จีเอสพีอียูฉบับใหม่ : โอกาสท่ามกลางวิกฤติอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

สหภาพยุโรปหรือกลุ่มอียู 27*เป็นกลุ่มประเทศที่ไทยมีการทำการค้าร่วมกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่มีทั้งการส่งออกและนำเข้าอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจากตัวเลขในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2551 พบว่าสินค้าในหมวดรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบมีมูลค่าการส่งออกไปกลุ่มอียูสูงเป็นอันดับที่ 3 จากสินค้าที่ส่งออกไปยังอียูทั้งหมด ขณะที่รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบอยู่ในลำดับที่ 24 อย่างไรก็ตามเนื่องจากเศรษฐกิจโลกได้เข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งกลุ่มเศรษฐกิจหลักของโลกอย่างอียูก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น้อย ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรป (the European Commission) ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่าในปีนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มอียูจะขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับปี 2551 ที่คาดว่าจะมีการขยายตัวร้อยละ 1.4 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อการค้าในรายการสินค้าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปีหน้านี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่แม้สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้จะไม่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจนัก แต่อย่างน้อยอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปีหน้าก็ยังพอจะมีความหวังท่ามกลางวิกฤติอยู่บ้าง เมื่ออียูประกาศออกกฎระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี)ฉบับใหม่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อกลุ่มยานยนต์ไทย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงประโยชน์ที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะได้รับจากสิทธิดังกล่าว ดังรายละเอียดต่อไปนี้

สถานการณ์ปัจจุบันของการส่งออกสินค้าหมวดยานยนต์ของไทยไปกลุ่มอียู

จากการรายงานของกระทรวงพาณิชย์ถึงมูลค่าการส่งออกช่วง 11 เดือนของปี 2551 ไทยได้ส่งออกยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบไปยังอียูเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,824.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 รองลงมาจากอาเซียนและออสเตรเลีย และมีสัดส่วนถึงร้อยละ 9.9 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าในหมวดนี้ทั้งหมด ส่วนการนำเข้าปีเดียวกันพบว่ามีการนำเข้ายานพาหนะและ
อุปกรณ์การขนส่งจากกลุ่มอียูเป็นมูลค่าถึง 439.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งก็เป็นรองแค่เพียงญี่ปุ่นและอาเซียน โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 8.7 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในแง่ของประเภทสินค้าจะเห็นว่าแม้ไทยจะมีการทำการค้าร่วมกับกลุ่มอียูในทุกกลุ่มสินค้าหลัก แต่มีเพียงบางประเภทสินค้าเท่านั้นที่ไทยมีการส่งออกไปยังอียูในสัดส่วนที่สูง เช่น
รถแวนและปิกอัพ รวมถึงรถจักรยานยนต์ ซึ่งหากเทียบกับทุกประเทศที่ไทยส่งออกไปทั้งหมดจะพบว่าสินค้าทั้ง 2 ประเภทนี้ไทยส่งออกไปยังกลุ่มอียูนับเป็นมูลค่าสูงที่สุด โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์มีมูลค่าการส่งออกในปี 2551 ที่เพิ่มสูงขึ้นมากจากปีก่อน

ทว่าจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงโดยได้ทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนปี 2551 ซึ่งยุโรปก็เป็นภูมิภาคหนึ่งที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการนำเข้าสินค้าจากไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังจะเห็นได้จากสัญญาณจากอัตราการขยายตัวของสินค้าหมวดยานยนต์ช่วง 11 เดือนของปี 2551 ที่ส่วนใหญ่ต่างหดตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อน และจากที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ว่าในปี 2552 นี้ เศรษฐกิจในหลายภูมิภาคทั่วโลกรวมถึงยุโรปจะมีทิศทางที่ชะลอตัวลงกว่าปีก่อนหน้าซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกสินค้าหมวดยานยนต์ของไทยที่อาจชะลอลงต่อเนื่อง

จีเอสพีใหม่และประโยชน์ที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะได้รับ

แม้ในปี 2552 ไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาประเทศส่งออกอย่างกลุ่มอียูเข้าสู่ช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ตาม แต่การส่งออกสินค้าในกลุ่มยานยนต์ของไทยก็ยังพอมีความหวังท่ามกลางวิกฤติบ้างหลังจากที่ไทยได้รับคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ฉบับใหม่ของอียู ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 ถึง 31 ธันวาคม 2554 ให้กับสินค้าในกลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งที่เกี่ยวข้องในพิกัดศุลกากรตอนที่ 86-89 โดยเฉพาะในพิกัดศุลกากรตอนที่ 87 ซึ่งครอบคลุมรถปิกอัพ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถบรรทุกชนิดแวน รถจักรยานยนต์ และชิ้นส่วนต่างๆ เป็นต้น ที่เคยถูกตัดสิทธิไปในช่วงปี 2549 ถึง 2551 โดยผลที่จะได้ตามมา คือ โอกาสที่ไทยจะขยายตลาดส่งออกไปได้มากขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และอาจช่วยให้การชะลอตัวของการส่งออกไปยังกลุ่มอียูไม่ลุกลามไปมาก

ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าในหมวดยานยนต์ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการได้รับคืนสิทธิจีเอสพีฉบับใหม่นี้มากที่สุดน่าจะเป็นกลุ่มรถแวนและรถปิกอัพ รวมถึงรถจักรยานยนต์ เนื่องจากไทยมีการทำตลาดส่งออกสินค้าเหล่านี้จนเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในกลุ่มอียูแล้วโดยจะสังเกตได้จากสัดส่วนการส่งออกที่สูงเป็นอันดับหนึ่งเมื่อเทียบกับการส่งออกไปยังแหล่งอื่น ซึ่งจะช่วยให้การเข้าไปขยายตลาดเพิ่มเติมสามารถทำได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับการลดภาษีนำเข้าลงจากสิทธิจีเอสพีก็จะยิ่งทำให้สินค้านำเข้าจากไทยมีความได้เปรียบด้านราคามากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่างจีนที่กลุ่มสินค้าประเภทยานพาหนะยังคงถูกตัดสิทธิจีเอสพีของอียูอยู่

จากสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ฉบับใหม่ที่อียูประกาศออกมานั้น นอกจากสินค้าในกลุ่มรถยนต์และรถจักรยานยนต์จะได้รับประโยชน์จากการได้รับสิทธิลดภาษีศุลกากรลงแล้ว ในส่วนของอุปกรณ์และส่วนประกอบอื่นๆที่เกี่ยวข้องต่างก็ได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งนอกจากจะได้รับประโยชน์ทางตรงจากการลดภาษีซึ่งจะช่วยให้การขยายตลาดในส่วนของกลุ่มลูกค้าเดิมออกไปทำได้ง่ายขึ้นเนื่องจากราคาถูกลงแล้วยังได้ประโยชน์จากการที่รถยนต์และรถจักรยานยนต์สามารถขยายตลาดในกลุ่มอียูซึ่งจะเป็นโอกาสทางอ้อมในการหาลู่ทางขยายตลาดชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ไทยที่จะตามไปเปิดตลาดยังอียูได้มากขึ้นอีกด้วย

โดยสรุปการที่กลุ่มอียูได้คืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ฉบับใหม่ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นมา และจะไปสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2554 นี้นั้นคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายตลาดการส่งออกให้กับสินค้าในกลุ่มพิกัดศุลกากรตอนที่ 87 โดยเฉพาะรถปิกอัพ รถจักรยานยนต์ และชิ้นส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างมาก ดังนั้นในช่วงที่เศรษฐกิจหลักของโลกในหลายภูมิภาคกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งได้ส่งผลให้ตลาดส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเดิม เช่น ออสเตรเลีย ได้รับผลกระทบและทำให้ปริมาณการนำเข้าลดน้อยลง แนวทางหนึ่งนอกเหนือจากการขยายตลาดเข้าไปสู่ตลาดศักยภาพใหม่อย่างตะวันออกกลางและอินเดียอย่างที่หลายฝ่ายกำลังเร่งดำเนินการอยู่นั้น การขยายไปยังตลาดอียูอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งผ่านทางโอกาสจากการได้รับคืนจีเอสพีในครั้งใหม่นี้ ซึ่งจะทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้ากลุ่มยานยนต์ไปยังกลุ่มอียูที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบและอาจชะลอลงนั้นอาจได้รับผลกระทบน้อยลงกว่าที่คาดไว้เดิมได้ และเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นทิศทางดังกล่าวได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในปี 2010 อาจทำให้การส่งออกสินค้ากลุ่มยานยนต์ไปยังกลุ่มอียูนั้นขยายเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมที่เป็นอยู่ หากมีการพยายามใช้ประโยชน์จากการได้รับสิทธิจีเอสพีตั้งแต่ปี 2009 นี้

ดังนั้นเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากสิทธิดังกล่าวสูงสุด ผู้ประกอบการไทยจึงควรศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการส่งออกสำหรับกิจการของตนแล้วหันมาใช้สิทธิตามกรอบจีเอสพีให้มากขึ้น โดยภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการส่งออกของไทยรวมทั้งองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องควรเร่งบริหารเชิงรุกโดยเข้ามาให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และให้ความสะดวกแก่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีชิ้นส่วนยานยนต์ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อลดความบอบช้ำของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่อาจเกิดขึ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ให้น้อยลงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การดูแลและการบริหารการใช้สิทธิจีเอสพีของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ในภาพรวมให้อยู่ภายในขอบเขตเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เพื่อไม่ให้ถูกตัดสิทธิจีเอสพีในอนาคต ในกรณีเช่นหากอียูมีการนำเข้าจากไทย ภายใต้สิทธิพิเศษตามกรอบจีเอสพีสูงกว่าเพดานที่กำหนด หรือมีส่วนแบ่งตลาดสูงเกินข้อกำหนด ซึ่งมาตรการตัดสิทธิดังกล่าวจะใช้เมื่อมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มยานยนต์และอุปกรณ์การขนส่งที่เกี่ยวข้องในพิกัดศุลกากรที่ 86-89 มีสัดส่วนเกินร้อยละ 15 ของมูลค่าการนำเข้าที่สหภาพยุโรปนำเข้าจากประเทศผู้ได้รับสิทธิฯ ทั่วโลก ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี ดังนั้นทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือกันเพื่อหามาตรการดูแลโควต้าดังกล่าวไม่ให้เกินกว่าที่กำหนดเพื่อให้กลุ่มอุตสาหกรรมได้รับประโยชน์ในระยะยาว