วิกฤติในภาคการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯและเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวในปี 2552 ส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทย โดยจะมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงเช่นกัน บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2552 เป็น 2 กรณี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของผลกระทบทางเศรษฐกิจ ดังนี้
กรณีแรก เป็นกรณีที่ได้รับผลกระทบไม่มากนักนั้นเป็นการประเมินว่าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีอัตราชะลอตัวลง และคาดหวังว่ามาตรการต่างๆของแต่ละประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะวิกฤตทางการเงินของสหรัฐฯ และพยุงภาวะเศรษฐกิจไม่ให้ซบเซามากนัก โดยคาดว่าในปี 2552 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นเป็น 35,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9
กรณีที่สอง เป็นกรณีที่ได้รับผลกระทบมาก โดยวิกฤติทางการเงินในครั้งนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย และยังมีผลกระทบในวงกว้างทำให้เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยตามไปด้วย โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ทำให้คาดว่าในปี 2552 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 7.7 คิดเป็นมูลค่า 33,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ดังนั้น ในปี 2552 รัฐบาลและภาคเอกชนไทยต้องเร่งปรับกลยุทธ์การตลาด มุ่งเน้นผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังตลาดใหม่ๆ เพื่อลดการพึ่งพิงการส่งออกไปยังตลาดหลัก แม้ว่า บรรดาผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรพยายามเจาะขยายตลาดใหม่ และสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ท่ามกลางปัญหาภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทั่วโลกนี้ การเจาะขยายตลาดใหม่เพิ่มขึ้นยังคงมีความจำเป็น ทั้งนี้ เพื่อพยุงไม่ให้ยอดการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2552 ชะลออัตราการขยายตัวลงไปมากนัก เนื่องจาก ประเทศที่เป็นตลาดใหม่นั้นยังมีโอกาสและมีความท้าทายสำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยอยู่
กระจายตลาดส่งออกสู่ตลาดใหม่…ลดการพึ่งพิงตลาดหลัก
กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายผลักดันให้ผู้ส่งออกของไทยกระจายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ เพื่อลดการพึ่งพิงตลาดหลัก โดยมีการจัดตั้งศูนย์ผลักดันการส่งออกไปตลาดใหม่ ซึ่งในระยะแรกโครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2542-2546 หลังจากนั้นมีการขยายระยะเวลาครั้งแรกเมื่อสิ้นสุดโครงการเป็นสิ้นสุดโครงการในปีงบประมาณ 2548 การขยายระยะเวลาครั้งที่ 2 โดยโครงการจะสิ้นสุดในปีงบประมาณ 2550 และโครงการได้ถูกขยายต่อไปเป็นครั้งที่ 3 ดังนั้น โครงการจะสิ้นสุดในปีงบประมาณ 2552
กลุ่มประเทศภายใต้โครงการการส่งออกไปตลาดใหม่ มีทั้งหมด 8 กลุ่ม คือ ประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศในตะวันออกกลาง ประเทศในทวีปแอฟริกา ประเทศในลาตินอเมริกา ประเทศในยุโรปตะวันออก ประเทศในกลุ่มเอเชียใต้ ประเทศจีน(ไม่รวมไต้หวัน/ฮ่องกง/มาเก๊า) และมองโกเลีย และประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกใต้
ความสำเร็จของการเจาะขยายตลาดส่งออกใหม่สำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปจะยังอยู่ในเกณฑ์สูง แต่สัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดหลักมีแนวโน้มลดลง ดังนี้
-สินค้าเกษตรกรรม สัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดหลักลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการส่งออกสินค้ากสิกรรม กล่าวคือ สัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมไปยังตลาดหลักในปี 2551 เพิ่มเป็นร้อยละ 65.5 จากที่ในปี 2545 (ก่อนที่จะมีโครงการผลักดันการส่งออกไปยังตลาดใหม่) มีสัดส่วนเพียง 52.3 ซึ่งสัดส่วนของการส่งออกสินค้ากสิกรรมนั้นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 75.6 จากที่เคยอยู่ในระดับร้อยละ 68.3 ทั้งนี้ เนื่องจากการประสบความสำเร็จในการเจาะขยายตลาดจีน ทำให้จีนซึ่งเคยมีความสำคัญเป็นอันดับ 4 สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม รองจากญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ สามารถก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งในปี 2551 อย่างไรก็ตาม การเจาะขยายตลาดใหม่สำหรับประมง และปศุสัตว์นั้นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นค่อนข้างน้อย โดยสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดหลักยังอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 71.6 และ 83.8 ตามลำดับ
-สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร การเจาะขยายตลาดใหม่สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรก็นับว่าประสบความสำเร็จพอสมควร โดยสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดใหม่ในปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 56.9 เมื่อเทียบกับในปี 2545 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 46.6 ซึ่งตลาดใหม่ที่น่าสนใจ คือ จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย
ปี 2552…วิกฤติเศรษฐกิจ ตัวเร่งให้เจาะขยายตลาดใหม่
จากภาวะวิกฤติภาคการเงินในสหรัฐฯที่ส่งผลกระทบทำให้ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกซบเซา ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยอย่างชัดเจนในปี 2552 ในขณะที่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรนั้นได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นตัวช่วยประคองให้ภาคการส่งออกโดยรวมไม่ตกต่ำลงมากนัก ดังนั้น บรรดาผู้ส่งออกและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรต้องเร่งปรับตัว โดยเบื้องต้นให้เร่งจับตา 5 จุดหลักเพื่อเตรียมรับมือ ดังนี้
1.จับตาดูท่าทีของลูกค้าว่าจะมีรายใดส่งสัญญาณตัด/ลดคำสั่งซื้อออกไปบ้าง เพื่อจะได้เจรจาต่อรองในการรักษาคำสั่งซื้อไว้ หรือหาตลาดใหม่มาชดเชย ซึ่งประเด็นในการเจรจาจะเป็นเรื่องการขอลดราคาเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากปัจจุบันราคาสินค้าเกษตรอยู่ในช่วงขาลง
2.จับตาดูประเทศคู่แข่งสำคัญ โดยเฉพาะเวียดนาม และจีน เนื่องจากกำลังผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ความต้องการหดตัวลง ซึ่งจะเกิดการแย่งตลาดมากขึ้น รวมทั้งต้องจับตาประเทศคู่ค้าที่บางประเทศมีแนวโน้มพลิกมาเป็นคู่แข่ง เนื่องจากการขยายปริมาณการผลิต นอกจากนี้ ในช่วงราคาสินค้าเกษตรอยู่ในช่วงขาลงนี้ต้องจับตามาตรการทางการค้าของประเทศคู่แข่งสำคัญเป็นพิเศษ กรณีตัวอย่างของข้าวที่เวียดนามลดราคาส่งออกลงอย่างมาก จนกระทั่งส่งผลให้ไทยต้องชะลอการส่งออกข้าวออกไปก่อน
3.ติดตามอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด โดยเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าผลกระทบของวิกฤติการณ์ในครั้งนี้จะอยู่ตลอดปี 2552 และอัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความได้เปรียบเสียเปรียบของการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง และอัตรากำไรของผู้ส่งออก
4.ติดตามผลกระทบวิกฤติในสหรัฐฯว่าจะลามไปประเทศใดบ้างที่เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ทั้งนี้เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบและความเสี่ยงโดยตรงและโดยอ้อมของวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ ผู้ส่งออกของไทยจำเป็นต้องมีเครื่องมือในการวัดความเสี่ยงเหล่านี้ไว้ก่อน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผลกระทบลามถึงญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ก็จะทำให้สินค้าที่ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯลดลง ภาคการผลิตจริงในญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปจะมีปัญหาทันที ในขณะที่การบริโภคของคนญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปก็จะลดลง ซึ่งจะกระทบถึงไทย เพราะทั้งญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปนั้นเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังต้องติดตามมาตรการของประเทศต่างๆที่ออกมาเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของภาวะวิกฤตในครั้งนี้ด้วย เนื่องจากจะช่วยในการวิเคราะห์ว่าควรจะเจาะขยายตลาดเพิ่มเติม
การปรับตัวของผู้ส่งออกและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร นอกจากจะต้องติดตามและจับตาดูในประเด็นหลักข้างต้นเพื่อรับมือแล้ว จะต้องออกไปหาตลาดส่งออกใหม่ๆเพิ่มเติม โดยเฉพาะตลาดในอาเซียน อินเดีย และแอฟริกา โครเอเชีย หมู่เกาะมัลดีฟ หรือหมู่เกาะอื่นๆที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำของโลก ที่มีความต้องการสินค้าอาหารค่อนข้างสูง ทั้งนี้ เพื่อทดแทนตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ อียู และญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มชะลอตัว
การเจาะขยายสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในตลาดใหม่ที่น่าสนใจ แบ่งออกได้ดังนี้
ตลาดใหม่
1.ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทั่วไปแล้วประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเช่นเดียวกับไทย
สินค้าที่มีศักยภาพส่งออก
ยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าวโพด ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง น้ำตาลทราย ไขมันและน้ำมันจากสัตว์ เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และอาหารสัตว์เลี้ยง
2. ประเทศในตะวันออกกลาง ประเทศเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากการที่ราคาน้ำมันดิ่งลงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการคาดการณ์ว่าความต้องการน้ำมันจะลดลง อันเป็นต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาทั่วโลก แต่ตลาดตะวันออกกลางยังเป็นกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อสูง
สินค้าที่มีศักยภาพส่งออก
ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และเครื่องดื่ม รวมทั้งการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาล เช่น ไก่ ขนมขบเคี้ยว ผลไม้และน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เป็นต้น
3.ประเทศในทวีปแอฟริกา ประเทศเหล่านี้ผู้ส่งออกบางรายมองข้าม เนื่องจากเห็นว่ากำลังซื้อไม่ค่อยมากนัก แต่โอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรยังมีอีกมาก ซึ่งปัจจุบันผู้ส่งออกรายใหญ่ของไทยวางแผนเชิงรุก โดยการเข้าไปตั้งคลังกระจายสินค้าทั้งสองฝั่งของทวีปแอฟริกา
สินค้าที่มีศักยภาพส่งออก
ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ไข่ไก่สด อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และเครื่องดื่ม
4.ประเทศในอเมริกาใต้ ประเทศเหล่านี้ก็เป็นประเทศคู่แข่งสำคัญในการส่งออกสินค้าเกษตรบางรายการ แต่ไทยยังมีโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไปยังตลาดเหล่านี้
สินค้าที่มีศักยภาพส่งออก
ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ใบยาสูบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผักผลไม้กระป๋องและแปรรูป
5.ประเทศในยุโรปตะวันออก ประเทศที่น่าสนใจคือ รัสเซียเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะมีรายได้จากการส่งออกน้ำมัน ป่าไม้ แร่ธาตุต่างๆ ขณะที่รัสเซียไม่สามารถผลิตสินค้าอาหารได้เพียงพอกับความต้องการ ต้องพึ่งพาการนำเข้า ซึ่งจะเป็นโอกาสของไทยในการส่งออก รวมถึงการเข้าไปตั้งฐานการผลิตเพื่อจำหน่ายในรัสเซีย ส่วนประเทศในยุโรปตะวันออกอื่นๆก็น่าสนใจที่จะเจาะขยายตลาด เนื่องจากประเทศเหล่านี้กำลังพัฒนาตัวเองไปเป็นแหล่งท่องเที่ยวแหล่งใหม่ของโลก ทำให้คาดว่าความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สินค้าที่มีศักยภาพส่งออก
ยางพารา ข้าว กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย ผักกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารแปรรูปอื่นๆ
6.ประเทศในกลุ่มเอเชียใต้ ประเทศในเอเชียใต้นับว่าเป็นประเทศเกษตรกรรมเช่นเดียวกับไทย และเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดโลก
สินค้าที่มีศักยภาพส่งออก
ยางพารา เครื่องเทศและสมุนไพร ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปลาแห้ง ถั่วเขียวผิวดำ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี
7.ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ปัจจัยหนุนในการขยายการส่งออกไปยังออสเตรเลียและนิวซีแลนด์คือ ข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทยและออสเตรเลีย และไทยกับนิวซีแลนด์
สินค้าที่มีศักยภาพส่งออก
ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ยางพารา ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และสิ่งปรุงรสอาหาร
8. ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ การเจาะขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไปยังประเทศที่เป็นหมู่เกาะนี้นับว่าน่าสนใจอย่างมาก แม้ว่าปัจจุบันมูลค่าการส่งออกยังไม่สูงมากนักก็ตาม เนื่องจากประเทศเหล่านี้กำลังส่งเสริมการท่องเที่ยว ในขณะที่ไม่สามารถผลิตอาหารเพียงพอกับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงต้องพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
สินค้าที่มีศักยภาพส่งออก
ไก่แปรรูป อาหารแปรรูป และผักและผลไม้กระป๋อง รวมทั้งน้ำผักและผลไม้
บทสรุป
แม้ว่ารัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรจะร่วมมือกันผลักดันการส่งออกไปยังตลาดใหม่มาตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา โดยมีการขยายโครงการผลักดันการส่งออกไปยังตลาดใหม่มาโดยตลอด จนกระทั่งล่าสุดเป็นการขยายเวลาดำเนินการเป็นครั้งที่สาม และมีกำหนดสิ้นสุดโครงการในปีงบประมาณ 2552 แต่เนื่องจากการคาดการณ์ถึงผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่จะทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรมีแนวโน้มลดลง จากความต้องการในตลาดโลกที่ลดลง ดังนั้น รัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งกระตุ้นการเจาะขยายตลาดใหม่ๆ ทั้งนี้ เพื่อประคองให้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรยังคงเป็นสินค้าที่ช่วยให้ภาคการส่งออกของไทยยังเติบโตต่อไปได้ในปี 2552