สภาพคล่องในงบดุลของธนาคารพาณิชย์ไทย ม.ค. 52 … เพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2552 เปรียบเทียบกับสิ้นปี 2551 พบว่า

สินทรัพย์สภาพคล่อง (รวมเงินสด เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินลงทุนสุทธิ) ณ สิ้นเดือนมกราคม 2552 ปรับขึ้นจากสิ้นปี 2551 โดย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2552 สินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าว มีจำนวน 2.04 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.41 หมื่นล้านบาท จาก 1.98 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นในองค์ประกอบหลักอย่างเงินลงทุนสุทธิและเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น ขณะที่เงินสดลดลง ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สภาพคล่องในเดือนมกราคม ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะยอดเงินให้สินเชื่อสุทธิ (จากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ลดลงจำนวน 9.26 หมื่นล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งมากกว่ายอดเงินฝากที่ลดลงจำนวน 1.40 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องในความหมายที่แคบลง คือ ไม่นับรวมเงินลงทุนสุทธิ หรือมาจากผลรวมเฉพาะของเงินสดและเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น พบว่า มีจำนวน 8.97 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนมกราคม 2552 ลดลงเล็กน้อย 716 ล้านบาท หรือใกล้เคียงกับที่อยู่ที่ 8.98 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 ซึ่งอาจบ่งชี้ได้ว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยได้มีการบริหารจัดการสินทรัพย์สภาพคล่องผ่านการลงทุนในเงินลงทุนสุทธิและเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้นเพิ่มขึ้น ทดแทนการขยายสินเชื่อที่อาจถูกจำกัดจากความต้องการสินเชื่อที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ

การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สภาพคล่องในความหมายกว้างเกิดขึ้นในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และขนาดกลาง นำโดยการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สภาพคล่องของกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่จำนวน 5.09 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 1.24 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนมกราคม 2552 ตามมาด้วยกลุ่มธนาคารขนาดกลางที่มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1.81 หมื่นล้านบาท มาที่ 5.41 หมื่นล้านบาท ส่วนกลุ่มธนาคารขนาดเล็กมีสภาพคล่องลดลง 1.49 หมื่นล้านบาท มาที่ 2.56 แสนล้านบาท

ในเดือนแรกของปี 2552 ข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องในความหมายกว้างของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2551 ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการลดลงของยอดเงินให้สินเชื่อสุทธิที่มีขนาดมากกว่าการลดลงของยอดเงินฝาก ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ไทยมีการนำสินทรัพย์สภาพคล่องไปแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนในเงินลงทุนสุทธิและเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้นมากขึ้น เพื่อทดแทนการขยายสินเชื่อที่อาจถูกจำกัดจากความต้องการสินเชื่อที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าผลตอบแทนในตลาดเงินและตลาดทุนจะมีแนวโน้มลดลงตามวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงทั้งในและต่างประเทศก็ตาม ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการคงจะถูกปรับลดลงอีกเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยหรืออัตราผลตอบแทนในตลาดเงินและตลาดทุนมีแนวโน้มลดลงในทิศทางที่สอดคล้องกัน ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นในการรักษาผลการดำเนินงานหรืออัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net Interest Margin: NIM) ในปี 2552 นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากธนาคารพาณิชย์ถูกกดดันให้ต้องประคับประคองอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไว้เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะมีต่อผู้ฝากเงินซึ่งกำลังประสบกับภาวะที่ฝืดเคืองทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว