ข้าวหอมมะลิ : ครองส่วนแบ่งตลาด 75% ในตลาดสหรัฐฯ…พึงระวังผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ

ท่ามกลางความวิตกกังวลถึงผลกระทบจากปัญหาวิกฤตทางการเงินของสหรัฐฯที่จะส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจทั้งสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกซบเซา ผลกระทบต่อเนื่องถึงการส่งออกในปี 2552 มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะสินค้าส่งออกที่พึ่งพิงตลาดสหรัฐฯเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์ปัจจุบันข้าวหอมมะลินับว่าเป็นหนึ่งในบรรดาสินค้าเกษตรที่คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย และเป็นสินค้าที่ยังมีโอกาสที่จะเติบโตในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในสหรัฐฯ รวมทั้งภาครัฐบาลเป็นหัวหอกนำภาคเอกชนเข้าไปเจาะขยายตลาดข้าวหอมมะลิในสหรัฐฯ และราคาข้าวหอมมะลิของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าข้าวหอมที่ผลิตได้ในสหรัฐฯประมาณ 92 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่งผลให้ตลาดข้าวหอมมะลิในสหรัฐฯเติบโตอย่างมากในปี 2551 และคาดการณ์ว่าการส่งออกข้าวหอมมะลิไปยังตลาดสหรัฐฯ ในปี 2552 ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิไปยังตลาดสหรัฐฯยังคงต้องติดตามผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯอย่างใกล้ชิด เนื่องจากถ้าผลกระทบนั้นรุนแรงมากกว่าที่ประเมินในปัจจุบัน และเศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะกระทบถึงกำลังซื้อของคนอเมริกัน และส่งผลต่อเนื่องที่อาจทำให้ยอดจำหน่ายข้าวหอมมะลิในตลาดสหรัฐฯ ที่จัดว่าเป็นสินค้าพรีเมี่ยมชะลอตัวลงได้

ข้าวหอมมะลิเป็นข้าวคุณภาพดีมีชื่อเสียงของไทย มีความหอม อ่อนนุ่ม และรสชาติอร่อย เป็นที่นิยมบริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ผลิตและส่งออกข้าวหอมมะลิ ในแต่ละปีไทยผลิตข้าวหอมมะลิได้ประมาณ 3 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของผลผลิตข้าวทั้งหมด ผลผลิตข้าวหอมมะลิร้อยละ 75 ใช้บริโภคในประเทศ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 25 ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ

ข้าวหอมมะลิเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศปีละเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 25-30 ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมด สหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย โดยมีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิทั้งหมด และในแต่ละปีไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไปตลาดสหรัฐฯประมาณ 400,000 ตัน ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 มูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิไปยังตลาดสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเป็น 212.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 89.5 ส่วนหนึ่งเนื่องจากราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อันเป็นผลมาจากความวิตกกังวลว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนข้าว แต่อีกปัจจัยหนึ่งคือ ความต้องการข้าวหอมมะลิในตลาดสหรัฐฯเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากความนิยมบริโภคข้าวหอมมะลิในตลาดสหรัฐฯมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และราคาข้าวหอมมะลิยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาข้าวหอมที่ผลิตในสหรัฐฯ โดยในปี 2550 ราคาข้าวหอมมะลิต่ำกว่าข้าวหอมที่ผลิตในสหรัฐฯ 82 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน แต่ในปี 2551 ความแตกต่างกันของราคาเพิ่มขึ้นเป็น 92 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ทำให้ความต้องการข้าวหอมมะลิในตลาดสหรัฐฯมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ตลาดสหรัฐฯมีความต้องการนำเข้าข้าวในแต่ละปีน้อยมาก โดยข้าวที่นำเข้าจะเป็นข้าวที่ไม่สามารถผลิตได้เองภายในประเทศ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิของไทย และข้าวบัสมาติของอินเดีย เนื่องจากสหรัฐฯเป็นประเทศส่งออกข้าวอันดับ 3 ของโลก รองจากไทย เวียดนาม และปากีสถาน กล่าวคือในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาสหรัฐฯนำเข้าข้าวเฉลี่ยเกือบ 700,000 ตันข้าวสาร คิดเป็นประมาณร้อยละ 17.0 ของปริมาณข้าวที่บริโภคในสหรัฐฯ ข้าวที่สหรัฐฯนำเข้าส่วนใหญ่มาจากแหล่งในเอเชีย โดยมาจากไทยร้อยละ 75.0 อินเดียร้อยละ 12.0 จีนร้อยละ 8.0 และอื่นๆร้อยละ 5.0 โดยข้าวที่นำเข้าจากไทยร้อยละ 90.0 เป็นข้าวหอมมะลิ สัดส่วนของข้าวหอมมะลิไทยนั้นมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70 ของปริมาณการนำเข้าข้าวทั้งหมดของสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับข้าวบัสมาติของอินเดีย ปริมาณการนำเข้าข้าวหอมมะลิสูงกว่าถึง 4 เท่า

ลูกค้าเป้าหมายในการบริโภคข้าวที่นำเข้าในสหรัฐฯคือ ภัตตาคารและร้านอาหารไทย และบรรดาชาวเอเชีย รวมทั้งคนไทยที่เข้าไปตั้งถิ่นฐาน ไปทำธุรกิจ หรือไปเรียน โดยกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายสำหรับสินค้าข้าวในสหรัฐฯแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1.กลุ่มเป้าหมายหลัก คนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย และคนย้ายถิ่นฐานจากเอเชีย ซึ่งนิยมบริโภคข้าวเป็นหลัก ในกลุ่มนี้ผู้ที่มีเชื้อสายจีน เวียดนาม กัมพูชา ลาวและไทย นิยมบริโภคข้าวที่มาจากประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักในเรื่องคุณภาพและรสชาติ ส่วนผู้ที่มีเชื้อสายอินเดีย ปากีสถาน และตะวันออกกลางจะนิยมบริโภคข้าวบาสมาติ ซึ่งในปี 2551 เมื่ออินเดียจำกัดการส่งออกข้าวบัสมาติ ทำให้ผู้บริโภคข้าวกลุ่มนี้หันมาบริโภคข้าวหอมมะลิแทน

2.กลุ่มเป้าหมายรอง คนอเมริกันที่จะรับประทานข้าวเป็นเพียงส่วนประกอบของอาหารจานหลัก(Side Dish) ในบางมื้อ ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยที่นิยมรับประทานข้าวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารไทย จีน เวียดนาม หรืออินเดีย เดิมนั้นคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียและแอฟริกาที่มีรายได้น้อยนิยมบริโภคข้าวเมล็ดยาวที่มาจากสหรัฐฯเช่นเดียวกัน เนื่องจากราคาจำหน่ายปลีกข้าวเมล็ดยาวที่ผลิตในสหรัฐฯมีราคาถูกกว่าข้าวจากไทยร้อยละ 40-50 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2550 ราคาเฉลี่ยข้าวหอมมะลิของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าข้าวหอมที่ผลิตในสหรัฐฯ กล่าวคือ ในปี 2550 ราคาเฉลี่ยข้าวหอมมะลิที่จำหน่ายปลีกในสหรัฐฯต่ำกว่าข้าวหอมที่ผลิตในสหรัฐฯประมาณ 82 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่วนในระยะที่ผ่านมาของปี 2551 ความแตกต่างของราคาเพิ่มขึ้นเป็น 92 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ข้าวหอมมะลิไทยเป็นที่ชื่นชอบของคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียมากกว่าข้าวขาวพันธุ์อื่นๆ ทำให้ตลาดข้าวหอมมะลิไทยในสหรัฐฯเติบโตอย่างรวดเร็วมาก นอกจากนี้ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาการบริโภคข้าวของคนอเมริกันเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากกระแสสุขภาพและความนิยมในอาหารประเภทที่มีข้าวเป็นอาหารหลัก เช่น อาหารไทย อาหารเวียดนาม อาหารเม็กซิกัน เป็นต้น ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวการนำเข้าข้าวของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 85 โดยจำนวนข้าวที่นำเข้าทั้งหมดมีสัดส่วนข้าวหอมมะลิสูงถึงร้อยละ 70 ความนิยมบริโภคข้าวหอมมะลิไทยเพิ่มขึ้นและเข้าไปแทนที่ข้าวหอมแบบเดิมที่คนอเมริกันปลูกได้แถบรัฐอาคันซอ ซึ่งเป็นข้าวหอมที่มีเมล็ดสีเหลือง กลิ่นและรสชาติแตกต่างจากข้าวหอมมะลิของไทยเป็นอย่างมาก

ในขณะนี้วิกฤติการเงินของสหรัฐฯคาดว่ายังส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวหอมมะลิไปตลาดสหรัฐฯค่อนข้างน้อย เนื่องจากข้าวหอมมะลิที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และจำหน่ายในลักษณะสินค้าพรีเมี่ยม รวมทั้งความต้องการบริโภคข้าวหอมมะลิยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2552 มูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิไปยังตลาดสหรัฐฯจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการข้าวหอมมะลิในสหรัฐฯยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งในตลาดระดับจำหน่ายปลีก และความต้องการของบรรดาร้านอาหารไทย จีน เวียดนาม และเม็กซิกัน ที่หันมาซื้อข้าวหอมมะลิจากไทย เนื่องจากมีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับข้าวหอมที่ปลูกในแถบรัฐอาคันซอ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ถ้าผลกระทบของวิกฤตทางการเงินของสหรัฐฯขยายวงกว้างกว่า และส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้กำลังซื้อของคนอเมริกันลดลง อาจจะทำให้ความต้องการข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นสินค้าพรีเมี่ยมลดลง โดยคนอเมริกันอาจจะหันไปบริโภคข้าวที่มีราคาถูกกว่าเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย หรือหันไปบริโภคอาหารแป้งประเภทอื่นๆทดแทน

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกข้าวของไทยยังมีโอกาสในการขยายตลาดข้าวหอมมะลิในสหรัฐฯ โดยอาศัยการประชาสัมพันธ์เจาะขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อทำให้ผู้บริโภคสหรัฐฯรู้จักข้าวหอมมะลิไทยมากขึ้น รวมทั้งการขยายตลาดในลักษณะผลิตภัณฑ์ข้าว โดยเฉพาะการแปรรูปเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว และการขยายตลาดข้าวที่มีคุณค่าทางอาหารหรือมีวิตามินอยู่มาก เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง เป็นต้น พร้อมระบุคุณค่าทางโภชนาการบนหีบห่อ เพื่อรองรับตลาดอาหารสุขภาพที่กำลังขยายตัวอย่างมากในสหรัฐฯ

ปัจจัยพึงระวังสำหรับตลาดข้าวหอมมะลิในสหรัฐฯ นอกจากภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯคือ ปัญหาการปลอมปนข้าวหอมมะลิ เนื่องจากนโยบายรักษามาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยให้เป็นสินค้าเกรด พรีเมี่ยม ขณะเดียวกันก็เพื่อให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงด้วย โดยข้าวที่ส่งออกต้องมีปริมาณข้าวหอมมะลิไม่ต่ำกว่าร้อยละ 92 จึงเป็นช่องทางให้ผู้นำเข้าบางกลุ่มหาประโยชน์จากชื่อเสียงของข้าวหอมมะลิ กล่าวคือ ปัจจุบันผู้ค้าข้าวในสหรัฐฯบางรายมีการนำข้าวหอมปทุมธานี1จากไทยไปผสมกับข้าวขาวเมล็ดยาวของจีน ใส่บรรจุภัณฑ์จำหน่ายแอบอ้างเป็นข้าวหอมมะลิ ตั้งราคาข้าวผสมใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิ โดยราคาข้าวผสมถูกกว่าข้าวหอมมะลิแท้ 5-10 เซนต์ต่อปอนด์( 3.86-7.74 บาท/กิโลกรัม) โดยข้าวผสมราคาอยู่ที่ประมาณ 40 เซนต์ต่อปอนด์( 30.88 บาท/กิโลกรัม) ข้าวหอมมะลิแท้อยู่ที่ 45-50 เซนต์ต่อปอนด์ ( 34.74-38.60 บาท/กิโลกรัม) ทำให้ข้าวผสมได้รับความนิยมสูงในกลุ่มชาวเอเชียที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯและร้านอาหารทั่วไป นอกจากนี้ การนำเข้าข้าวจากจีนของสหรัฐฯขยายตัวอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ จีนเป็นแหล่งนำเข้าข้าวอันดับ 3 ของสหรัฐฯ รองจากไทยและอินเดีย แม้ว่ามูลค่าการนำเข้าข้าวจากจีนจะยังไม่มากนัก แต่มีอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วมาก นอกจากนี้ ซุปเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ในสหรัฐฯมีการสั่งซื้อข้าวหอมมะลิแล้วนำไปใส่บรรจุภัณฑ์ภายใต้ยี่ห้อของตนเอง และจำหน่ายในราคาที่ไม่แพง ทำให้ข้าวหอมมะลิไทยขาดความเป็นเอกลักษณ์ และเป็นอุปสรรคต่อการสร้างให้เป็นสินค้าพรีเมียม ผู้บริโภคบางส่วนอาจหันไปซื้อข้าวดังกล่าวแทนข้าวหอมมะลิได้ แม้ว่าในปัจจุบันปัญหาดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบข้าวหอมมะลิโดยตรง เพราะในตลาดสหรัฐฯผู้บริโภคจัดอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูง และสามารถซื้อสินค้าราคาแพงได้ โดยเฉพาะรสนิยมการบริโภคข้าวจะนิยมบริโภคข้าวหอมมะลิ แม้แต่ข้าวหอมปทุมธานี1 ยังเจาะขยายตลาดได้ลำบาก แต่การนำข้าวหอมปทุมธานี1 ไปผสมกับข้าวขาวเมล็ดยาวของจีนแล้วทำให้ผู้ซื้อเข้าใจว่าเป็นข้าวหอมมะลิ สามารถจำหน่ายให้กับกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางถึงล่างในสหรัฐฯ ในขณะนี้ผลกระทบต่อตลาดข้าวหอมมะลิในสหรัฐฯยังไม่รุนแรงมากนัก แต่ในระยะยาวยังต้องจับตาผลกระทบอย่างใกล้ชิด