ตลาดรถยนต์ทั้งไทยและต่างประเทศในขณะนี้กำลังปั่นป่วนอย่างหนัก สืบเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯนับตั้งแต่เกิดวิกฤติซับไพรม์เมื่อปลายปี 2550 ที่ผ่านมาและได้ทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2551 จากการที่สถาบันการเงินหลายแห่งในสหรัฐฯมีปัญหาแล้วลุกลามกลายเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจของโลก ส่งผลต่อเศรษฐกิจในหลายๆประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป และญี่ปุ่น รวมไปถึงประเทศกำลังพัฒนาต่างๆที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งต่างก็ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อหลักที่ลดลงจากต่างประเทศ การชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจในหลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วส่งผลต่อตลาดรถยนต์ทั่วโลกอย่างหนัก ยอดขายรถยนต์ของผู้ผลิตรายใหญ่หลายบริษัทเดือนล่าสุดลดลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 30.0 ทรุดตัวต่ำสุดในรอบประมาณ 2 ทศวรรษ สำหรับประเทศไทย ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกต่างชะลอลงอย่างต่อเนื่อง โดยยอดส่งออกรถยนต์มีการขยายตัวที่ชะลอลงต่อเนื่องมา 4 เดือนแล้ว นอกจากนี้ยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือนพฤศจิกายนเองก็หดตัวอย่างรุนแรงถึงร้อยละ 20.2 ซึ่งหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และคาดว่าตลาดรถยนต์จะชะลอลงต่อเนื่องไปจนถึงปี 2552 ดังที่สะท้อนให้เห็นจากคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่ลดลงอย่างมากทำให้ผู้ผลิตในประเทศไทยหลายบริษัทปรับลดระดับการผลิตในช่วง 1 ถึง 2 เดือนข้างหน้าลงอย่างมากเช่นกัน ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนไทยจะต้องเผชิญในปี 2552 รวมทั้งเสนอแนวทางการปรับกลยุทธ์โดยมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
อุตสาหกรรมชิ้นส่วนชะลอลงตามการผลิตรถยนต์ของไทยที่ชะลอลง
ตลาดรถยนต์ของไทยประสบกับสภาวะการชะลอตัวทั้งในและต่างประเทศ โดยในส่วนของตลาดส่งออกนั้น รถยนต์ไทยต้องเผชิญกับปัญหาประเทศผู้นำเข้าหลักหลายแห่งอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา แม้ยอดการส่งออกรถยนต์ของไทยจะยังคงขยายตัวประมาณร้อยละ 18.2 แต่เดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนแรกที่ยอดการส่งออกรถยนต์ไทยหดตัวลงในรอบ 25 เดือน โดยหดตัวร้อยละ 1.9 และคาดว่าจะชะลอลงต่อเนื่องในเดือนธันวาคมต่อเนื่องไปถึงปี 2552 ซึ่งปัจจุบันได้มีสัญญาณการชะลอตัวลงของตลาดต่างประเทศออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกรถยนต์ไทยไปออสเตรเลียซึ่งเป็นประเทศตลาดส่งออกหลักของไทยที่มีสัดส่วนถึงประมาณร้อยละ 24.3 เฉพาะเดือนพฤศจิกายนได้หดตัวลงถึงร้อยละ 24.6 ซึ่งก็เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นตามมาจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก
ในส่วนของยอดขายรถยนต์ในประเทศก็หดตัวอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศโดยที่ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง และอีกเหตุผลสำคัญที่ไม่อาจปฏิเสธได้ คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งผลให้การลงทุนต่างๆในประเทศลดลง ทำให้ปัญหาการว่างงานเริ่มก่อตัวขึ้นในปัจจุบัน จึงส่งผลทางจิตวิทยาในด้านลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ประกอบกับสถาบันการเงินต่างระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทั้งนี้ยอดขายรถยนต์ในประเทศตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2551 หดตัวลงถึงประมาณร้อยละ 2.1 และคาดว่าจะหดตัวลงต่อเนื่องในเดือนธันวาคม ส่งผลให้ยอดขายรวมในประเทศปีนี้อาจมีจำนวน 616,000 คัน หดตัวประมาณร้อยละ 2.4 ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
