อุตสาหกรรมการบินปี 52 … ชะลอตัวต่อเนื่อง

ในปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกต้องเผชิญวิกฤตอย่างหนักจากปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งได้ส่งผลให้สายการบินต้องปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมัน (Fuel Surcharge) อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยผลที่ตามมาทำให้ราคาตั๋วโดยสารปรับสูงขึ้นตามไปด้วย จำนวนผู้โดยสารจึงมีทิศทางปรับลดลงมาโดยตลอด สถานการณ์ได้รุนแรงถึงขั้นมีหลายสายการบินต้องปิดตัวลงไปหรือเกิดการควบรวมกิจการ สำหรับอุตสาหกรรมการบินของไทยนอกจากต้องเผชิญปัญหาดังกล่าวแล้ว ยังมีปัจจัยกดดันจากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่ปัญหาลุกลามไปจนถึงขั้นมีการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง ซึ่งถือเป็นประตูสำคัญในการต้อนรับนักท่องเที่ยวและยังเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการคมนาคม ยิ่งซ้ำเติมปัญหาแก่อุตสาหกรรมการบินให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากผลประกอบการของหลายสายการบินที่ไม่ค่อยสดใสและมีโอกาสที่อุตสาหกรรมการบินจะยังคงต้องเผชิญวิกฤตอย่างต่อเนื่อง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมการบินในปี 2552 มีสาระสำคัญดังนี้

แนวโน้มอุตสาหกรรมการบินปี 52 … กระทบหนักจากเศรษฐกิจโลกและปัญหาความเชื่อมั่น

ทิศทางของอุตสาหกรรมการบินในปีที่ผ่านมาต้องตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก สายการบินต้องเผชิญภาวะจำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างมาก โดยจำนวนผู้โดยสารทางอากาศในปี 2551 มีประมาณ 54.4 ล้านคน หดตัวประมาณร้อยละ 4.8 ลดลงอย่างมากจากปีก่อนที่มีจำนวนผู้โดยสารทางอากาศประมาณ 57.2 ล้านคน ขยายตัวประมาณร้อยละ 7.8 โดยสามารถแบ่งออกเป็นจำนวนผู้โดยสารภายในประเทศมีประมาณ 20 ล้านคน หดตัวประมาณร้อยละ 5.6 และจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศมีประมาณ 34.4 ล้านคน หดตัวประมาณร้อยละ 4.3 ขณะที่ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศก็มีทิศทางลดลงเช่นกัน โดยมีปริมาณ 1.29 ล้านตัน หดตัวประมาณร้อยละ 4 ลดลงจากปีก่อนที่มีปริมาณ 1.34 ล้านตัน ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.8 โดยสาเหตุการลดลงของจำนวนผู้โดยสารและปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศมีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ โดยประการแรกมาจากต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยราคาน้ำมันเครื่องบิน (Jet Fuel) ได้ทำสถิติแตะระดับสูงสุดที่ 180 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้สายการบินไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนดังกล่าวได้ จึงต้องทำการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมัน ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ราคาตั๋วโดยสารและค่าบริการขนส่งเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงครึ่งหลังของปีราคาน้ำมันมีทิศทางปรับลดลงมาอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการบินมากนัก เนื่องจากหลายสายการบินได้ทำการประกันความเสี่ยงน้ำมันล่วงหน้าเอาไว้ (Hedging) ทำให้ยิ่งประสบปัญหาขาดทุนจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่ลดลง สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งเป็นผลมาจากความวุ่นวายทางการเมืองที่ได้ส่งผลต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ต้องเผชิญวิกฤตอย่างหนัก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2551 คาดว่าจะหดตัวประมาณร้อยละ 3.2 ลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 4.8 ในช่วงปลายปีที่เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงได้ลุกลามไปจนถึงขั้นต้องมีการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวและการคมนาคมขนส่งของไทย ดังจะเห็นได้ว่า จำนวนผู้โดยสารทางอากาศในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2551 หดตัวสูงถึงประมาณร้อยละ 27.3 และ 36.0 สะท้อนภาพความไม่มั่นใจของผู้โดยสาร

