โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท จัดงาน “Welcome IVM Babies Party” ร่วมแสดงความยินดีแก่ 2 ว่าที่คุณแม่คนใหม่ ที่ประสบความสำเร็จจากการรักษาด้วยวิธี IVM หรือ In Vitro Maturation เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์แบบใหม่ล่าสุด ที่ทางโรงพยาบาลค้นคว้าและวิจัยได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ณ ห้องอาหาร L’avenue โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท เมื่อเร็วๆ นี้
ปัจจุบันมีวิธีการต่างๆ เพื่อให้คนมีบุตรยากสามารถมีลูกน้อยมาเชยชม โดยพึ่งเทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์ หรือ ART (Assisted Reproductive Technology) ไม่ว่าจะเป็นการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) การทำอิ๊กซี่ (ICSI) การทำซิบ(ZIFT) ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับว่าได้ผลสุด ล่าสุดโรงพยาบาลสมิติเวชประสบความสำเร็จในการศึกษาและวิจัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์วิธีใหม่ที่เรียกว่า IVM หรือ In Vitro Maturation ซึ่งมีวิธีการรักษาที่เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องฉีดฮอร์โมนกระตุ้นไข่เหมือนวิธีต่างๆ ข้างต้น มีความปลอดภัย และเจ็บตัวน้อย ขณะนี้มีคุณแม่ 2 เคส ที่ประสบความสำเร็จจากการตั้งครรภ์ด้วยวิธี IVM ได้แก่ พัธนี อุทัยศิริโรจน์ และ กันธิกา เคอร์นิค
แพทย์หญิงสมสิริ สกลสัตยาทร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่า โรงพยาบาลสมิติเวชให้ความสำคัญต่อสถาบันครอบครัวสูงสุด ทางโรงพยาบาลมองว่าทำอย่างไร ครอบครัวถึงจะมีความสุข มีความผูกพันที่ก่อกำเนิดขึ้นได้ในครอบครัว เราจึงพัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาตอบสนองให้แก่คู่สามี-ภรรยาที่มีบุตรยาก เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการมีบุตร และเราขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลทารกให้เติบโตเป็นเด็กที่แข็งแรง ทางโรงพยาบาลขอแสดงความยินดีแก่ว่าที่คุณแม่คนใหม่ทั้งสองคน ที่ประสบความสำเร็จจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดอย่าง IVM ค่ะ
ด้านนายแพทย์บุญแสง วุฒิพันธ์ หัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ผู้ดำเนินการคิดค้นและวิจัยเทคโนโลยีใหม่ ครั้งนี้กล่าวว่า “ในแต่ละปีที่ผ่านมา เราต้องเผชิญกับอาการแพ้ฮอร์โมนของคนไข้ที่เกิดจากการรักษาด้วยวิธี IVF หลายรายมาก ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของโรงพยาบาลเอกชน เราใช้เวลาปีกว่าๆ ศึกษาและคิดค้นเทคโนโลยี IVM โดยได้เข้าร่วมประชุมที่ประเทศแคนาดา พบว่าวิธีนี้มีความปลอดภัยและเป็นธรรมชาติมากที่สุด โดยวิธีนี้จะใช้วิธีเก็บไข่ที่ยังโตไม่เต็มที่จากรังไข่ จากนั้นก็นำมาเลี้ยงในห้องทดลองจนโตเต็มที่ ก่อนที่จะทำการผสมกับเชื้ออสุจิจนมีการปฏิสนธิที่สมบูรณ์ แล้วจึงย้ายกลับเข้าโพรงมดลูก ซึ่งจะใช้ระยะเวลาสั้นกว่าการรักษาแบบ IVF ไม่ต้องฉีดฮอร์โมน ที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย”
“วิธีนี้เหมาะสำหรับคนไข้ที่เป็นโรค POC หรือ PCOD คือมีถุงไข่รอบๆ รังไข่เยอะมาก จนไข่ไม่สมบูรณ์ หรือคนไข้ที่รักษาด้วยการกระตุ้นด้วยฮอร์โมน แล้วตัวอ่อนคุณภาพไม่ดี หรือมีการตอบสนองครึ่งๆ กลางๆ จากการใช้ฮอร์โมน หรือคนไข้ที่เป็นมะเร็งแต่อยากมีลูก ก็สามารถเอาไข่ออกมาเก็บรักษาได้ และในอนาคตผู้หญิงที่แต่งงานช้า สามารถใช้เทคโนโลยีนี้เก็บรักษาไข่ตั้งแต่ยังสาวได้” นายแพทย์บุญแสงกล่าวเสริมถึงข้อดีของ IVM
