บ๊อช เดินหน้าความเป็นผู้นำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ทุ่มงบกว่า 3.6 พันล้านยูโรวิจัยและพัฒนาสินค้า ตั้งเป้าคิดค้นเทคโนโลยีใหม่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และ สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนและลดภาวะโลกร้อน พร้อมสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาหันมาสนใจคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ ด้วยการ จัดประกวด “สุดยอดเทคโนโลยีเพื่อชีวิต ผู้ชนะรับเงินสด พร้อมถ้วยรางวัลมูลค่ารวมกว่า 2.8 แสนบาท เตรียมเดินหน้าโครงการ 2 ต่อเนื่อง ในเดือนกันยายน 2552 นี้
มร.ย๊อคเฮ่น ไรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรเบิร์ตบ๊อช จำกัด เปิดเผยถึง โครงการประกวดออกแบบ นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ Bosch Innovation Contest 2008 ภายใต้หัวข้อ “สิ่งอำนวยความสะดวก ในชีวิตประจำวัน” ว่าได้รับความสนใจจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา และสถาบันการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยช่วงเวลาที่เปิดรับสมัครเพียงช่วงสั้นๆ มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดมากถึง 34 ผลงาน ทั้งจากมหาวิทยาลัย และวิทยาลัย จากทั่วประเทศ ซึ่งโครงการ Bosch Innovation Contest มีเป้าหมายสำคัญคือการกระตุ้น ให้เยาวชนสนใจในการคิดค้น และพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งเป็นไปตามแนวนโยบายของกลุ่มบริษัทบ๊อช ที่เป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมา บ๊อช ได้ให้ความสำคัญในการค้นคว้าวิจัย และ พัฒนามาตลอดทุกปี โดยในปี 2550 ที่ผ่านมา บ๊อชได้ใช้เงินในการวิจัยและพัฒนาทั้งสิ้นกว่า 3.6 พันล้านยูโร หรือคิดเป็น 7.7% ของยอดขายรวม
โดยธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยียานยนต์เป็นกลุ่มที่มีการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนามากเป็นอันดับ 1 โดยใช้เงินไปถึง 2.8 พันล้านยูโร หรือ ประมาณ 10% ของยอดขาย พนักงานกว่า 29,000 คน ทั่วโลกคือกลไกลสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนา ซึ่งความสำเร็จของการวิจัยของบ๊อชนี้ พิสูจน์ได้จากจำนวนการ ยื่นขอจดสิทธิบัตรนวัตกรรม ซึ่งมีมากกว่า 3,000 รายการในปี 2550 ทำให้บ๊อชเป็นผู้ยื่นขอจดสิทธิบัตรมากเป็นอันดับสองของประเทศเยอรมนี และหากเน้นเฉพาะหมวดเทคโนโลยียานยนต์ บ๊อชคือ ผู้นำของโลก ที่มีจำนวนสิทธิบัตรมากที่สุดในโลก
สำหรับแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีของบ๊อช มีเป้าหมายในการปกป้องภาวะโลกร้อน โดยกลุ่มบริษัทบ๊อชมุ่งเน้นที่จะพัฒนางานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีที่ช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ยกตัวอย่างในหมวดของอุตสาหกรรมยานยนต์ บ๊อชได้เริ่มโครงการที่สอง ต่อจากโครงการไฮบริด โดยเป็นโครงการที่ศึกษาพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธี่ยมอิออนประสิทธิภาพสูง เพื่อใช้กับมอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับระบบ การขับเคลื่อน โดยการก่อตั้งบริษัท SB LiMotive จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ระหว่าง บริษัท โรเบิร์ต บ๊อช จีเอ็มบีเอช และ บริษัท ซัมซุง เอสดีไอ จำกัด ในอัตรา 50:50 ซึ่งเริมเปิดดำเนินการในเดือนกันยายน 2551 และคาดว่าจะสามารถผลิตแบตเตอรี่ลิเธี่ยมอิออนประสิทธิภาพสำหรับการใช้ในหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์ และนำเสนอสุ่ตลาดได้ทั่วโลกในราวปี 2554
นอกเหนือจากการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพแล้ว บ๊อชยังค้นคว้าและวิจัยทางด้านการใช้พลังงานทดแทน โดยในเดือนสิงหาคม 2551 กลุ่มบริษัทบ๊อช ได้เข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ersol solar energy ของประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นผู้พัฒนา ผลิต และจัดจำหน่ายแผงพลังงานแสงอาทิตย์แบบ wafer-based silicon การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้จะช่วยขยายธุรกิจของบ๊อชในหมวดพลังงานทดแทนได้มากขึ้น นอกจากนี้กลุ่มบริษัทบ๊อช ก็ได้จัดตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค เพื่อการวิจัยและวิศวกรรมชั้นสูง ที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อทำการศึกษาแนวโน้มของเทคโนโลยีและตลาดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ค้นหาผู้นำทางเทคโนโลยี ในภูมิภาค และ ค้นคว้าเกี่ยวกับงานวิจัยที่น่าสนใจ ซึ่งการจัดตั้งสำนักเพื่อการวิจัยในครั้งนี้ เป็นการแสดง ถึงความสำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคที่มีต่อกลุ่มบริษัทบ๊อช และได้ทำการวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการในภูมิภาคได้ดีขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็จะได้รับประโยชน์จากการตั้งสำนักงานในครั้งนี้ด้วย มร.ไรค์ กล่าวในที่สุด
ในส่วนของโครงจากการประกวด Bosch Innovation Contest 2008 จากการพิจารณาคัดเลือกของคณะกรรมการ มีทีมที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ 6 ทีมด้วยกัน ประกอบด้วย
1. ผลงาน Cleaning Rotary Tools จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผลงานการออกแบบของ นายแสงอรุณ เจียมสวัสดิ์,นายสันติภาพ เปงหล้า และนางสาวธริศรา ธนวัฒนกุล
2.ผลงาน Elder And Family Shower Room หรือตู้อาบน้ำสำหรับคนชรา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผลงานการออกแบบของ นายภาคภูมิ ภูมิมาลา,นายอานุภาพ มาตรมูล,นายอนุภาค มาตรมูล,นางสาวสุภาวดี แก้วคำ และนางสาวปริมน ชุติมากร
3.ผลงาน ระบบกระจกเพิ่มทัศนวิสัยการตรวจเฝ้าระวังของกล้องวงจรปิด จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นผลงานการออกแบบของ นางสาวอริญชยา พันธุ์พำนัก , นายศุภ กิจ ไตรรัตน์ภิบาล และนายวุฒิพงษ์ พิพัฒน์พัลลภ
4.ผลงานนวัตกรรมเครื่องเลื่อยฉลุไฟฟ้าชนิดใช้มือจับนำวิถีตรงด้วยแสงเลเซอร์ และระบบแปลงเป็นเครื่องเลื่อยฉลุแบบแท่น จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผลงานการออกแบบของ นายอธิโรจน์ มะโน ,นายพิชญ ศักดิ์ศิวะกุล ,นายปัญญา นพนรินทร์
5.ผลงานรถไฟฟ้าระบบเบรคคืนพลังงาน จากวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกอุดรธานี อาชีวศึกษาจังหวัดอุดรธานี ผลงานการออกแบบของ นายยุทธนา ละดาดาษ ,นายสุรศักดิ์ โพธิ์สุวรรณพร, นายสิทธานต์ แก้วเดียวแสง,นายธีระพงษ์ ปุรา,นางสาวสุพัตรา พละกุล
6.ผลงานStop Global Warming จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผลงานการออกแบบของ นายอโนชา มิตรายน,นายมโนศิลป์ สุนทรส,นางสาวปนัดดา มนตรี
โดยรางวัลชนะเลิศ จะได้รับถ้วยรางวัลพร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท รองชนะเลิศ อันดับ 1 รับโล่พร้อมเงินรางวัล 80,000 บาท รองชนะเลิศ อันดับ 2 รับโล่พร้อมเงินรางวัล 40,000 บาท และรางวัลชมเชย 3 รางวัล รับโล่พร้อมเงินสดรางวัล ๆ ละ 20,000 บาท รวมมูลค่ากว่า 280,000 บาท โดยโครงการประกวดดังกล่าวได้เริ่มตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2551 – มกราคม 2552 ที่ผ่านมา
“บ๊อชเชื่อมั่นว่าการปลูกฝังในระดับเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ถือเป็นสิ่ง ที่สำคัญเพราะกลุ่มเยาวชนดังกล่าว คืออนาคตที่จะก้าวขึ้นไปเป็นผู้ทำงานในวิชาชีพต่าง ๆ และเป็นผู้ที่จะคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายต่อการดำเนินชีวิต ตามความรู้ ความสามารถที่แต่ละคนได้ศึกษาเล่าเรียนมา นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีโอกาสนำทฤษฎีที่ได้เรียนมา นำมาปรับใช้และยังสามารถสัมผัสกับประสบการณ์ตรงในการใช้ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากบ๊อช ก่อนจบการศึกษา ฉะนั้นการสนับสนุนส่งเสริมให้เยาวชนใช้เวลาว่างจากการเรียนมาร่วมกันทำกิจกรรมที่เป็นพื้นฐานวิชาที่กำลังศึกษาอยู่ จะช่วยกระตุ้นความรู้ และความสามารถของเด็กอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้จะเป็นการพัฒนาการออกแบบ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ก้าวหน้า และพัฒนาทัดเทียมต่างประเทศด้วย โดยบ๊อช จะจัดโครงการประกวดออกแบบ นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ Bosch Innovation Contest 2009 ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 จะเริ่มดำเนินการประมาณเดือนกันยายน 2552 นี้ ” มร.ย๊อคเฮ่น ไรค์ กล่าว