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมการบินในปี 2552 คาดว่า จะยังคงต้องเผชิญวิกฤตอย่างหนัก โดยเฉพาะปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่จะทำให้ปริมาณการเดินทางทางอากาศยังคงลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน โดย IATA (International Air Transport Association) คาดว่าปริมาณการจราจรทางอากาศทั่วโลกจะหดตัวจากปีก่อนประมาณร้อยละ 3.6 ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะหดตัวประมาณร้อยละ 2.5 สำหรับในประเทศไทยก็คาดว่าจะมีทิศทางลดลงเช่นกัน นอกจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เป็นปัจจัยกดดันจากภายนอกประเทศแล้ว อุตสาหกรรมการบินของไทยยังคงต้องเผชิญปัญหาจากความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งส่งผลสำคัญต่อบรรยากาศในการท่องเที่ยวและการลงทุนของประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นสัดส่วนหลักและมีผลต่อจำนวนผู้โดยสารทางอากาศของไทย โดยหลังการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลมายังชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สถานการณ์การเมืองของไทยก็มีบรรยากาศที่สดใสมากขึ้น รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและนักท่องเที่ยวในหลายมาตรการ ซึ่งหากสถานการณ์ทางการเมืองของไทยมีเสถียรภาพและไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงดังเช่นในปีที่ผ่านมา รวมทั้งรัฐบาลสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้กลับมาลงทุนและท่องเที่ยวในไทยได้ ก็อาจช่วยพยุงภาวะของอุตสาหกรรมการบินได้ในระดับหนึ่ง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าอุตสาหกรรมการบินในปี 2552 อาจยังคงต้องเผชิญภาวะจำนวนผู้โดยสารลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 49-52 ล้านคน หดตัวประมาณร้อยละ 5-10 เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนที่หดตัวประมาณร้อยละ 4.8 โดยปัจจัยสำคัญที่จะกดดันการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินคือภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้ผู้โดยสารทั้งไทยและต่างประเทศอาจปรับลดการเดินทางท่องเที่ยวลงหรือเลือกเดินทางในรูปแบบที่ประหยัดกว่าการเดินทางโดยเครื่องบิน อีกทั้งผู้โดยสารต่างประเทศบางส่วนก็อาจยังไม่มีความมั่นใจในสถานการณ์ทางการเมืองของไทยว่าจะเกิดเหตุการณ์วุ่นวายจนลุกลามไปถึงขั้นปิดท่าอากาศยานอีกหรือไม่ แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่แล้วก็ตาม ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องเรียกความมั่นใจกลับคืนมา โดยกรอบบนของประมาณการอยู่ในเงื่อนไขที่มาตรการของรัฐบาลสามารถฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะช่วงฤดูการท่องเที่ยวในครึ่งปีแรก ขณะที่กรอบล่างของประมาณการเป็นกรณีที่มาตรการของภาครัฐช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวได้ไม่มากนักและภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ จำนวนผู้โดยสารที่ลดลงอย่างมากนี้อาจส่งผลให้สายการบินต้องประสบภาวะขาดทุนหรือกำไรลดต่ำลงต่อเนื่องจากปีก่อน ทั้งสายการบินแบบปกติและสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก โดย IATA ประเมินว่าในปี 2552 อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจะขาดทุนถึงประมาณ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ก็เป็นการขาดทุนลดลงจากปีก่อนที่ขาดทุนประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากต้นทุนน้ำมันได้ปรับลดลงอย่างมาก