แม้จะมีข้อดีหลายอย่าง แต่เทคโนโลยีใหม่ชนิดนี้ก็มีอัตราความสำเร็จต่ำกว่าการรักษาด้วย IVF ซึ่ง IVM มีอัตราการตั้งครรภ์สูงสุดที่ 30-35% ในขณะที่วิธี IVF มีอัตราการตั้งครรภ์สูงสุดที่ 40% แต่ทั้งนี้ค่ารักษาแบบ IVM ก็ถูกกว่าวิธี IVF 30% (IVM มีค่าใช้จ่ายประมาณ 200,000 บาท) และเทคโนโลยี IVM สามารถทำครั้งใหม่ได้ในเวลาอันสั้น หากครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ต้องรอนานเหมือนการทำ IVF
แม้จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยให้คู่รักสมหวังในเรื่องการมีบุตร หัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรีก็แนะนำคู่รักว่า ปัจจุบันด้วยสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทั้งการศึกษาที่สูงขึ้น ความเครียดสะสม หนุ่มสาวบางคนก็เลือกที่จะแต่งงานตอนอายุมากแล้ว ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้เสี่ยงต่อการมีบุตรยาก และสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีบุตรยากมากที่สุดคือ บุหรี่ โดยเฉพาะผู้หญิง เพราะบุหรี่จะไปทำลายรังไข่ให้ไม่สมบูรณ์ กาแฟก็มีส่วน ดังนั้นควรดื่มอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว เหล้าก็ควรดื่มไม่เกิน 4 แก้วต่อสัปดาห์
“หากคู่รักเลือกตั้งครรภ์โดยวิธีธรรมชาติ และดูแลร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ทั้งสองฝ่ายแล้ว แต่ยังไม่สมหวัง โดยวัดจากคู่รักที่อายุต่ำกว่า 35 ปี แต่งงานมาแล้วเกิน 1 ปี หรือคู่รักที่อายุเกิน 35 ปี แต่งงานมาแล้วเกิน 6 เดือน ยังไม่มีบุตร ก็ควรปรึกษาแพทย์” อาจารย์แนะนำส่งท้าย
ทราบข้อมูลของเทคโนโลยี IVM แล้ว ลองมาฟังความรู้สึกของคุณแม่มือใหม่กันบ้าง เริ่มจาก พัธนี อุทัยศิริโรจน์ วัย 36 ปี กล่าวว่า “รู้สึกดีใจมาก เพราะครอบครัวของเราทั้งสองคนยังไม่มีหลานให้ปู่ย่า ตายายเลย แต่งงานมาแล้ว 6 ปี และวางแผนมีลูกตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว ก็ยังไม่มี จึงมาปรึกษาอาจารย์บุญแสง ตรวจเจอว่ามีปัญหา PCOD อาจารย์จึงให้กินยากระตุ้นไข่ แต่เนื่องจากเราทำไม่ต่อเนื่องจึงไม่สำเร็จ และตัวเองไม่อยากฉีดฮอร์โมนด้วย พออาจารย์ได้แนะนำวิธีใหม่นี้ จึงตัดสินใจทำเมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ตอนนี้ตั้งครรภ์แล้ว 10 สัปดาห์ และกำหนดคลอดวันที่ 18 มิถุนายน 2009”
ด้านภรรยาสาวของหนุ่มชาวออสเตรเลีย กันธิกา เคอร์นิค วัย 28 ปี ที่ประสบปัญหาตั้งครรภ์นอกมดลูกถึง 2 ครั้ง และต้องตัดท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้าง แถมยังเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ฮอร์โมนจากการรักษาแบบ IVF ซึ่งพบว่ามีถุงไข่มากเกินไปจนต้องหยุดฉีดยา เมื่อทราบเทคโนโลยีใหม่ครั้งนี้ จึงตัดสินใจรักษาแบบ IVM “ดีใจมากค่ะ นึกว่าตัวเองจะมีลูกไม่ได้แล้ว เพราะมีปัญหาจากการใช้ฮอร์โมน แถมยังต้องเจ็บตัวจากการฉีดฮอร์โมนทุกวัน แต่พอใช้วิธี IVM จะเจ็บนิดหน่อยตอนหมอนำไข่ออกมาเพาะเลี้ยง ตอนนี้ท้องลูกแฝด 9 สัปดาห์ และกำหนดคลอดวันที่ 28 กันยายน 2009 ค่ะ”
คู่รักหลายคู่อาจประสบปัญหาการมีบุตรยาก แต่อย่าเพิ่งท้อถอย เพราะปัญหาทุกอย่างมีคำตอบเสมอ ดั่งเช่นว่าที่คุณแม่ทั้งสองคน ที่กำลังใจดีจนสามารถฟันฝ่าอุปสรรคและตั้งครรภ์ได้สมใจ..