กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)…นักลงทุนรอจังหวะปีนี้ ท่ามกลางความผันผวนของตลาดหุ้น

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ต้องเผชิญปัจจัยท้าทายต่างๆมากมายทั้งผลกระทบจากวิกฤตการเงินที่ลุกลามไปทั่วโลก รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง จนส่งผลกระทบให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนประเภทดังกล่าวในเดือนกันยายน 2551 หดตัวลงไป 4.17% หรือมีมูลค่า 44,106.5 ล้านบาท ลดลงจาก 46,024.9 ล้านบาท ในเดือนก่อนหน้า (ส.ค.) ในขณะที่จำนวนกองทุน LTF ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงโดยมีทั้งหมด 52 กอง เนื่องจากเงื่อนไขของภาครัฐที่ระบุว่าการจะได้รับสิทธิลดหย่อนทางภาษีนั้นจะต้องเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2550 ดังนั้นตั้งแต่เดือน ก.ค. 2550 เป็นต้นมา จึงไม่มีการจัดตั้งกองทุน LTF กองใหม่ขึ้นแต่อย่างใด ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ในช่วงเดือนกันยายน 2551 ไว้ รวมถึงแนวโน้มที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนในกองทุนดังกล่าว ดังนี้

ภาพรวมของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ในเดือนกันยายน 2551
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ในเดือนกันยายน 2551อยู่ที่ 44,106.5 ล้านบาท ลดลงจาก 46,024.9 ล้านบาท ในเดือนสิงหาคม หรือคิดเป็นอัตราการหดตัว 4.17% โดยเป็นผลจากการปรับลดดัชนีหุ้นไทย อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า NAV ของกองทุนรวม LTF ปรับลดในอัตราที่น้อยกว่าดัชนี SET ในช่วงเวลาเดียวกันที่ลดลงไปถึง 12.84% (26 ก.ย. 51 เทียบกับ 29 ส.ค. 51) และในทิศทางที่ต่อเนื่อง ดัชนีหุ้นไทยยังคงแกว่งตัวอยู่ในขาลง จนกระทั่งล่าสุด ณ วันที่ 27 ต.ค 51 ความวิตกกังวลต่อวิกฤตการเงินที่อาจนำมาสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ได้ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงทะลุระดับ 400 จุด และร่วงลงมากกว่า 10% จนตลาดหลักทรัพย์ต้องประกาศพักการซื้อขายชั่วคราว (เซอร์กิต เบรกเกอร์) ซึ่งเป็นการใช้เซอร์กิต เบรกเกอร์ เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 1 เดือน หลังจากการประกาศใช้ในวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ในช่วงเดือนกันยายน 2551 ไว้ดังนี้

การปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย โดยปัจจัยการเมืองในประเทศยังคงกดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย รวมถึงความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วทุกภูมิภาคด้วยความกังวลต่อปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินทั่วโลก ในขณะที่นักลงทุนยังกังวลเรื่องแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ดัชนีแกว่งตัวลงตามตลาดหุ้นภูมิภาค จนกระทั่งส่งผลให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นที่มีความอ่อนไหวค่อนข้างสูง โดยอัตราการดิ่งตัวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยถึง 12.84% (26 ก.ย. 51 เทียบกับ 29 ส.ค. 51) ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้การที่อัตราการปรับลดลงของ NAV น้อยกว่าอัตราการปรับลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET) นั้น ในภาพกว้างแล้วอาจสะท้อนว่าการเปลี่ยนแปลงทางด้านราคา (ผ่านการปรับตัวของดัชนี SET) ได้รับแรงชดเชยจากปัจจัยด้านปริมาณหรือการเข้าซื้อหน่วยลงทุน LTF ของนักลงทุน จึงส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงของ NAV ไม่ได้ลดลงไปต่ำกว่าการเปลี่ยนแปลงของ SET

การชะลอการเข้าลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เนื่องจากนักลงทุนมองว่าปัญหาวิกฤตการเงินโลกยังไม่ถึงจุดที่แย่ที่สุด โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ยังไม่ลงไปถึงจุดต่ำสุด เนื่องจากข่าวร้ายจากปัญหาวิกฤตการเงินยังคงทยอยออกมาเป็นระยะๆ และยังลุกลามไปประเทศต่างๆทั่วโลก ทั้งนี้แม้ว่าทางการและธนาคารกลางทั่วโลกจะออกมาตรการเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่การฟื้นตัวของภาคการเงินคงต้องใช้ระยะเวลานานเกือบปีเป็นอย่างน้อย กว่าที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ ดังนั้นท่ามกลางภาวะตลาดเงินและตลาดทุนโลกที่ยังมีแนวโน้มผันผวน นักลงทุนที่ต้องการได้รับผลตอบแทนสูงอาจมองว่ายังไม่ถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่จะเข้าลงทุน จึงเลือกที่จะรอให้ดัชนี SET ขยับเข้าหาจุดต่ำสุด ก่อนที่จะเข้าซื้อหน่วยลงทุน LTF ในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งก็น่าจะยังคงสามารถทำได้

แนวโน้มการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)
สำหรับแนวโน้มของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าน่าจะเติบโตโดยเฉพาะในช่วงที่เหลือของปี
เนื่องจากปัจจัยหนุนต่างๆดังต่อไปนี้ ประการแรก ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศและวิกฤตการเงินทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ ปัจจุบัน (27 ต.ค. 2551) ปรับลดลงไปเกือบ 43% จากปลายเดือน ส.ค. 2551 และ 55% จากช่วงสิ้นปี 2250 ดังนั้นเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ คณะรัฐมนตรีจึงลงมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงคลัง (เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 51) ในการขยายวงเงินหักค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และเงินลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) จากปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้หักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน และไม่เกิน 500,000 บาท/ปี เพิ่มเป็นหักเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน และไม่เกิน 700,000 บาท/ปี ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2551 ไปจนถึง 31 ธ.ค. 2551 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า นโยบายการขยายเพดานการหักลดหย่อนภาษีคงจะช่วยให้นักลงทุนหันมาให้ความสนใจกับการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) มากขึ้น เพราะนอกจากจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มขึ้นแล้ว ก็ยังเป็นจังหวะที่กองทุนสามารถซื้อหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีแต่ราคาถูกลง และเป็นการลงทุนระยะยาวที่มีโอกาสทำกำไรได้ในอนาคต ประการที่สอง เนื่องจากผู้ลงทุนซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวม LTF แล้ว จะต้องถือไว้ให้ครบ 5 ปีปฏิทิน ผู้ลงทุนจึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนั้นในช่วงปลายปีจึงเป็นช่วงฤดูกาลที่ผู้ลงทุนจะเข้ามาซื้อกองทุนรวม LTF มากที่สุดเพราะการซื้อในช่วงปลายปีจะทำให้ระยะเวลาที่ถือครองสั้นกว่า 5 ปี ขณะที่เงื่อนไขการถือครอง 5 ปีของทางการนั้นนับตามปีปฏิทิน ซึ่งก็น่าจะหนุนให้ NAV ของกองทุนดังกล่าวขยับขึ้นมาได้ในช่วงที่เหลือของปี ประการที่สาม แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะประสบความผันผวนตามตลาดหุ้นภูมิภาคจากปัญหาวิกฤตการเงินทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในระยะยาว (5 ปี) ตลาดหุ้นไทยน่าจะฟื้นตัวได้ เนื่องจากประเทศไทยไม่ใช่จุดเริ่มของปัญหาวิกฤตการเงินดังกล่าวและปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังคงแข็งแกร่งอยู่ (P/E ratio อยู่ในระดับต่ำ) กอปรกับในช่วง 5 ปีที่ลงทุนในกองทุนรวม LTF นั้น ปัญหาวิกฤตการเงินทั่วโลกน่าจะผ่านพ้นและตลาดหุ้นก็คงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จนกระทั่งสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับการลงทุนในกองทุนรวม LTF ได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตามประเด็นที่ยังคงต้องติดตามคือความเสี่ยงทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองที่อาจกดดันให้ดัชนี SET ปรับลดลงไปมากจนกระทั่งส่งผลให้อัตราการขยายตัว NAV ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการลงทุนในกองทุนรวม LTF อาจไม่สามารถชดเชยราคาหุ้นที่ปรับลดลงไปอย่างมากได้ นอกจากนี้แรงกระตุ้นจากการขยายวงเงินที่สามารถหักภาษีได้จาก 500,000 บาท/ปี เป็น 700,000 บาท/ปีนั้น อาจถูกจำกัดจากประเด็นที่ว่าการหักลดหย่อนภาษียังคงทำได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดต่อผู้ที่สนใจจะซื้อกองทุนรวม LTF เพิ่มบางกลุ่ม และท่ามกลางทิศทางตลาดหุ้นที่ยังคงไม่แน่นอนทั้งในและต่างประเทศ อาจส่งผลให้ผู้ที่สนใจซื้อกองทุนรวม LTF อาจรอไปจนกระทั่งใกล้สิ้นปีจึงจะตัดสินใจ โดยอาจต้องการรอดูสถานการณ์ตลาดหุ้นประกอบการตัดสินใจก่อน

สรุปโดยรวม กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เผชิญกับหลากปัจจัยท้าทายต่างๆส่งผลให้ NAV กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ในเดือนกันยายน 2551 หดตัวลงไป 4.17% จากเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยที่ฉุดให้ NAV หดตัว ได้แก่ การปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในเดือนกันยายนมีอัตราการหดตัวถึง 12.84% (26 ก.ย. 51 เทียบกับ 29 ส.ค. 51) และการชะลอการเข้าลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เนื่องจากนักลงทุนมองว่าปัญหาวิกฤตการเงินโลกยังไม่ถึงจุดที่แย่ที่สุด โดยนักลงทุนต่างก็รอโอกาสในการเข้าไปซื้อหุ้นในจังหวะที่ราคาลงไปต่ำที่สุด โดยเฉพาะนักลงทุนที่มองว่าดัชนีหุ้นยังมีความเสี่ยงในช่วง ขาลงอยู่ โดยล่าสุด ณ วันที่ 27 ต.ค. 51 ดัชนีหุ้นไทยทะลุระดับ 400 จุดลงไปแล้วและร่วงลงมามากกว่า 10% เนื่องจากมีแรงเทขายออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯต้องใช้ระบบการพักซื้อขายชั่วคราวในช่วงใกล้ปิดตลาด (เซอร์กิจ เบรกเกอร์) ซึ่งเป็นการใช้เซอร์กิต เบรกเกอร์เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 1 เดือนหลังจากเพิ่งจะประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) น่าจะกลับมาได้รับความสนใจได้ในช่วงที่เหลือของปี 2551 เนื่องจากสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายเพดานการหักลดหย่อนภาษี โดยการหักลดหย่อนภาษีดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค.2551 (รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 3 เดือน) ขณะเดียวกันในช่วงปลายปีเป็นช่วงฤดูกาลที่ผู้ลงทุนจะเข้ามาซื้อกองทุนรวม LTF มากที่สุดในแต่ละปี เพราะเป็นการย่นระยะเวลาการถือครองให้น้อยลงกว่า 5 ปีปฏิทิน ซึ่งก็น่าจะหนุนให้ NAV ของกองทุนดังกล่าวขยับขึ้นมาได้ นอกจากนี้ในช่วง 5 ปีที่ลงทุนในกองทุนรวม LTF นั้น ปัญหาวิกฤตการเงินและความผันผวนของเศรษฐกิจทั่วโลกน่าจะผ่านพ้นและตลาดหุ้นน่าจะสามารถคลี่คลาย ส่งผลให้กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สามารถสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าในระยะยาวได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตามการที่สิทธิในการลดหย่อนภาษียังคงกำหนดไว้ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน อาจเป็นข้อจำกัดสำหรับผู้ที่สนใจจะลงทุนเพิ่มในบางกลุ่มแม้ว่าเพดานการหักลดหย่อนภาษีจะถูกปรับจาก 500,000 บาท/ปี เป็น 700,000 บาท/ปีก็ตาม นอกจากนี้สถานการณ์ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงในตลาดหุ้น อาจทำให้นักลงทุนหรือผู้สนใจบางส่วนต้องการรอดูสถานการณ์ตลาดหุ้นไปจนถึงช่วงใกล้สิ้นปีเพื่อประกอบการตัดสินใจ