โรงพยาบาลเอกชนปี’52 : เร่งปรับตัว…รับวิกฤตเศรษฐกิจ

สถานการณ์ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปี 2552 มีโอกาสที่จำนวนคนไข้ ทั้งคนไข้ในประเทศและคนไข้ชาวต่างชาติปรับตัวลดลง อันมีปัจจัยกดดันทั้งจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ตกต่ำ ในขณะเดียวกัน ปัจจัยความขัดแย้งทางด้านการเมืองที่แม้ว่าจะเริ่มคลี่คลายและลดอุณหภูมิความขัดแย้งลงไปพอสมควร แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาฟื้นฟูสร้างความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติพอสมควร ทำให้คนไข้ชาวต่างชาติบางส่วนชะลอการเดินทางมาไทย ทั้งนี้คาดว่า ในปี 2552 โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่มุ่งจับตลาดลูกค้าคนไข้รายได้ปานกลาง-สูงรวมทั้งคนไข้ชาวต่างชาติในสัดส่วนที่สูง จะมีความยากลำบากในการทำตลาดมากกว่าโรงพยาบาลเอกชนขนาดกลาง-เล็ก ที่สามารถปรับไปให้บริการกลุ่มคนไข้ในประเทศที่ได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และผู้ได้รับสิทธิจากโครงการประกันสังคม ซึ่งมีจำนวนรวมกันถึงประมาณ 56.4 ล้านคน ในขณะเดียวกัน คนไข้ในประเทศที่เคยใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ บางส่วนจะหันมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนขนาดกลางที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนั้น โรงพยาบาลเอกชนที่เคยมีคนไข้ต่างประเทศเข้าใช้บริการในสัดส่วนที่สูง จำเป็นต้องหันมาเพิ่มสัดส่วนคนไข้ในประเทศมากขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนควรใช้ช่วงเวลาที่จำนวนคนไข้มีแนวโน้มปรับลดลง ทำการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งอาคารที่จอดรถ อาคารผู้ป่วย เครื่องมือทางการแพทย์ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ เพื่ออำนวยความสะดวกและเตรียมความพร้อมรองรับจำนวนคนไข้ที่จะเพิ่มขึ้นภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจคลี่คลายลง โดยเฉพาะคนไข้ชาวต่างชาติที่ยังคงนิยมและไว้วางใจใช้บริการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทย ด้วยข้อได้เปรียบด้านคุณภาพการรักษาพยาบาลและการให้บริการของบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งอัตราค่ารักษาพยาบาลที่อยู่ในระดับต่ำกว่าคู่แข่งอาทิ สิงคโปร์ และฮ่องกง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน คงมิอาจหลีกเลี่ยงปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ลุกลามไปทั่วโลก แต่คาดว่า ผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวจะจำกัดอยู่เพียงจำนวนคนไข้ในประเทศและจำนวนคนไข้ต่างประเทศที่มีแนวโน้มลดลง แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาระหนี้สินอันจะนำไปสู่ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจโรงพยาบาลดังที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540 ซึ่งในครั้งนั้น ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น ภายหลังจากกำลังซื้อของภาคประชาชนปรับลดลงอย่างหนัก ในขณะเดียวกัน ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ยังประสบปัญหาต้นทุนดำเนินงานที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากในช่วงนั้นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนได้มีการลงทุนทั้งในด้านอาคาร สถานที่ และเครื่องมือทางการแพทย์ ทำให้ต้องใช้เงินลงทุนสูง จึงมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 นั้น อัตราดอกเบี้ยในประเทศของสถาบันการเงินต่างๆมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนมีภาระอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก ในขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทของไทยก็อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่กู้ยืมเงินจากต่างประเทศมีภาระเงินกู้ยืมในรูปเงินบาททั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นสูง จนกระทบต่อสภาพคล่องและผลการดำเนินงานที่ขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี

สำหรับปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาด้านเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2552 ที่มีต่อคนไข้ในประเทศและคนไข้ชาวต่างชาติมีรายละเอียด ดังนี้
คนไข้ชาวไทย

