ราคาสินค้าเกษตรดิ่งลงในปี’52 : ต้องเร่งปรับตัว…รับสถานการณ์

จากวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลก กำลังซื้อมีแนวโน้มลดลง ผนวกกับสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นการจับจ่ายใช้สอยจึงมีแนวโน้มลดลงด้วย ประเทศคู่ค้าของไทยในตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นชะลอนำเข้า และหันมาต่อรองราคาสินค้านำเข้า เมื่อจะหันไปเจาะขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ ก็ไม่ง่ายนัก เนื่องจากตลาดเหล่านั้นก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินในสหรัฐฯเช่นกัน รวมทั้งยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรต่างหันไปพึ่งตลาดส่งออกใหม่ๆกันมากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดใหม่บางประเทศยังมีปัญหาในเรื่องการชำระเงิน นอกจากจะต้องเผชิญปัญหากดดันทางด้านตลาดแล้ว ในด้านการผลิตสินค้าเกษตรก็มีปัญหาเรื่องผลผลิตล้นตลาดด้วย เนื่องจากปริมาณการผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีการเพาะปลูก 2551/52 เนื่องจากราคาในปี 2551 อยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจให้เกษตรกรขยายการเพาะปลูก ดังนั้น ตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ถึงปี 2552 แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรจะอยู่ในช่วงขาลง รัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเกษตรกรคงต้องเตรียมรับมือ และเร่งหาแนวทางแก้ไข

ดัชนีราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของโลกในปี 2552 มีแนวโน้มว่าจะลดลง เมื่อเทียบกับปี 2548 ซึ่งถือว่าเป็นปีฐาน หลังจากที่ดัชนีเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2551 ซึ่งการคาดการณ์นี้สอดคล้องกับสถาบันวิจัยหลายแห่งที่คาดการณ์ว่าในปี 2552 ราคาสินค้าเกษตรสำคัญในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง โดยเมื่อพิจารณาเป็นรายหมวดของสินค้าอาหารและเครื่องดื่มแล้ว พบว่าดัชนีราคาหมวดธัญพืชและดัชนีราคาหมวดน้ำมันพืชเป็นตัวฉุดดัชนีรวมของสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในปี 2552 ให้ลดลง กล่าวคือ ดัชนีราคาของหมวดธัญพืช โดยเฉพาะข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าว มีแนวโน้มลดลงในปี 2552 จากที่เคยพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2551 อันเป็นผลมาจากการขยายเนื้อที่เพาะปลูกสินค้าเกษตรสำคัญ ในขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกลดลง เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรหันมาเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรลดลง ดังนั้น การแข่งขันในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรง ผู้นำเข้าเริ่มต่อรองราคาสินค้า ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยกดดันราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก

ดัชนีราคาหมวดน้ำมันพืช โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มมีแนวโน้มลดลงเช่นกันในปี 2552 เนื่องจากการขยายพื้นที่การผลิตเพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการพืชพลังงาน แต่การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มต่ำลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาทำให้ความความต้องการน้ำมันมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ความแตกต่างระหว่างราคาน้ำมันกับน้ำมันที่มีส่วนผสมของพลังงานทดแทนลดลง คาดว่าจะทำให้ความต้องการพลังงานทดแทนลดลงตามไปด้วย และนักลงทุนบางรายชะลอการลงทุนตั้งโรงงานผลิตพลังงานทดแทน อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาพืชพลังงานล้นตลาด

อย่างไรก็ตาม ในปี 2552 ดัชนีราคาของหมวดเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อไก่ และสุกร และอาหารทะเล โดยเฉพาะปลาและกุ้งนั้นไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับปี 2551 เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าทั้งเนื้อสัตว์และอาหารทะเลยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง

สำหรับในประเทศไทย ราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่เคยไต่ระดับเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2549 ก็ได้ส่งสัญญาณเตือนถึงภาวะสินค้าเกษตรตกต่ำ เริ่มจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ช่วงกลางปี 2551 โดยเฉพาะข้าวขาว ข้าวเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เมื่อผนวกกับการคาดการณ์สภาวะการค้าสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่มีแนวโน้มตกต่ำ จึงคาดการณ์ได้ว่าในปี 2552 ไทยจะต้องเผชิญกับภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเช่นกัน เนื่องจากภาวะความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง จากผลกระทบวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งของสหรัฐฯและเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลก ในขณะที่คาดการณ์ว่าในปี 2552 ทุกประเทศต่างเร่งขยายผลผลิตสินค้าเกษตร ทั้งจากแรงจูงใจด้านราคาและความต้องการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ ทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกลดลง และตลาดพลิกกลับไปเป็นตลาดของผู้ซื้อ คาดหมายว่าการแข่งขันของสินค้าเกษตรกลับมารุนแรงเช่นเดิม ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกดดันทำให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลง การคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันยังคงอยู่ในช่วงขาลง ส่งผลกระทบทำให้ความต้องการพืชพลังงานในตลาดเพื่อการผลิตพลังงานทดแทนชะลอตัว จึงคาดหมายได้ว่าราคาพืชพลังงานในตลาดโลกมีแนวโน้มอยู่ในช่วงของการปรับตัวลงเช่นกัน ทำให้โอกาสในการส่งออกพืชพลังงานของไทยลดลงตามไปด้วย ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกดดันราคาสินค้าเกษตรของไทยในปี 2552

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับสินค้าเกษตรของไทยคือ แนวโน้มการลดลงของราคาในปี 2552 นั้นจะรวดเร็วและรุนแรงเช่นเดียวกับในกรณีที่เกิดขึ้นกับยางพาราหรือไม่ กล่าวคือ ราคายางพาราในทุกระดับตลาด ตั้งแต่ตลาดท้องถิ่น ไปจนถึงตลาดส่งออกลดลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง รวมทั้งยังมีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องจากความวิตกว่าความต้องการยางในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง จากผลกระทบของวิกฤตภาคการเงินของสหรัฐฯที่ส่งผลต่อยอดการผลิตรถยนต์ของประเทศผู้ผลิตรถยนต์สำคัญชะลอลง จากยอดขายรถยนต์ที่ลดลงทั่วโลก ดังนั้น ความต้องการยางเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางล้อและชิ้นส่วนยานยนต์จึงชะลอตัวตามไปด้วย

ปัจจัยที่ส่งผลกดดันราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกในปี 2552 มีดังนี้
ด้านการผลิต
กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯคาดการณ์ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญในปี 2552 โดยเฉพาะ Coarse Grain(ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต ข้าวไรย์) ข้าวสาลี ข้าว และพืชน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงจูงใจในด้านราคา และประเทศต่างๆขยายการผลิตเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร รวมทั้งต้องการรักษาเสถียรภาพอัตราเงินเฟ้อในประเทศ เนื่องจากในปี 2551 ราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านอาหารเป็นสัดส่วนสำคัญของค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมทั้งยังส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี 2551 ความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรไม่รุนแรงเหมือนในช่วงปลายปี 2549 และ 2550

สำหรับประเทศไทยในปี 2552 ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากแรงจูงใจด้านราคาที่สูงเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ สินค้าเกษตรประเภทพืชพลังงานทดแทนก็มีการขยายปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรบางประเภทมีปริมาณการผลิตลดลง อันเป็นผลมาจากพื้นที่ปลูกลดลง โดยเฉพาะอ้อยโรงงาน เนื่องจากราคาไม่จูงใจ ทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นๆที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจดีกว่า

ด้านการตลาด ในปี 2552 คาดการณ์ว่าผลกระทบจากเศรษฐกิจทั่วโลกซบเซา ทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรลดลง และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงการสั่งซื้อสินค้า รวมทั้งกฎระเบียบต่างๆของประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตร โดยแยกพิจารณา ดังนี้

-กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง จากวิกฤตเศรษฐกิจซบเซาทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคเน้นประหยัดและเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูกและเป็นสินค้าจำเป็น ดังนั้น สินค้าเกษตรที่มีราคาสูง สินค้าเกรดพรีเมี่ยม และจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ข้าวหอมมะลิ เป็นต้น นับว่าผู้ส่งออกกุ้งของไทยเสียโอกาสที่จะสามารถขยายตลาด เนื่องจากไทยได้อานิสงส์จากการลดภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในตลาดสหรัฐฯ และเจเทปป้าในตลาดญี่ปุ่น

-ราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาลง การคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง นับว่าเป็นปัจจัยกดดันราคายางธรรมชาติของไทย เนื่องจากราคายางธรรมชาติจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยกดดันราคาพืชพลังงานทดแทน และการตัดสินใจเข้ามาลงทุนขยายการผลิตพลังงานทดแทน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบทำให้พืชพลังงานทดแทนที่ขยายการผลิตเพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการไปแล้วมีแนวโน้มล้นตลาด และเผชิญปัญหาราคาตกต่ำ สำหรับประเทศไทยแล้วพืชพลังงานที่มีแนวโน้มจะเผชิญปัญหา คือ ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง

-ประเทศผู้ซื้อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการค้า ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา และผลผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรพลิกกลับไปเป็นตลาดของผู้ซื้อ ซึ่งเท่ากับว่าผู้ซื้อมีอำนาจการต่อรองมากขึ้น โดยเฉพาะการต่อรองด้านราคา การเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้า โดยเฉพาะในด้านสุขอนามัยและคุณภาพของสินค้า การกำหนดโควตานำเข้า การขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อปกป้องเกษตรกรในประเทศ การชะลอการสั่งซื้อสินค้าเพื่อรอดูราคาและนโยบายของรัฐบาลในการแทรกแซงตลาด รวมทั้งนโยบายการระบายสต็อกสินค้า หรือยกเลิกข้อตกลงการซื้อขายเพื่อเปลี่ยนแปลงราคา เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรอยู่ในช่วงขาลง

