ตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอนายกฯ พร้อมเป็นกลไกฟื้นเศรษฐกิจไทย

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. ร่วมด้วยนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยและนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ดร. ก้องเกียรติ โอภาสวงการ รองประธานสภาฯ และนายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ นายกัมปนาท โลหเจริญวณิช รองประธานฯ และนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ นางวรวรรณ ธาราภูมิ รองประธานฯ และนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน พร้อมด้วยคณะกรรมการ และผู้บริหาร ตลท. ต้อนรับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกรณ์ จาติกวณิช พร้อมคณะ โดยเสนอความพร้อมของตลาดทุนในการเป็นกลไกสำคัญฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยอย่างน้อย 4 ด้าน

เผยในช่วงกว่า 30 ปี ของการก่อตั้งตลท. มีธุรกิจระดมทุนผ่านตลท.แล้วมากกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ระบุโครงการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนมีทางเลือกระดมทุนผ่านตลท. ได้หลากหลาย เพราะมีครบทั้งตลาดตราสารทุน และตลาดตราสารหนี้ และตลาดอนุพันธ์

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลท. เปิดเผยว่า ความสำคัญเร่งด่วนประการหนึ่งของรัฐบาลใหม่คือการฟื้นเศรษฐกิจที่กำลังได้รับผลกระทบและขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ การที่ขนาดของตลาดตราสารทุนและตราสารหนี้ ได้เติบโตขึ้นจนปัจจุบันมีขนาดใหญ่กว่าระบบธนาคารพาณิชย์ประมาณ 1.2 เท่า แสดงให้เห็นว่าตลาดทุนมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น และจะมีบทบาทอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้อย่างน้อย 4 ด้านด้วยกัน ทั้ง 1) การเป็นช่องทางหลักในการระดมทุนของโครงการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชน 2) การขยายฐานภาษีให้กับรัฐบาลผ่านภาษีของบริษัทจดทะเบียน 3) การเตรียมรับมือกับปัญหาสังคม ชราภาพ โดยการเป็นทางเลือกให้กับผู้ออมเงิน และ 4) การเพิ่มเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้สามารถอยู่และแข่งขันได้ในยุคที่ระบบเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนอย่างยิ่ง

“หลังวิกฤติเศรษฐกิจ หัวใจสำคัญของการขยายตัวอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจในช่วง 5 ปีข้างหน้า คือ การฟื้นฟู การลงทุนของภาคเอกชนให้เข้าสู่วัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ ซึ่งต้องการระบบการเงินและตลาดทุนที่ดีเพื่อช่วยรองรับและเอื้อต่อการการระดมทุนของภาคเอกชนและภาครัฐ” นายปกรณ์กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ช่วงปี2541-2550) พบว่ามีเงินระดมทุนผ่านตลท มากกว่าสินเชื่อสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 1.8 เท่า นอกจากนี้ ในช่วงปี 2000-2008 ภาคเอกชนและภาครัฐยังระดมทุนจาก ตลาดทุน ผ่านตลาดตราสารหนี้ รวมกว่า 9 แสนล้านบาท และผ่านการออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์ 5.5 หมื่นล้านบาท โดยนอกจากสถาบันการเงินแล้ว ภาคธุรกิจจริงอื่น ๆ ก็ระดมทุนผ่านตลาดทุนเกือบ 60,000 ล้านบาท ซึ่งช่วยให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจมาได้

นอกจากนี้ ณ สิ้นปี 2550 บริษัทจดทะเบียนซึ่งมีจำนวนคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.1 ของนิติบุคคลกว่า 500,000 บริษัทได้จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับภาครัฐถึงร้อยละ 43 ของภาษีเงินได้ที่ภาครัฐได้รับจากนิติบุคคลทั้งหมด และก่อนเข้าจดทะเบียน 3 ปีและหลังการเข้า 3 ปี บริษัทจดทะเบียนจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นถึง 2.7 เท่า ดังนั้น จึงถือได้ว่าตลาดทุนเป็นฐานภาษีสำคัญที่ให้ประโยชน์กับภาครัฐอย่างเต็มที่

