ผ่าวิกฤต ‘เอสเอ็มอี’ หวั่นรุนแรงกว่าปี 40 เหตุเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก-แนะรัฐบาลใหม่ตั้งศูนย์เฉพาะกิจ

สถาบันวิจัยนครหลวงไทยจับมือ NIDA Business School ผ่าผลกระทบธุรกิจเอสเอ็มอีภายใต้ภาวะวิกฤต หวั่นปี 2552 ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับผลกระทบหนักจากปัญหาเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นไปได้ยากลำบากขึ้น ด้านรองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ยอมรับมีโอกาสประสบปัญหาหนักกว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แนะรัฐบาลใหม่ตั้งศูนย์เฉพาะกิจรวบรวมข้อมูลแก้ไขปัญหาเฉพาะด้านก่อนธุรกิจแห่ปิดกิจการ พร้อมวางมาตรการดูแลสร้างความมั่นคงในระยะยาว

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2551 สถาบันวิจัยนครหลวงไทย ร่วมกับ NIDA Business School ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และโครงการสร้าง “CFO มืออาชีพ” จัดเสวนาในหัวข้อ “การจัดการวิกฤตของ SMEs ภายใต้นโยบายรัฐบาลใหม่ : มุมมองของ CFOs”

โดย รศ.ดร.เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดี NIDA Business School ประธานที่ปรึกษา โครงการสร้าง “CFO มืออาชีพ” และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยนครหลวงไทย เปิดเผยว่า การเสวนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs กำลังประสบภาวะวิกฤต เนื่องจากปัจจัยการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในปี 2552 ซึ่งคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาธุรกิจ SMEs ของไทยไม่สามารถปรับตัวได้ในสถานการณ์ที่มีความ ผันผวนสูง

นอกจากนี้ วิกฤตด้านการเงินในสหรัฐอเมริกายังก่อให้เกิดปัญหาความไม่มั่นใจในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทำให้เชื่อว่าในปี 2552 สถาบันการเงินจะใช้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น และจะส่งผลกระทบกับโอกาสในการขยายธุรกิจและสภาพคล่องของ SMEs ในที่สุด

ด้าน ดร.นิพนธ์ สุรพงษ์รักเจริญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานที่ปรึกษา โครงการสร้าง “CFO มืออาชีพ” กล่าวว่า สถานการณ์ของผู้ประกอบการ SMEs ในปี 2552 ถือเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์คาดว่า ความรุนแรงในครั้งนี้จะเลวร้ายมากกว่า เมื่อครั้งวิกฤตเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2540 เนื่องจากวิกฤตในครั้งนี้เป็นการเกิดขึ้นในขอบข่ายทั่วโลก หลังจากที่ตลาดต่างประเทศประสบปัญหาเรื่องวิกฤตการเงินที่ลุกลามสู่ภาคการผลิตและการจ้างงาน ขณะที่สถานการณ์การเมืองในประเทศก็ยังส่อเค้ามีความขัดแย้งที่รุนแรง ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่มีเงินทุนไม่มาก และขาดการบริหารการจัดการที่ดี ต้องเลิกกิจการ หรือจำเป็นต้องปลดคนงานเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการผลิต จากเดิมที่ธุรกิจพึ่งพาการใช้แรงงานคนเป็นจำนวนมาก ก็ต้องนำระบบเทคโนโลยีมาช่วยในการลดต้นทุนสินค้า และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ

“ปี 2552 จะเป็นปีที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตในครั้งนี้ ที่คาดว่าจะรุนแรงกว่าช่วงปี 2540 อย่างมาก เพราะวิกฤตในช่วงนั้นเกิดขึ้นจากค่าเงินภายในประเทศ แต่ในปีหน้าวิกฤตจะเกิดจากกำลังซื้อของคนทั่วโลกลดลง ทำให้มีการสั่งผลิตสินค้าลดลง ฉะนั้นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีตลาดส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ ต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตสินค้า ตั้งแต่การพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ การลดต้นทุนในการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต การหาตลาดส่งออกใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ และการสร้าง ตราสินค้าของตนเองเพื่อเพิ่มกำไรให้มากขึ้น ” ดร.นิพนธ์ กล่าว

ขณะที่ภาครัฐจะต้องเร่งเข้ามาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยเป็นเจ้าภาพในการรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหามาอยู่ในศูนย์เฉพาะกิจที่มีการจัดตั้งขึ้น เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการแก้ปัญหา จากเดิมที่ผ่านมา การแก้ปัญหาต่างๆ ของภาครัฐจะเป็นการแก้ปัญหาที่แต่ละกระทรวงต่างคนต่างทำ ส่งผลให้ปัญหาต่างๆ ถูกหมักหมมจนยากเกินกว่าจะแก้ไขหรือขาดงบประมาณในการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม

ส่วนการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้มีความเข้มแข็งในระยะยาวนั้น ภาครัฐควรจัดตั้งสำนักวิจัยระบบอุตสาหกรรม เพื่อเป็นผู้นำในการทำวิจัยขีดความสามารถของแต่ละอุตสาหกรรม ใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ รวมถึงให้การสนับสนุนในเรื่องขององค์ความรู้ในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า เพื่อแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ เนื่องจากที่ผ่านมา ภาครัฐยังขาดข้อมูล ที่ได้จากการทำวิจัยมากำหนดแผน ส่งผลให้อุตสาหกรรมของไทยในประเทศขาดทิศทางในการพัฒนาหรือขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละภาคอุตสาหกรรมของไทยลดลงจนไม่สามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้

“ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการทำวิจัย ในการใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดทิศทางของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ และกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ของแต่ละภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ และยังใช้ฐานข้อมูลที่ดี เพื่อนำมาวางแผนในการแก้ปัญหาของแต่ละภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า” รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าว