ส่งออกผลไม้กระป๋องและแปรรูปปี’52 ชะลอตัว: ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ

จากวิกฤตการณ์ทางการเงินของสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบไปยังระบบเศรษฐกิจและภาคการเงินทั้งในสหภาพยุโรป รวมถึงญี่ปุ่น และมีสัญญาณว่ากำลังจะกลายเป็นปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจลุกลามไปทั่วโลก ทำให้หลายฝ่ายเกิดความหวาดวิตกถึงผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทย เนื่องจากสหรัฐฯ นับเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของไทย สำหรับผลิตภัณฑ์ผลไม้กระป๋องและแปรรูปจัดเป็นสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรซึ่งไทยส่งออกเป็นรายใหญ่ในตลาดโลก โดยในแต่ละปีการส่งออกผลไม้กระป๋องและแปรรูปของไทยมีมูลค่าสูงกว่า 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเป้าการขยายการส่งออกสินค้าอาหารของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในปี 2552 คาดว่าการส่งออกผลไม้กระป๋องและแปรรูปของไทยจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2551 ซึ่งเติบโตร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 10 โดยมีมูลค่าส่งออก 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ซึ่งมีมูลค่าส่งออก 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอลงจากปัญหาเศรษฐกิจภายในสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบไปยังตลาดสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งทั้ง 3 ตลาดดังกล่าวล้วนเป็นตลาดหลัก โดยมีสัดส่วนการส่งออกผลไม้กระป๋องและแปรรูปรวมกันถึงร้อยละ 70 ของมูลค่าการส่งออกรวมของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปสู่ตลาดโลก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกผลไม้กระป๋องและแปรรูปของไทย โดยมีประเด็นที่สำคัญดังนี้

ปี’51 หลากปัจจัยหนุนกระตุ้นตลาดส่งออกโตถึงร้อยละ 30
สถานการณ์ปี 2551 (มกราคม-กันยายน) การส่งออกสินค้าผลไม้กระป๋องและแปรรูปขยายตัวทั้งปริมาณและมูลค่า โดยมีปริมาณ 0.9 ล้านตัน มูลค่า 1,025.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.5 และร้อยละ 30.1ตามลำดับ โดยมีตลาดส่งออกหลักคือ ตลาดสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 32.7 รองลงมาเป็น ตลาดสหภาพยุโรป ร้อยละ 26.0 ตลาดญี่ปุ่น ร้อยละ 6.1 ตลาดอาเซียนร้อยละ 5.3 และตลาดอื่นๆ ร้อยละ 29.9 สำหรับผลิตภัณฑ์ผลไม้กระป๋องและแปรรูปแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ ผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้ และผลไม้แปรรูป ทั้งนี้ ผลไม้กระป๋องที่ไทยส่งออกมากที่สุดเป็น สับปะรดกระป๋อง ซึ่งมีสัดส่วนส่งออกถึงร้อยละ 70 ของการส่งออกผลไม้กระป๋องทั้งหมด ส่วนน้ำผลไม้ ซึ่งไทยส่งออกส่วนใหญ่เป็นน้ำสับปะรด รองลงมาคือ น้ำส้ม น้ำผลไม้ผสม และน้ำผลไม้อื่นๆ สำหรับผลไม้แปรรูป ไทยส่งออกในรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ กล้วยอบ มะม่วงอบ มะพร้าวอบ สับปะรดกวนและอบ เป็นต้น

สำหรับวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ขณะนี้จะยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้กระป๋องและแปรรูปของไทยในปี 2551 ทั้งนี้ เพราะประเทศผู้นำเข้ามีการสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าก่อนจะปิดท้ายปี 2551 แล้ว ดังนั้นภาพรวมทั้งปี 2551 คาดว่า มูลค่าการส่งออกผลไม้กระป๋องและแปรรูปจะเติบโตจากปีก่อนประมาณร้อยละ 30 คิดเป็นมูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยได้รับอานิสงส์จากปัจจัยบวกหลายประการ ทั้ง จากการที่ภาครัฐมีนโยบายผลักดันยุทธศาสตร์ผลไม้ไทยไปสู่ตลาดโลก การเปิดเสรีเขตการค้าเสรีภายใต้กรอบ FTA กับต่างประเทศ การทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น (JTEPA) ปัจจัยสนับสนุนจากการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในจีนในเดือนสิงหาคมปี 2551 ที่ผ่านมา และการขยายตลาดการค้าชายแดนกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน รวมทั้งการที่สหรัฐฯ ประกาศยกเลิกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้าผลไม้กระป๋องของไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยถูกเก็บอัตราอากรตอบโต้จากภาษีนำเข้าปกติมาตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา ดังนั้นจึงทำให้การส่งออกผลไม้กระป๋องและแปรรูปของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 การส่งออกผลไม้กระป๋องและแปรรูปไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 11.4 เติบโตจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งขยายตัวร้อยละ 2.8 ส่วนตลาดสหภาพยุโรป ตลาดญี่ปุ่น และตลาดอาเซียนก็ขยายตัวเช่นกัน โดยมีอัตราการเติบโตร้อยละ 32.5 ร้อยละ 62.0 และร้อยละ 49.6 ตามลำดับ

แนวโน้มส่งออกปี’52 ยังเติบโตได้ร้อยละ 10…แต่พึงระวังผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปี 2552 แนวโน้มการส่งออกผลไม้กระป๋องและแปรรูปจะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปี 2551 ซึ่งเติบโตกว่าร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 10 โดยมีมูลค่าส่งออก 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ซึ่งมีมูลค่าส่งออก 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ หากพิจารณาการส่งออกไปยังตลาดหลักทั้ง 3 ตลาด กล่าวคือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 70 ของมูลค่าการส่งออกรวมของสินค้ากลุ่มนี้ ดังนั้น ปัญหาการเกิดวิกฤตการเงินซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ ก็ย่อมส่งผลให้การส่งออกสินค้าผลไม้กระป๋องและแปรรูปของไทยได้รับผลกระทบไปด้วย สำหรับสินค้ากลุ่มผลไม้กระป๋องที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ คือ สับปะรดกระป๋อง เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนส่งออกสูงถึงร้อยละ 70 ของการส่งออกผลไม้กระป๋องทั้งหมดของไทย โดยมีสัดส่วนส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 21.0 ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งโลก ซึ่งสหรัฐฯ เป็นตลาดอันดับที่ 2 รองจากสหภาพยุโรป และปี 2552 คาดว่า การส่งออกสับปะรดกระป๋องจะขยายตัวได้เพียงประมาณร้อยละ7-10 ชะลอตัวลงจากปี 2551 ที่คาดว่าจะขยายตัวกว่าร้อยละ 40 เนื่องจากผู้นำเข้าอาจชะลอการสั่งซื้อสินค้า จากความไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจทำให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ ลดลง ขณะที่สินค้าผลไม้กระป๋องอื่นๆ ยังมีสัดส่วนการส่งออกขยายตัว

ส่วนการส่งออกน้ำผลไม้ปี 2552 คาดว่าจะยังคงขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงมาจากที่ขยายตัวถึงร้อยละ 20 ในปี 2551 ก็จะขยายตัวเพียงร้อยละ 10 ในปี 2552 เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอลงจากปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ซึ่งมีทีท่าว่าจะลุกลามไปยังสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น สำหรับตลาดส่งออกหลักดังกล่าวมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 70 ของมูลค่าการส่งออกน้ำผลไม้ทั้งหมด ทั้งนี้ สินค้าน้ำผลไม้ที่ได้รับผลกระทบคือ น้ำสับปะรด เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 60 ของการส่งออกน้ำผลไม้ทั้งหมด โดยการส่งออกน้ำสับปะรดพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 18.3 ของมูลค่าส่งออกรวม ซึ่งเป็นอันดับที่ 2 รองลงมาจากสหภาพยุโรป และในปี 2552 คาดว่า การส่งออกน้ำสับปะรดขยายตัวประมาณร้อยละ 10 ซึ่งชะลอลงจากปีก่อนซึ่งขยายตัวกว่าร้อยละ 30 เนื่องจากปริมาณสับปะรดโรงงานลดลง และมีราคาแพง ในขณะที่ความต้องการบริโภคน้ำสับปะรดลดลง เนื่องจากผู้บริโภคหันไปนิยมบริโภคน้ำผลไม้ประเภทอื่นๆแทน ทำให้การส่งออกน้ำผลไม้ผสม และน้ำผลไม้อื่นๆ ยังมีแนวโน้มการส่งออกขยายตัว สำหรับการส่งออกผลไม้แปรรูป ปี 2552 คาดว่า จะเติบโตได้ร้อยละ 10 ซึ่งหดตัวจากปี 2551 ที่มีอัตราการเติบโตร้อยละ 16 เนื่องจากพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลัก โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 44.9 รองลงมาเป็น สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว…เตรียมรับมือฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก
จากปัญหาของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดส่งออกหลักลดลง และส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกสินค้าผลไม้กระป๋องและแปรรูปของไทย ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ขอเสนอแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้เพื่อรับมือกับผลพวงของวิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐฯ ดังต่อไปนี้

