บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศเตือนลูกค้าและคู่ค้าของไมโครซอฟท์ ให้ระมัดระวังในการซื้อผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ หลังจากได้รับรายงานว่า มีผู้ค้าบางรายในศูนย์การค้าไอทีในกรุงเทพฯ เสนอขายซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการวินโดวส์เอ็กซ์พีละเมิดลิขสิทธิ์แก่ลูกค้า
ซอฟต์แวร์ของระบบปฏิบัติการวินโดวส์เอ็กซ์พีละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว จะถูกนำมาจำหน่ายให้แก่ลูกค้าโดยผู้จำหน่ายจะแจ้งกับลูกค้าว่าเป็นซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ เนื่องจากการจำแนกซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์และซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากกันทำได้ค่อนข้างยากลำบาก อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากลักษณะภายนอกที่มีบางส่วนคล้ายคลึงกันแล้ว การบรรจุหีบห่อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ยังไม่ได้มาตรฐานนัก โดยจะบรรจุอยู่ในห่อพลาสติกย่นแทนที่จะเป็นกล่องบรรจุเฉพาะของไมโครซอฟท์ นอกจากนี้ ยังสามารถสังเกตซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ได้จากฉลาก COA สำหรับวินโดวส์รุ่นเก่า
ในความเป็นจริงแล้ว ลูกค้าสามารถป้องกันตนเองจากซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ได้ หากผู้ซื้อมีความรู้และรู้จักการสังเกตผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อ สิ่งที่ผู้ซื้อสามารถสังเกตได้ว่าซอฟต์แวร์นั้นเป็นซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ คือ คุณภาพของหีบห่อที่บรรจุ การสะกดตัวอักษรผิดในฉลากและคู่มือการใช้ คุณภาพของซีดี คุณภาพของโฮโลแกรม คุณภาพของฉลาก COA วินโดวส์ และ คุณภาพของไมโครปรินท์ และเทคโนโลยีการบรรจุหีบห่อ
ผู้กระทำความผิดจำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 50,000 ถึง 400,000 บาท
นางสาวปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อรายงานจำนวนการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในประเทศไทยว่า “ไมโครซอฟท์ไม่ได้เพียงแต่สนใจเฉพาะผลเสียที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้บริโภคด้วย ซอฟต์แวร์ปลอมมีผลทำให้คอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งานได้รับความเสี่ยงจากการติดไวรัส เวิร์ม รวมทั้งโค้ดต่างๆ อาทิ สปายแวร์และโทรจันเพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคย่อมคาดหวังที่จะได้ใช้งานซอฟต์แวร์แท้ที่มีคุณภาพ แต่ซอฟต์แวร์ปลอมหรือซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มักจะบรรจุโค้ด หรือ มัลแวร์ต่างๆซึ่งมีผลเสียต่อเครื่องคอมพิวเตอร์และทำให้ไม่สามารถใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ไมโครซอฟท์จะยังคงทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะให้ความรู้แก่ผู้ใช้งานชาวไทยในการเรียนรู้ที่จะปกป้องตัวพวกเขาเอง ความพยายามต่างๆของไมโครซอฟท์ ยังรวมไปถึง การให้ความรู้และการจัดการสัมมนาเกี่ยวกับความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา และ โปรแกรมต่างๆ อาทิ โปรแกรม Software Asset Management (SAM) Windows Genuine Advantage (WGA) และ Microsoft Software Inventory Analyzer (MSIA)”
เครื่องคอมพิวเตอร์พีซีจำนวนมากกว่าหนึ่งในสามได้บรรจุซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือ ซอฟต์แวร์ที่มีการปลอมแปลงเอาไว้ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อวงการธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยในปี 2550 มีความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกคิดเป็นมูลค่าเกือบห้าแสนล้านดอลล่าร์ นวัตกรรมต่างๆ ซึ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้เปิดโอกาสให้อาชญากรรมรวมตัวกันเพื่อผลิตและจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์เถื่อน โดยเป็นที่แน่ชัดว่าการละเมิดลิขสิทธิ์และการปลอมแปลงซอฟต์แวร์ได้กลายมาเป็นปัญหาสำคัญที่คุกคามต่อทรัพย์สินทางปัญญาและการพัฒนานวัตกรรม ไมโครซอฟท์มุ่งมั่นในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้จัดจำหน่ายซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์ซึ่งได้รับความเสียหายทางธุรกิจ รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในการได้รับผลิตภัณฑ์ไมโครซอฟท์ซึ่งถูกลิขสิทธิ์และเป็นของแท้
ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดคำแนะนำในการสังเกตซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ได้ที่ www.microsoft.com/thailand/genuine นอกจากนี้ ผู้ใช้งานที่สงสัยว่าตนเองได้รับซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ สามารถแจ้งมาที่ศูนย์บริการลูกค้าที่เบอร์ 02-263-6888
ข้อมูลเกี่ยวกับไมโครซอฟท์
บริษัท ไมโครซอฟท์ (Nasdaq “MSFT”) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2518 เป็นผู้นำระดับโลกด้านบริการซอฟต์แวร์ และโซลูชั่นที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของผู้ใช้และองค์กรธุรกิจ
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 บริษัทฯ เสนอซอฟต์แวร์ชั้นนำระดับโลกที่ใช้งานง่ายและเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้คนไทย ตลอดจนแพลตฟอร์มที่ช่วยให้องค์กรธุรกิจพัฒนาโซลูชั่นที่ตรงตามความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับได้ตั้งแต่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คไปจนถึงเครื่องขนาดใหญ่ระดับเมนเฟรม เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในประเทศไทย หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ของไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) http://www.microsoft.com/thailand
ไมโครซอฟท์เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของ ไมโครซอฟท์ คอร์ป ประเทศสหรัฐอเมริกา และ/หรือ ประเทศอื่นๆ ชื่อบริษัทและผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวถึงในเอกสารชุดนี้อาจจะเป็นเครื่องหมายการค้าของเจ้าของนั้นๆ หมายเหตุ: หากท่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไมโครซอฟท์ สามารถดูได้ที่ http://www.microsoft.com/presspass/ ในส่วนของหน้าข้อมูลบริษัท