สินเชื่อส่วนบุคคลทิ้งทวนปี 2551: ศึกหนักมรสุมเศรษฐกิจ

ในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนว่าการแข่งขันธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล (โดยครอบคลุมสินเชื่อเงินสดที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันทั้งสถาบันการเงิน และNon-Bank โดยไม่รวมสินเชื่อบัตรเครดิต) เริ่มลดความร้อนแรงลง หลังจากที่เคยมีการขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นระหว่างธนาคารพาณิชย์และ Non-Bank ผู้ประกอบการบางรายได้มีการปรับลดเป้าหมายการขยายฐานสินเชื่อส่วนบุคคลลงในปีนี้ และเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ Non-Bank รายหนึ่งได้ประกาศเลิกการดำเนินธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภค ทั้งนี้ที่ผ่านมาปัจจัยแวดล้อมธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลได้เพิ่มระดับความเสี่ยงมากขึ้น เริ่มจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว ราคาน้ำมันที่ผันผวนจนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคหลายรายการมีการปรับราคาสูงขึ้น ทำให้ภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นตามมา ในขณะที่ความไม่สงบทางการเมืองที่ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งทำให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและผู้บริโภคลดลง อย่างไรก็ตามในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวดังกล่าวผู้บริโภคบางกลุ่มก็อาจจะหันมาพึ่งสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้นก็ตาม เนื่องจากภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกันปัญหาทางเศรษฐกิจดังกล่าวก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อในภายหลังได้ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank เองต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ แนวโน้มสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วงที่เหลือของปี 2551 ดังนี้

ภาพรวมธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล: ชะลอตัว…ผลจากมรสุมเศรษฐกิจ
ภาพรวมธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 ที่ผ่านมา ชะลอตัวลง โดยยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 มีมูลค่าประมาณ 225,868 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.1 ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 12.5 ในปี 2550 ทั้งนี้สาเหตุของการชะลอตัวของยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลส่วนหนึ่งน่าจะมาจาก ภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องผู้บริโภคบางกลุ่ม ทำให้ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank เพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น สืบเนื่องจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจไทยได้เผชิญกับปัจจัยลบนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคปรับตัวสูงขึ้น ภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และสภาพคล่องของผู้บริโภคบางกลุ่มลดลง ผู้บริโภคปรับลดพฤติกรรมการใช้จ่ายของตน

โดยหากแยกพิจารณาเป็นรายผู้ประกอบการแล้ว พบว่า ธนาคารพาณิชย์เป็นกลุ่มเดียวที่สินเชื่อส่วนบุคคลยังคงเติบโตเป็นเลข 2 หลัก จะเห็นได้ว่ายอดสินเชื่อคงค้างส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 มีปริมาณอยู่ที่ 102,156 ล้านบาท โดยขยายตัวร้อยละ 22.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 19.9 ในปี 2550 ทั้งนี้การขยายตัวของยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนั้นน่าจะมาจาก การทำแคมเปญการตลาดของธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้กลยุทธ์ด้านราคา ในการเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษแก่ลูกค้า

สำหรับยอดสินเชื่อคงค้างส่วนบุคคลของสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-Bank) ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 มีปริมาณยอดคงค้างทั้งสิ้น 101,947 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 ในปี 2550 ทั้งนี้การที่ยอดสินเชื่อคงค้างของกลุ่ม Non-Bank ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวนั้น สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการชะลอการทำตลาดของผู้ประกอบการ Non-Bank บางราย และน่าจะมาจากผู้ประกอบการ Non-Bank รายหนึ่งได้ประกาศเลิกการดำเนินธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภคในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ผู้ประกอบการบางรายมีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ เช่น ฐานเงินเดือนขั้นต่ำในการสมัครสินเชื่อสูงขึ้น จากเดิมอยู่ที่รายได้ไม่ต่ำกว่า 7,000 บาทต่อเดือน ได้ถูกปรับขึ้นมาเป็นรายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการ Non-Bank รายใหญ่ยังคงเดินหน้าทำการตลาด โดยการกระจายจุดให้บริการสินเชื่อไปยังแหล่งชุมชนต่างๆ

ในขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 มีมูลค่าอยู่ที่ 21,765 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 1.6 ในปี 2550 ทั้งนี้สาเหตุของการหดตัวลงของยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลในกลุ่มของสาขาธนาคารต่างประเทศนั้น น่าจะมาจากการที่สาขาธนาคารต่างประเทศชะลอการทำแคมเปญการตลาด เนื่องมาจากภาวะโดยรวมของตลาดที่ยังคงมีความเสี่ยงมากขึ้น

