สภาพคล่องในงบดุลของธนาคารพาณิชย์ไทย ธ.ค. 51 … ยังคงเพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า และสิ้นปี 2550 พร้อมทั้งประเมินปัจจัยที่คาดว่าจะมีอิทธิพลต่อแนวโน้มสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2552 ดังนี้

ข้อมูลล่าสุดในเดือนธันวาคม 2551 และทั้งปี 2551 … สภาพคล่องยังเพิ่มขึ้น

• สินทรัพย์สภาพคล่อง (รวมเงินสด เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินลงทุนสุทธิ) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 ปรับขึ้นจากสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2551 โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 สินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าว มีจำนวน 1.98 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.52 หมื่นล้านบาท จาก 1.91 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นในทุกองค์ประกอบหลัก นำโดยเงินสด ตามมาด้วยเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้นและเงินลงทุนสุทธิ ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สภาพคล่องในเดือนธันวาคม ยังเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนของยอดเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ไทยเป็นจำนวนถึง 1.40 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่ายอดเงินให้สินเชื่อสุทธิ (จากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) ที่เพิ่มขึ้น 8.85 หมื่นล้านบาท ถึงแม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม

การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สภาพคล่องเกิดขึ้นในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และขนาดเล็ก นำโดยการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สภาพคล่องของกลุ่มธนาคารขนาดเล็กจำนวน 5.00 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 2.70 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 ตามมาด้วยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 3.73 หมื่นล้านบาท มาที่ 1.19 ล้านล้านบาท ส่วนกลุ่มธนาคารขนาดกลางมีสภาพคล่องลดลง 1.22 หมื่นล้านบาท มาที่ 5.23 แสนล้านบาท

เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2550 สินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง เพิ่มขึ้น 1.87 แสนล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธนาคาร นำโดยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่เพิ่มขึ้นจำนวน 1.33 แสนล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้นจำนวน 4.28 หมื่นล้านบาท และ 1.14 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ

ทั้งนี้ จากข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในเดือนธันวาคม 2551 และทั้งปี 2551 ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวแล้วนั้น จะเห็นว่า เป็นการรวบรวมข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องที่มาจากการบันทึกรายการทางบัญชีของธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งต่างไปจากปริมาณเงินที่หมุนเวียนอยู่ในมือของธุรกิจและภาคเอกชนที่กำลังถูกกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในยามที่สถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินยังคงไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติเช่นปัจจุบัน โดยภาคธุรกิจเอกชนอาจมีแนวโน้มกำลังประสบกับปัญหาสภาพคล่องที่ตึงตัวขึ้น อันเนื่องมาจากการชะลอลงของความต้องการสินเชื่อเพื่อขยายธุรกิจ รวมถึงการเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินท่ามกลางความเสี่ยงด้านเครดิตที่ยังมีระดับสูง

แนวโน้มสภาพคล่องในปี 2552…น่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

สำหรับแนวโน้มสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2552 นั้น คาดว่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากในปี 2551 สืบเนื่องจากสาเหตุหลายประการ ดังนี้

 แนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายน่าจะหนุนสภาพคล่องในระบบการเงินไทย ตามทฤษฎีแล้ว ฐานะดุลบัญชีเดินสะพัด (ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของรายได้หลักของประเทศที่มาจากการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ) จะสะท้อนช่องว่างระหว่างการออมกับการลงทุน ซึ่งหมายความถึงสภาพคล่องในระดับประเทศ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงในฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดดังกล่าว จึงย่อมจะเป็นตัวแปรสำคัญที่มีอิทธิพลต่อทิศทางของสภาพคล่องของระบบการเงินไทย สำหรับในปี 2552 นั้น แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกจะเติบโตชะลอลงจากการขยายตัวประมาณร้อยละ 17.2 ในปี 2551 มาเป็นการหดตัวระหว่างร้อยละ 3-7 ตามการชะลอตัวในวงกว้างของเศรษฐกิจทั่วโลก แต่การนำเข้าที่คาดหมายว่าจะลดลงแรงกว่า โดยอาจจะหดตัวสูงถึงร้อยละ 6-10 จากการขยายตัวประมาณร้อยละ 27.7 ในปี 2551 จากการชะลอตัวของการบริโภคและลงทุนในประเทศ ราคาน้ำมันที่น่าจะขยับลดลง ตลอดจนความต้องการวัตถุดิบและสินค้าทุนที่ชะลอลงตามการส่งออกนั้น คงจะทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดคงจะมีฐานะที่เกินดุลในปี 2552 ซึ่งน่าจะช่วยหนุนสภาพคล่องของระบบการเงินไทยในปีนี้