สำหรับภาวะการแข่งขันในตลาดปีนี้คาดว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันกันปรับลดราคาเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากจำนวนผู้โดยสารที่มีแนวโน้มลดลง สอดคล้องกับภาวะที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลงซึ่งอำนวยให้สายการบินมีความสามารถในการปรับลดราคาตั๋วโดยสารลงได้ ขณะที่พฤติกรรมของผู้โดยสารก็คาดว่าจะให้ความสำคัญกับราคาตั๋วโดยสารมากขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง โดยภาคธุรกิจหรือองค์กรต่างๆ จะหันมาปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง ส่วนนักท่องเที่ยวก็มีแนวโน้มที่จะปรับลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางลงเช่นกัน จากภาวะดังกล่าวคาดว่าจะเป็นโอกาสสำคัญแก่สายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airlines) เนื่องจากสามารถปรับลดราคาลงได้ต่ำกว่าสายการบินปกติ จึงทำให้อาจมีการย้ายส่วนแบ่งตลาดบางส่วนจากสายการบินปกติมาสู่สายการบินต้นทุนต่ำได้ โดยเฉพาะผู้โดยสารที่มีความอ่อนไหวกับราคาค่อนข้างสูง สำหรับตลาดบน (Premium Class) คาดว่าการแข่งขันด้านบริการของแต่ละสายการบินจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกค้าที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว โดยจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญทั้งบริการภายในและภายนอกเครื่องบิน โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างสายการบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น โรงแรม บริการท่องเที่ยว บริการสุขภาพ เป็นต้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการที่สายการบินจะสามารถฝ่าฟันวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านราคาหรือบริการเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย อาทิ

สถานะทางการเงิน ซึ่งครอบคลุมถึงขนาดของกิจการ โอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ความสามารถในการชำระหนี้ ศักยภาพในการลงทุน ความสามารถในการแบกรับภาวะขาดทุน และอื่นๆ

เส้นทางการบิน โดยหากมีเส้นทางการบินไปยังตลาดที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเช่นนี้ก็อาจยังมีโอกาสในธุรกิจอยู่ แต่หากเส้นทางการบินอยู่ในตลาดที่ไม่มีกำลังซื้อ แม้จะปรับลดราคาตั๋วโดยสารให้ต่ำลงก็ยากที่จะรักษาจำนวนผู้โดยสารเอาไว้ได้

ประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุน โดยสายการบินต้องพยายามลดต้นทุนให้ต่ำลงขณะเดียวกันก็ต้องสามารถรักษามาตรฐานการให้บริการไว้ได้

ชื่อเสียงและการยอมรับ (Brand Royalty) โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัย คุณภาพในการให้บริการ ตลอดจนมาตรฐานในการรักษาเวลาในการเดินทาง

รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ อีกมาก นอกจากนี้ คาดว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นจะทำให้สายการบินเร่งดำเนินการปรับตัวในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารภายในที่อาจจะมีการปรับลดพนักงานเพื่อลดต้นทุน การปรับเปลี่ยนเส้นทางการบินและจำนวนเที่ยวบินให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น โดยอาจมีการเพิ่มเส้นทางบินตรงไปยังเมืองธุรกิจและท่องเที่ยวที่สำคัญมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งอาจยกเลิกเส้นทางที่ไม่ทำกำไร การบริหารต้นทุนน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างสายการบินต่างๆ เพื่อช่วยขยายตลาดและเส้นทางการบินให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากภาครัฐ … ยังเป็นเพียงผลทางอ้อม

หลังจากล่าสุดรัฐบาลได้มีการออกมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวออกมาหลายชุด ได้แก่
 การลดค่าธรรมเนียมการขึ้นลง (Landing Fee) และค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยาน (Parking Fee) โดยท่าอากาศยานของกรมการขนส่งทางอากาศปรับลดลงร้อยละ 50 ทั้งเที่ยวบินแบบประจำและแบบเช่าเหมาลำ ส่วนท่าอากาศยานของ บมจ. ท่าอากาศยานไทย ปรับลดลงร้อยละ 20 สำหรับเที่ยวบินประจำ และร้อยละ 50 สำหรับเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ
 การยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นเวลา 3 เดือน
 การลดค่าธรรมเนียมการเข้าชมอุทยานแห่งชาติร้อยละ 50 เป็นเวลา 3 เดือน
 การชะลอเก็บค่าธรรมเนียมเข้าพักห้องละ 80 บาท
 การลดค่าประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมมาเป็น 1.25 เท่าของเดือน
 การอนุญาตให้บริษัทเอกชนสามารถนำค่าห้องพักและห้องสัมมนาภายในประเทศมาหักลดภาษีได้ 2 เท่าของรายจ่ายจริง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ามาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของรัฐบาลเป็นมาตรการที่จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการบิน แต่อาจเป็นเพียงผลทางอ้อม โดยอาจช่วยเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเดินทางมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการลดค่าธรรมเนียมขึ้นลงและที่เก็บอากาศยานอาจทำให้สายการบินมีต้นทุนดำเนินการต่ำลง ซึ่งจะช่วยให้สายการบินมีความสามารถที่จะปรับลดราคาตั๋วโดยสารลงได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการคือการสร้างความเชื่อมั่นและทำการตลาดด้านการท่องเที่ยวให้มากขึ้น โดยในส่วนของการสร้างความเชื่อมั่นนั้นรัฐบาลต้องเสริมสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในกลับมาคึกคักอีกครั้ง ขณะที่การทำตลาดด้านการท่องเที่ยวรัฐบาลอาจใช้การเดินสายโรดโชว์ควบคู่กับทำการตลาดในประเทศที่เป็นเป้าหมายสำคัญและยังมีกำลังซื้ออยู่ รวมทั้งออกแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เช่น แคมเปญไทยเที่ยวไทย การจัดอีเวนท์ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว การดึงงานประชุมสัมมนาระดับโลกให้เข้ามาจัดในไทย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกลุ่ม MICE (Meeting Incentive Convention and Exhibition) ที่เป็นกลุ่มที่คาดว่ายังมีกำลังซื้ออยู่ เป็นต้น โดยการทำการตลาดนี้จะต้องดำเนินการบนพื้นฐานของความมีประสิทธิภาพและมีเป้าหมายชัดเจน ท่ามกลางภาวะที่งบประมาณของรัฐบาลมีจำกัด นอกจากนี้ แนวทางที่จะกำหนดให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานเดี่ยว (Single Airport) ก็ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ บนพื้นฐานของผลประโยชน์สูงสุดของประเทศและเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ซึ่งหากรัฐบาลเลือกแนวทางดังกล่าวก็ควรเร่งดำเนินการขยายการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในระยะที่ 2 ควบคู่กันไปด้วย เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารให้เพิ่มขึ้นทันกับการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารในอนาคต โดยจะต้องพิจารณาความเหมาะสมของการลงทุนเพื่อไม่ให้เป็นภาระทางด้านการคลังของรัฐบาลในระยะยาวด้วย อีกทั้งรัฐบาลควรกำหนดแผนแม่บทระยะยาว (Master Plan) ในการวางบทบาทและยุทธศาสตร์ท่า

สรุปและข้อคิดเห็น

ในปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกต้องเผชิญวิกฤตอย่างหนัก รวมทั้งอุตสาหกรรมการบินของไทยด้วย โดยจำนวนผู้โดยสารทางอากาศในปี 2551 มีประมาณ 54.4 ล้านคน หดตัวประมาณร้อยละ 4.8 ลดลงอย่างมากจากปีก่อนที่มีจำนวนผู้โดยสารทางอากาศประมาณ 57.2 ล้านคน ขยายตัวประมาณร้อยละ 7.8 โดยสาเหตุการลดลงมาจากต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น แม้ในช่วงครึ่งหลังของปีราคาน้ำมันมีทิศทางลดลง แต่หลายสายการบินได้ทำการประกันความเสี่ยงน้ำมันล่วงหน้าเอาไว้ ทำให้ยิ่งประสบปัญหาขาดทุนจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่ลดลง รวมทั้งปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองก็ได้ส่งผลต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ โดยในช่วงปลายปีที่เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงได้ลุกลามไปจนถึงขั้นต้องมีการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวและการคมนาคมขนส่งของไทย