โค้งสุดท้ายสินเชื่อส่วนบุคคล ปี 2551: ความต้องการสินเชื่อมาพร้อมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบในปี 2551 น่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 230,500-232,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.9-9.5 ชะลอตัวจากที่ขยายตัวร้อยละ 12.5 ในปี 2550 แม้ว่าธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank บางรายจะชะลอการทำแคมเปญการตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลลงก็ตาม แต่ภาพรวมตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงมีปัจจัยที่สนับสนุนความต้องการสินเชื่อในช่วงสุดท้ายของปี โดยเฉพาะในช่วงภาวะที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญกับภาวะที่บีบคั้นทางเศรษฐกิจจนประสบกับสภาพคล่องทำให้ต้องหันมาพึ่งพาสินเชื่อมากขึ้น นอกจากนี้ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด อาจจะมีผลทำให้ผู้บริโภคบางรายมีความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อนำมาใช้จ่าย

อย่างไรก็ตามในช่วงที่เหลือของปี 2551 ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงเผชิญกับสถานการณ์ท้าท้ายในการดำเนินธุรกิจ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของไทย ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อของผู้บริโภคบางกลุ่ม แม้ว่าราคาน้ำมันที่ปรับลดลงในช่วงนี้จะทำให้แรงกดดันต่อภาระรายจ่ายของผู้บริโภคจะบรรเทาลงก็ตาม นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยอาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงินที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ และในหลายๆประเทศ ประสบกับภาวะชะลอตัวลงอย่างรุนแรง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกบางประเภทของไทย และอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อภาวะการจ้างงานและระดับรายได้ในอนาคต ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคบางกลุ่มได้ ทำให้สถาบันการเงิน และ Non-Bank จำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ และการเฝ้าติดตามและให้คำปรึกษากับลูกค้าที่มีความเสี่ยงมากขึ้น อีกทั้งปัจจัยทางการเมืองที่ยังคงยืดเยื้อ และส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง ก็ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในระยะที่เหลือของปีนี้เช่นกัน

สถาบันการเงินปรับกลยุทธ์…ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ
แม้ว่าในช่วงที่เหลือของปี 2551 ภาพรวมของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลจะเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงต้องดำเนินต่อไป สำหรับภาวะการแข่งขันของผู้ประกอบการ ซึ่งประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ไทย สาขาธนาคารต่างประเทศ และสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ หรือ Non-Bank สำหรับการทำตลาดของผู้ประกอบการในช่วงที่เหลือของปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า กลุ่ม Non-Bank ยังคงเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มการเติบโตของจำนวนบัญชีมากที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการในกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะจาก Non-Bank รายใหญ่ จากการเข้าทำตลาดขยายฐานสินเชื่อส่วนบุคคลที่เข้มข้นอย่างชัดเจน ได้แก่ การกระจายจุดให้บริการสินเชื่อให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึง และโดยเฉพาะการเข้ารุกตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น แต่ในรูปของมูลค่าสินเชื่อแล้วยอดสินเชื่อคงค้างอาจจะยังคงชะลอตัว เนื่องจากการเพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ

อย่างไรก็ตามในส่วนของผู้เล่นสำคัญอย่างผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก (Discount Stores) ที่เริ่มเข้ามารุกตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะมีความได้เปรียบในเรื่องของกลุ่มลูกค้าเฉพาะที่เข้ามาซื้อสินค้าในร้านของตน และธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ยังได้เปรียบในเรื่องของสาขา โดยเฉพาะแนวโน้มการที่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่เริ่มขยายตัวออกสู่พื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น จึงทำให้การขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลในกลุ่มนี้น่าจะมีเพิ่มมากขึ้นในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบระดับรายได้ของผู้บริโภคในพื้นที่ต่างจังหวัดที่โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของกลุ่ม Non-Bank และจากรายได้ดังกล่าวที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในต่างจังหวัด ลูกค้ากลุ่มนี้ไม่สามารถที่จะขอสินเชื่อแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือไม่มีคุณสมบัติเพียงพอในการขอสินเชื่อบางประเภทได้ ทำให้ย่อมสามารถจะสร้างความต้องการสินเชื่อจากลูกค้ากลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ได้ไม่ยากนัก และสามารถลดช่องว่างในการทำธุรกิจเงินด่วนนอกระบบได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้สินเชื่อเงินสดยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเข้าถึงวิถีชีวิตและการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้สามารถสร้างฐานลูกค้าของตนเองได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย แม้ว่าจะได้เปรียบผู้ประกอบการกลุ่มอื่นๆ ที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศนั้น แต่ฐานลูกค้าคิดเป็นสัดส่วนของตลาดเพียงร้อยละ 17.5 ของจำนวนบัญชีทั้งหมด แต่เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยเน้นการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลในกลุ่มผู้มีระดับรายได้สูงกว่ากลุ่ม Non-Bank โดยเน้นไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีระดับรายได้ตั้งแต่ 10,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูง เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้มีทางเลือกในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สินเชื่ออื่น และจากสถาบันการเงินอื่นๆ ที่มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกัน ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยต้องมีการปรับผลิตภัณฑ์ของตนให้สามารถแข่งขันกับผู้เล่นรายอื่นๆได้ เช่น การเสนอบริการทางการเงินที่ครอบคลุมกว่า โดยเฉพาะความได้เปรียบในเรื่องของสาขา และการเป็นธนาคารพาณิชย์ที่อาศัยความได้เปรียบจากฐานลูกค้าเงินฝากและลูกค้า Payroll ในการขยายฐานตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลในระยะต่อไป
ในขณะที่กลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศ ในช่วงที่เหลือของปีนี้นั้น การแข่งขันสินเชื่อส่วนบุคคลในกลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศน่าจะมีทิศทางที่ชะลอตัวลง เนื่องจากการขยายตัวของฐานลูกค้าในกลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศนั้นเป็นไปในลักษณะถูกจำกัด โดยเฉพาะในเรื่องของสาขา การทำตลาดจึงเน้นอยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นหลัก

อย่างไรก็ตามแนวโน้มการดำเนินธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank คงจะเพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการบางรายได้มีการปรับกลยุทธ์ เพื่อลดความเสี่ยง เช่น การปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์การสมัครสินเชื่อ โดยการปรับเปลี่ยนฐานเงินเดือนขั้นต่ำในการสมัครสินเชื่อให้สูงขึ้น จากเดิมอยู่ที่รายได้ไม่ต่ำกว่า 7,000 บาทต่อเดือน ได้ถูกปรับขึ้นมาเป็นรายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน การปรับลดวงเงินของสินเชื่อในส่วนของผู้ขอสินเชื่อใหม่ลง เช่น จากเดิมที่อนุมัติไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ โดยเปลี่ยนมาเป็นไม่เกิน 3 เท่าของรายได้ นอกจากนี้ผู้ประกอบการบางรายได้มีการเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เช่น การเลือกกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงต่ำ เป็นต้น ซึ่งความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อจะส่งผลสะท้อนไปสู่ยอดสินเชื่อคงค้างส่วนบุคคลตามมา

บทสรุปและข้อคิดเห็น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบในปี 2551 น่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 230,500-232,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.9-9.5 ชะลอตัวจากที่ขยายตัวร้อยละ 12.5 ในปี 2550 โดยแม้ว่าเศรษฐกิจจะประสบกับภาวะชะลอตัว แต่การที่ผู้บริโภคบางกลุ่มอาจมีความต้องการสภาพคล่องสูงขึ้นจึงทำให้ยังคงมีความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคล นอกจากนี้ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด อาจจะมีผลทำให้ผู้บริโภคบางรายมีความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อนำมาใช้จ่าย แต่เนื่องจากธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงมีความเสี่ยงทำให้ธนาคารพาณิชย์และ Non-Bank ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อทิศทางการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเฉพาะปัญหาทางการเมือง ที่ยังคงยืดเยื้ออยู่ในขณะนี้ รวมทั้งแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของไทยเอง ตลอดจนปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกบางประเภท และอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะข้างหน้าได้

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ความต้องการสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอาจเป็นปัจจัยหนุนต่อการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคล แต่เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระของลูกหนี้ ทำให้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ผู้ประกอบการทั้งกลุ่มธนาคารพาณิชย์และกลุ่ม Non-Bank ยังคงต้องเข้มงวดในเรื่องของการบริหารความเสี่ยงของสินเชื่อ เพื่อรักษาคุณภาพของสินเชื่อในระบบ โดยเฉพาะในส่วนของการติดตามพฤติกรรมการผิดนัดชำระสินเชื่อ นอกจากนี้แม้ว่าการแข่งขันขยายฐานในธุรกิจสินเชื่อยังคงมีความเข้มข้น แต่จะเป็นการเน้นที่คุณภาพมากกว่าการเน้นจำนวนบัญชีใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น การปรับขึ้นระดับรายได้ขั้นต่ำต่อเดือนให้สูงขึ้น เช่น จากเดิมที่ผู้ที่มีรายได้ขั้นต่อเดือนที่ 7,000 บาท ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 10,000 บาทต่อเดือน การอนุมัติวงเงินสินเชื่อน้อยลงสำหรับผู้บริโภคบางกลุ่ม และการปรับผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับความสามารถในการผ่อนชำระ โดยเฉพาะเริ่มมีการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระสินเชื่อให้นานขึ้น เช่น นานสูงสุด 60 เดือน หรือ 84 เดือน เป็นต้น เพื่อให้ผู้ขอสินเชื่อสามารถผ่อนชำระสินเชื่อในอัตราที่ต่ำต่อเดือนได้

สำหรับข้อพิจารณาของผู้ใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่เริ่มมียอดสินเชื่อคงค้างที่เกินกว่าระดับรายได้ของตนเอง และอาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อในระยะยาวนั้น ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ในส่วนนี้ผู้บริโภคควรเร่งจัดการบริหารเงินที่ดี เช่น การปรึกษาสถาบันการเงินในกรณีที่ผู้บริโภคไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ต่อไปได้อีก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประวัติที่ไม่ดี ซึ่งอาจจะมีผลต่อการขอสินเชื่อในอนาคต นอกจากนี้ผู้บริโภคควรที่จะใช้จ่ายบนพื้นฐานของความระมัดระวัง ไม่ควรใช้จ่ายจนเกินกำลังความสามารถในการผ่อนชำระของตนเอง เพื่อป้องกันการก่อหนี้เพิ่มขึ้น