ท่องเที่ยวปี’52 : เร่งฟื้นความเชื่อมั่น..ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ

บรรยากาศการท่องเที่ยวไทยที่แจ่มใสในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ถูกบั่นทอนลงในช่วงครึ่งปีหลัง จากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศ อันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ชุมนุมเพื่อเรียกร้องทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาหลายเดือน และทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับในช่วงปลายเดือนสิงหาคม จนนำไปสู่เหตุการณ์ปิดล้อมสนามบินชาติสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาพลักษณ์ด้านความสงบและความปลอดภัยภายในประเทศของไทยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยมีแนวโน้มหดตัวลงอย่างรุนแรงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551

อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่สถานการณ์ทางการเมืองยังไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งมีแนวโน้มจะนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศได้ทุกขณะ ส่งผลบั่นทอนศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของไทยในปี 2552 ซึ่งจะต้องฟันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลจากยุโรปและอเมริกา ท่ามกลางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจากประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเอเชีย

การสลายม็อบและการปิดล้อมสนามบิน : ฉุดท่องเที่ยวไตรมาส 4 ถดถอย 35%
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 การท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มแจ่มใสต่อเนื่องมาจากช่วงปลายปี 2550 โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 7.9 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากปีก่อนหน้าช่วงเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการท่องเที่ยวไทยถูกบั่นทอนให้ซบเซาลงในช่วงครึ่งปีหลัง จากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ เมื่อการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯได้ขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม จนรัฐบาลต้องประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯเมื่อวันที่ 2 -14 กันยายน 2551 ซึ่งกระทบบรรยากาศการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง เนื่องจากรัฐบาลของหลายประเทศประกาศเตือนพลเมืองของตนให้หลีกเลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทย หรือเลื่อนการเดินทางออกไป และเตือนนักท่องเที่ยวที่อยู่ในประเทศไทยให้ระมัดระวังตัว โดยหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีการชุมนุมประท้วงเพื่อความปลอดภัย

สถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มส่งผลกระทบ ทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยที่ขยายตัวร้อยละ 10 ในเดือนกรกฎาคม 2551 มีแนวโน้มชะลอการเติบโตลงในเดือนสิงหาคม และถดถอยลงอย่างเด่นชัดในเดือนกันยายน โดยรวมในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 จึงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 3.4 ล้านคนลดลงร้อยละ 2 จากปีก่อนหน้าช่วงเดียวกัน

ในเดือนตุลาคม 2551 ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงมีแนวโน้มถดถอยลงต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 6 โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประมาณ 1.1 ล้านคน อันเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์การสลายกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

ในเดือนพฤศจิกายนซึ่งเริ่มเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะไกลในยุโรป ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยมีแนวโน้มจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ได้เกิดเหตุการณ์ปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ ทำให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด ประกาศปิดสนามบินทั้ง 2 แห่งตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 เป็นต้นมา ซึ่งซ้ำเติมตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยให้ยิ่งทรุดหนักลงไปอีก

ต่อมากลุ่มพันธมิตรฯได้สลายการชุมนุมและคืนพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 ทำให้สนามบินดอนเมืองเริ่มเปิดให้บริการได้ในวันที่ 4 ธันวาคม 2551 ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิเริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ในวันที่ 5 ธันวาคม 2551 ซึ่งสามารถคลี่คลายวิกฤตการเดินทางเข้า-ออกประเทศทางอากาศผ่านสนามบินสุวรรณภูมิให้กลับสู่ภาวะปกติลงได้

อย่างไรก็ตาม คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ยังหลีกเลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทยในช่วงนี้ เพื่อรอดูสถานการณ์ให้มีความมั่นใจด้านความปลอดภัยก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้ในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ซึ่งอ่อนไหวมากต่อเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน

สถานการณ์การปิดสนามบินสุวรรณภูมิส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในประเทศไทยในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จึงคาดการณ์ว่า ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยมีแนวโน้มถดถอยลงอย่างรุนแรงในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยลดลงร้อยละ 30 และร้อยละ 60 ในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม 2551 ตามลำดับ ทำให้โดยรวมในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 2.6 ล้านคนลดลงร้อยละ 35 เทียบกับปีก่อนหน้าช่วงเดียวกันที่มีจำนวนประมาณ 4.1 ล้านคน