นอกจากนี้ หากพิจารณาให้ครอบคลุมไปถึงดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ ก็คาดว่าน่าจะยังมีโอกาสที่จะเกินดุลต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะเป็นอีกตัวแปรที่หนุนสภาพคล่องในระบบการเงินไทย แม้ว่าการเกินดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิดังกล่าว มีโอกาสที่จะเกินดุลในระดับที่ลดลงจากปีก่อนก็ตาม โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ที่ผ่านมา ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิเกินดุลจำนวน 1.07 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุจากรายการเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิ และการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ภาคธนาคารเป็นหลัก ขณะที่ การลงทุนในตราสารทุนติดลบ สอดคล้องกับภาวะซบเซาของดัชนีตลาดหุ้นไทยและการเทขายของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ขณะที่สำหรับในปี 2552 นี้ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอาจชะลอลง ตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความวิตกต่อเสถียรภาพทางการเมืองของไทย หลังจากที่ปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมาได้สร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ นอกจากนี้ การนำสินทรัพย์ภาคธนาคารกลับเข้าประเทศ (ท่ามกลางความวิตกต่อความเสี่ยงในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มผลตอบแทนที่ลดลง) น่าที่จะบรรเทาลง หลังจากที่ได้นำกลับมามากแล้วในปีที่ผ่านมา

เงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น การลงทุนในหลายตลาดจึงอาจต้องประสบกับความผันผวน ขาดทิศทางที่ชัดเจน และเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น อาทิ ตลาดหุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ และการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งทำให้การลงทุนในตลาดดังกล่าวทั้งโดยตรงและผ่านทางกองทุนรวมลดความน่าดึงดูดลง ขณะเดียวกัน ยังคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนในกองทุนรวมพันธบัตรเกาหลีใต้บางส่วนในยอดการลงทุนรวมที่สูงกว่าสองแสนล้านบาท ทยอยไหลกลับเข้าสู่ธนาคารพาณิชย์ด้วย ในทางตรงกันข้าม แม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลงแล้วสองรอบ และยังมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในอนาคต ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่การฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ก็ยังถือว่ามีความปลอดภัยกว่าโดยเปรียบเทียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถาบันคุ้มครองเงินฝากต่ออายุการคุ้มครองเงินฝากแบบเต็มจำนวนต่อไปจนถึงปี 2554 ดังนั้น การออมเงินด้วยการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ จึงน่าจะยังได้รับความนิยมอยู่ภายใต้เงื่อนไขเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อนขึ้น อันน่าจะทำให้สภาพคล่องทั้งที่อยู่ในช่องทางการลงทุนอื่นๆ และสภาพคล่องใหม่ที่จะมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น โยกย้ายเข้ามาเป็นสภาพคล่องในรูปเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่มเติมในระหว่างปี 2552 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า เงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะขยายตัวต่อเนื่องในกรอบประมาณร้อยละ 3-6 ในปี 2552 แม้อาจชะลอลงจากร้อยละ 9.9 ณ สิ้นปี 2551 ตามความจำเป็นในการเร่งระดมทุนเพื่อขยายสินเชือที่ผ่อนคลายลง

