จากการรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยล่าสุดโดยกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ตัวเลขเดือนพฤศจิกายนบ่งชี้สถานการณ์การส่งออกที่ประสบปัญหารุนแรงกว่าที่คาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกของไทยในระยะเดือนถัดๆ ไป โดยมีประเด็นที่สำคัญดังนี้
การส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2551 หดตัวลงมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยมีมูลค่า 11,870.2 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงถึงร้อยละ 18.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.2 ในเดือนตุลาคม และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 24.3 ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 13,072.6 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 2.0 (จากที่ขยายตัวร้อยละ 21.7 ในเดือนตุลาคม) ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนนี้ขาดดุล 1,202.4 ล้านดอลลาร์ฯ เป็นการขาดดุลรายเดือนเป็นเดือนที่ 7 ของปีนี้ ทั้งนี้ ภาพรวมในช่วง 11 เดือนแรก ปี 2551 การส่งออกของไทยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 166,235.4 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 19.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 167,398.4 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 30.9 ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 1,162 ล้านดอลลาร์ฯ
ทั้งนี้ การหดตัวของการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน จนกระทั่งเริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ต้องพึ่งพาการขนส่งทางอากาศ โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในช่วง 5 วันสุดท้ายของเดือนพฤศจิกายนสูญเสียไปประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์ฯ จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ถ้าขจัดผลของเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานออกไปแล้ว การส่งออกในเดือนพฤศจิกายนก็ยังลดลงประมาณร้อยละ 10 ด้วยเหตุนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกในเดือนนี้ลดลงจึงน่าจะเป็นผลมาจากสภาวการณ์เศรษฐกิจในหลายภูมิภาคทั่วโลกที่อ่อนแอลง สังเกตได้ว่าสินค้าส่งออกที่ไม่ต้องอาศัยการขนส่งทางอากาศก็ปรับตัวลดลงหลายรายการ โดยในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก มีสินค้าถึง 8 รายการที่หดตัวลง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (ลดลงร้อยละ 18.3) น้ำมันสำเร็จรูป (ลดลงร้อยละ 37.6) อัญมณีและเครื่องประดับ (ลดลงร้อยละ 25.9) ยางพารา (ลดลงร้อยละ 33.6) แผงวงจรไฟฟ้า (ลดลงร้อยละ 31.6) ข้าว (ลดลงร้อยละ 36.2) เม็ดพลาสติก (ลดลงร้อยละ 40.8) และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (ลดลงร้อยละ 5.4) ส่วนสินค้า 2 รายการที่ยังขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ขยายตัวร้อยละ 4.2) และผลิตภัณฑ์ยาง (ขยายตัวร้อยละ 10.5) แต่ก็เป็นทิศทางที่ชะลอตัวลงค่อนข้างมาก
เมื่อพิจารณาตลาดส่งออกที่สำคัญ ตลาดหลักมีการส่งออกลดลงทุกภูมิภาค โดยตลาดสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 14.5 สหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 16.7 ญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 8.4 อาเซียน 5 ประเทศ ลดลงถึงร้อยละ 30.6 สำหรับตลาดใหม่ ส่วนใหญ่ลดลงยกเว้นอินเดีย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.2) ยุโรปตะวันออก (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6) ตะวันออกกลาง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7) โดยการส่งออกไปจีนลดลงถึงร้อยละ 36.3 และออสเตรเลียลดลงร้อยละ 19.2 เป็นต้น
การส่งออกของไทยที่ลดลงนี้นับว่าเป็นทิศทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดยจากข้อมูลการส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2551 ของหลายๆ ประเทศที่ประกาศออกมาในช่วงก่อนหน้านี้ พบว่าการส่งออกของจีนหดตัวลงร้อยละ 2.2 ไต้หวันหดตัวร้อยละ 23.3 เกาหลีใต้หดตัวร้อยละ 19.0 และสิงคโปร์ (มูลค่าการส่งออกไม่รวมน้ำมัน) หดตัวร้อยละ 17.5 และญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ 26.7 สะท้อนให้เห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงอย่างมากนั้นกำลังส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของภูมิภาคเอเชีย
เมื่อประเมินจากสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งการส่งออกของไทยที่ปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาด ทิศทางการส่งออกของประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่ที่หดตัวลงเช่นเดียวกัน ประกอบกับสาเหตุของการหดตัวดังกล่าวนั้นเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจในภูมิภาคหลักของโลกเริ่มประสบภาวะถดถอยอย่างชัดเจนในช่วงประมาณไตรมาสที่ 3 ถึงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ขณะที่เศรษฐกิจโลกในระยะไตรมาสข้างหน้ายังมีความเปราะบาง จากปัญหาวิกฤติในภาคการเงินที่ยังไม่สิ้นสุด ยิ่งไปกว่านั้นผลกระทบที่แผ่ขยายออกไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะผลต่อภาวะการจ้างงาน จะยิ่งเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ คงจะต้องใช้ระยะเวลายาวนานมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณล่วงหน้าจากคำสั่งซื้อที่เข้ามายังผู้ประกอบการส่งออกไทยที่ลดลงอย่างมากในขณะนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้บ่งชี้แนวโน้มที่ตัวเลขการส่งออกของไทยน่าจะมีทิศทางที่ลดลงต่อไปอีกอย่างน้อยในช่วง 1-2 ไตรมาสข้างหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกในเดือนธันวาคมน่าจะยังคงหดตัวต่อเนื่อง แต่อาจเป็นอัตราที่น้อยกว่าในเดือนพฤศจิกายนที่ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงวันแรกๆ ของการปิดท่าอากาศยาน การหดตัวของตัวเลขส่งออกในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีจะส่งผลให้การส่งออกตลอดทั้งปี 2551 นี้อาจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 15.5 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 17.2 ในปี 2550 ทั้งนี้ สภาวะที่การส่งออกจะขยายตัวในอัตราที่ติดลบนี้น่าจะยังคงต่อเนื่องต่อไปในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 และถ้าคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าสำหรับช่วงฤดูกาลส่งออกในรอบปีหน้าเริ่มกลับเข้ามา ก็น่าจะเป็นผลให้การส่งออกกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์อัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยในปี 2552 อยู่ในช่วงระหว่างขยายตัวร้อยละ 0.0 ถึงหดตัวร้อยละ 5.0
นับจากนี้ แนวโน้มการส่งออกของไทยยังมีโอกาสเผชิญความเสี่ยงในด้านลบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง ซึ่งยังคงต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ของการผ่อนคลายนโยบายการเงินและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประเทศต่างๆ ผลักดันออกมาใช้อย่างเข้มข้น ว่าจะก่อเกิดผลในทางบวกที่จะช่วยดึงให้เศรษฐกิจโลกหลุดพ้นจากภาวะถดถอยและกลับมาฟื้นตัวได้รวดเร็วเพียงใด ขณะที่นโยบายของรัฐบาลใหม่ในการดูแลการส่งออกเชิงรุก ซึ่งรวมถึงการเพิ่มทูตพิเศษพาณิชย์เพื่อผลักดันขยายตลาดสินค้า น่าจะมีส่วนช่วยผู้ประกอบการส่งออกในการแสวงหาตลาดใหม่ได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ดังที่เห็นสัญญาณแล้วว่าตลาดใหม่ในหลายภูมิภาคก็กำลังประสบปัญหา ดังนั้นการผลักดันการขยายตลาดใหม่อาจไม่สามารถมองเพียงเฉพาะตลาดใหม่ในเชิงภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่ควรมองตลาดใหม่ในแง่มุมของพฤติกรรมหรือเช็กเมนต์กลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคที่แตกต่างไปจากเดิม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ควบคู่กันไปด้วย