ผลจากกำลังซื้อของภาคประชาชนที่ปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วในปี 2552 ส่งผลให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เพื่อออมเงินไว้ในยามเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน อาทิ ผู้ป่วยในส่วนของโรคไม่ร้ายแรงและไม่จำเป็นเร่งด่วนก็อาจจะชะลอการเข้าใช้บริการออกไป หรือหากเป็นโรคที่ต้องรักษาเร่งด่วน ก็พิจารณาลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและหันไปใช้บริการสถานพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าทดแทน ซึ่งเห็นได้จากการสำรวจพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯระหว่างวันที่ 24 ตุลาคม-4พฤศจิกายน 2551 ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.3 หันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น เช่น ออกกำลังกาย ดูแลอาหารที่รับประทานที่เหมาะสมกับสุขภาพ เป็นต้น ร้อยละ 12.4 หันมาบริโภคอาหารเสริมสุขภาพ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 12.5 มีการปรับพฤติกรรมการใช้ยา โดยหันมาใช้ยาสมุนไพรแทนการใช้ยาแผนปัจจุบัน และหันมาใช้ยาที่ผลิตในประเทศ หรือ การหันไปซื้อยาที่ร้านขายส่งยาแทนการซื้อยาจากโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ถ้าจำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก็จะเลือกโรงพยาบาลรัฐบาลมากกว่าโรงพยาบาลเอกชน หรือเลือกโรงพยาบาลที่มีสิทธิประกันสังคม โดยคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 24.2 เน้นรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐบาลแทนโรงพยาบาลเอกชน และร้อยละ 16.6 ใช้บริการโดยใช้สิทธิ์ประกันสังคมมากขึ้น

คนไข้ต่างชาติ
วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2552 นั้นเริ่มต้นจากปัญหาวิกฤตภาคการเงินในสหรัฐฯก่อนที่จะลุกลามกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจไปทั่วโลก ดังนั้น ผลกระทบที่มีต่อโรงพยาบาลเอกชนของไทยจึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคนไข้ในประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลทำให้คนไข้ชาวต่างชาติที่เข้าใช้บริการปรับลดลงด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะคนไข้จากประเทศที่เศรษฐกิจชะลอตัวมากอาทิ ญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 14.8 ของจำนวนคนไข้ชาวต่างชาติที่ใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนไทย คนไข้ชาวสหรัฐฯ(สัดส่วนร้อยละ 10.6) คนไข้ชาวอังกฤษ(สัดส่วนร้อยละ 8.7) โดยคนไข้ชาวต่างชาติที่มีแนวโน้มชะลอเข้าใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนมีหลายกลุ่ม อาทิ คนไข้กลุ่มที่ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการรักษา อาทิ การทำศัลยกรรมตกแต่ง นอกจากนี้ยังรวมถึงกลุ่มที่ไม่ได้ทำประกันสุขภาพ และกลุ่มที่ต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวพร้อมกับรับการรักษาพยาบาลในไทยในรูปของการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาในระยะเวลาสั้นๆอาทิ ทำฟัน ตรวจสุขภาพร่างกาย รักษาเกี่ยวกับสายตาเช่นเลสิก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าคนไข้ชาวต่างชาติที่ยังคงมีแนวโน้มจะเข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนของไทยได้แก่ กลุ่มที่เคยเป็นคนไข้เก่าและต้องมีการรักษาต่อเนื่องกับแพทย์คนเดิม ซึ่งจะกลับมาใช้บริการเหมือนเดิม หากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติ ในขณะเดียวกันกลุ่มคนไข้ชาวต่างชาติที่ทำประกันสุขภาพไว้ก็มีแนวโน้มมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนไทยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจาก วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทประกันทั้งหลายในต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐฯต่างก็คิดหาหนทางลดต้นทุนของตนเอง ซึ่งวิธีที่เริ่มเป็นที่นิยมก็คือ การส่งผู้ป่วยที่ประกันตนกับบริษัทไปรักษาพยาบาลยังโรงพยาบาลเอกชนในต่างประเทศที่มีค่าบริการให้การรักษาต่ำ (Medical Outsourcing) แต่มีคุณภาพการรักษาได้มาตรฐาน ซึ่งคนไข้ชาวต่างชาติกลุ่มนี้นับเป็นหนึ่งในความหวังทางด้านการเพิ่มจำนวนคนไข้ของโรงพยาบาลเอกชนไทยในปี 2552 เช่นเดียวกัน

สำหรับ ระดับของผลกระทบที่มีต่อธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในส่วนของโรงพยาบาลขนาดกลาง-เล็กและโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่มีความแตกต่างกันโดยมีรายละเอียด ดังนี้