-การเก็งกำไรสินค้าเกษตรลดลง การปั่นราคาสินค้าเกษตรของกองทุนระหว่างประเทศจากการเข้ามาเก็งกำไรผ่านทางตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าในปี 2552 มีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับในปี 2551 เนื่องจากโอกาสในการทำกำไรจากการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าลดลง อันเป็นผลมาจากการที่ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในช่วงขาลง บรรดานักลงทุนหันไปสนใจตลาดหุ้นและโลหะมีค่า โดยเฉพาะทองคำแทน แต่การหันไปเก็งกำไรทั้งในตลาดหุ้นและโลหะมีค่านั้นยังมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก เนื่องจากมีความผันผวนทางด้านราคา อันเป็นผลมาจากความวิตกต่อผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ลุกลามไปทั่วโลก

-รายได้ของเกษตรกรลดลง การคาดการณ์ว่าราคาสินค้าเกษตรในปี 2552 มีแนวโน้มลดลง ทำให้คาดได้ว่าในปี 2552 รายได้ของเกษตรกรจะมีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกัน หมายถึงกำลังซื้อของเกษตรกรมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้เม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจลดลง และยอดจำหน่ายสินค้าบางประเภทลดลงด้วย ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจภาคการเกษตร โดยเฉพาะยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ และรถกระบะ

เตรียมความพร้อม…รับมือวิกฤติที่กำลังมาเยือนในปี’52
สำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำในปี 2552 มีประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

ภายในประเทศ
-นโยบายรัฐบาล
ผลกระทบต่อเนื่องจากการที่ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง คือ รายได้ของเกษตรกร อันอาจจะนำไปสู่การที่รัฐบาลต้องออกมาตรการรับจำนำสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อแทรกแซงยกระดับราคาสินค้าเกษตรในตลาด ซึ่งต้องมีการดำเนินการอย่างระมัดระวังเพื่อความเป็นธรรมทั้งกับเกษตรกร และผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตร ตลอดจนผู้บริโภคในประเทศ นอกจากนี้ มาตรการที่รัฐบาลจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้คือ การลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะการลดราคาปัจจัยการผลิต ทั้งปุ๋ยเคมี เคมีภัณฑ์ทางการเกษตร และวัตถุดิบอาหารสัตว์ ให้สอดคล้องกับภาวะตลาดอย่างทันท่วงที ซึ่งปัจจัยการผลิตเหล่านี้ไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้า และราคาอิงกับราคาน้ำมัน ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง รัฐบาลคงต้องเจรจากับผู้นำเข้าให้ลดราคาปัจจัยการผลิต ซึ่งจะเป็นการช่วยเกษตรกรทางอ้อมให้สามารถประคองตัวได้ท่ามกลางปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

-การปรับตัวของผู้ประกอบการ ท่ามกลางปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ผู้ประกอบการที่จะสามารถประคองตัวอยู่รอดได้ คือ ผู้ที่ปรับตัวทันรับกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด โดยหันไปผลิตสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสินค้าที่จะขายดีคือ สินค้าอาหารทั่วไปที่ราคาไม่แพงมากนัก เช่น ปลากระป๋อง บะหมี่สำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูปแช่เย็นแช่แข็ง เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอาจจะต้องหันมาให้น้ำหนักกับตลาดในประเทศมากขึ้น

การส่งออก
-ตลาดส่งออกหลัก
แม้ว่าตลาดส่งออกหลักของสินค้าเกษตรไทย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และจีน ต่างประสบปัญหาเศรษฐกิจซบเซา ทำให้การขยายการส่งออกไปยังตลาดส่งออกหลักเหล่านี้ทำได้ลำบาก แต่ผู้ประกอบการบางรายยังสามารถปรับสินค้าให้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคในต่างประเทศ โดยเฉพาะการเน้นการผลิตอาหารแปรรูปที่ราคาไม่แพงมากนัก เนื่องจากกำลังซื้อที่ลดลง ทำให้มีการลดความถี่ในการออกไปบริโภคอาหารนอกบ้าน ดังนั้น จึงนับเป็นโอกาสในการเติบโตของอาหารสำเร็จรูปประเภทต่างๆ

-การเจาะขยายตลาดใหม่ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรของไทยหันไปพึ่งตลาดใหม่มากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพิงตลาดส่งออกหลัก ตลาดที่ยังน่าสนใจในปี 2552 เนื่องจากคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซานี้ค่อนข้างน้อย และยังเป็นตลาดที่สินค้าเกษตรไทยมีโอกาสเติบโต คือ ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน

-ความร่วมมือระหว่างประเทศ ผู้ส่งออกของไทยต้องเร่งสร้างความแข็งแกร่งในความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรประเภทเดียวกัน เช่น ข้าว ยางพารา เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับประเทศผู้ซื้อ เนื่องจากการแข่งขันกันเองในระหว่างประเทศผู้ผลิตด้วยกันเป็นโอกาสที่ประเทศผู้ซื้อจะมีอำนาจการต่อรองที่เหนือกว่า นอกจากนี้ ความร่วมมือกันนั้นหมายถึงการควบคุมปริมาณการผลิต และการส่งออก ทั้งนี้ เพื่อสร้างเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกด้วย