โครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 … ต้องให้ความสำคัญ แม้จำนวนผู้โดยสารเติบโตต่ำกว่าคาด

หลังการเปิดใช้งานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิครบ 2 ปี พบว่า ยังมีปัญหาต่างๆ ที่ต้องเร่งแก้ไขอยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาระบบขนส่งมวลชน ปัญหาการจัดการภายในท่าอากาศยาน ตลอดจนแนวทางการขยายการก่อสร้างในระยะที่ 2 หรือเฟส 2 ประกอบกับสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองก็ส่งผลให้การดำเนินนโยบายของรัฐบาลขาดความต่อเนื่องและความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยในขณะนี้การขยายศักยภาพของท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้นยังอยู่ในขั้นเตรียมนำเสนอแผนต่อรัฐบาลเท่านั้น ถึงแม้ว่ารัฐบาลชุดนี้ได้บรรจุโครงการพัฒนาขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการภายในปีแรกเพื่อเร่งรัดการลงทุนที่สำคัญของประเทศก็ตาม อีกทั้งแม้ขณะนี้จำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอาจต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เล็งเห็นความจำเป็นในการเร่งหาข้อสรุปแผนการขยายศักยภาพของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และเป็นศูนย์กลางการไหลเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยการพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าของท่าอากาศยานแห่งนี้นับว่ามีความหมายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

ภาพรวมตลอด 2 ปี … จำนวนผู้โดยสารต่ำกว่าคาด

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเริ่มเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2549 มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารประมาณ 563,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 45 ล้านคน/ปี มีทางวิ่งจำนวน 2 ทาง สามารถรองรับเที่ยวบินได้ประมาณ 76 เที่ยว/ชั่วโมง และอาคารคลังสินค้ามีพื้นที่ประมาณ 568,000 ตารางเมตร สามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าได้ประมาณ 3 ล้านตัน/ปี โดยในปี 2550 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารประมาณ 41.2 ล้านคน และรองรับสินค้าประมาณ 1.3 ล้านตัน จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้โดยสารมีแนวโน้มที่จะเกินขีดความสามารถในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่ในส่วนของจำนวนสินค้ายังมีศักยภาพรองรับได้อีกพอสมควร การเตรียมการเพื่อรองรับในกรณีที่จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นจนเกินขีดความสามารถในการรองรับ จึงถือเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการบริหารจัดการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ควรมีการดำเนินการในระยะอันใกล้นี้

สำหรับใน 9 เดือนแรกของปี 2551 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 30.6 ล้านคน หดตัวประมาณร้อยละ 0.1 จำนวนเที่ยวบินมีประมาณ 190,830 เที่ยว หดตัวประมาณร้อยละ 2.8 และจำนวนสินค้ามีประมาณ 955,937 ตัน ขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5 สาเหตุการหดตัวของจำนวนผู้โดยสารมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในครึ่งปีแรก ส่งผลให้สายการบินต้องปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมัน (Fuel Surcharge) เป็นอย่างมาก ทำให้ราคาตั๋วโดยสารปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งเที่ยวบินระหว่างประเทศก็มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางบินตรงสู่ท่าอากาศยานในภูมิภาคมากขึ้น เช่น ท่าอากาศยานภูเก็ต 9 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวนผู้โดยสารขยายตัวประมาณร้อยละ 5.8 ท่าอากาศยานกระบี่ 7 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวประมาณร้อยละ 6.5 เป็นต้น ตลอดจนสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองก็เป็นปัจจัยลบทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มชะลอตัวลง โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 จำนวนนักท่องเที่ยวหดตัวประมาณร้อยละ 1.7 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 2.7 แม้จะมีปัจจัยบวกจากการที่ราคาน้ำมันเริ่มปรับลดลงอย่างมากในช่วงที่เหลือของปี แต่ก็อาจช่วยกระตุ้นจำนวนผู้เดินทางทางอากาศได้ไม่มากนัก เนื่องจากผลจากความวิตกกังวลในปัญหาวิกฤตภาคการเงินของสหรัฐฯ ที่เริ่มลุกลามไปทั่วโลกและอาจส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงในปีหน้า ทำให้คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีหน้าอาจเข้าสู่ภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะในบางประเทศอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ก็ยิ่งเพิ่มความกังวลให้แก่นักท่องเที่ยวและนักเดินทางเป็นอย่างมาก ทำให้อาจชะลอการท่องเที่ยวหรือเลือกรูปแบบการเดินทางในรูปแบบที่มีราคาถูกกว่าการเดินทางด้วยเครื่องบิน

ทั้งนี้ สำหรับภาพรวมจำนวนผู้โดยสารในปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 40.4-41.2 ล้านคน หดตัวจากปีก่อนประมาณร้อยละ 0-2 ซึ่งอาจต่ำกว่าเป้าที่ทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ตั้งไว้ที่ประมาณ 42 ล้านคน เนื่องจากการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะในเดือนกันยายนที่จำนวนผู้โดยสารหดตัวกว่าร้อยละ 16.1 และมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงอีกในช่วงที่เหลือของปี ส่วนปี 2552 คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะหดตัวตามทิศทางการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมทั้งการปรับเส้นทางการบินตรงของเที่ยวบินระหว่างประเทศไปยังท่าอากาศยานในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 38.8-40.4 ล้านคน หดตัวประมาณร้อยละ 2-4 อย่างไรก็ตาม การลดลงของจำนวนผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับท่าอากาศยานทั่วโลก โดย IATA (International Air Transport Association) คาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกในปี 2551 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.7 ชะลอตัวลงจากปี 2550 ที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 6.4 รวมทั้งยังคาดว่าในปี 2552 จำนวนผู้โดยสารจะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องโดยขยายตัวเพียงประมาณร้อยละ 2.5 ตามทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ในส่วนของปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข ได้แก่ ปัญหามลภาวะทางเสียงที่ยังคงต้องเจรจาการจ่ายค่าชดเชยแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งขณะนี้ยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น ปัญหาระบบขนส่งมวลชนทั้ง Airport Link ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ประมาณเดือนสิงหาคม 2552 ส่วนปัญหาเรื่องแท็กซี่ยังคงมีขบวนการแท็กซี่เถื่อนเข้ามารับผู้โดยสารโดยไม่ได้ทำตามระเบียบของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมทั้งปัญหาความชัดเจนของแผนการขยายการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเฟส 2 ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการนำเสนอแผนการลงทุนต่อรัฐบาล

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบศักยภาพในการแข่งขันกับท่าอากาศยานคู่แข่งสำคัญในภูมิภาค ได้แก่ ท่าอากาศยานฮ่องกงและสิงคโปร์ พบว่า ครึ่งแรกของปีนี้ท่าอากาศยานฮ่องกงและสิงคโปร์มีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 24.4 และ 18.7 ล้านคน จำนวนสินค้ามีประมาณ 1.8 และ 0.9 ล้านตัน ส่วนการจัดอันดับท่าอากาศยานยอดเยี่ยมของ Skytrax ปี 2551 ท่าอากาศยานฮ่องกงและสิงคโปร์อยู่ในอันดับ 1 และ 2 ส่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่ติดอันดับ 1 ใน 10 รวมทั้งเมื่อพิจารณาจากการประเมินแบบ Airport Rating ท่าอากาศยานฮ่องกงและสิงคโปร์อยู่ในระดับ 5 ดาว ส่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่ในระดับ 3 ดาว

แผนการขยายเฟส 2 … ต้องเร่งดำเนินการ พร้อมทั้งเตรียมแผนระยะยาว

แผนการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 ตามแผนการเดิมจะเริ่มก่อสร้างทันทีหลังเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม จากปัญหาหลายประการ อาทิ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง รวมทั้งจำนวนผู้โดยสารที่มีจำนวนไม่สูงดังที่เคยคาดไว้ ส่งผลช่วยลดแรงกดดันต่อการเร่งการขยายการก่อสร้างในเฟส 2 โดยล่าสุดแผนการขยายเฟส 2 จะมีวงเงินลงทุนรวมประมาณ 77,886 ล้านบาท ซึ่งมีโครงการก่อสร้างสำคัญ เช่น โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite-1) เป็นต้น จะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 45 ล้านคน/ปี มาเป็นประมาณ 60 ล้านคน/ปี โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการก่อสร้างประมาณ 6 ปี ตั้งแต่ปี 2552-2557 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้จนถึงปี 2561 จะเห็นได้ว่า แม้จำนวนผู้โดยสารในปีนี้อาจยังไม่ถึงขีดจำกัดในการรองรับของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่ก็มีความจำเป็นที่ต้องเร่งก่อสร้างขยายความสามารถในการรองรับผู้โดยสารให้เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต หากประมาณการจำนวนผู้โดยสารตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป โดยใช้สมมติฐานจากค่าเฉลี่ยอัตราการขยายตัวของจำนวนผู้โดยสารของท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ 5 ปีย้อนหลัง ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 พบว่า จำนวนผู้โดยสารจะสูงกว่าศักยภาพที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับได้ที่ 45 ล้านคน/ปี ภายในปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่การก่อสร้างเฟส 2 ยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอาจเผชิญปัญหาความแออัดของจำนวนผู้โดยสารได้ หรือแม้จำนวนผู้โดยสารที่คาดการณ์ไว้อาจต่ำกว่าสมมติฐานข้างต้นไปบ้าง แต่ในที่สุดแล้วมีความเป็นไปได้ที่จำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะเกินศักยภาพที่รองรับได้ก่อนปี 2557 การเตรียมความพร้อมและแผนการรองรับการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารในอนาคตจึงเป็นสิ่งจำเป็น อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบศักยภาพการรองรับผู้โดยสารระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับท่าอากาศยานสิงคโปร์ จะเห็นได้ว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ต่ำกว่า ทั้งที่จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีจำนวนสูงกว่า จึงควรพัฒนาและปรับปรุงขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้สูงขึ้นและเพียงพอต่อความจำเป็นพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ นอกจากนี้ หากต้องการที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคก็ควรต้องวางแผนกลยุทธ์ในระยะยาวเพื่อพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพในอีกหลายด้าน เช่น โครงข่ายระบบขนส่งมวลชนและโลจิสติกส์ การอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร การบริหารจัดการภายในท่าอากาศยาน การพัฒนาบุคลากร เป็นต้น

