คอนติเนนทอลนำ Accelerator Force Feedback Pedal (AFFP) คันเร่งที่ตอบสนองผู้ขับขี่ด้วยระบบสั่นเข้าสู่ตลาดเป็นครั้งแรก ตั้งเป้าในการช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน
ส่วนธุรกิจแชสซีและความปลอดภัย ของคอนติเนนทอล เปิดตัว Accelerator Force Feedback Pedal (AFFP) คันเร่งที่ตอบสนองผู้ขับขี่ด้วยระบบสั่นเป็นครั้งแรกในตลาดโลก โดยได้มีการติดตั้งคันเร่งที่ตอบสนองผู้ขับขี่ด้วยระบบสั่นในรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก AFFP จะสามารถเตือนเมื่อผู้ขับอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายด้วยการสั่น และออกแรงดันที่ตัวคันเร่ง ซึ่งจะทำให้ผู้ขับขี่ถอนเท้าออกจากคันเร่งเพื่อพร้อมเบรก
เทคโนโลยีนี้พัฒนามาจาก ContiGuard ซึ่งเป็นระบบรักษาความปลอดภัย และลดอุบัติเหตุบนท้องถนนของคอนติเนนทอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบัติเหตุอันเกิดจากการชนกันทางด้านท้ายของรถยนต์ ด้วยเทคโนโลยีที่ปราดเปรื่องของ AFFP นี้ จะช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถขับขี่ได้ด้วยความเร็วที่สม่ำเสมอ และประหยัดน้ำมัน ทั้งยังช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในขณะเดียวกันด้วย
AFFP ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ขับขี่
คำถามที่สำคัญที่สุดระหว่างผู้ขับขี่ และยานพาหนะ คือ ทำอย่างไรจึงจะเตือนผู้ขับขี่ในสถานการณ์ที่อันตราย และทำให้เขาได้ตระหนักถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น นายเบิร์นด์ เกบฮาร์ท หัวหน้าส่วนธุรกิจแชสซีอิเลคทรอนิกส์ของคอนติเนนทอลกล่าวว่า “ปัญหาเบื้องต้นที่มักจะพบคือ ผู้ขับขี่มักจะถูกเบนความสนใจไปยังสิ่งอื่น อาจเป็นเพราะกำลังติดสายหรือคุยกับเพื่อนร่วมทาง ซึ่งระบบเตือนด้วยการเห็นหรือส่งเสียงจะไม่ค่อยได้ผล” แต่ระบบ AFFP ซึ่งเป็นคันเร่งอัจฉริยะจะสามารถสื่อสารได้โดยตรงกับผู้ขับขี่ด้วยการสั่น ให้ผู้ขับขี่ทราบถึงอันตรายได้ผ่านทางเท้าของผู้ขับขี่ และทำให้ตระหนักถึงเหตุการณ์ หรืออันตรายที่จะเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด และสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้น ๆ ด้วยวิธีที่เหมาะสม
คอนติเนนทอลยังได้นำระบบเตือนภัยด้วยเซ็นเซอร์มาประยุกต์ใช้ในกรณีอื่นด้วย ยกตัวอย่าง เช่น ระบบเตือนภัยผู้ขับขี่ขับออกนอกเส้นทางโดยการส่งสัญญาณสั่นไปที่พวงมาลัย เพื่อไม่ให้ผู้ขับขี่เปลี่ยนเลนแบบเฉียดฉิว ในขณะที่รถข้างหลังกำลังจะแซงขึ้นอย่างรวดเร็ว AFFP จะสั่นเตือนเมื่อ ACC หรือระบบเตือนภัยผู้ขับขี่ออกนอกเส้นทางส่งสัญญาณเตือนมาว่ามีรถข้างหลังแล่นเข้ามาใกล้รถคันหน้าจนเกินไป ในภาวการณ์ที่เสี่ยงอันตรายเช่นนี้ระบบจะเพิ่มแรงดันที่คันเร่ง อย่างไรก็ตาม ผู้ขับขี่ยังสามารถควบคุมรถและสามารถเร่งเครื่องหากมีความจำเป็นเกิดขึ้นตามสภาวะบนท้องถนน
ในอนาคต การติดตั้งระบบคันเร่งที่สื่อสารกับผู้ขับขี่หรือ AFFP จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้ในหลายๆสถานการณ์ โดยเฉพาะในสภาวะซึ่งอาจจะเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดรถเสียตรงจุดที่ผู้ขับขี่ไม่สามารถมองเห็นได้ และเมื่อระบบนี้รายงานเข้ามาผ่านระบบสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างรถที่อยู่ใกล้เคียง (Car-2-Car) AFFP ก็จะตอบสนอง และในทำนองเดียวกันเมื่อผู้ขับขี่พยายามฝืนไม่ให้เกิดอาการหลับใน ระบบเซ็นเซอร์ก็จะส่งสัญญาณเตือน “ระบบเตือนภัยด้วยคันเร่งสั่นนี้นับเป็นหนึ่งในการสื่อสารระหว่างคนกับเครื่องจักรชั้นเยี่ยม ซึ่งช่วยให้การขับขี่ปลอดภัยยิ่งขึ้น” นายเกบฮาร์ท กล่าวเสริม
การตอบสนองที่ฉับไวโดยคันเร่งระบบสั่นใช้เวลาเพียง 0.1 วินาที ในการทำงาน
จุดเด่นของกลไกอยู่ที่ตัวมอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งเชื่อมตรงไปยังตัวคันเร่ง AFFP โดยทำงานเพียงลำพังตัวเดียว ในระยะเวลาที่สั้นเพียงชั่วพริบตา โดยใช้เวลาในการตอบสนองเพียงแค่ 0.1 วินาทีเท่านั้น
ระบบดังกล่าวสามารถนำมาติดตั้งได้ในยานพาหนะทุกชนิด เหมาะทั้งสำหรับคันเร่งแนวนอนและแนวตั้ง ซึ่งหมายความว่า ระบบ AFFP นี้สามารถนำไปปรับใช้ได้ทั้งกับรถตู้ขนาดเล็ก และรถกระบะ เพราะเมื่อรถยนต์อยู่ใกล้กันเกินไปหรือผู้ขับขี่เหนื่อยล้าเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุของทั้งรถตู้ และรถบรรทุก
การจราจรที่ไม่ติดขัด ทำให้ประหยัดเชื้อเพลิง และช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
แม้ในช่วงเวลาที่การจราจรหนาแน่น คันเร่งระบบสั่น AFFP ยังช่วยประคับประคองให้ผู้ขับขี่รักษาระยะห่างที่ดีในอัตราความเร็วเฉลี่ยคงที่ ระบบจะประมวลผลโดยอาศัยข้อมูลจากเรดาร์ หรือ ระบบเซ็นเซอร์ด้วยกล้องที่คอยจับความเคลื่อนไหวของการจราจร และส่งสัญญาณเตือนผู้ขับขี่ด้วยแรงต้านเบาๆให้รู้ว่าไม่ควรเร็วกว่านี้หรือเคลื่อนเข้าไปใกล้กว่านี้ ผลลัพธ์ของการติดตั้งระบบดังกล่าว จะเพิ่มความมั่นใจแก่ผู้ขับขี่ ให้รักษาระดับความเร็วและระยะทางที่เหมาะสม ทำให้ผู้ขับขี่ลดความเครียดและลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้ในท้ายที่สุด พร้อมทั้งช่วยประหยัดน้ำมัน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย
เกือบหนึ่งในสองของอุบัติเหตุ เกิดขึ้นจากการชนท้าย
จากสถิติพบว่า รถโดยสารส่วนใหญ่มักเกิดอุบัติเหตุจากการชนท้ายรถกัน:
• ในสหรัฐอเมริกา 20% (แหล่งที่มา: NHTSA, National Highway Traffic Safety Administration)
• ในยุโรป (โดยเฉพาะในประเทศเยอรมนี): 44% (แหล่งที่มา: Federal Highway Research Institute (BASt)
• ในประเทศญี่ปุ่น: 57% (Institute For Traffic Accident Research and Data Analysis (ITARDA)
อุบัติเหตุเหล่านี้ ส่วนใหญ่สืบเนื่องมาจากปัจจัยทางตัวบุคคลเป็นหลัก ใน 85% จากกรณีต่าง ๆ ความผิดพลาดโดยส่วนใหญ่ ล้วนสืบเนื่องมาจากผู้ขับขี่ทั้งสิ้น โดยสามารถจำแนกออกเป็น 3 สาเหตุสำคัญ ๆ คือ
• การขับขี่โดยใช้ความเร็วที่ไม่เหมาะสม
• ระยะห่างระหว่างรถทั้งสองคันที่ไม่เพียงพอ
• ปราศจากความระมัดระวัง
ระบบคันเร่งซึ่งตอบสนองผู้ขับขี่ด้วยระบบสั่น AFFP นี้ นับเป็นตัวช่วยที่ทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงบนท้องถนนในโลกถนนลดลงได้กว่าครึ่ง
กลุ่มคอนติเนนทอล คอร์ปอเรชั่น เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งมอบชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำลำดับต้นๆ ของโลก และคาดว่ายอดขายในปี 2551 นี้จะมากกว่า 26.4 พันล้านยูโร หรือประมาณ 1.32 ล้านล้านบาท (1,320 พันล้านบาท) ในฐานะที่กลุ่มคอนติเนนทอล เป็นผู้จัดหาผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญ ได้แก่ ระบบเบรก ระบบและชิ้นส่วนสำหรับระบบส่งกำลังและแชสซี หน้าปัดรถยนต์ อุปกรณ์เพิ่มความบันเทิงในรถยนต์ ระบบอิเลคทรอนิกส์ในยานยนต์ ยางรถยนต์และยางสังเคราะห์ เป็นต้น กลุ่มคอนติเนนทอล มุ่งมั่นพัฒนาระบบและส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในการขับขี่สูงสุด อีกทั้งร่วมกันปกป้องสภาพแวดล้อมของโลกด้วย นอกจากนี้ คอนติเนนทอล ยังเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่เข้มแข็งในการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารที่ใช้ในยานยนต์ ปัจจุบัน กลุ่มคอนติเนนทอล คอร์ปอเรชั่น มีพนักงานประมาณ 150,000 คน ในสำนักงานกว่า 200 แห่งใน 36 ประเทศทั่วโลก