในทองคำมากขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงเงินเฟ้อและการซื้อขายทองคำอย่างเสรีในส่วนต่างๆของโลกต่างก็เป็นปัจจัยหนุนที่ทำให้ราคาทองคำทะยานตัวขึ้นไปยังราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 1,002.3 ดอลลาร์ฯ / ออนซ์ (ณ วันที่ 17 มี.ค. 2551) อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นในช่วงเดือนเม.ย – ก.ค. 2551 ก็ต้องประสบกับภาวะความผันผวนขึ้นลงของราคาทองคำ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯเผชิญกับความผันผวนค่อนข้างมาก ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวนักลงทุนโยกเงินไปมาระหว่างสินทรัพย์เงินสกุลดอลลาร์ฯกับทองคำอย่างมากจนส่งผลให้ราคาทองคำแกว่งตัวค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามราคาทองคำได้เผชิญกับทิศทางขาลง ซึ่งเริ่มตั้งแต่กลางเดือน ก.ค. 2551 จนถึงต้นเดือน ก.ย. 2551 โดยราคาทองคำได้ชะลอตัวลงมาเรื่อยๆ จนมาสู่จุดต่ำสุด ณ ช่วงต้นเดือน ก.ย. ที่ระดับ 746.8 ดอลลาร์ฯ / ออนซ์ โดยเป็นราคาที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2551 เลยทีเดียว ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำปรับลงไปนั้นได้แก่ แรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงจากการดิ่งตัวของราคาน้ำมัน การฟื้นตัวของเงินดอลลาร์ฯ การเก็งกำไรของกองทุนต่างประเทศ และการเทขายทองคำของธนาคารกลาง ซึ่งการดิ่งตัวของราคาทองคำนั้นทำให้คนไทยมีความต้องการเข้ามาเก็งกำไรในทองคำมากขึ้นมากขึ้นกว่าในอดีต โดยจังหวะที่ราคาทองคำลงมามากๆ ร้านทองต้องออกใบจองให้กับลูกค้าเลยทีเดียว เนื่องจากทองคำในสต๊อกมีไม่เพียงพอและต้องใช้ระยะเวลาในการนำเข้าเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามขณะนี้ราคาทองคำได้มีการทยอยปรับขึ้นมาบ้างแล้ว หลังจากที่ลดลงไปในช่วงก่อนหน้า โดยปัจจุบันราคาทองคำแท่งในไทย ณ วันที่ 8 ต.ค. 2551 อยู่ที่บาทละ 14,550 ส่วนแนวโน้มของราคาทองคำในอนาคตนั้นมีการคาดการณ์ว่า แม้ราคาทองคำอาจจะมีปัจจัยหนุนแต่ก็จะยังคงต้องเผชิญกับความผันผวน โดยปัจจัยที่ต้องติดตามได้แก่ ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯจากการขาดสภาพคล่อง ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯได้พยายามเสนอแผนกู้วิกฤตภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ฯซึ่งเพิ่งผ่านการพิจารณาของรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามเนื่องจากขอบเขตของปัญหาวิกฤตการเงินในครั้งนี้ได้ขยายวงกว้างออกไป จึงทำให้อาจต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หรือ 1 ปี จนกว่าปัญหาดังกล่าวจะลงไปสู่จุดที่เลวร้ายที่สุด กอปรกับข่าวร้ายของตลาดการเงินสหรัฐฯที่อาจจะมีตามมาอีกจนอาจทำให้ค่าเงินดอลลาร์ฯได้รับแรงกดดันและหนุนให้ราคาทองคำทะยานตัวขึ้นมาได้อีก โดยล่าสุดราคาทองคำก็ได้ปรับตัวขึ้นรับข่าวการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆที่นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นอกจากนี้ความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้นของผู้ซื้อทองรายใหญ่ที่สุดในโลก (อินเดีย) ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. ของทุกปีก็น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันราคาทองคำให้สูงขึ้นไปได้ ทั้งนี้สำหรับผู้ที่สนใจที่จะเข้าไปลงทุนในทองคำนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการเข้าไปลงทุนในลักษณะการเก็งกำไรยังคงมีความเสี่ยงสูง โดยผู้ลงทุนรายย่อยต้องพึงระมัดระวังความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาทองคำ เนื่องจากถ้าเข้าไปซื้อขายผิดจังหวะก็อาจจะมีโอกาสขาดทุนได้ กอปรกับตลาดซื้อขายทองคำมีสภาพคล่องค่อนข้างจำกัด ดังนั้นการลงทุนในทองคำเพื่อที่จะได้ผลกำไรนั้นควรที่จะเป็นการลงทุนในระยะยาวมากกว่าการเข้าไปเก็งกำไรในระยะสั้น ทั้งนี้สำหรับผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนในทองคำควรที่จะศึกษาถึงผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเงินดอลลาร์ฯ ราคาน้ำมัน หรือภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก ฯลฯ เพื่อจะสามารถคาดการณ์ทิศทางของราคาทองคำให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และได้ผลตอบแทนระยะยาวที่คุ้มค่าในอนาคต