จากแนวโน้มดังกล่าว จึงคาดว่าโดยรวมในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 6.0 ล้านคนลดลงร้อยละ 20 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ตลอดทั้งปี 2551 ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยจึงมีแนวโน้มถดถอยลงจากปี 2550 โดย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 14 ล้านคนลดลงร้อยละ 3 จากปี 2550 และมีแนวโน้มสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวเข้าประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 500,000 ล้านบาทลดลงร้อยละ 9

ดังนั้น เมื่อเทียบกับประมาณการในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์รุนแรงในช่วงครึ่งปีหลัง ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เป็นประมาณ 15.6 ล้านคน และสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวเข้าประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เป็นประมาณ 600,000 ล้านบาทแล้ว พบว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคมและต่อเนื่องมาจนถึงช่วงเดือนธันวาคม มีแนวโน้มส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยลดลงจากประมาณการเดิมก่อนเกิดเหตุการณ์ประมาณ 1.7 ล้านคน และสูญเสียรายได้ด้านการท่องเที่ยวประมาณ 100,000 ล้านบาท

วิกฤตเศรษฐกิจโลก : กระหน่ำซ้ำท่องเที่ยวไทยปี’52 ….ทรงกับทรุด
วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯซึ่งลุกลามไปยังหลายประเทศในยุโรปมีแนวโน้มส่งผลกระทบทำให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างภูมิภาคของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากตลาดระยะไกลในภูมิภาคยุโรปและอเมริกามีแนวโน้มถดถอยลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 ต่อเนื่องไปในปี 2552 โดยนักท่องเที่ยวจองทัวร์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2551-ตุลาคม 2552 ลดลงเฉลี่ยกว่าร้อยละ 15-20 เนื่องจากลูกค้ามีกำลังซื้อลดลง จึงเลือกเดินทางท่องเที่ยวระยะใกล้แทนปลายทางระยะไกล หากจะมาเที่ยวระยะไกลก็จะเลือกไปประเทศอื่นแทนประเทศไทย

ปี 2552 จึงเป็นบทพิสูจน์ความแข็งแกร่งของการท่องเที่ยวไทยอีกปีหนึ่ง เพราะนอกจากจะต้องฟันฝ่าปัจจัยลบภายในประเทศอันสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ด้านการเมืองที่ขาดเสถียรภาพ ซึ่งนำไปสู่การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยในสายตาของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว การท่องเที่ยวไทยยังมีแนวโน้มเผชิญกับผลพวงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภูมิภาคอื่นๆ เหล่านี้ล้วนบั่นทอนการเติบโตของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปี 2552

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จึงคาดการณ์แนวโน้มตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปี 2552 ออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

 กรณีความไม่สงบในประเทศคลี่คลายลงได้ภายในปี 2551 : ท่องเที่ยวปี’52…ทรงตัว
ในกรณีที่สถานการณ์ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ ได้รับการคลี่คลายลงได้ภายในปี 2551 ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันเร่งฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยในประเทศ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนานาประเทศให้กลับคืนมาโดยเร็ว และดำเนินกิจกรรมต่างๆกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับคืนมาจากประเทศคู่แข่งด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเดียวกัน โดยมีแนวโน้มที่ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยจะถดถอยลงในช่วงครึ่งปีแรก และฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จึงคาดการณ์ว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยลดลงร้อยละ 13 โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 6.9 ล้านคน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 7.1 ล้านคน

ทำให้โดยรวมตลอดทั้งปี 2552 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามารวมทั้งสิ้นประมาณ 14 ล้านคนใกล้เคียงกับปี 2551 และสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวเข้าประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 โดยมีมูลค่าประมาณ 516,000 ล้านบาท

กรณีความไม่สงบในประเทศต่อเนื่องไปในปี 2552 : ท่องเที่ยวปี’52…ทรุดตัว
ในกรณีที่สถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศยังยืดเยื้อต่อเนื่องไปในปี 2552 ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยในประเทศอย่างมาก จนยากที่จะเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาในหมู่นานาประเทศได้ในระยะเวลาอันสั้น ทำให้มีแนวโน้มที่ไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติบางส่วนให้แก่ประเทศคู่แข่งด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเดียวกัน โดยคาดว่าตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยมีแนวโน้มถดถอยลงในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2552 และฟื้นตัวขึ้นอย่างเด่นชัดได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จึงคาดการณ์ว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยลดลงร้อยละ 20 โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 6.3 ล้านคน และ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ในช่วงครึ่งหลังของปีโดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 6.6 ล้านคน

