อุตสาหกรรมเซรามิกปี’52 : วิกฤติการเงินโลก…..ฉุดส่งออกทรุด

วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการล้มละลายของสถาบันการเงินในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย และวาณิชธนกิจขนาดใหญ่ในสหรัฐฯในเดือนกันยายน 2551 ที่ผ่านมา มีสาเหตุหลักมาจากปัญหาซับไพร์มที่เป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน ไม่เพียงแต่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯเท่านั้น แต่ยังลุกลามต่อเนื่องไปยังระบบเศรษฐกิจของทั่วโลกในระดับที่แตกต่างกันไป สำหรับประเทศไทยนั้นก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะภาคการส่งออกของไทย ซึ่งโดยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยแล้ว จำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก

อุตสาหกรรมเซรามิก เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ต้องพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นสำคัญ ผู้ประกอบการจึงต้องเผชิญกับปัญหาการส่งออกชะลอตัวหรือลดลง จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เน้นการส่งออกเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ในระยะที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเซรามิกของไทยยังคงต้องเผชิญกับปัญหาการแข่งขันกันระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะการแข่งขันกับประเทศจีน ซึ่งมีกำลังการผลิตเซรามิกใหญ่ที่สุดในโลก มีข้อได้เปรียบทั้งในด้านราคาถูก และการแข่งขันกับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เช่น อิตาลี และสเปนในตลาดผลิตภัณฑ์เซรามิกระดับบน ซึ่งมีความได้เปรียบในด้านเทคโนโลยีการผลิตระดับสูงและการออกแบบผลิตภัณฑ์อยู่ในระดับแนวหน้าของโลก

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกลดลงเหลือ 620.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวลดลงเหลือเพียงร้อยละ 24.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 34.3 ในช่วง 3 เดือนหลังของปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าแนวโน้มการส่งออกจะชะลอตัวลงมากกว่าเดิม อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางการเงินของสหรัฐฯที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมายังสภาพคล่องทางการเงินทั่วทั้งโลก เศรษฐกิจของสหรัฐฯ และหลายๆประเทศต่างตกอยู่ในภาวะชะลอตัวหรือถดถอย ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง คาดว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกในปี 2551 จะมีมูลค่าประมาณ 834 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 17.3 เท่านั้น

ผลิตภัณฑ์เซรามิกที่ไทยส่งออกมากที่สุดในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2551 ที่ผ่านมา คือ เซรามิกประเภทอื่นๆ โดยมีการส่งออกถึงร้อยละ 59 ของการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกทั้งหมด รองลงมาคือ เครื่องสุขภัณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 17 และกลุ่มผลิตภัณฑ์กระเบื้องปูพื้น ปิดผนัง และโมเสค คิดเป็นร้อยละ 16 สำหรับผลิตภัณฑ์เซรามิกประเภทลูกถ้วยไฟฟ้า ของชำร่วยและเครื่องประดับ คิดเป็นร้อยละ 4

ในปัจจุบัน ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกอันดับหนึ่งของไทย คือ ญี่ปุ่น โดยมูลค่าสูงถึง 326.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.6 ซึ่งผลิตภัณฑ์เซรามิกประเภทอื่นๆ เช่น หลอดหรือท่อ ท่อนำ ราง และอุปกรณ์ติดตั้งสำหรับหลอดหรือท่อที่เป็นเซรามิก และผลิตภัณฑ์เซรามิกสำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการทางเคมี ใช้ในทางเกษตรกรรม และใช้ในการลำเลียงหรือบรรจุของ มีการส่งออกมากที่สุด คิดเป็นมูลค่าถึง 311.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 84.8 มูลค่าการส่งออกเซรามิกประเภทอื่นๆทั้งหมด รองลงมาคือสหรัฐฯ มีมูลค่าส่งออก 79.3 เหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 12.8 โดยส่งออกเครื่องสุขภัณฑ์มากที่สุด มีมูลค่าประมาณ 47.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 44.0 ของการส่งออกเครื่องสุขภัณฑ์ทั้งหมด อันดับต่อๆมา ได้แก่ ออสเตรเลีย ลาว และมาเลเซีย ตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์เซรามิกที่ส่งออกไปออสเตรเลีย และลาว มากที่สุด คือ กระเบื้องปูพื้น ปิดผนัง และโมเสค และผลิตภัณฑ์เซรามิกที่ส่งออกไปยังมาเลเซียมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์เซรามิกประเภทอื่นๆ

เนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ในช่วงปลายปี 2551 ทำให้กำลังซื้อของแต่ละประเทศปรับตัวลดลง และเมื่อกำลังซื้อในตลาดส่งออกในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของผลิตภัณฑ์เซรามิกไทยชะลอตัวหรือลดลงแล้ว จะส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกของผลิตภัณฑ์เซรามิกลดลงตามไปด้วย โดยจะส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก อย่างชัดเจนในช่วงต้นปี 2552 โดยเฉพาะการส่งออกสุขภัณฑ์ไปยังสหรัฐฯ และการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกประเภทอื่นๆ ไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับหนึ่งเมื่อเทียบกับการส่งออกทั้งหมดของผลิตภัณฑ์เซรามิกในประเภทเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดการณ์ว่า ในปี 2552 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงอย่างมาก โดยน่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.3 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกเพียงประมาณ 853 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่หากผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัว และแก้ไขปัญหาให้ทันกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงแล้ว อาจทำให้มูลค่าการส่งออกของผู้ประกอบการในปี 2552 ลดลงถึงร้อยละ 1-10 ก็เป็นได้

เตือนภัยส่งออกเซรามิกปี’52
จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกในระดับที่แตกต่างกันออกไป ตามความรุนแรงของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ ดังนี้

กลุ่มผลิตภัณฑ์เซรามิกที่มีแนวโน้มการส่งออกลดลง
ผลิตภัณฑ์เซรามิกประเภทวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ เครื่องสุขภัณฑ์ต่างๆ กระเบื้องปูพื้น ปิดผนัง และโมเสค และของชำร่วยและเครื่องประดับ ซึ่งมีการส่งออกไปยังสหรัฐฯเป็นตลาดหลัก และการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่นๆ ซึ่งมีการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นตลาดหลัก และมีมูลค่าส่งออกที่สูงมากเป็นอันดับหนึ่ง

กลุ่มผลิตภัณฑ์เซรามิกที่มีแนวโน้มการส่งออกชะลอตัว
ผลิตภัณฑ์เซรามิกประเภทลูกถ้วยไฟฟ้า น่าจะมีมูลค่าการส่งออกที่ชะลอตัวลง เนื่องด้วยมีการส่งออกไปยังจีนเป็นตลาดหลัก ซึ่งได้รับผลพวงมาจากวิกฤตการณ์ทางการเงินของสหรัฐฯเช่นกัน แต่อาจจะไม่รุนแรงเท่ากับผลิตภัณฑ์เซรามิกที่มีการพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ

ทางออกของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์เซรามิก
ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเซรามิก โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีการส่งออกอย่างเข้มข้น จะต้องประสบกับปัญหาต่างๆ จากวิกฤตทางเศรษฐกิจของโลก แต่ยังมีทางออกอีกหลายแนวทางสำหรับผู้ประกอบการในการปรับตัวรับกับวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้

ควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และลดต้นทุนการผลิต
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเซรามิก ต้องผลิตสินค้าให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ากำหนดไว้ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ควรขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในด้านเทคโนโลยีการผลิต เพื่อพัฒนา ปรับปรุงการผลิตให้มีคุณภาพ และมาตรฐาน รวมทั้งอาจจะช่วยลดการสูญเสียของผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรเน้นการใช้พลังงานทดแทนในการผลิต เพื่อให้สามารถลดต้นทุนในการผลิตได้มากยิ่งขึ้น

วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเซรามิกประเภทวัสดุก่อสร้าง ของชำร่วยและเครื่องประดับ และเซรามิกประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กต้องเน้นด้านคุณภาพ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สวยงาม หรูหรา และทันสมัย เจาะตลาดลูกค้าระดับสูงที่ยังพอมีกำลังซื้ออยู่บ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคากับผลิตภัณฑ์เซรามิกของจีน

กระตุ้นตลาดในประเทศ
ผู้ประกอบการควรกระตุ้นความต้องการผลิตภัณฑ์เซรามิกภายในประเทศให้มากขึ้น โดยอาจจะมีกิจกรรมทางด้านการตลาดให้สูงขึ้น ส่วนในการหาตลาดส่งออกใหม่นั้น อาจจะทำได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยการเจาะตลาดไปยัง ประเทศแถบตะวันออกกลาง แอฟริกา ดูไบ ซึ่งประสบกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจน้อยกว่าประเทศอื่นๆ เป็นต้น