พัฒน์กลเตรียมส่งมอบโรงงานเอทานอลแห่งแรกหลังสร้างเสร็จสมบูรณ์ครบ 100% กำลังการผลิต 1.5 แสนลิตรต่อวัน ชี้ไทยมีศักยภาพเป็นฐานผลิตเอทานอลป้อนตลาดโลก ต่างชาติให้ความสนใจ
ดร.ปิยะ จงวัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พัฒน์กล จำกัด (มหาชน) หรือ PATKL ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทำความเย็น เครื่องทำน้ำแข็ง เครื่องจักรแปรรูปอาหารและเครื่องจักรในการผลิตเครื่องดื่ม เปิดเผยว่า PATKL นับเป็นผู้ประกอบการรายแรกของประเทศไทยที่เล็งเห็นถึงโอกาสในการเติบโตของธุรกิจเอทานอล โดยก่อนหน้านี้บริษัทฯ ได้เข้ารับงานสร้างโรงงานเอทานอล 2 แห่ง ประกอบด้วย โรงงานราชบุรีเอทานอล ของกลุ่มโรงงานน้ำตาลราชบุรี และโรงงานเอทานอลที่จังหวัดนครราชสีมา ของกลุ่ม TPK ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ส่งออกมันสำปะหลัง มูลค่ารวมประมาณสามพันกว่าล้านบาท
“ขณะนี้โรงงานราชบุรีเอทานอล ซึ่งมีกำลังการผลิต 150,000 ลิตรต่อวัน ได้สร้างเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ครบ 100% แล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างการเดินเครื่องทดสอบการผลิตเอทานอล โดยใช้กากน้ำตาลและมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ ซึ่ง ณ วันนี้ได้ผ่านการทดสอบการผลิตโดยใช้กากน้ำตาลสำเร็จแล้ว สำหรับโรงงานที่กำลังผลิตเท่านี้ในปัจจุบันจะต้องใช้เงินลงทุนในก่อสร้างประมาณ 700 ล้านบาท” ดร.ปิยะกล่าว
กรรมการผู้จัดการ PATKL กล่าวด้วยว่า สำหรับรายได้จากการก่อสร้างโรงงานราชบุรี
เอทานอลนั้นได้ทยอยรับรู้ตามความคืบหน้าของงาน และจะรับเงินงวดสุดท้ายพร้อมการส่งมอบภายในไตรมาสที่ 4 ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นฐานผลิตเอทานอลของโลก เนื่องจากไทยมีความพร้อมของวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นอ้อยและมันสำปะหลังที่เพียงพอต่อการนำไปผลิตเอทานอลเพื่อนำไปใช้เป็นพืชพลังงาน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการนำไปบริโภค อีกทั้งนโยบายของภาครัฐที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์การผลิตอ้อยและมันสำปะหลังเป็นพลังงานทดแทนที่มีความชัดเจน ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและโอกาสให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนผลิตเอทานอลในไทยเพิ่มขึ้น โดยในการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลนั้น บริษัทฯจะใช้องค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิตและการออกแบบ
โรงงานจาก Katzen International จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีจุดแข็งในเรื่องของการประหยัดพลังงานและการทำงานของเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ นักลงทุนจากประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นให้ความสนใจที่จะเข้ามาตั้งโรงงานในไทย เพราะไทยมีต้นทุนในการผลิตเอทานอลต่ำ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาที่ใช้ข้าวโพดมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล แต่ปัจจุบันราคาต้นทุนข้าวโพดปรับตัวสูงขึ้น ทำให้หลายโรงงานต้องหยุดการผลิต และนักลงทุนเหล่านี้ก็มองหาประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีแหล่งวัตถุดิบผลิตเอทานอลที่มีต้นทุนต่ำ
“เรามีความพร้อมในเรื่องวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพืชอาหารและหากภาครัฐมีนโยบายการผลิตเอทานอลเป็นวาระแห่งชาติและการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอลล์ อี 85 ที่ชัดเจน จะทำให้ภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ เข้ามาลงทุนผลิตเอทานอลในไทยเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในประเทศและเป็นฐานในการส่งออกไปยังต่างประเทศในอนาคตได้” ดร.ปิยะ กล่าว