โรงพยาบาลเอกชนขนาดกลาง-เล็ก คาดว่าจะได้รับผลกระทบในปี 2552 ในระดับที่รุนแรงน้อยกว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เนื่องจากในช่วงที่ภาวะกำลังซื้อของภาคประชาชนปรับลดลง คนไข้กลุ่มผู้มีรายได้ในระดับปานกลางที่เคยใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่จะหันมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนขนาดกลางลงมาที่มีค่าใช้จ่ายต่ำเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ประกอบกับโรงพยาบาลในกลุ่มนี้ สามารถปรับไปให้บริการกลุ่มคนไข้ในประเทศที่ได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพ เพื่อเป็นหลักประกันช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจได้ โดยเฉพาะโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและผู้ได้รับสิทธิจากโครงการประกันสังคมนั้นปัจจุบันมีสมาชิกรวมกันสูงถึงประมาณ 56.4 ล้านคน ดังนั้น โรงพยาบาลขนาดกลาง-เล็กจึงสามารถรองรับปัจจัยเสี่ยงด้านการเมืองและเศรษฐกิจได้คล่องตัว ซึ่งหากผู้ประกอบการมีการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ คนไข้กลุ่มนี้ถือเป็นรายได้หลักที่ช่วยประคองให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ โดยรายละเอียดของคนไข้ในกลุ่มนี้มีดังนี้

– ผู้ป่วยที่ได้รับสิทธิจากโครงการหลักสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) (ข้อมูลล่าสุด วันที่ 2 ธันวาคม 2551จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกประมาณ 47 ล้านคน ทั้งนี้ ภาครัฐมีการกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลแบบเหมาจ่ายในปี 2551 อยู่ที่ระดับ 2,100 บาทต่อคน สำหรับในปี 2552 ภาครัฐพิจารณาอัตราค่ารักษาพยาบาลแบบเหมาจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 2,202 บาทต่อคนหรือเพิ่มขึ้น102 บาทต่อคนคิดเป็นการเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.9 โดยปัจจุบันสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการมีประมาณ 216 แห่ง แยกเป็นโรงพยาบาลเอกชนประมาณ 50-60 แห่งที่เหลือเป็นสถานพยาบาลอื่นๆอาทิ คลินิกเอกชน โดยมีประชากรที่ขึ้นทะเบียนใช้บริการบัตรทองกับสถานพยาบาลเอกชนประมาณ 2.1 ล้านคน

-โครงการประกันสังคม ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกประมาณ 9.4 ล้านคน(ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม เดือนกันยายน 2551) ทั้งนี้สำนักงานประกันสังคมกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลแบบเหมาจ่ายอยู่ที่ 1,306 บาทต่อคนในปี 2551 สำหรับในปี 2552 อัตราเหมาจ่ายปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1,404 บาทต่อคนหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 98 บาทต่อคน ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 104 แห่ง และเป็นที่น่าสังเกตว่า ผลจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2552 มีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะประสบกับปัญหาการเลิกจ้างของภาคแรงงานมากขึ้น ซึ่งมีการประเมินว่าน่าจะสูงกว่า 1 ล้านคน แต่ปัจจัยดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิการทางด้านการรักษาพยาบาลของภาคแรงงานที่ถูกเลิกจ้างมากนัก เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมอนุญาตให้ผู้ที่ถูกเลิกจ้างที่ต้องการได้รับความคุ้มครองทางด้านการรักษาพยาบาลต่อเนื่อง สามารถจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนต่อไปได้ หรือหากไม่ประสงค์ที่จะส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมต่อก็สามารถลงทะเบียนไปใช้สิทธิบัตรทองต่อได้

โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ เป็นกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะต้องปรับตัวเพื่อรับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2552 ในระดับที่มากกว่าโรงพยาบาลขนาดกลาง-เล็ก ทั้งนี้ เนื่องจากกำลังซื้อที่ลดลงของคนไทย ทำให้คนไข้บางส่วนที่เคยใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ หันไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนขนาดกลาง หรือโรงพยาบาลของภาครัฐซึ่งให้บริการคลินิกพิเศษในช่วงหลังเวลาทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ โดยคิดค่าบริการในอัตราที่สูงกว่าผู้ป่วยทั่วไป แต่ต่ำกว่าค่ารักษาในโรงพยาบาลของเอกชน ทั้งนี้ ยิ่งโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่รายใดมีการพึ่งพาคนไข้ต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง ก็คาดว่า ผลกระทบที่จะได้รับก็ยิ่งมากกว่าโรงพยาบาลเอกชนทั่วไป ทั้งนี้คาดว่า โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ ซึ่งปกติจะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นทุกปีประมาณร้อยละ 5 ตามภาระต้นทุนดำเนินงานทั้งด้านค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ ค่าเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ และค่ายาที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่สำหรับในปี 2552 คาดว่าส่วนใหญ่จะพยายามตรึงราคาค่ารักษาพยาบาลไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้นเพื่อไม่ให้คนไข้รายเดิมและรายใหม่หันไปใช้บริการจากโรงพยาบาลคู่แข่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า โรงพยาบาลเอกชน เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเช่นเดียวกับธุรกิขภาคบริการอื่นๆอาทิ ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรม แต่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะมีความแตกต่างจากธุรกิจท่องเที่ยวทั่วไป เนื่องจากการท่องเที่ยวนั้นสามารถชะลอหรือยกเลิกได้ง่าย แต่หากเป็นโรคภัยไข้เจ็บในกรณีที่ต้องตรวจรักษาเร่งด่วนไม่สามารถชะลอออกไปได้ ซึ่งความจำเป็นของการเข้าใช้บริการโรงพยาบาลจึงมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่คนไข้สามารถเลือกไปรักษาที่อื่นๆที่มีข้อได้เปรียบทางด้านคุณภาพการรักษา ราคาค่าบริการ และประการสำคัญการบริการที่มีความสะดวกและปลอดภัย ดังนั้น หากภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งสามารถสลายความขัดแย้งทางการเมืองลงและสร้างความเชื่อมั่นทางด้านความปลอดภัยในชีวิตและการเดินทางให้กับคนไข้ชาวต่างชาติได้ ก็คาดว่า โรงพยาบาลเอกชนจะยังคงเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเพื่อประคองธุรกิจฝ่าวิกฤตในปี 2552 ไปให้ได้ ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

-การให้ความสนใจกับคนไข้ในประเทศเพิ่มขึ้น โรงพยาบาลเอกชน ก็เหมือนธุรกิจท่องเที่ยวที่ครั้งหนึ่งเคยเน้นให้บริการชาวต่างชาติ ซึ่งเมื่อเจอกับวิกฤติที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอาทิ วิกฤตโรคซาร์ วิกฤตสึนามิ ก็หันมาพึ่งกำลังซื้อจากคนในประเทศ เพื่อเสริมรายได้และประคองธุรกิจให้อยู่รอด สำหรับโรงพยาบาลเอกชนในกลุ่มที่เคยให้บริการคนไข้ชาวต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงก็ควรให้ความสนใจกับคนไข้ในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งก็มีหลายกลุ่มที่น่าสนใจอาทิ กลุ่มพนักงานบริษัทที่มีสวัสดิการด้านสุขภาพ รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่มีแนวโน้มหันมาให้ความสนใจทำประกันสุขภาพกันมากขึ้นในปี 2552 ทั้งนี้ เพื่อประกันความเสี่ยงและลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ซบเซา ดังนั้นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนควรมีการจัดกิจกรรมการตลาดต่างๆอาทิ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ การจัดแพ็กเกจรักษาในราคาประหยัด หรือแบบเหมาจ่าย อาทิ การตรวจสุขภาพประจำปีแบบมีส่วนลด การรักษาโรคที่ประชาชนใช้บริการมาก อาทิ โรคหัวใจ คลอดบุตร การรักษาข้อเข่าเสื่อม การตรวจรักษาความผิดปกติทางสายตา เป็นต้น

-การให้ความสนใจคนไข้กลุ่มองค์กรมากขึ้น ในช่วงที่คนไข้ในประเทศและคนไข้ชาวต่างชาติมีแนวโน้มปรับลดลงตามปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ถดถอย ลูกค้ากลุ่มองค์กรต่างๆที่ได้รับความคุ้มครองด้านสุขภาพ อาทิ กลุ่มพนักงานบริษัทและกลุ่มที่มีการทำประกันสุขภาพ นับเป็นกลุ่มที่ยังมีกำลังซื้อและช่วยให้โรงพยาบาลเอกชนมีหลักประกันทางด้านรายได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นโรงพยาบาลเอกชนควรพิจารณาตกลงทำสัญญากับบริษัทใหญ่ๆซึ่งมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล นอกจากนี้ ก็ควรจะมีการติดต่อกับบริษัทประกันสุขภาพทั้งในและต่างประเทศเพื่อเป็นเครือข่ายการรักษาพยาบาล ซึ่งการทำสัญญาการรักษาพยาบาลกับบริษัทควรจะมีส่วนลดให้เป็นพิเศษเพื่อสร้างแรงจูงใจในในการมาใช้บริการ

-การเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนควรใช้ช่วงเวลาที่จำนวนคนไข้มีแนวโน้มชะลอตัวลง ลงทุนปรับปรุงเครื่องมือทางการแพทย์ให้มีความทันสมัย รวมถึงการปรับปรุงอาคารสถานที่ต่างๆอาทิ อาคารจอดรถ อาคารผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน ซึ่งแต่เดิมไม่เพียงพอรองรับจำนวนคนไข้ที่เพิ่มมากขึ้นในอัตราที่สูงช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งการลงทุนในช่วงนี้จะมีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ อันเป็นผลจากปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง รวมทั้งต้นทุนวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างปรับลดลงตามปัจจัยด้านราคาน้ำมัน ซึ่งหากรอให้ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว ภาระต้นทุนการปรับปรุงโรงพยาบาลอาจเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันการปรับปรุงโรงพยาบาลในช่วงที่มีคนไข้เข้าใช้บริการมากอาจสร้างความไม่สะดวกให้กับคนไข้ที่มาใช้บริการได้ อาทิ อาคารที่จอดรถ อาคารผู้ป่วย เป็นต้น ดังนั้น เพื่อรองรับธุรกิจที่จะกลับมาฟื้นตัวภายหลังเศรษฐกิจและกำลังซื้อของคนไข้ปรับตัวดีขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะคนไข้ชาวต่างชาติที่ยังคงนิยมไว้วางใจใช้บริการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยเป็นอย่างมาก

-การเพิ่มและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ที่ผ่านมา ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญของธุรกิจโรงพยาบาลประการหนึ่งก็คือ จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีค่อนข้างจำกัดไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงพยาบาลเอกชนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนนอกจากจะมีการดึงบุคลากรทางการแพทย์จากภาครัฐแล้ว ยังมีการดึงจากโรงพยาบาลเอกชนด้วยกันเอง โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งปัจจัยดังกล่าว นับเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ในช่วงที่จำนวนคนไข้ในและต่างประเทศมีแนวโน้มปรับลดลง จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่โรงพยาบาลเอกชนจะได้พัฒนาแพทย์ในสังกัดเพื่อเพิ่มทักษะและความเชี่ยวชาญในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการแย่งบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำกัด รวมทั้งรองรับการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นภายหลังจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในอนาคต

-การหันไปลงทุนโรงพยาบาลในต่างประเทศ โรงพยาบาลเอกชนของไทยในรายที่มีความพร้อมทางด้านเงินทุนและบุคลากร ควรจะพิจารณาความเป็นไปได้ของการออกไปลงทุนธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นการไปตั้งโรงพยาบาลขึ้นใหม่ หรือไปรับจ้างบริหารธุรกิจโรงพยาบาล ทั้งนี้เพื่อให้บริการและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคนไข้ในต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองได้มาก โดยประเทศที่มีศักยภาพในการเข้าไปลงทุนโรงพยาบาลเอกชนควรเน้นประเทศที่ภาวะเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนมีการขยายตัวสูง ในขณะที่จำนวนโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานการรักษายังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ อาทิ ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ประเทศในตะวันออกกลาง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาร์เรน เป็นต้น

บทสรุป
กล่าวโดยสรุปแล้ว การที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะตกต่ำที่ลุกลามไปยังประเทศต่างๆ และเมื่อผนวกเข้ากับปัจจัยทางด้านความขัดแย้งการเมืองในประเทศของไทย ส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเริ่มมีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาทางด้านจำนวนคนไข้ที่ชะลอตัวลง ทั้งในส่วนของคนไข้ในประเทศรวมทั้งคนไข้ชาวต่างประเทศ ส่งผลให้การบริการจัดการธุรกิจทำได้ยากลำบากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัจจัยเสี่ยงจากจำนวนคนไข้ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จะเป็นเพียงปัญหาในระยะสั้น ทั้งนี้ หากวิกฤตเศรษฐกิจผ่านพ้นไปและกำลังซื้อของภาคประชาชนกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น จำนวนคนไข้ที่เข้าใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนจะกลับมาดีดังเดิม เนื่องจากโรงพยาบาลเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีจุดเด่นทางด้านความสะดวกสบายด้านการรักษาพยาบาล ยิ่งคนไข้ชาวต่างชาติด้วยแล้วจะให้ความเชื่อถือโรงพยาบาลเอกชนของไทยที่มีการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานสากล แต่มีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าหากเทียบกับโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องเร่งทำก็คือ การลดปัญหาความขัดแย้ง และสร้างเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศโดยเร็ว เพื่อสร้างความมั่นใจต่อคนไข้ชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ รวมทั้งป้องกันไม่ให้คู่แข่งขันซึ่งกำลังส่งเสริมธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของตนเอง อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย มาแย่งตลาดคนไข้ชาวต่างชาติไปได้