การระบายสภาพคล่องผ่านการขยายสินเชื่อน่าจะชะลอตัวลง การชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้นในปี 2552 คาดว่าจะบั่นทอนความต้องการสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ ก็คงจะเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพื่อป้องกันโอกาสเกิดหนี้เสีย ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว คงจะสะท้อนออกมาในรูปของการชะลอตัวของการขยายสินเชื่อโดยธนาคารพาณิชย์ไทย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณว่าการขยายสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2552 ดังกล่าวอาจชะลอลงมาเหลือเพียงร้อยละ 4-6 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 11.73 ณ สิ้นปี 2551 ซึ่งชี้ว่าการระบายสภาพคล่องอาจกระทำได้ช้าลงกว่าเดิม

ในภาพรวมแล้ว สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2552 จึงน่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยในกรณีที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงชัดเจน จนมีผลให้การขยายสินเชื่อเอนเอียงไปทางกรอบล่างของประมาณการ ซึ่งเท่ากับว่ากลไกการระบายสภาพคล่องผ่านช่องทางสินเชื่อ กระทำได้ช้าลง ขณะที่ เงินฝากกลับเพิ่มขึ้นเข้าหากรอบบนของประมาณการ เนื่องจากภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ อาจมีผลให้การฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ยังคงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย เมื่อเทียบกับทางเลือกในการลงทุนอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความสามารถที่จะดึงดูดเม็ดเงินสภาพคล่องทั้งจากการลงทุนรูปอื่นๆ ในตลาดเงิน-ตลาดทุน และสภาพคล่องใหม่จากต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนผ่านโอกาสการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายในปี 2552 นี้ ผลที่ตามมาคือ ปริมาณสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท (ประเมินเบื้องต้นจากผลต่างของขนาดการเปลี่ยนแปลงของสินเชื่อและเงินฝาก) อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ก็อาจทำให้การขยายสินเชื่อโน้มเข้าหากรอบบนของประมาณการ ซึ่งน่าจะส่งผลให้ปริมาณสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่มขึ้นในขนาดที่น้อยกว่ากรณีแรก หรือคงระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงสิ้นปี 2551 ได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังต้องจับตาและอาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพคล่องในระยะข้างหน้า นอกจากการเข้ามาดูแลและจัดการกับสภาพคล่องในระบบ เพื่อให้กลไกการส่งผ่านของนโยบายการเงินเกิดประสิทธิผลสูงสุดของทางการแล้ว ก็ยังคงมีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ ฐานะการคลังและการก่อหนี้ของรัฐบาล ตลอดจนการบริหารจัดการเงินกู้ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ โดยการดำเนินมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลายชุด อาจทำให้รัฐบาลจำต้องบันทึกยอดขาดดุลการคลังที่สูงกว่าที่เดิมเคยประเมินไว้ และอาจต้องมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน การบริหารจัดการหนี้ของหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ รวมถึงรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะในส่วนของหนี้ต่างประเทศ (ซึ่งตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2552 ณ 21 พ.ย. 51 การบริหารหนี้ต่างประเทศถูกวางกรอบไว้เป็นจำนวน 9.7 หมื่นล้านบาท) ก็อาจประสบกับความยากลำบากหรือมีต้นทุนในการระดมทุนสูงขึ้น จากการที่อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียอาจมีแนวโน้มจะถูกทบทวนไปในเชิงที่เป็นลบมากขึ้นโดยสถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำต่างๆ ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยสกุลเงินต่างประเทศจะมีทิศทางที่ปรับตัวลงมาอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม ทำให้หน่วยงานเหล่านั้นอาจจำเป็นต้องหันมาพึ่งพาแหล่งเงินทุนในประเทศเป็นการทดแทน ทั้งนี้ ความต้องการเงินเพื่อใช้จ่ายของรัฐบาล และเพื่อการบริหารจัดการเงินกู้ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจดังกล่าว ในท้ายที่สุดแล้วอาจมีผลต่อปริมาณสภาพคล่องเงินบาทในประเทศและสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้