ผู้ประกอบการควรมุ่งกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดส่งออกใหม่มากขึ้น อาทิ ยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา ออสเตรเลีย แอฟริกา และประเทศแถบเอเชีย เป็นต้น

ผู้ประกอบการควรขยายการผลิตไปยังสินค้าผลไม้กระป๋องและแปรรูปชนิดอื่นๆ มากขึ้น เช่น ผลไม้กระป๋องอื่นๆ และน้ำผลไม้ประเภทอื่นๆ เป็นต้น โดยอาศัยจุดแข็งจากการที่ไทยมีผลไม้เมืองร้อนหลากหลายชนิดเพื่อทดแทนการพึ่งพิงการส่งออกสินค้าสับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรดที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่
ผู้ประกอบการควรเร่งปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานการผลิตสินค้า เพื่อลดอุปสรรคการกีดกันทางการค้าที่ประเทศผู้นำเข้านำมาบังคับใช้ เช่น มาตรฐาน HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) และมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) รวมทั้งมาตรการติดฉลากอาหารของสหภาพยุโรป เป็นต้น นอกจากนี้ ไทยเองยังมีการบังคับใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อสร้างการยอมรับและความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคต่างประเทศ

ผู้ประกอบการควรอาศัยข้อได้เปรียบจากการเปิดเขตเสรีการค้า ในการขยายตลาดส่งออกโดยเฉพาะการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งเป็นโอกาสในการขยายตลาดผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้ และผลไม้แปรรูปของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นมากขึ้น

ผู้ประกอบการควรอาศัยโอกาสดีจากการที่จีนกำลังเผชิญปัญหาวิกฤตอาหาร จากการตรวจพบสารเมลามีนปนเปื้อนในอุตสาหกรรมอาหาร จนทำให้ทั่วโลกเกิดความหวั่นวิตกต่อสินค้าอาหารที่นำเข้าจากจีน ขณะที่ไทยเองมีจุดแข็งจากการเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลกและมีมาตรฐานการผลิตเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรอาศัยโอกาสดังกล่าวในการขยายการส่งออกสินค้าอาหารไทยให้กว้างขวางขึ้น

กล่าวโดยสรุป ผลกระทบของวิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลไปถึงระบบเศรษฐกิจทั้งในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และมีแนวโน้มว่ากำลังจะกลายเป็นปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้น คาดว่า ผลพวงของปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าผลไม้กระป๋องและแปรรูปของไทย และคาดว่า แนวโน้มปี 2552 มูลค่าการส่งออกผลไม้กระป๋องและแปรรูปจะมีอัตราชะลอลงจากร้อยละ 30 ในปี 2551 เหลือร้อยละ 10 คิดเป็นมูลค่าส่งออก 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ซึ่งมีมูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากผู้บริโภคในตลาดส่งออกหลักของไทยได้รับผลกระทบทำให้กำลังซื้อลดลง ทั้งในตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกรวมกันถึงร้อยละ 70 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ผลไม้กระป๋องและแปรรูปของไทยไปตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในธุรกิจควรเร่งปรับตัวเพื่อเตรียมรับมือความเสี่ยงจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยการกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดส่งออกใหม่ การขยายการผลิตผลไม้กระป๋องและน้ำผลไม้ประเภทอื่นๆ มากขึ้น เพื่อทดแทนการพึ่งพิงการส่งออกสินค้าสับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรด การเร่งปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานการผลิตสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ประเทศผู้นำเข้ากำหนดเพื่อสร้างการยอมรับให้แก่ผู้บริโภคในตลาดโลก อีกทั้งการอาศัยโอกาสจากการเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทยกับญี่ปุ่น และผู้ประกอบการไทยควรอาศัยโอกาสจากการที่จีนกำลังประสบปัญหาวิกฤตการณ์ด้านอาหาร จนทำให้ทั่วโลกขาดความเชื่อมั่นต่อสินค้าอาหารจากจีน ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยในการขยายการส่งออกได้มากขึ้น