จากยอดขายที่ชะลอลงนี้ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดการผลิตรถยนต์ของไทย และส่งผลต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งแม้ว่าการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยในปีนี้โดยรวมยังมีการขยายตัวค่อนข้างดี อันเป็นผลจากยอดผลิตรถยนต์ของไทยในช่วงตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนตุลาคมที่ยังมีการขยายตัวค่อนข้างดี ส่งผลให้ทางกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้มีการคาดการณ์ว่าปี 2551 ทั้งปีจะมียอดผลิตทั้งสิ้นประมาณ 1,427,000 คัน ขยายตัวถึงร้อยละ 10.9 แต่จากแนวโน้มการผลิตรถยนต์ที่มีทิศทางชะลอลงจากการหดตัวของยอดขายในประเทศ และการชะลอตัวของยอดการส่งออก ทำให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยในช่วงนับจากนี้ไปคาดว่าจะชะลอตัวลงตามเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เดือนพฤศจิกายน 2551 ยอดผลิตเริ่มหดตัวถึงร้อยละ 4.9 และคาดว่าจะหดตัวลงต่อเนื่อง จากการที่ค่ายรถต่างๆได้ออกมาประกาศไปก่อนหน้านี้ ว่าจะลดกำลังการผลิตลงประมาณร้อยละ 20 ถึง 30 และบางรายถึงขั้นปิดโรงงานระยะหนึ่งโดยที่ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2551 ไปจนถึงช่วงประมาณไตรมาสที่ 1 หรือ 2 ของปี 2552 และอาจยืดเยื้อต่อไปอีก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตลาดรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศในปีหน้า
อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยปี 52 : OEMถูกกระทบหนัก…REMอาจได้รับผลกระทบน้อยกว่า
แม้ในปี 2551 อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยเริ่มรับรู้ผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกในช่วง 2 ถึง 3 เดือนสุดท้าย แต่ในปี 2552 หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก โดยเฉพาะปัญหาการขาดสภาพคล่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐฯซึ่งกำลังรอความหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล และขณะนี้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในภูมิภาคต่างๆก็ได้เริ่มประกาศลดคนงาน ลดกำลังการผลิต และชะลอการลงทุนต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางการส่งออกอุตสาหกรรมชิ้นส่วนโดยเฉพาะ OEM (Original Equipment Manufacturing : ชิ้นส่วนที่ใช้ประกอบในรถที่ผลิตออกมาจากโรงงาน) ที่เข้าไปอยู่ในเครือข่ายการผลิตรถยนต์ของบริษัทรถยนต์เหล่านี้ ส่วนตลาดรถยนต์ในประเทศก็กำลังเผชิญกับภาวะยอดขายหดตัวลง แม้ค่ายรถจะออกกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่องแต่ด้วยปัญหาความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง รวมถึงความเข้มงวดของการให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ตลาดรถยนต์คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งผลดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายออกมาคาดการณ์กันว่ามีความเป็นไปได้ที่ในปี 2552 ปริมาณการผลิตรถยนต์ไทยอาจจะหดตัวลงถึงระดับตัวเลข 2 หลัก ซึ่งจะเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2541 โดยที่การผลิตรถยนต์ในปีนั้นหดตัวลงถึงร้อยละ 59.4 ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างหนักโดยตรงต่อการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยประเภท OEM
อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดรถยนต์ที่ชะลอตัวจะส่งผลต่อกระทบต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนของไทยโดยภาพรวม ทว่าจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเช่นนี้ ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายสูงขึ้น จึงมีแนวโน้มไม่นิยมซื้อรถใหม่แต่จะใช้รถคันเดิมไปก่อน หรือซื้อรถยนต์มือสอง ซึ่งมีราคาต่ำกว่าแม้จะมีปัญหาจุกจิกจากการซ่อมบำรุงที่มากกว่า ดังนั้นความต้องการอะไหล่รถยนต์จึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลดีต่อชิ้นส่วนรถยนต์ประเภท REM (Replacement Equipment Manufacturing : ชิ้นส่วนทดแทน หรือ อะไหล่)
ทั้งนี้จากข้อมูลของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพบว่า ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมามูลค่าส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์โดยรวมทั้ง OEM และ REM ของไทยมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 29.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตามแม้ว่าการขยายตัวโดยรวมจะดีขึ้นแต่เมื่อจำแนกดูเป็นรายเดือนและรายสินค้าแล้วจะพบว่าชิ้นส่วนประเภท OEM มีอัตราการขยายตัวชะลอลงเกือบทุกเดือนทั้งในส่วนของเครื่องยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ หลังจากราคาน้ำมันได้ทยานขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งทิศทางดังกล่าวสวนทางกันกับการขยายตัวของชิ้นส่วน REM ซึ่งขยายตัวสุงขึ้นต่อเนื่องเกือบทุกเดือนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จากตัวเลขดังกล่าวยิ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าชิ้นส่วนประเภท REM ได้รับผลกระทบน้อยกว่า OEM ซึ่งทิศทางดังกล่าวคาดว่าจะดำเนินต่อเนื่องไปถึงปี 2552 ด้วย จากแนวโน้มตลาดรถยนต์ใหม่ที่คาดว่าชะลอลงในหลายภูมิภาคทั่วโลกในปี 2552 อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยจึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว
การแข่งขันของอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น…ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัว
ด้วยภาวะกดดันต่างๆที่ผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยจะต้องเผชิญนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องหาแนวทางปรับกลยุทธ์เพื่อหาโอกาสท่ามกลางวิกฤติ และเพื่อประคับประคองธุรกิจให้รอดพ้นจากปัจจัยลบต่างๆที่ถาโถมเข้ามา โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดรถยนต์ในหลายๆภูมิภาคต้องประสบปัญหายอดขายชะลอตัว ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในหลายประเทศมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่มาก จึงมีโอกาสที่จะเกิดการใช้กลยุทธ์การตัดราคา เพื่อเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศต่างๆไม่เว้นแม้แต่ในไทย ซึ่งคู่แข่งที่น่าจะต้องระวังคือ ชิ้นส่วนจากจีนที่มีราคาถูก ซึ่งอาจส่งผลให้การขยายตลาดชิ้นส่วนของไทยทำได้ยากลำบากมากขึ้น และแม้จะคาดว่าผู้ผลิตชิ้นส่วน OEM ที่ป้อนสินค้าให้กับผู้ผลิตในประเทศโดยตรง อาจไม่ได้รับผลกระทบจากแรงกดดันดังกล่าวมากนัก จากการที่ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะใน Tier 1 มีการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างค่อนข้างใกล้ชิด และได้รับการยอมรับโดยทั่วกันว่าสินค้าไทยมีคุณภาพ แต่ในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อยต่างๆที่ผลิตชิ้นส่วนในระดับ Tier ถัดๆไปและผู้ผลิตชิ้นส่วนประเภท REM มีบางส่วนที่อาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมากเนื่องจากสินค้าที่ผลิตอาจไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยี และความชำนาญสูงในการผลิต ทำให้อาจถูกชิ้นส่วนจากจีนซึ่งมีราคาถูกเข้ามาตีตลาดได้ ทั้งนี้ไม่เว้นแม้แต่การส่งออกไปยังต่างประเทศซึ่งคาดว่าชิ้นส่วนจากจีนคงมีความพยายามในการเข้าไปขยายตลาดเช่นกัน
ดังนั้นแม้สินค้าไทยจะได้รับความเชื่อถือว่ามีคุณภาพดีแล้ว แต่ในภาวะปัจจุบันที่ตลาดรถยนต์ชะลอตัวและมีการแข่งขันกันสูง ซึ่งต่างก็ต้องลดต้นทุนการผลิต โดยนอกจากการลดจำนวนคนงานแล้ว แนวทางอื่นที่ทำได้คือ การปรับปรุงโครงสร้างและเทคโนโลยีการผลิตในโรงงาน ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนและพัฒนาคุณภาพสินค้า โดยการลดต้นทุนวัตถุดิบต่างๆที่ไม่จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนที่มีคุณภาพสูงโดยเฉพาะ และรักษาระดับคุณภาพและความเชื่อถือของตัวสินค้าที่ผลิต เพื่อให้ชิ้นส่วนที่ผลิตได้นั้นเป็นสินค้าคุณภาพดีราคาเหมาะสม รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียฐานลูกค้าให้กับคู่แข่งอย่างจีน เป็นต้น อย่างไรก็ตามเพื่อหวังผลในระยะยาวจำเป็นที่จะต้องมองการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มคุณภาพของสินค้าในระยะยาวด้วย
ในส่วนของผู้ประกอบการชิ้นส่วนในรูปแบบ OEM นั้นนอกจากการพยายามลดต้นทุนดังที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นแล้วนั้น อีกแนวทางหนึ่งที่ทำได้คือ เพิ่มการขยายตลาดไปสู่ตลาดชิ้นส่วน REM เนื่องจากในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ตลาดอะไหล่รถยนต์เป็นตลาดที่ยังขยายตัวได้ดี โดยอาจจะอาศัยโอกาสที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเพื่อใช้ประกอบในรถยนต์ที่ขายในประเทศเอง ชิ้นส่วนที่ผลิตจึงรับรองคุณภาพได้ว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพไม่ต่างจากชิ้นส่วนที่ประกอบในรถยนต์ใหม่ รวมถึงการได้เปรียบจากราคาที่อาจถูกลงเนื่องการการประหยัดต่อขนาด (economies of scale) ทั้งนี้เพื่อเข้าไปทดแทนการนำเข้าอะไหล่จากต่างประเทศ และเพิ่มโอกาสแก่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนไทยในการขยายตลาดการส่งออกอะไหล่รถยนต์ไปต่างประเทศ
นอกจากแนวทางต่างๆข้างต้นแล้ว การขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพอยู่อาจเป็นอีกทางหนึ่งที่เป็นไปได้ ซึ่งหากสังเกตดูจากสถิติการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ แม้ว่ามูลค่าการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ของไทยรวมแล้วในเดือนพฤศจิกายนนี้จะหดตัวลงถึงร้อยละ 20.0 แต่หากดูเป็นรายประเทศแล้วพบว่าในบางประเทศ เช่น จีน ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย โคลัมเบีย อิหร่าน ลาว พม่า ศรีลังกา นอร์เวย์ สวีเดน ตรินิแดดและโตเบโก เป็นต้น ไทยยังมีการส่งออกขยายตัวได้ดี และแม้ในบางประเทศที่เป็นฐานลูกค้าเดิม เช่น กลุ่มประเทศอาเซียน อินเดีย ไต้หวัน อัฟกานิสถาน และอาร์เจนติน่า เป็นต้น ในเดือนพฤศจิกายนจะมีการส่งออกที่หดตัวลงก็ตาม แต่ในเดือนก่อนหน้าการส่งออกยังมีการขยายตัวดี ประกอบกับบางประเทศได้มีการเปิดเสรีการค้ากับไทยในหมวดยานยนต์ เช่น อาเซียน และอินเดีย ทำให้คาดว่าน่าจะยังเป็นตลาดที่ไทยจะยังคงใช้เป็นลู่ทางในการขยายตลาดได้อยู่
โอกาสท่ามกลางวิกฤติของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนของไทย
แม้สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันจะไม่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจนัก แต่อย่างน้อยอุตสาหกรรมชิ้นส่วนไทยในปีหน้าก็ยังพอจะมีความหวังท่ามกลางวิกฤติอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการที่สหภาพยุโรป หรือ อียู ได้ประกาศออกกฏระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการให้สิทธิพิเศษฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 ถึง 31 ธันวาคม 2554 ซึ่งกลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งที่เกี่ยวข้องในพิกัดศุลกากรตอนที่ 86-89 ที่ไทยได้ถูกตัดสิทธิไปในช่วงปี 2549 ถึง 2551 นั้นจะได้รับคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ของอียูฉบับใหม่นี้ จึงคาดว่าน่าจะเป็นโอกาสให้การหาลู่ทางขยายตลาดของชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ไทยที่จะตามไปเปิดตลาดยังอียูนั้นมีความสะดวกยิ่งขึ้น ในขณะที่ประเทศคู่แข่งสำคัญ เช่น จีน ในกลุ่มสินค้าประเภทนี้ยังคงถูกตัดสิทธิจีเอสพีอยู่ ดังนั้นเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากสิทธิดังกล่าว ผู้ประกอบการไทยจึงควรศึกษาถึงความเป็นไปได้สำหรับกิจการตนแล้วหันมาใช้สิทธิตามกรอบจีเอสพีให้มากขึ้น
ไม่เพียงแต่ประเทศในกลุ่มอียูเท่านั้น ออสเตรเลียเองก็ได้ประกาศยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์หรู (Luxury Car) ที่ประหยัดพลังงาน หรือรถยนต์ที่ใช้พลังงาน 7 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร ที่มีมูลค่าไม่เกิน 75,000 เหรียญออสเตรเลีย ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์สำหรับรถยนต์ประเภทนี้ทั้งในแง่ของการขยายตลาดชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ และการส่งออกชิ้นส่วนสำหรับผลิตไปยังประเทศที่ผลิตรถยนต์รุ่นดังกล่าวเพิ่มเติมจากการผลิตเพื่อขายในประเทศ อย่างไรก็ตามในส่วนของรถยนต์หรูทั่วไปที่มีมูลค่ามากกว่า 57,180 เหรียญออสเตรเลีย จะมีการขึ้นภาษีนำเข้าจากเดิมร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 33 โดยจะมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 ซึ่งผู้ประกอบการที่ผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ประเภทดังกล่าวอาจต้องพิจารณาหาลู่ทางตลาดเพิ่มไปยังตลาดอื่นๆ
นอกจากนี้อัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่มีทิศทางอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2552 โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ และแม้จะมีการคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าอาจจะกลับมาแข็งค่าได้อีก แต่คาดว่าจะเป็นเพียงการแข็งค่าเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกเท่านั้น ซึ่งการที่ทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนเมีแนวโน้มอ่อนค่าเช่นนี้ นับเป็นโอกาสที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างๆอาจพิจารณาใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากขึ้น และช่วยในการกระตุ้นการส่งออกไปยังต่างประเทศได้มากขึ้นด้วย
ในส่วนของการลงทุนในโครงการอีโคคาร์นั้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีค่ายรถบางค่ายได้ส่งสัญญาณที่จะชะลอการลงทุนออกไปบ้าง เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจและแนวโน้มกำลังซื้อที่อาจหดตัว แต่เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความเหมาะสมกับตลาดรถยนต์ในอนาคต ดังนั้นจึงเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์ตลาดรถยนต์เริ่มดีขึ้นภายหลังปี 2552 แนวโน้มการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงาน และรถยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทน จะกลับมาโดดเด่นและเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยต่อไป โดยเฉพาะหากราคาน้ำมันกลับมาฟื้นตัวขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกหลังปี 2552 ตามการคาดการณ์ของหลายฝ่าย