วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ VS. วิกฤตต้มยำกุ้ง ผลกระทบที่แตกต่าง

คงต้องยอมรับว่า วิกฤตการเงินโลกในรอบนี้ ได้ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลต่อผลกระทบที่อาจมีต่อเศรษฐกิจไทย ดังจะเห็นได้จากดัชนีหุ้นไทยที่ดิ่งลงไปแล้วถึงประมาณร้อยละ 50 จากระดับสูงสุดในเดือน ต.ค. 2550 ท่ามกลางการเทขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงไปแล้วประมาณร้อยละ 9 จากระดับที่แข็งค่าที่สุดของปีในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ ความกังวลดังกล่าวยังได้ถูกซ้ำเติมจากความวิตกว่า สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเองอาจจะยังคงมีความไม่แน่นอน และส่งผลกระทบต่อการดำเนินการทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยในระยะถัด ๆ ไป ทำให้ประสิทธิภาพในการใช้เครื่องมือทางการคลังของรัฐบาลไทย อาจลดน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น

แม้ว่าวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 นี้ อาจจะทำให้มีการเปรียบเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับการดิ่งลงของดัชนีหุ้น การไหลออกของเงินทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินบาท ตลอดจนผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ แต่หากพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่า วิกฤตการเงินในรอบนี้มีความแตกต่างไปจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 หลายประการ ซึ่งความแตกต่างดังกล่าว จะมีนัยสำคัญต่อผลกระทบที่เศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้วิเคราะห์และสรุปประเด็นเปรียบเทียบวิกฤตทั้งสองในเบื้องต้น ดังนี้

ความแตกต่างของวิกฤตการเงินโลกปี 2551 กับวิกฤตในปี 2540

 สาเหตุของปัญหาแตกต่างกัน เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า วิกฤตการเงินในรอบนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) ในสหรัฐฯ ที่ได้แผ่ขยายลุกลามไปยังสินเชื่อประเภทอื่น ๆ และส่งผลกระทบต่อฐานะการดำเนินงานของสถาบันการเงิน จนกระทั่งนำมาสู่การขาดความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงิน รวมทั้งปัญหาสภาพคล่องในระบบการเงินทั่วโลก โดยทั้งการดิ่งลงของดัชนีหุ้นไทยและการอ่อนค่าของเงินบาทนั้น ก็ล้วนเป็นผลจากการที่นักลงทุนต่างชาติพยายามที่จะขายสินทรัพย์ของตนเพื่อที่จะหาสภาพคล่องในรูปเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ได้เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นอื่น ๆ ทั่วภูมิภาคเช่นเดียวกัน ในขณะที่วิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นในปี 2540 นั้น เป็นผลจากภาวะฟองสบู่จากการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นไทยที่ได้แตกตัวลง หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติไม่เชื่อมั่นต่อความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศของไทย โดยเฉพาะภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed Exchange Rate) โดยความไม่เชื่อมั่นดังกล่าว ได้นำมาสู่การไหลออกของเงินทุน และการคาดการณ์ของตลาดที่ว่าในที่สุดแล้ว ทางการไทยคงจะต้องยอมปรับค่าเงินบาทให้สะท้อนพื้นฐานที่เป็นจริงของเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เกิดขึ้นจากปัญหาเศรษฐกิจของไทยเองเป็นหลัก ในขณะที่วิกฤตการเงินโลกในรอบนี้ เศรษฐกิจไทยถูกกระทบผ่านกลไกการเงินโลกที่กำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพคล่อง ในขณะที่ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย ก็ต่างล้วนเผชิญกับปัญหาการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการแสวงหาสภาพคล่องในรูปเงินดอลลาร์ฯ ในลักษณะเดียวกับที่ไทยประสบอยู่เช่นกัน

ขนาดของผลกระทบที่แตกต่างกัน หลังจากการลอยตัวค่าเงินบาทในเดือนกรกฎาคม 2540 เงินบาทได้อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วจากระดับ 25.75 บาท/ดอลลาร์ฯในเดือนมิถุนายน 2540 ไปทะลุระดับ 53 บาท/ดอลลาร์ฯในเดือนมกราคม 2541 ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องประสบกับปัญหาอย่างรุนแรง ทั้งการล้มลงของสถาบันการเงินเป็นจำนวนมาก และการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งส่งผลให้ความเสียหายที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินของไทย (FIDF) ต้องแบกรับจากวิกฤตดังกล่าว มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ของจีดีพีไทยในปี 2540 ในขณะที่เศรษฐกิจไทยก็ตกอยู่ในภาวะถดถอยในปี 2540-2541 โดยหดตัวร้อยละ 1.4 ในปี 2540 และร้อยละ 10.5 ในปี 2541 สำหรับวิกฤตการเงินโลกในรอบนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้ว่าวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นจะได้ลุกลามเป็นวงกว้างไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก ในขณะที่เศรษฐกิจไทยก็คงจะถูกกระทบจากการะชะลอตัวของการส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อพิจารณาผลกระทบทางตรงที่เศรษฐกิจไทยอาจจะได้รับแล้ว ก็คาดว่าน่าที่จะมีอยู่ในขอบเขตจำกัด ทั้งนี้เพราะธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินลงทุนในตราสารต่างประเทศคิดเป็นเพียงร้อยละ 1.7 ของสินทรัพย์รวมเท่านั้น อีกทั้งสถานะของระบบสถาบันการเงิน ก็มีความแข็งแกร่งมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต ตลอดจนเสถียรภาพทางด้านต่างประเทศของไทยก็ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทยที่อยู่ที่ระดับ 4.1 เท่า ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งทำให้คาดว่า เศรษฐกิจไทยน่าที่จะสามารถรับมือและรอดพ้นจากวิกฤตการเงินโลกที่เกิดขึ้นในปี 2551 นี้ไปได้โดยไม่ตกไปสู่ภาวะถดถอยเช่นในวิกฤตปี 2540 ในขณะเดียวกัน จากการประเมินความเสียหายโดย IMF ต่อวิกฤตการเงินโลกในรอบนี้ ที่คาดว่าจะมีมูลค่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของจีดีพีสหรัฐฯในปี 2550 ก็ยังนับได้ว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับขนาดความเสียหายที่กองทุนฟื้นฟูฯของไทยแบกรับไว้ที่ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 30 ของจีดีพีไทยจากผลของวิกฤตเมื่อปี 2540

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในรอบนี้ น่าที่จะมีความแข็งแกร่งกว่าในปี 2540 แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยคงยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบทางอ้อมจากวิกฤตการเงินโลกที่เกิดขึ้นในรอบนี้ไปได้พ้น โดยผลกระทบทางอ้อมที่สำคัญคือ ผลกระทบผ่านช่องทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มว่าคงจะชะลอตัวลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในปี 2552 โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ ๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และภูมิภาคอาเซียน กอปรกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลง อาจทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวในอัตราที่ลดลงมาที่ร้อยละ 5.0-10.0 ในปี 2552 เทียบกับคาดการณ์อัตราการเติบโตที่ร้อยละ 18.0 ในปี 2551 นอกจากผลกระทบผ่านช่องทางการค้าแล้ว ยังมีผลกระทบผ่านช่องทางสภาพคล่องและการเคลื่อนไหวของตลาดเงินตลาดทุน โดยเฉพาะการดึงสภาพคล่องในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านการเทขายสินทรัพย์ในประเทศต่าง ๆ เพื่อนำกลับไปชดเชยภาวะสภาพคล่องที่ตึงตัวของสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา โดยระยะเวลาและความรุนแรงของผลกระทบด้านสภาพคล่องดังกล่าว จะขึ้นอยู่กับว่าทางการและธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกจะประสบความสำเร็จเพียงใดในการอัดฉีดสภาพคล่องและเพิ่มทุนให้แก่สถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อที่จะเยียวยาระบบการเงินโลกให้กลับสู่ภาวะปกติ

6 มาตรการรับมือวิกฤตการเงินสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ล่าสุดในวันที่ 13 ต.ค. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ได้มีมติเห็นชอบให้ออก 6 มาตรการรับมือวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ได้แก่ 1.) มาตรการด้านตลาดทุน โดยกระทรวงการคลังเห็นชอบขยายวงเงินการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) จากไม่เกิน 500,000 บาท เป็นไม่เกิน 700,000 บาท การดึงกองทุนแมชชิ่งฟันด์ กองทุนภาคเอกชน และกองทุนต่าง ๆ รับมือการขายหุ้นของต่างชาติที่มีในไทย รวมทั้งการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ซื้อหุ้นคืน 2.) มาตรการดูแลสภาพคล่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่าสภาพคล่องในระบบยังมีระดับสูง ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะดูแลให้มีการหมุนเวียนในระบบอย่างทั่วถึงและเพียงพอต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนจะสนับสนุนการขยายสินเชื่อทั้งจากธนาคารพาณิชย์และธนาคารพาณิชย์เฉพาะกิจของรัฐ 3.) มาตรการเร่งรัดรายได้ส่งออกและการท่องเที่ยว เพื่อให้การส่งออกและท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 5 โดยกระทรวงพาณิชย์จะขยายตลาดในเอเชียและเพื่อนบ้าน ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา ซึ่งยังพอมีกำลังซื้อ 4.) มาตรการสร้างเศรษฐกิจในประเทศด้วยการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ โดยกระทรวงการคลังจะเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 180,000 ล้านบาท การส่งเสริมกองทุนหมู่บ้าน และการดูแลสินค้าOTOP 5.) มาตรการเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โดยจะเร่งรัดลงทุนระบบรถไฟฟ้า การพัฒนาระบบขนส่งทั่วประเทศ และการลงทุนด้านพลังงาน รวมทั้ง 6.) มาตรการประชาคมการเงินเอเชีย เพื่อความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในแถบอาเซียน โดยจะมีแนวทางหารือเจรจาการขยายความร่วมมืออาเซียน +6 ซึ่งเป็นความริเริ่มใหม่ในการสร้างความเชื่อมั่นกับประเทศต่าง ๆ ด้วยการเสนอให้อาเซียนร่วมมือกับออสเตรเลีย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

จากมาตรการรับมือวิกฤตการเงินดังกล่าว สะท้อนว่า ทางการไทยได้ตระหนักเป็นอย่างดีถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยอาจจะได้รับจากวิกฤตที่แผ่ขยายไปทั่วโลกในรอบนี้ ซึ่งในภาพรวมแล้ว ทุกมาตรการนับว่าเป็นแนวคิดที่ดีสำหรับการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มาตรการด้านตลาดทุน น่าที่จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน อันเป็นผลจากแรงจูงใจทางด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีและความคาดหวังที่จะได้รับผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจหลังจากที่ดัชนีหุ้นไทยได้ปรับตัวลงมาค่อนข้างมากแล้วในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่ มาตรการดูแลสภาพคล่อง ก็เป็นมาตรการที่ ธปท.ดำเนินการเป็นปกติและน่าที่จะมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว รวมทั้ง ธปท.เองก็มีเครื่องมือและทรัพยากรที่มากพอสำหรับการดำเนินการด้วย สำหรับอีกสามมาตรการถัดมานั้น หากสามารถดำเนินการได้ตามกรอบที่วางไว้ ก็น่าที่จะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ แต่ประสิทธิผลของมาตรการดังกล่าว นอกจากจะขึ้นกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและฐานะทางการคลังของรัฐบาลแล้ว ประเด็นสำคัญคงจะอยู่ที่เสถียรภาพทางการเมืองด้วย เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล การดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่าง ๆ ตลอดจนความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ สำหรับมาตรการสุดท้ายนั้น กระบวนการดำเนินการที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายประเทศ รวมทั้งการลงนามในสนธิสัญญาที่คงจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไทย ทำให้คาดว่ากว่าที่มาตรการดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้ คงจะไม่ใช่ในระยะเวลาอันใกล้นี้

อนึ่ง เนื่องจากวิกฤตในรอบนี้ ไทยอยู่ในสถานะที่เป็นเพียงฝ่ายตั้งรับจากความผันแปรที่เกิดขึ้นภายนอกประเทศ ดังนั้น คงยากที่จะประเมินได้ว่ามาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวของทางการ เพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถรับมือและรอดพ้นจากวิกฤตในรอบนี้ไปได้ ซึ่งปัจจัยสำคัญคงจะอยู่ที่ว่าวิกฤตในรอบนี้จะยืดเยื้อและกินเวลายาวนานเพียงใดจึงจะสิ้นสุดลง เพราะหากสถานการณ์ลากยาวออกไปนานกว่าที่ประเมินไว้ เพื่อที่จะรับมือและสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่าย ทางการไทยก็อาจจำเป็นที่จะต้องพิจารณาดำเนินมาตรการและนโยบายในเชิงเศรษฐกิจเพิ่มเติมมากขึ้นอีกในอนาคต

โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า วิกฤตการเงินโลกที่มีจุดกำเนิดจากปัญหาสินเชื่อ ซับไพร์มของสหรัฐฯในรอบนี้ น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรงในระดับที่มีความรุนแรงน้อยกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 เนื่องจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในรอบนี้ ไทยและอีกหลายประเทศทั่วทั้งภูมิภาค เป็นเพียงผู้ถูกกระทบผ่านการชะลอตัวของการส่งออกและกลไกเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาสภาพคล่องที่ได้ลุกลามสู่ตลาดทุนตลาดเงินทั่วโลก ในขณะที่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 นั้น มีต้นตอของปัญหามาจากภาวะฟองสบู่และการก่อหนี้เกินตัวของเอกชนไทยเอง โดยระบบอัตราแลกเปลี่ยนของไทยในขณะนั้นก็ขาดความยืดหยุ่น จนทำให้เกิดการเก็งกำไรในค่าเงินบาทอย่างกว้างขวาง ซึ่งความสูญเสียของระบบสถาบันการเงินไทยจากวิกฤตต้มยำกุ้งดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึงประมาณร้อยละ 30 ของจีดีพี ในขณะที่เศรษฐกิจไทยต้องตกอยู่ในภาวะถดถอยทั้งในปี 2540 และ 2541 โดยเฉพาะในปี 2541 ที่เศรษฐกิจไทยหดตัวถึงร้อยละ 10.5 ในขณะที่สำหรับวิกฤตในรอบนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงเป็นร้อยละ 4.3 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 จากร้อยละ 5.7 ในช่วงครึ่งปีแรก และอาจขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0-5.0 ในปี 2552 โดยขึ้นอยู่กับว่า ภาวะการตึงตัวของสภาพคล่องในตลาดเงินโลกจะสามารถคลี่คลายลงได้เร็วเพียงใด รวมทั้งยังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศของไทยเองด้วยว่า จะเอื้อให้ภาครัฐสามารถดำเนินมาตรการทางการคลังที่จะช่วยประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด

แม้ว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะมองว่าวิกฤตในรอบนี้ น่าที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระดับที่รุนแรงน้อยกว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 เนื่องจากทั้งภาคเศรษฐกิจและสถาบันการเงินไทยล้วนมีฐานะที่มั่นคงกว่าเมื่อปี 2540 (ไม่ว่าจะเป็นฐานะดุลบัญชีเดินสะพัด ทุนสำรองระหว่างประเทศ และฐานะเงินกองทุนของสถาบันการเงินในระบบ) รวมทั้งจากการที่รัฐบาลและธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก ตลอดจนทางการไทยเอง ก็ได้เร่งเยียวยาแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการอัดฉีดสภาพคล่อง และดำเนินการเพิ่มทุนให้แก่สถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อที่จะพลิกฟื้นสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว แต่ทั้งภาครัฐและเอกชนไทย ก็ยังควรที่จะตระหนักถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากคาดว่า อาจจะยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง กว่าที่การดำเนินการและมาตรการต่าง ๆ จะสัมฤทธิผล และปัญหาต่าง ๆ ถึงจุดต่ำสุด ในขณะที่แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2552 นั้นย่อมที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยวของไทยอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง โดยในกรณีเลวร้ายที่สถานการณ์ยืดเยื้อ วิกฤตการเงินโลกที่ลากยาวออกไปกว่าที่คาดก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อไทยในระดับที่รุนแรงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้