ตลาดทุนยังมีบทบาทที่จะช่วยรัฐบาลในการเตรียมรับมือกับผลกระทบจากปัญหาสังคมชราภาพ โดยการเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับการออมและการลงทุน ที่ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจในระยะยาว โดยในช่วงปี 2518-2550 พบว่าตราสารทุนให้ผลตอบแทนสะสมต่อปีถึงร้อยละ 12 และร้อยละ 9 ในตราสารหนี้ นอกจากนี้ ยังมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับตลาดทุนกว่า 13.2 ล้านคนทั้งโดยตรง คือผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ และโดยอ้อม เช่น ผู้ลงทุนในกองทุนรวม สมาชิก กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนประกันสังคม ดังนั้น ตลาดทุนจึงมีบทบาทอย่างมากต่อประชากรของประเทศและควรใช้ประโยชน์เพื่อการบริหารเงินออมอย่างมีประสิทธิภาพ

อีกประการหนึ่งคือการที่รัฐบาลสามารถใช้ตลาดทุนเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการบริหารความเสี่ยงของประเทศได้ จากการมีตราสารที่หลากหลายที่จะใช้บริหารจัดการความเสี่ยงได้ดี และการมีต้นทุนการบริหารความเสี่ยงที่ลดลง จะเอื้อประโยชน์ให้ภาคธุรกิจของไทยสามารถแข่งขันในระบบเศรษฐกิจโลกได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อความแข็งแรงของระบบเศรษฐกิจของไทย

นายปกรณ์กล่าวด้วยว่า ถึงแม้ภาวะทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองมีความผันผวนอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ตลท.ก็ได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยได้เตรียมแผนการสู่การเป็นบริษัทมหาชนและเป็นบริษัทจดทะเบียน โดยการปรับโครงสร้างองค์กรและกำหนดกลยุทธ์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานทุกด้านอันจะทำให้ตลท.มีความพร้อมอย่างเต็มที่ ที่จะรองรับการฟื้นตัวของภาคเอกชน และการขยายตัวอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจในอนาคต

ในโอกาสเดียวกันนี้ ตลท.ได้นำเสนอแนวทางพัฒนาตลาดทุน 8 ประการในระดับนโยบาย เพื่อให้ตลาดทุนเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ ได้แก่ 1) การสนับสนุนการดำเนินงานของ “คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุน”ต่อเนื่อง 2) สนับสนุนการปรับโครงสร้างของตลท.โดยพิจารณากฎหมายและการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับการพัฒนาและโครงสร้างของตลท 3) ผลักดันให้ตลท. เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงระหว่างตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค (ASEAN Common Exchange Gateway) เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนให้มากขึ้น 4) สนับสนุนการเข้าจดทะเบียน เช่น ลดอุปสรรค ขั้นตอนการดำเนินงาน และให้สิทธิประโยชน์เพื่อเพิ่มบรรษัทภิบาลของภาคเอกชน 5) ส่งเสริมพัฒนาการตลาดตราสารหนี้ของประเทศ 6) เชื่อมโยงระบบและรวมศูนย์ตลาดตราสารอนุพันธ์ ให้มีโอกาสการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เกิดการประหยัดต่อขนาด และส่งเสริมสภาพคล่องโดยรวม และใช้เป็นกลไกหลักในการกำหนดราคาสินค้าเกษตรล่วงหน้า และใช้ในการประกันราคาสินค้าเกษตรของประเทศ 7) ผลักดันการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการออมและให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการออมเพื่อการเกษียณอายุ รวมทั้งขยายสัดส่วนผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ซึ่งจะช่วยให้ตลาดทุนมีเสถียรภาพทางราคามากขึ้น 8) ทบทวนและดำเนินการต่อเนื่อง เรื่องการปรับโครงสร้างของรัฐวิสาหกิจเท่าที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะกลุ่มงานที่ต้องทำงานแข่งขันกับภาคเอกชน เพื่อให้รัฐวิสาหกิจมีช่องทางการระดมทุน และมีความคล่องตัวในการบริหารงานมากขึ้น