ทำให้โดยรวมตลอดทั้งปี 2552 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามารวมทั้งสิ้นประมาณ 13 ล้านคนลดลงร้อยละ 7 จากปี 2551 และสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวเข้าประเทศคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 460,000 ล้านบาทลดลงร้อยละ 8

ภาครัฐและภาคเอกชนปรับตัวตั้งรับ : วิกฤตธุรกิจท่องเที่ยวปี’52
วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ลุกลามไปยังภูมิภาคยุโรปตั้งแต่ปี 2551 ต่อเนื่องมาในปี 2552 มีแนวโน้มส่งผลกระทบทำให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศมีแนวโน้มถดถอยลง โดยเฉพาะตลาดท่องเที่ยวระยะไกลทั้งยุโรปและอเมริกา ซึ่งประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วนเปลี่ยนแผนการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างภูมิภาคมาเป็นการเดินทางท่องเที่ยวระยะใกล้ภายในภูมิภาค ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าแทนกันมากขึ้นในปี 2552

ส่วนนักท่องเที่ยวที่ยังคงเดินทางท่องเที่ยวระยะไกลมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทย ตราบใดที่ยังไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและความสงบภายในประเทศ เพราะไม่มั่นใจด้านความปลอดภัยในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยหันไปเที่ยวประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียแทน อาทิ อินโดนีเซีย ซึ่งมีบาหลีที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะยุโรป ไม่แพ้แหล่งท่องเที่ยวชายทะเลแถบอันดามันของไทย รวมทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ มาเก๊า และฮ่องกงที่ลงทุนโครงการด้านการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ก่อนหน้ามาหลายปีแล้ว และแหล่งท่องเที่ยวในอินโดจีน เช่น ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งมีเสน่ห์ของความใหม่สดของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ เป็นต้น

สำหรับนักท่องเที่ยวจากตลาดท่องเที่ยวระยะใกล้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ซึ่งสามารถทดแทนตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลได้ทั้งในช่วงฤดูท่องเที่ยวและนอกฤดูท่องเที่ยว เพราะสามารถกระตุ้นตลาดได้ตลอดทั้งปีนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นนักท่องเที่ยวที่อ่อนไหวง่ายกับปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ขณะที่นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งมีความแข็งแกร่งด้านกำลังซื้อก็เป็นตลาดท่องเที่ยวเป้าหมายสำคัญของบรรดาคู่แข่งด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียของไทยเช่นกัน

จากแนวโน้มดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องเร่งหาทางออกเพื่อแก้ไขวิกฤตทางการเมืองในประเทศ และสร้างความสงบสุขภายในประเทศให้บังเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะได้เร่งดำเนินการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศไทย และเรียกความเชื่อมั่นด้านความสงบสุขภายในประเทศ และความปลอดภัยในการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยให้กลับคืนมาในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องปรับตัวรับภาวะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เปลี่ยนแปลงไป และการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพื่อสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวกลับคืนมา และเร่งขยายตลาดนักท่องเที่ยวโดยมุ่งเน้นนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งมีแนวทางสำคัญๆ ดังนี้

– ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือจัดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยอย่างยิ่งใหญ่ ในมิติใหม่ที่มีมาตรการที่จะให้ความคุ้มครองด้านความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อความมั่นใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย

– ภาครัฐและภาคเอกชนควรปรับแผนการตลาดใหม่ไปในทิศทางเดียวกัน โดยมุ่งเน้นตลาดภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง และใช้กลยุทธ์เชิงรุกชูจุดขายใหม่ๆ เพื่อสร้างแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีความสนใจเฉพาะเรื่อง ซึ่งจะได้ผลมากกว่าการชูจุดขายการท่องเที่ยวไทยแบบเดิมๆเพื่อดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วๆไป

– ภาครัฐและธุรกิจเอกชนร่วมกันจัดโครงการเมกกะแฟมทริป โดยเชิญบริษัทนำเที่ยวชั้นนำของแต่ละประเทศและสื่อมวลชนเดินทางเข้ามาสัมผัสเส้นทางท่องเที่ยวสำคัญๆด้วยตนเอง เพื่อมั่นใจด้านความปลอดภัยภายในประเทศของไทย

– ภาครัฐและธุรกิจเอกชนร่วมกันเดินสายนำเสนอข้อมูลสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว (โรดโชว์) และร่วมงานขายสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว (เทรดโชว์) ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องดำเนินการในช่วงที่สถานการณ์ในประเทศสงบลงแล้ว เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวของไทยได้พบปะเจรจาทางธุรกิจกับบริษัทนำเที่ยวในต่างประเทศ

– ภาครัฐและภาคเอกชนลงขันในงบประมาณด้านการตลาดร่วมกัน เพื่อดำเนินแผนการตลาดต่างประเทศไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิผล โดยมุ่งเน้นการจัดรายการนำเที่ยวที่มีมูลค่าเพิ่มดึงดูดนักท่องเที่ยว อาทิ แพ็กเกจเดินทางท่องเที่ยวเป็นคู่หรือเป็นครอบครัวในราคาพิเศษ เพิ่มรายการนำเที่ยวหรือบริการต่างๆในราคาเท่าเดิม เป็นต้น

– ภาครัฐเป็นแกนนำในการดึงการจัดประชุมสัมมนาระดับนานาชาติเข้ามาจัดในประเทศไทยมากขึ้น โดยเพิ่มสิ่งจูงใจดึงดูดผู้จัดงาน

– ภาครัฐและภาคเอกชนควรจัดแพ็กเกจนำเที่ยวราคาประหยัดที่คุ้มค่าการท่องเที่ยว รองรับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยทั่วไป ที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ใช้จ่ายอย่างระมัดระวังและมีเหตุมีผล เน้นความคุ้มค่าของเงินที่จ่ายไปมากขึ้น

นอกจากการขยายตลาดต่างประเทศเพื่อดึงเงินตราเข้าประเทศแล้ว ภาครัฐและภาคเอกชนควรกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวคนไทย เพื่อทดแทนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป และสร้างเม็ดเงินรายได้สะพัดสู่ธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว ทำให้ผู้ประกอบการสามารถประคองตัวอยู่ได้ จนกว่าตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติได้อีกครั้ง ซึ่งมีแนวทางดังนี้

– ภาครัฐและองค์กรธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ควรช่วยกันส่งเสริมการจัดประชุมสัมมนาภายในประเทศ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวในวงกว้าง ไม่ให้กระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มาหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษีได้

– ธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวปรับกลยุทธ์การตลาดใหม่ โดยเน้นการขยายตลาดสัมมนาในประเทศในช่วงวันธรรมดา และตลาดนักท่องเที่ยวในช่วงวันหยุด เพื่อช่วยให้ใช้ศักยภาพการบริการที่มีอยู่อย่างเต็มที่ และมีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ

– ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวจะต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง และพยายามหาพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อลดงบประมาณค่าใช้จ่ายในด้านการตลาด และเพิ่มศักยภาพด้านการตลาด
– ภาครัฐและธุรกิจเอกชนร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยให้หันมาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศกันมากขึ้น

บทสรุป
ในขณะที่ภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยในการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จากเหตุการณ์กลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทย ตราบใดที่ยังไม่มั่นใจสถานการณ์ภายในประเทศของไทยนั้น การท่องเที่ยวไทยในปี 2552 ยังมีแนวโน้มจะต้องเผชิญกับผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลกระทบทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลในยุโรปและอเมริกามีแนวโน้มถดถอยลง ขณะที่นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่นโดยเฉพาะตลาดระยะใกล้ในเอเชีย ที่เคยพึ่งพาได้ในอดีตต่างยังไม่มั่นใจด้านความปลอดภัยในการเดินทางมายังประเทศไทย ทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปี 2552 มีแนวโน้มจะทรงตัวถึงทรุดตัว ทั้งนี้ขึ้นกับว่าสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศจะคลี่คลายลงสู่ภาวะปกติได้ภายในปี 2551 หรือยืดเยื้อต่อไปในปี 2552

ภายใต้แนวโน้มดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องผนึกกำลังร่วมกันที่จะเร่งฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยของประเทศไทย หลังสถานการณ์ภายในประเทศสงบเรียบร้อยแล้ว และดำเนินกิจกรรมด้านการตลาดหลากหลายรูปแบบ เพื่อกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยจะต้องมีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อให้รัฐบาลของแต่ละประเทศมั่นใจในความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมายังประเทศไทย รวมทั้งเร่งส่งเสริมตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยเพื่อทดแทนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป ทำให้ธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวสามารถประคองตัวอยู่ได้ จนกว่าตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวกลับมาคึกคักอีกครั้ง