จับตาเศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัว : กระทบการส่งออกไทย

ผลกระทบจากวิกฤตทางการเงินของสหรัฐ ฯ และปัญหาการขาดสภาพคล่องแหล่งเงินทุนของบริษัทการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ฯ อาจส่งผลลุกลามเป็นลูกโซ่กระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทยและเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 2 ของโลก รองจากสหรัฐ ฯ และอันดับที่ 1 ในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ประเด็นข้างต้นน่าจะส่งสัญญาณบ่งชี้แนวโน้มภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 จนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2552 สิ่งที่น่าสนใจคือ ผลกระทบในส่วนของภาคส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น โดยบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยจำกัดได้จัดทำบทวิเคราะห์เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2551 การค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น และ แนวโน้มการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในช่วงที่เหลือของปี 2551 ดังนี้

สถานการณ์เศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปัจจุบันกำลังเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ภายใต้แรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ทั้งนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้ชะลอตัวลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 เมื่อเทียบกับร้อยละ 1.2 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า อัตราการเติบโตเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้ส่งสัญญาณชะลอตัวมาตั้งแต่ปี 2550 โดยชะลอตัวลดลงจากร้อยละ 2.4 ในปี 2549มาอยู่ที่ร้อยละ 2.1

ด้านการบริโภคภายในประเทศญี่ปุ่นได้อ่อนไหวตามการผันผวนของราคาน้ำมันและภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงซึ่งบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค อีกทั้งยังส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยสินค้ามากยิ่งขึ้น โดยข้อมูลล่าสุดของกระทรวงมหาดไทยและการสื่อสารญี่ปุ่นระบุว่า เงินเฟ้อวัดโดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนสิงหาคมได้ถีบตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 2.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (YOY) จากร้อยละ 2.3 ในเดือนก่อนหน้า (YOY) อีกทั้งการใช้จ่ายของผู้บริโภคได้ปรับลดลงร้อยละ 4 ซึ่งเป็นการปรับลดต่อเนื่องรวม 6 เดือนของปี 2551 ทั้งนี้ อำนาจการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ได้ปรับลดดังกล่าวเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สะท้อนถึงความอ่อนแรงของตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในที่ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตชะลอลงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ข้อมูลจากสถาบันสถิติแห่งชาติญี่ปุ่นเปิดเผยว่า อัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคมของปีนี้ยังพุ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4.2 จากเดิมร้อยละ 4.0 ในเดือนกรกฎาคม

ส่วนในภาคการผลิตนั้นได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคมได้ขยายตัวลดลงเป็นร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YOY) ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตขยายตัวสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับดัชนีราคาผู้บริโภค เนื่องจากปัจจัยกดดันด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากทั้งราคาสินค้าพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งอัตราการเติบโตของดัชนีผู้ผลิตขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 โดยในเดือนกรกฎาคมของปี 2551 อัตราการเติบโตของดัชนีราคาผู้ผลิตพุ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 7.1 (YOY) ซึ่งสูงขึ้นเกือบ 7 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.7 (YOY)

การค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 2 ของไทย รองจากสหรัฐฯ โดยมีจีนตามมาอยู่ในอันดับ 3 ขณะที่การนำเข้านั้น ญี่ปุ่นเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับ 1 ของไทย โดยในปี 2550 ที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่นมีมูลค่าทั้งสิ้น 46,358.44 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เติบโตกว่าร้อยละ 10 จากปี 2549 อีกทั้งในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 การค้าไทย-ญี่ปุ่น มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 35,924.08 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.25 จากช่วงเดียวกันของปี 2550

การส่งออก

ด้านการส่งออกสินค้าจากไทยไปญี่ปุ่นในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 สินค้าส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 13,552.29 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ขยายตัวกว่าร้อยละ 16 ทั้งนี้สินค้าส่งออกหลักสำคัญ 5 อันดับแรกของไทยไปญี่ปุ่นเรียงตามลำดับ ดังนี้คือ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา และน้ำมันสำเร็จรูป

สินค้าส่งออกสำคัญในหมวดอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวได้ดีคือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เติบโตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 38.66 อย่างไรก็ตาม ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 เป็นที่น่าสังเกตว่า สินค้าบางชนิดในหมวดนี้ที่มีมูลค่าส่งออกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 ลดลง อาทิ แผงวรจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 10.44 และ ร้อยละ 4.05 ตามลำดับ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ ที่มูลค่าส่งออกปรับลดลงเกือบร้อยละ 12 ขณะที่รายการสินค้าส่งออกที่ชะลอตัวได้แก่ ผลิตภัณฑ์เซรามิก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ และ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด โดยมีอัตราขยายตัวเป็นร้อยละ 38.63, 8.90, 11.11 และ 4.43 เป็นต้น

สินค้าในกลุ่มเกษตรกรรมสำคัญที่ขยายตัวได้ดีคือยางพารา ขยายตัวเกือบร้อยละ 20 จากที่ส่งออกลดลงร้อยละ 19 ในช่วงเดียวกันของปี 2550 ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ไก่แปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และ ผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 717.03, 82.30, 26.55 และ 44.89 ตามลำดับ นอกจากนี้ มูลค่าส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของไทยไปญี่ปุ่นมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นถึงร้อยละ 717.03 ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ โดยขยายตัวเกือบ 3 เท่า จากอัตราเติบโตในช่วงเดียวกันของปี 2550 ส่วนสำคัญเนื่องจากอานิสงค์ของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูงทำให้มูลค่าส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของไทยสูงขึ้นตามไปด้วย

การนำเข้า

สินค้านำเข้าของไทยจากญี่ปุ่นในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 มีมูลค่ารวม 22,371.79 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นเกือบร้อยละ 23 จากช่วงเดียวกันของปี 2550 โดยสินค้านำเข้า 5 อันดับแรกของไทยจากญี่ปุ่นอยู่ในหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปและหมวดสินค้าทุนซึ่งได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และ แผงวรจรไฟฟ้า

สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปหลักที่มีการขยายตัวเร่งขึ้นได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์โลหะและผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก โดยมีอัตราขยายตัวร้อยละ 36.03, 32.84, 33.30, 39.28 และ 23.07 ตามลำดับ ส่วนสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าลดลงคือ แผงวรจรไฟฟ้าซึ่งปรับลดลงกว่าร้อยละ 3

สินค้าทุนส่วนใหญ่มีการขยายตัวเร่งขึ้น อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 24 เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เติบโตเกือบร้อยละ 19 และเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขยายตัวร้อยละ 25.69 ขณะที่ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ขยายตัวร้อยละ 23.04 ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 จากที่ปรับลดลงร้อยละ 2.62 ในช่วงเดียวกันของปี 2550

ดุลการค้า

การค้าระหว่างประเทศของไทย-ญี่ปุ่นเติบโตต่อเนื่องและไทยขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นมาโดยตลอด ทั้งนี้จากโครงสร้างการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่นที่ไทยพึ่งพาการนำเข้าสินค้าทุน/วัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปจากญี่ปุ่นซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการนำเข้าของบริษัทญี่ปุ่นที่มาลงทุนจัดตั้งฐานการผลิตในไทยทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าดังกล่าว สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่น (FDI) ที่เพิ่มขึ้นในไทย โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 ไทยมียอดขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นเป็นมูลค่า 8,819.50 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากเดิม 6,518.46 ในช่วงเดียวกันของปี 2550

แนวโน้มการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น….จับตาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่แนวโน้มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวในปี 2551 นี้ แต่การนำเข้าของญี่ปุ่นจากไทยยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ โดยขยายตัวร้อยละ 16.05 ซึ่งน่าจะมีสาเหตุจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

 ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พลังงานและสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้สินค้าส่งออกไทยในหมวดอาหารและน้ำมันสำเร็จรูปขยายตัวได้ดี

 การเปิดตลาดสินค้าภายใต้ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ในช่วงปลายปี 2550 ส่งผลให้มีการลด/ยกเลิกภาษีหรือกำหนดโควตาพิเศษระหว่างไทยและญี่ปุ่นซึ่งครอบคลุมสินค้าในหมวดเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมส่งผลให้สินค้าส่งออกไทยหลายรายการเติบโตขึ้น เช่น กุ้งแปรรูป ผัก/ผลไม้แปรรูป ผลไม้กระป๋อง สิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่มและอัญมณี/เครื่องประดับ

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยและภาครัฐบาลไทยควรจับตาดูปัญหาที่อาจเกิดจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในช่วงที่เหลือของปี 2551 และปี 2552

สิ่งที่น่าติดตามคือ แนวโน้มการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในช่วงที่เหลือของปี 2551 ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจากวิกฤตการเงินสหรัฐ ฯ ที่กำลังลุกลามไปทั่วโลก โดยเห็นได้ชัดจากอำนาจการซื้อที่หดตัวลงของผู้บริโภคในประเทศสหรัฐ ฯ ทำให้ภาพรวมของสภาพเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐ ฯ ชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าหลักอย่างญี่ปุ่นเนื่องจากได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ในตลาดสหรัฐ ฯ ที่ลดต่ำลงเนื่องจากกำลังการซื้อของผู้บริโภคในประเทศปรับลดลง ทั้งนี้ปัจจุบันญี่ปุ่นส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ ฯ มากที่สุดเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ ประเทศจีน ขณะที่ด้านสินค้านำเข้านั้น ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ฯ มากเป็นอันดับ 2 รองจากจีน อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าจากญี่ปุ่นไปสหรัฐ ฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ได้ขยายตัวลดลงเป็นร้อยละ 9 ขณะที่อัตราการเติบโตของมูลค่าการนำเข้าสินค้าของญี่ปุ่นจากสหรัฐ ฯ ได้ชะลอลงด้วยเช่นกัน โดยเติบโตเหลือร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันของปี 2550 สะท้อนถึงความต้องการภายในของทั้งสหรัฐ ฯ และ ญี่ปุ่นที่อ่อนแรงลง

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยจำกัด มีความเห็นว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่กำลังชะลอตัวในปัจจุบันซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 11 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยน่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกสินค้าของไทย หากพิจารณาเหตุการณ์ที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นประสบภาวะถดถอยในปี 2544 ที่ส่งผลให้สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปญี่ปุ่นหลายรายการในปีเดียวกันได้ชะลอลง ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทำให้คาดว่า สินค้าส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นข้างต้นจะชะลอตัวลงด้วยในภาวะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับสินค้าส่งออกในกลุ่มสินค้าอาหารที่สำคัญของไทยไปญี่ปุ่น เช่น กุ้งแปรรูปและอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น่าจะยังขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากสินค้าอาหารยังมีความต้องการบริโภคภายในประเทศและได้รับประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ JTEPA ทำให้ความสามารถการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้นในตลาดญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ปัจจัยจากค่าเงินเยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินบาทตั้งแต่ช่วงกลางปี 2550 คาดว่าจะส่งผลดีต่อความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกไทยในตลาดญี่ปุ่น ทั้งนี้ เงินเยนแข็งค่าขึ้นจากระดับ 27.5 บาทต่อ 100 เยน ในช่วงกลางปี 2550 เป็น 30.5 บาทต่อ 100 เยน ในปัจจุบัน สาเหตุที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเนื่องจากนักลงทุนในตลาดเงินทุนโลก ยุติธุรกรรมการเก็งกำไรค่าเงินจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ย โดยกู้ยืมเงินสกุลเยนที่มีผลตอบแทนต่ำและนำไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า (Carry Trade) เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำในขณะที่ธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ ใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยญี่ปุ่นและดอกเบี้ยโลกห่างกันจึงทำให้นักลงทุนกู้เงินสกุลเยนเพื่อมาซื้อสินทรัพย์สกุลอื่น ๆ ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าและค่าเงินสกุลต่าง ๆ รวมทั้งค่าเงินบาทแข็งค่า แต่เมื่อความเสี่ยงของการลงทุนในตลาดเงินโลกได้เพิ่มสูงขึ้นจึงส่งผลให้นักลงทุนหยุดทำธุรกรรม Carry Trade และคืนเงินเยนที่กู้มากลับให้ญี่ปุ่นส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น

ทั้งนี้ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า แม้ว่าการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 จะเติบโตถึงร้อยละ 16 แต่การส่งออกไปญี่ปุ่นในช่วงที่เหลืออาจชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกทำให้การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในปีนี้อาจขยายตัวประมาณร้อยละ 10-12

สรุป
ภาวะวิกฤตเศรษฐโลกและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มชะลอตัวในปี 2551 โดยคาดว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นน่าจะปรับลดลงเป็นร้อยละ 0.8 จากที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 ในปี 2550 ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของญี่ปุ่นชะลอด้วย เนื่องจากความอ่อนแรงของการบริโภคและการผลิตของภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น คาดว่าสินค้าส่งออกไทยน่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นซึ่งหากพิจารณาจากสถานการณ์ที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นประสบภาวะถดถอยในปี 2544 ที่สินค้าส่งออกไทยไปญี่ปุ่นชะลอลง ที่สำคัญได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทำให้สินค้าส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นเหล่านี้จะชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่อ่อนแรงลงในปีนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกในกลุ่มสินค้าอาหาร อาทิ กุ้งแปรรูปและอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น่าจะมีแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากสินค้าอาหารยังมีความต้องการจากผู้บริโภคภายในประเทศและสินค้าไทยยังได้รับประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ JTEPA อีกทั้งยังมีปัจจัยจากค่าเงินเยนที่มีทิศทางแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินบาทตั้งแต่ช่วงกลางปี 2550 ทำให้เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยในตลาดญี่ปุ่น

ทั้งนี้คาดว่าการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในปี 2551 น่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 10-12 ชะลอลงจากช่วง 8 เดือนแรกของปีที่เติบโนร้อยละ 16 ซึ่งเป็นโจทย์อันท้าทายสำหรับรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อออกมาตรการและนโยบายในการรับมือกับปัญหาดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยล่าสุดทางกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าการส่งออกสินค้าไทยไปยังญี่ปุ่นในปี 2552 ว่าน่าจะขยายตัวร้อยละ 8 ขณะที่ได้ตั้งเป้าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปสู่ทั่วโลกในอัตราร้อยละ 15 ในปี 2552

นอกจากการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดส่งออก ทางบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มีความเห็นว่า ผู้ประกอบการไทยควรกำหนดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบทางการค้า โดยผู้ประกอบการไทยควรบริหารความเสี่ยงทางการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนของค่าเงินบาทโดยการซื้ออัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Forward Exchange) อีกทั้งผู้ประกอบการไทยอาจมองหาตลาดเป้าหมายใหม่ที่มีศักยภาพและกำลังการซื้อสูงอาทิ กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและประเทศที่กำลังพัฒนาในทวีปเอเชียที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วอย่างจีนและอินเดียเป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยและภาครัฐบาลไทยควรจับตาดูปัญหาที่อาจเกิดจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในช่วงที่เหลือของปี 2551 และปี 2552