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมการบินในปี 2552 คาดว่าจะยังคงต้องเผชิญวิกฤตอย่างหนัก โดยเฉพาะปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่จะทำให้ปริมาณการเดินทางทางอากาศยังคงลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน นอกจากนี้ปัญหาจากความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลสำคัญต่อบรรยากาศในการท่องเที่ยวและการลงทุนของประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นสัดส่วนหลักและมีผลต่อจำนวนผู้โดยสารทางอากาศของไทย โดยหลังการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลมายังชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สถานการณ์การเมืองของไทยก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งหากสถานการณ์ทางการเมืองของไทยมีเสถียรภาพและไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงดังเช่นในปีที่ผ่านมา รวมทั้งรัฐบาลสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้กลับมาลงทุนและท่องเที่ยวในไทยได้ ก็อาจช่วยพยุงภาวะของอุตสาหกรรมการบินได้ในระดับหนึ่ง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจำนวนผู้โดยสารในปี 2552 จะมีประมาณ 49-52 ล้านคน หดตัวประมาณร้อยละ 5-10 เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนที่หดตัวประมาณร้อยละ 4.8 โดยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวยังเป็นปัจจัยกดดันสำคัญ

สำหรับภาวะการแข่งขันในตลาดปีนี้คาดว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันกันปรับลดราคาเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากจำนวนผู้โดยสารที่มีแนวโน้มลดลง ขณะที่พฤติกรรมของผู้โดยสารก็คาดว่าจะให้ความสำคัญกับราคาตั๋วโดยสารมากขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้อาจเป็นโอกาสสำคัญของสายการบินต้นทุนต่ำ สำหรับตลาดบนคาดว่าการแข่งขันด้านบริการของแต่ละสายการบินจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกค้าที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการที่สายการบินจะสามารถฝันฝ่าวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ไปได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านราคาหรือบริการเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย อาทิ สถานะทางการเงิน เส้นทางการบิน ประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุน ชื่อเสียงและการยอมรับ และอื่นๆ

สำหรับมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวล่าสุดของรัฐบาล ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าเป็นมาตรการที่จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการบิน แต่อาจเป็นเพียงผลทางอ้อม โดยอาจช่วยเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเดินทางมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการคือการสร้างความเชื่อมั่นและทำการตลาดด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยรัฐบาลอาจใช้การเดินสายโรดโชว์ควบคู่กับทำการตลาดในประเทศที่เป็นเป้าหมายสำคัญและยังมีกำลังซื้ออยู่ รวมทั้งออกแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เช่น แคมเปญไทยเที่ยวไทย การจัดอีเวนท์ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว การดึงงานประชุมสัมมนาระดับโลกให้เข้ามาจัดในไทย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกลุ่ม MICE ซึ่งเป็นกลุ่มที่คาดว่าจะยังมีกำลังซื้ออยู่ เป็นต้น โดยการทำการตลาดนี้จะต้องเร่งดำเนินการบนพื้นฐานของความมีประสิทธิภาพและมีเป้าหมายชัดเจน ท่ามกลางภาวะที่งบประมาณของรัฐบาลมีจำกัด นอกจากนี้ แนวทางที่จะกำหนดให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานเดี่ยวก็ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ บนพื้นฐานของผลประโยชน์สูงสุดของประเทศและเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ซึ่งหากรัฐบาลเลือกแนวทางดังกล่าวก็ควรเร่งดำเนินการขยายการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในระยะที่ 2 ควบคู่กันไปด้วย เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารให้เพิ่มขึ้นทันกับการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารในอนาคต โดยจะต้องพิจารณาความเหมาะสมของการลงทุนเพื่อไม่ให้เป็นภาระทางด้านการคลังของรัฐบาลในระยะยาว