ทั้งนี้ จากแนวทางการขยายเฟส 2 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ามีประเด็นที่ควรต้องติดตาม ดังนี้
 แผนการรองรับผู้โดยสารระหว่างการก่อสร้างเฟส 2 ยังไม่แล้วเสร็จ
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิควรจะต้องมีแผนการรองรับจำนวนผู้โดยสารในกรณีที่มีจำนวนเกินกว่าศักยภาพที่จะรองรับได้ระหว่างที่การขยายเฟส 2 ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งทางเลือกหนึ่งคือการใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองในการเข้ามาช่วยรองรับจำนวนผู้โดยสาร แต่ต้องกำหนดแผนการบริหารท่าอากาศยานทั้งสองอย่างชัดเจน เช่น ให้ท่าอากาศยานดอนเมืองสามารถเปิดให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศได้เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี หรือ 10 ปี โดยอาจใช้มาตรการทางภาษีหรือการลดค่าธรรมเนียมเพื่อดึงดูดให้สายการบินย้ายมาเปิดให้บริการ ตลอดจนต้องมีแผนระบบคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงระหว่างสองท่าอากาศยานที่สะดวกและรวดเร็ว เป็นต้น ทั้งนี้ ล่าสุดรัฐบาลได้มีแนวทางที่จะให้ย้ายเที่ยวบินระหว่างประเทศแบบจุดต่อจุด (Point to Point) และแบบอื่นๆ มายังท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 หรือประมาณ 240 เที่ยว/วัน

แผนการบริหารจัดการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในระยะยาว จะเห็นได้ว่าจากแผนการขยายเฟส 2 โดยหลังจากท่าอากาศยานเฟส 2 เปิดใช้งานได้เพียงประมาณ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2561 จำนวนผู้โดยสารก็จะเกินขีดความสามารถในการรองรับ จึงต้องวางแผนการบริหารจัดการท่าอากาศยานในระยะยาว กำหนดแผนการขยายการก่อสร้างเฟสต่อไปอย่างชัดเจนและเป็นระบบ เพื่อไม่ให้ต้องเผชิญปัญหาความแออัดของจำนวนผู้โดยสารในอนาคต รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค ซึ่งท่าอากาศยานสิงคโปร์ก็มีแผนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 4 เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น ส่วนเวียดนามก็กำลังก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ที่เมืองโฮจิมินห์ ซิตี้ ซึ่งวางเป้าหมายสูงสุดให้รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 80-100 ล้านคน/ปี
แผนการเลือกใช้ท่าอากาศยานของสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airlines) จากแผนการขยายเฟส 2 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่ปรากฎแผนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารต้นทุนต่ำ (Low Cost Terminal) ซึ่งในข้อเท็จจริงด้วยลักษณะเฉพาะของธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำอาจจำเป็นต้องมีอาคารผู้โดยสารโดยเฉพาะแยกออกจากอาคารผู้โดยสารหลัก ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคก็ได้มีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารต้นทุนต่ำอย่างชัดเจน อาทิ มาเลเซียที่กำลังขยายศักยภาพการรองรับผู้โดยสารของอาคารผู้โดยสารต้นทุนต่ำจากเดิมประมาณ 10 ล้านคน/ปี มาเป็นประมาณ 15 ล้านคน/ปี และสิงคโปร์ก็กำลังขยายศักยภาพเช่นกันจากเดิมประมาณ 2.7 ล้านคน/ปี มาเป็นประมาณ 7 ล้านคน/ปี สำหรับไทยได้มีการพูดถึงทางเลือกในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารต้นทุนต่ำที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิหรือกำหนดให้ท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นท่าอากาศยานสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสายการบินต้นทุนต่ำของไทยยังมีจำนวนไม่มากนัก ดังนั้นแม้การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารต้นทุนต่ำอาจจะช่วยสร้างเม็ดเงินเข้าสู่อุตสาหกรรมการบินโดยรวมของประเทศ รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้โดยสารในการเพิ่มความสะดวกในการเดินทางและมีทางเลือกในการเดินทางที่ราคาถูกมากขึ้น แต่รัฐบาลอาจต้องคำนึงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันของผู้ประกอบการในตลาด ตลอดจนพิจารณาถึงต้นทุนและโอกาสจากการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารต้นทุนต่ำอย่างรอบคอบและครอบคลุมในทุกด้าน

สรุปและข้อคิดเห็น

ใน 9 เดือนแรกของปี 2551 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีจำนวนผู้โดยสารมาใช้งานประมาณ 30.6 ล้านคน หดตัวประมาณร้อยละ 0.1 จำนวนเที่ยวบินมีประมาณ 190,830 เที่ยว หดตัวประมาณร้อยละ 2.8 และจำนวนสินค้ามีประมาณ 955,937 ตัน ขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5 สาเหตุการหดตัวของจำนวนผู้โดยสารมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในครึ่งปีแรก ส่งผลให้สายการบินต้องปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมันเป็นอย่างมาก ทำให้ราคาตั๋วโดยสารปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งเที่ยวบินระหว่างประเทศก็มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางบินตรงสู่ท่าอากาศยานในภูมิภาคมากขึ้น และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองก็เป็นปัจจัยลบให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศชะลอตัวลง แม้จะมีปัจจัยบวกจากการที่ราคาน้ำมันเริ่มปรับลดลงอย่างมากในช่วงที่เหลือของปี แต่ก็อาจช่วยกระตุ้นจำนวนผู้เดินทางทางอากาศได้ไม่มากนัก เนื่องจากผลความวิตกกังวลในปัญหาวิกฤตภาคการเงินของสหรัฐฯ ที่เริ่มลุกลามส่งผลกระทบไปทั่วโลกก็ยิ่งเพิ่มความกังวลให้แก่นักท่องเที่ยวและนักเดินทางเป็นอย่างมาก สำหรับภาพรวมจำนวนผู้โดยสารในปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 40.4-41.2 ล้านคน หดตัวจากปีก่อนประมาณร้อยละ 0-2 ส่วนปี 2552 คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 38.8-40.4 ล้านคน หดตัวประมาณร้อยละ 2-4 ตามทิศทางการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และการปรับเส้นทางการบินตรงของเที่ยวบินระหว่างประเทศไปยังท่าอากาศยานในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ

สำหรับแผนการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 จะมีวงเงินลงทุนรวมประมาณ 77,886 ล้านบาท ซึ่งมีโครงการก่อสร้างสำคัญ เช่น โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 45 ล้านคน/ปี มาเป็นประมาณ 60 ล้านคน/ปี โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการก่อสร้างประมาณ 6 ปี ตั้งแต่ปี 2552-2557 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้จนถึงปี 2561 จะเห็นได้ว่า แม้จำนวนผู้โดยสารในปีนี้อาจยังไม่ถึงขีดจำกัดในการรองรับของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่ก็มีความจำเป็นที่ต้องเร่งก่อสร้างขยายความสามารถในการรองรับผู้โดยสารให้เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต หากประมาณการจำนวนผู้โดยสารตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป โดยใช้สมมติฐานจากค่าเฉลี่ยอัตราการขยายตัวของจำนวนผู้โดยสารของท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ 5 ปีย้อนหลัง ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 พบว่า จำนวนผู้โดยสารจะสูงกว่าศักยภาพที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับได้ที่ 45 ล้านคน/ปี ภายในปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่การก่อสร้างเฟส 2 ยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอาจเผชิญปัญหาความแออัดของจำนวนผู้โดยสารได้ หรือแม้จำนวนผู้โดยสารที่คาดการณ์ไว้อาจต่ำกว่าสมมติฐานข้างต้นไปบ้าง แต่ในที่สุดแล้วมีความเป็นไปได้ที่จำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะเกินศักยภาพที่รองรับได้ก่อนปี 2557 การเตรียมความพร้อมและแผนการรองรับการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารในอนาคตจึงเป็นสิ่งจำเป็น อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบศักยภาพการรองรับผู้โดยสารระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับท่าอากาศยานสิงคโปร์ จะเห็นได้ว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ต่ำกว่า ทั้งที่จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีจำนวนสูงกว่า จึงควรพัฒนาและปรับปรุงขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้สูงขึ้นและเพียงพอต่อความจำเป็นพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ การพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นก้าวย่างที่สำคัญก้าวหนึ่งสำหรับการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศในการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต และยิ่งหากรัฐบาลวางเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ก็ยิ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีมีแผนยุทธศาสตร์ในระยะยาว รวมทั้งเร่งดำเนินการตามแผนดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม