ท่ามกลางสถานการณ์การลุกลามของปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและการเงิน และภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกนั้น ส่งผลกระทบให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ในเดือนตุลาคม 2551 หดตัวลงไป 8.48% หรือมีมูลค่า 326,632.2 ล้านบาท ลดลงจาก 356,897.0 ล้านบาท ในเดือนก่อนหน้า (กันยายน) ในขณะที่จำนวนกองทุนรวม FIF มีจำนวนลดลง 11 กอง โดยปัจจุบันมีกองทุนรวม FIF จำนวนทั้งสิ้น 313 กอง ลดลงจาก 324 กองในเดือนกันยายน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ในช่วงเดือนตุลาคม 2551 ไว้ รวมถึงแนวโน้มที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนในกองทุนดังกล่าว ดังนี้
ภาพรวมของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ในเดือนตุลาคม 2551
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ในเดือนตุลาคม 2551อยู่ที่ 326,632.2 ล้านบาท ลดลงจาก 356,897.0 ล้านบาท ในเดือนกันยายน หรือคิดเป็นอัตราการหดตัว 8.48% โดยเป็นผลจากการถดถอยของเศรษฐกิจในหลายๆภูมิภาค จากปัญหาวิกฤตการเงินในสหรัฐฯที่ลุกลามไปทั่วโลก จนกระทั่งส่งผลให้บรรดา บลจ.ต่างก็ชะลอการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งการลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น เนื่องจากที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกได้ปรับตัวลดลงจากการเทขายหุ้นออกมาเพื่อนำไปชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการเงินดังกล่าว เช่น ดัชนีดาวน์โจนส์ปรับตัวทะลุลงไปต่ำกว่าระดับ 8200 จุด ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ในขณะที่ดัชนีนิกเกอิปรับลดลงไปต่ำกว่า 7,200 จุดในวันที่ 27 ต.ค. 2551 ในขณะเดียวกันกองทุนรวม FIF ที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากราคาปรับลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันและราคาทองคำ
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ในเดือนตุลาคม 2551 ไว้ดังนี้
• การปรับตัวลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก โดยความกังวลต่อปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินทั่วโลกและสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศต่างๆ ส่งผลให้บลจ. ชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นที่มีการปรับตัวลงไปค่อนข้างมาก ทั้งในประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย ดังเช่น ดัชนีดาวน์โจนส์ที่ปรับลดลงไปแล้วกว่า 14% (31 ต.ค. 51 เทียบกับ 30 ก.ย. 51) ขณะที่ดัชนีนิกเกอิดิ่งลงไปกว่า 24% ส่วนดัชนีคอมโพสิตตลาดหุ้นเซียงไฮ้ปรับลดลงประมาณ 25% ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกดังกล่าว จะทำให้ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกปรับลดลงไป อันจะส่งผลดีต่อกองทุนรวม FIF ที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของพันธบัตรต่างประเทศก็ยังไม่สามารถชดเชยการปรับลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันให้ NAV ของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) หดตัวลงมา
• ผลกระทบจากการปรับลดลงไปค่อนข้างมากของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันและทองคำ โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกส่งผลให้อุปสงค์ของสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงตามไปด้วย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวกดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันปรับลดลงไปกว่า 35% (31 ต.ค. 51 เทียบกับ 30 ก.ย. 51) ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในตลาดโลกอยู่ที่ระดับ 49.88 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล (27 พ.ย. 51) ลดลงจากเดิมที่เคยทะยานขึ้นไปสูงสุดถึง 145.36 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรลในช่วงต้นเดือน ก.ค. 51 ในขณะที่ราคาทองคำหดตัวลง 17% (31 ต.ค. 51 เทียบกับ 30 ก.ย. 51) โดยราคาทองคำ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 814.55 ดอลลาร์ฯ/ออนซ์ (27 พ.ย. 51) ซึ่งปรับลดลงจากราคาที่เคยขึ้นไปสูงสุดในช่วงเดือน มี.ค. 51 ที่ระดับ 1,002.30 ดอลลาร์ฯ/ออนซ์ ปัจจัยต่างๆดังกล่าวได้กดดันให้ NAV กองทุนรวม FIF ที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลงมาเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน
• การครบกำหนดไถ่ถอนของตราสารหนี้ต่างประเทศระยะสั้น เช่นพันธบัตรเกาหลีใต้ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อ NAV ของกองทุนรวม FIF ตราสารหนี้ต่างประเทศ หลังจากที่บลจ.ได้ออกขายกองทุนดังกล่าวตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 เป็นต้นมา โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของกองทุนระยะสั้น ที่มีอายุกองทุนตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ทั้งนี้กองทุนดังกล่าวได้เริ่มทยอยครบกำหนดอายุไถ่ถอนมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 ซึ่งส่งผลให้ NAV ของกองทุนรวม FIF ทยอยปรับตัวลดลงไป นอกจากนี้การที่ประเทศต่างๆกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกต่างพร้อมใจกันปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในต่างประเทศต่างก็ปรับตัวลดลงมาใกล้เคียงกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในประเทศ ซึ่งเป็นการลดความน่าสนใจในการลงทุนในพันธบัตรต่างประเทศลง ทั้งนี้ความเสี่ยงในตลาดเงินต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลายแห่งในต่างประเทศ ส่งผลให้การออกกองทุนใหม่ที่จะไปลงทุนในตลาดการเงินต่างประเทศทำได้ยากขึ้น ขณะที่ปัญหาวิกฤตการเงินที่ลุกลามไปทั่วโลกก็ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลและเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการลงทุนต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของสินทรัพย์ประเภทใดก็ตาม และหันมาให้น้ำหนักการลงทุนกับสินทรัพย์ที่ค่อนข้างมีความปลอดภัย เช่น เงินฝาก หรือพันธบัตรรัฐบาลในประเทศ
แนวโน้มการลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF)
การลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรต่างประเทศ รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ ต่างขึ้นกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งขณะนี้กำลังเผชิญกับวิกฤตครั้งรุนแรงสุดในรอบ 80 ปี และตราบใดที่การชะลอลงของเศรษฐกิจยังไม่ถึงจุดต่ำสุดหรือมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน (เนื่องจากเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคกำลังเผชิญภาวะถดถอยทางเทคนิค เช่น ประเทศญี่ปุ่นและประเทศในแถบยุโรป รวมทั้งสหรัฐฯ และบางประเทศในเอเชีย) นักลงทุนก็คงจะยังชะลอและหลีกเลี่ยงการลงทุน ส่งผลให้ NAV ของกองทุนรวม FIF อาจจะยังปรับลดลงอีกในระยะถัดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาถึงการทยอยครบกำหนดไถ่ถอนของกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้ จากปัจจุบันไปจนถึงต้นเดือนเมษายน 2552 อีกประมาณ 6-7 พันล้านดอลลาร์ฯ นอกจากนี้แม้ตลาดการเงินมักจะสามารถฟื้นตัวเร็วกว่าภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง กอปรกับราคาสินทรัพย์ได้ร่วงลงมามากแล้วในช่วงที่ผ่านมา แต่กว่าที่เศรษฐกิจชั้นนำของโลกจะฟื้นตัวชัดเจน และราคาสินทรัพย์ในต่างประเทศจะขยับลงมาที่ระดับต่ำจนจูงใจให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง อาจต้องใช้ระยะเวลาในการเรียกฟื้นคืนความเชื่อมั่นหรือต้องให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจได้พ้นจากภาวะวิกฤตแล้ว ซึ่งก็คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 โดยหากภาวะการเงินและเศรษฐกิจโลกสามารถฟื้นตัวได้ตามคาด บรรดาบลจ. ก็คงจะสามารถหาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ที่เป็นกองทุนประเภท FIF เพื่อที่จะมาชดเชยกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ที่จะทยอยครบกำหนดไถ่ถอนไปจนถึงช่วงกลางปี 2552 แต่ในช่วงที่ภาวะตลาดเงินต่างประเทศยังคงผันผวนและไม่ฟื้นตัวดี คาดว่า บลจ. ต่างๆก็อาจจะต้องปรับตัวโดยการหาแหล่งลงทุนที่เน้นการลงทุนในประเทศมากขึ้น เช่น กองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรภาครัฐหรือหุ้นกู้ภาคเอกชน โดยเฉพาะหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับที่น่าลงทุน (Investment Grade) ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและยังให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก
ทั้งนี้นอกจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและปัจจัยพื้นฐานของประเทศที่จะเข้าไปลงทุน นักลงทุนคงจะต้องพิจารณานโยบายการลงทุนของแต่ละบลจ. ตลอดจนรายละเอียดของกองทุน ได้แก่ ผลตอบแทน ระยะเวลาและสินทรัพย์ที่ลงทุน ฯลฯ ว่าจะมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพคล่องและความเสี่ยงที่ยอมรับได้หรือไม่ด้วย
สรุปโดยรวม ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกและความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุน ทำให้กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ในเดือนตุลาคม 2551 ถูกกดดันจากหลากปัจจัยท้าทาย จนส่งผลกระทบให้ NAV กองทุนรวม FIF หดตัวลงไป 8.48% จากเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยที่ฉุดให้ NAV หดตัวลงไป ได้แก่ การปรับตัวลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ดังเช่น ดัชนีดาวน์โจนส์ที่ปรับลดลงไปแล้วกว่า 14% (31 ต.ค. 51 เทียบกับ 30 ก.ย. 51) ขณะที่ดัชนีนิกเกอิดิ่งลงไปกว่า 24% ส่วนดัชนีคอมโพสิตตลาดหุ้นเซียงไฮ้ปรับลดลงประมาณ 25% กอปรกับผลกระทบจากการปรับลดลงไปค่อนข้างมากของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันและทองคำ รวมทั้งการครบกำหนดไถ่ถอนของตราสารหนี้ต่างประเทศระยะสั้น เช่นพันธบัตรเกาหลีใต้ ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้ NAV ของกองทุนรวม FIF ปรับลดลงมา ทั้งนี้สำหรับแนวโน้มการลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) นั้น เนื่องจากความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ตลอดจนตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล้วนมีความเชื่อมโยงกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่านักลงทุนคงจะยังชะลอและหลีกเลี่ยงการลงทุนในภาวะที่ตลาดการเงินโลกยังมีแนวโน้มผันผวนอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตครั้งรุนแรงสุดในรอบ 80 ปี ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลาฟื้นตัวและเรียกความมั่นใจของนักลงทุนกลับคืนมา โดยคาดว่าการฟื้นตัวอาจจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 มากกว่าจะเป็นในช่วงที่เหลือของปีนี้ อย่างไรก็ตามก็อาจจะมีโอกาสการลงทุนในบางประเทศ ซึ่งหากมีสัญญาณฟื้นตัวตามคาด ก็ย่อมจะเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่ราคาปรับลดลงมามากแล้ว กระนั้นก็ดีในช่วงที่ภาวะตลาดต่างประเทศยังคงไม่ฟื้นตัวนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า บลจ. อาจจะต้องปรับตัวโดยการหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆมารองรับการทยอยครบกำหนดไถ่ถอนของกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ที่มีมูลค่ามากถึง 6-7 พันล้านดอลลาร์ฯ จากนี้ไปจนถึงเดือน เม.ย. 2552 โดยอาจจะเน้นไปที่การลงทุนภายในประเทศมากขึ้น เช่น การออกกองทุนที่เน้นการลงทุนในพันธบัตรภาครัฐ ตลอดจนหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับที่น่าลงทุน (Investment Grade) ซึ่งจูงใจนักลงทุนโดยการให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ทั้งนี้เพื่อรักษาฐานลูกค้าของ บลจ. ต่อไป ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงในอุตสาหกรรมกองทุนรวม