บล. ทิสโก้เผยผลงานปี 51 น่าพอใจท่ามกลางความผันผวนของตลาดทุนทั่วโลก โดยธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้ที่ 2.7% ส่วนวาณิชธนกิจรุ่งสุดทำยอดนายหน้าพุ่ง 61.4% เผยปี 52 เตรียมกลยุทธ์ที่หลากหลายเพื่อเจาะลูกค้าทุกกลุ่ม ลูกค้ารายย่อยใช้คอนเซ็ปต์ “Wealth” ให้คำแนะนำการลงทุนทุกรูปแบบไม่จำกัดเฉพาะหุ้น ลูกค้าสถาบันในประเทศเน้น Tailor-made Services พาลูกค้าพบผู้บริหาร บจ. ทุกเดือน ลูกค้าสถาบันต่างประเทศจัดโรดโชว์โปรโมตงานวิจัย มั่นใจสิ้นปี 52 ดันส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 3.2%
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด (บล.ทิสโก้) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2551 ที่ผ่านมาว่า สำหรับธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 845 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 2.7% ซึ่งลดลงจาก 3.0% ในปี 2550 ทางด้านธุรกิจนายหน้าซื้อขายอนุพันธ์มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 1.6% จาก 1.2% ในปี 2550 ซึ่งนับว่าบริษัทสามารถรักษาผลการดำเนินงานที่ดีเอาไว้ได้ ท่ามกลางตลาดภาวะตลาดทุนทั่วโลกที่มีความผันผวนอย่างมาก
“ในปี 2551 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างมากตามตลาดทุนทั่วโลกที่ปรับตัวลดลง ซึ่งสาเหตุหลักมาจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลไปยังเศรษฐกิจทั่วโลก ประกอบกับสถานการณ์ภายในประเทศทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น โดยนักลงทุนต่างชาติมีการเทขายตลอดทั้งปี 2551 ธุรกิจโบรกเกอร์ทั้งอุตสาหกรรมจึงต้องรับผลกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับ บล.ทิสโก้ ในปี 2551 มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 2.7% แต่หากไม่รวมมูลค่าการซื้อขายเพื่อการลงทุนของพอร์ตบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ เอง (Proprietary Trade) เราก็จะมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ประมาณ 3.0% ซึ่งลดลงเล็กน้อยเนื่องจากลูกค้าของเราส่วนใหญ่เป็นลูกค้าสถาบัน ซึ่งในปี 2551 ลูกค้าสถาบันมีปริมาณการซื้อขายน้อยลงเมื่อเทียบกับตลาดโดยรวม อีกทั้งลูกค้าส่วนใหญ่ของเราเน้นการลงทุนในระยะยาว จึงไม่มีการซื้อขายบ่อยนัก”
ทั้งนี้ ในปี 2551 บล. ทิสโก้ มีสัดส่วนลูกค้ารายย่อยอยู่ที่ 44%, ลูกค้าสถาบันในประเทศ 25% และลูกค้าสถาบันต่างประเทศ 31% โดยในส่วนของลูกค้ารายย่อยมีจำนวน 12,997 บัญชี โดยในจำนวนนี้เป็นบัญชีซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ต (Internet Trading) สัดส่วนประมาณ 39% โดยมีจำนวนบัญชีอินเทอร์เน็ตจำนวน 5,035 บัญชี ซึ่งเพิ่มขึ้น 3.9% จากปี 2550
สำหรับธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานเป็นที่โดดเด่นในปี 2551 คือธุรกิจวาณิชธนกิจ หรือไอบี (Investment Banking) ซึ่งมีรายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2550 ซึ่งเป็นผลจากการปรับกลยุทธ์ของธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไปในตลาดทุน โดยในปี 2551 บริษัทมีรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจวาณิชธนกิจอยู่ที่ 78.99 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 61.4% จากปี 2550
โดยในปี 2551 บล.ทิสโก้ ได้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ (IPO) จำนวน 1 ราย (จากทั้งหมด 9 ราย) และเป็นที่ปรึกษาและผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ จำนวน 3 ราย
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานใหม่ภายใต้สายงานวาณิชธนกิจ เพื่อเป็นนายหน้าซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยได้จัดตั้งหน่วยงานเป็นผลสำเร็จในปีที่ผ่านมา
“หน่วยธุรกิจสำคัญที่เราตั้งขึ้นมาใหม่ในปี 2551 ก็คือ โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ Clean Development Mechanism (CDM) Division ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ฝ่ายวาณิชธนกิจ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นธุรกิจที่ปรึกษาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนายหน้าซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต (Certified Emission Reduction-CERs) ให้แก่องค์กรที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจด้วยการขายคาร์บอนเครดิตให้แก่ประเทศพัฒนาแล้วที่มีศักยภาพไม่เพียงพอในการลดปริมาณคาร์บอน ซึ่งถือเป็นโครงการที่หลายประเทศกำลังให้ความสำคัญเพื่อลดสภาวะโลกร้อน คาดว่า CDM จะเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่จะสามารถสร้างผลงานที่โดดเด่นให้ บล. ทิสโก้ ได้”
ทั้งนี้ นายไพบูลย์กล่าวต่อไปถึงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 2552 ว่า บริษัทจะมุ่งเน้นการขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งลูกค้าบุคคล ลูกค้าสถาบันในประเทศและต่างประเทศ โดยสำหรับลูกค้าบุคคลจะมุ่งเน้นการให้บริการโดยกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าหลัก (Key Clients) ผ่านกิจกรรม CRM ด้วยการให้คำแนะนำการลงทุนในรูปแบบที่เรียกว่า Wealth Management ซึ่งครอบคลุมการลงทุนทุกรูปแบบไม่จำกัดเฉพาะการลงทุนในตลาดทุน แต่รวมถึงการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ทองคำ และอนุพันธ์ รวมถึงปัจจัยที่มีผลต่อตราสารเหล่านี้ด้วย
สำหรับลูกค้าสถาบันในประเทศจะมุ่งเน้นการให้บริการตามความต้องการ แบบ Tailor-made Services และงานวิจัยประเภท Thematic Research และการเข้าถึงผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน โดยที่ผ่านมาบริษัทได้จัดกิจกรรม Corporate Day ซึ่งเป็นการนำลูกค้าสถาบันมาพบปะพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด โดยได้จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าสถาบัน
ในส่วนของลูกค้าสถาบันต่างประเทศ จะมุ่งเน้นการให้บริการนักลงทุนที่เน้นการลงทุนระยะยาวและกองทุนที่เน้นคุณค่าหุ้น (Value Funds) จัดโรดโชว์และกิจกรรมการตลาดในประเทศต่างๆ เพื่อแนะนำงานวิจัยและการให้บริการด้านงานวิจัยแก่ลูกค้า โดยในปีนี้เราจะเดินทางไปโรดโชว์ประมาณเดือนละ 1 – 2 ครั้ง นอกจากนี้ยังรวมถึงการเพิ่มศักยภาพของไอทีในการให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านระบบ Electronic Trading Platform โดยพัฒนาระบบเพื่อรองรับ Program Trading ตลอดจนบริการซื้อขายผ่านระบบ DMA (Direct Market Access) ด้วย
“สำหรับแนวโน้มของตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยในปี 2552 คาดว่ามูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันจะลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 12,496 ล้านบาท หรือลดลงประมาณ 21.3% จากปี 2551 ที่อยู่ที่ 15,870 ล้านบาท โดยคาดว่ากลุ่มที่จะมีมูลค่าซื้อขายลดลงมากที่สุดคือกลุ่มลูกค้าสถาบันต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะลดลงประมาณ 35% ส่วนลูกค้ารายย่อยและลูกค้าสถาบันในประเทศคาดว่าจะลดลงประมาณ 15% และ 20% ตามลำดับ
ดังนั้น ในปีนี้เราจึงต้องทำธุรกิจเชิงรุก ด้วยการใช้กลยุทธ์ต่างๆ ที่เราเชี่ยวชาญดังที่กล่าวมาเพื่อขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการทำธุรกิจที่ยาวนานกว่า 30 ปี จะทำให้เราสามารถรักษาผลประกอบการที่ดีเอาไว้ได้ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเราตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็น 3.2% ในปีนี้” นายไพบูลย์ กล่าว