แนวโน้มราคาข้าวปี 52 : ยังมีหลากปัจจัยที่ต้องพิจารณา

สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มชะลอตัวติดต่อกัน 5 เดือน โดยปริมาณการส่งออกข้าวมีแนวโน้มชะลอตัวมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 จนกระทั่งถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ประเด็นที่น่าสนใจคือ ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก โดยมีสัดส่วนตลาดประมาณร้อยละ 30.0 ดังนั้นการที่ปริมาณข้าวส่งออกของไทยลดลงถึงเกือบร้อยละ 40.0 แล้ว สาเหตุใดที่ราคาข้าวในตลาดโลกยังไม่ได้รับผลกระทบ และราคาข้าวในตลาดโลกยังคงดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง

ปริมาณการส่งออกข้าวชะลอตัว…หลากปัจจัยกดดัน
ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยชะลอตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 เดือนต่อเนื่องกัน เนื่องจากหลากหลายปัจจัยกดดันทั้งปัจจัยภายในประเทศ และปัจจัยภายนอกประเทศ ดังนี้

1.ปัจจัยภายในประเทศ คือ การกำหนดราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาด จากการที่รัฐบาลยังคงมีนโยบายในการแทรกแซงตลาดข้าวด้วยมาตรการรับจำนำข้าว โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพยุงราคาข้าว ซึ่งการกำหนดราคารับจำนำในเกณฑ์ที่สูงกว่าราคาตลาด ทำให้ปริมาณข้าวส่วนหนึ่งเข้าไปอยู่ในสต็อกของรัฐบาล ส่งผลกระทบให้ผู้ส่งออกข้าวต้องรับซื้อข้าวในราคาสูง ประสบกับภาวะลำบากมากขึ้นในการแข่งขันในการส่งออกในตลาดโลก โดยประเทศผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวจากเวียดนามที่มีราคาถูกกว่า นอกจากนี้ ผู้ส่งออกข้าวนึ่งยังประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในบางช่วง อันเนื่องจากมาตรการรับจำนำข้าวด้วย

2.ปัจจัยภายนอกประเทศ คือ ประเทศผู้ซื้อข้าวหันไปซื้อข้าวราคาถูก ประเทศผู้ซื้อและผู้ขายต่างมีความวิตกกังวลต่อภาวะวิกฤติทางการเงินของโลก ซึ่งก่อให้เกิดการลดลงของการให้สินเชื่อทางการเงิน ส่งผลให้การซื้อขายข้าวในแต่ละครั้งจะเป็นการสั่งซื้อในปริมาณที่ไม่มาก ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในขณะที่ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยชะลอตัว ปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมาก กล่าวคือ ปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนามในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 1.05 ล้านตัน มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วเกือบสามเท่า เนื่องจากเวียดนามมียอดสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ยอดส่งออกข้าวของเวียดนามสูงถึง 750,000 ตัน ประเทศผู้ซื้อข้าวของเวียดนาม คือ ประเทศในแอฟริกา อิรัก และคิวบา ซึ่งซื้อข้าวประมาณครึ่งหนึ่งของยอดส่งออกทั้งหมด ขณะที่ฟิลิปปินส์ทำสัญญาซื้อข้าวล็อตแรกของปี 2552 ในปริมาณ 1.5 ล้านตัน และในเบื้องต้นคาดว่าเวียดนามจะมีการส่งมอบข้าวจำนวน 2.8 ล้านตันในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ปัจจุบันข้าวไทยมีราคาส่งออกเฉลี่ยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนามประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน โดยราคาข้าวส่งออกของไทยอยู่ที่ราคาเฉลี่ยตันละ 500 – 530 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ข้าวเวียดนามอยู่ที่ราคาตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ประเทศผู้ซื้อข้าวหันไปซื้อข้าวจากเวียดนาม

นอกจากนี้ ประเทศคู่ค้าข้าวของไทย โดยเฉพาะประเทศในแอฟริกายังหันไปซื้อข้าวแหล่งปลูกข้าวที่มีราคาไม่แพงอย่างพม่าแทน กล่าวคือ ในเดือนมกราคม 2552 พม่าส่งออกข้าวได้ 400,000 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2551 แล้วเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า โดยพม่ายังจำหน่ายข้าวในราคาที่ต่ำมากๆ โดยในช่วง 2 เดือนสุดท้ายปี 2551 พม่าขายข้าว 25% ในราคาเพียงตันละ 260 ดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น (ราคาส่งออกข้าว 25%ของไทยเฉลี่ยช่วง 2 เดือนสุดท้าย 2551 เท่ากับ 459.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนเวียดนามราคาตันละ 348-353 ดอลลาร์สหรัฐฯ) นอกจากข้าวจากพม่าแล้ว คาดการณ์ว่าในปีนี้ไทยยังเผชิญกับการแข่งขันจากข้าวกัมพูชา เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวกัมพูชาได้ผลดีเกินคาด ทำให้คาดการณ์ว่าในปี 2552 กัมพูชาจะส่งออกข้าวได้มากถึง 2.0 ล้านตัน โดยประเทศคู่ค้าคือ ตะวันออกกลางโดยเฉพาะบรูไน สหภาพยุโรป และประเทศในแอฟริกา ซึ่งทั้งสองประเทศนี้เริ่มส่งออกข้าวตั้งแต่ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2551 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการส่งออกข้าวของไทยที่ราคาอยู่ในระดับสูง

แนวโน้มราคาข้าวช่วงที่เหลือของปี 2552
ปัจจุบันประเด็นที่มีการกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางคือ แนวโน้มราคาข้าวช่วงที่เหลือของปี 2552 ซึ่งผู้ส่งออกข้าวของไทยยังคงต้องจับตาทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่กำหนดทิศทางราคาข้าวในปี 2552 ดังนี้
1.ปัจจัยบวก
-นโยบายการส่งออกข้าวของเวียดนาม
สมาคมอาหารเวียดนาม (Food Association of Vietnam : VietFood) มีคำสั่งหยุดทำสัญญาซื้อขายข้าวจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2552 เนื่องจากปริมาณการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกถึงเป้าหมายการส่งออกที่กำหนดไว้สำหรับในครึ่งแรกของปีแล้ว รวมทั้งนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสร้างเสถียรภาพราคาอาหารในประเทศ และควบคุมภาวะเงินเฟ้อด้วย หลังจากในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามโหมการส่งออกข้าวมากกว่าทุกปี รัฐบาลเวียดนามขอให้ธนาคารแห่งรัฐกำชับแบงก์ทุกแห่งให้ปล่อยกู้แก่ชาวนา และผู้ที่รับซื้อข้าวจากชาวนาเพื่อส่งออก ทั้งนี้เพื่อเร่งระบายผลผลิต อันจะเป็นสาเหตุทำให้ราคาข้าวในประเทศตกต่ำ กล่าวคือ รัฐบาลเวียดนามมีมติในวันที่ 15 มกราคม 2552 ให้ใช้เงินงบประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯสนับสนุนหรือชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารแห่งต่างๆ ที่ปล่อยกู้ให้แก่ชาวนากับผู้ค้าข้าว งบประมาณจำนวนดังกล่าวรวมอยู่ในงบกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ารวม 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ การหยุดการทำสัญญาส่งออกชั่วคราวนั้นเพื่อรอดูท่าทีของไทย ทั้งการกำหนดราคารับจำนำข้าวนาปรัง และนโยบายการระบายสต็อกข้าวของรัฐบาลไทย ทั้งนี้เพื่อกำหนดระดับราคาข้าวส่งออก

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในปีนี้ปริมาณการผลิตข้าวของเวียดนามในปี 2552 มากเกินความคาดหมาย เนื่องจากภาวะอากาศที่เอื้ออำนวย รัฐบาลเวียดนามปรับเป้าส่งออกข้าวปี 2552 ขึ้นเป็น 5.0 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปี 2551 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 จากที่เคยกำหนดไว้ 3.5-4.0 ล้านตัน ซึ่งเป้าส่งออกข้าวใหม่ของเวียดนามนี้นับว่าสูงเป็นประวัติการณ์

-ความเสียหายของข้าวจากภาวะอากาศแปรปรวน สำหรับประเทศไทยปริมาณผลผลิตข้าวปี 2552 ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าผลผลิตข้าวนาปีที่แท้จริงเป็นเท่าใด ปริมาณข้าวนาปรังรอบแรกที่จะมีการเก็บเกี่ยวเดือนมีนาคม-เมษายน และรอบที่สองเดือนสิงหาคม-กันยายนจะมีมากน้อยเพียงใด เนื่องจากปริมาณข้าวนาปีที่เพิ่งเก็บเกี่ยวเดือนธันวาคม 2551 –มกราคม 2552 ผลผลิตลดลงไปร้อยละ 10-20 เพราะอากาศหนาวที่นานผิดปกติ ซึ่งส่งผลต่อการออกรวงรวมทั้งทำให้ข้าวเมล็ดลีบ และฝนตกในช่วงเก็บเกี่ยว ส่งผลให้ข้าวชื้น คุณภาพข้าวต่ำลงและเสียหายบางส่วน ส่วนนาปรังที่จะเก็บเกี่ยวเดือนมีนาคม-เมษายน ผลผลิตน่าจะน้อยกว่าการคาดการณ์ เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง โดยจากรายงานสถานการณ์ภัยแล้งพบว่า เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันแล้วความเสียหายจากภัยแล้งในปี 2552 มากกว่าปี 2551 คาดว่านาข้าวเสียหายประมาณ 29,386 ไร่ ส่วนนาปรังรอบสองที่จะมีการเก็บเกี่ยวเดือนกันยายน-ตุลาคมผลผลิตจะดีกว่า อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามว่าปัญหาภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตข้าวมากน้อยเพียงใด โดยปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญ คือ การทำฝนหลวง และการบริหารจัดการน้ำเพื่อสนับสนุนการทำนาปรัง

นอกจากไทยแล้วเวียดนามก็เผชิญปัญหาภัยแล้งเช่นกัน ส่งผลทำให้รัฐบาลเวียดนามเริ่มปรับขึ้นราคาข้าวส่งออกแล้ว โดยข้าวขาว 5% ขึ้นมาอยู่ที่ 425 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน จากในช่วงต้นปี 2552 อยู่ที่ 410-415 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน และหากปัญหาฝนทิ้งช่วงเวลานานเวียดนามก็อาจปรับราคาสูงขึ้นอีกก็ได้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เวียดนามจะปรับขึ้นราคาอีกหลายครั้งก็ยังไม่ส่งผลจูงใจต่อราคาข้าวไทยมากนัก เพราะราคาข้าวทั้งสองประเทศมีช่วงห่างกัน 100-150 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทข้าวที่ส่งออก
2.ปัจจัยลบ
-การกลับเข้าตลาดของอินเดีย
ในเดือนมกราคม 2552 รัฐบาลอินเดียยกเลิกการจัดเก็บภาษีส่งออกข้าวบาสมาติที่กำหนดไว้ตันละ 8,000 รูปี รวมทั้งได้ปรับลดราคาส่งออกขั้นต่ำ(Minimum Export Price : MEP)ของข้าวบาสมาติจากตันละ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นตันละ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้อนุมัติให้ State Trading Corporation of India (STC) ส่งออกข้าวไปยังประเทศในภูมิภาคแอฟริกาจำนวน 55,000 ตัน แยกเป็นไนจีเรีย เซเนกัล กานาประเทศละ 15,000 ตัน และแคเมอรูน 10,000 ตัน กำหนดส่งมอบเดือนมกราคม – เมษายน 2552 รวมทั้ง รัฐบาลอนุญาตให้มีการซื้อขายล่วงหน้าหรือยกเลิกห้ามการส่งออกข้าวและข้าวสาลีตามข้อเรียกร้องของผู้ส่งออกในเดือนพฤษภาคมหรือหลังการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2552

ผู้ส่งออกข้าวของไทยยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หากอินเดียกลับเข้าตลาดเพื่อส่งออกข้าวเท่ากับว่าข้าวนึ่งไทยต้องแข่งขันรุนแรงกับอินเดีย ขณะที่ข้าวขาวต้องแข่งขันกับเวียดนาม หากเป็นเช่นนั้นสถานการณ์ส่งออกปีนี้จะอยู่ในภาวะลำบากมากขึ้น

-ความต้องการข้าวของประเทศผู้นำเข้าข้าวมีแนวโน้มลดลง จากการคาดการณ์ในปี 2552 พบว่าความต้องการข้าวของประเทศผู้นำเข้าข้าวสำคัญมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะญี่ปุ่น และจีนเนื่องจากปริมาณสต็อกข้าวต้นปีเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา กล่าวคือ สต็อกข้าวของญี่ปุ่นในช่วงต้นปี 2552 เท่ากับ 2,685 พันตัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.6 ในขณะที่สต็อกข้าวของจีนในช่วงต้นปี 2552 เท่ากับ 37,994 พันตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 นอกจากนี้ ประเทศผู้นำเข้าข้าวสำคัญทั้ง ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวอันดับหนึ่งในปีที่ผ่านมา อินโดนีเซีย รวมทั้งจีนและญี่ปุ่นยังสามารถผลิตข้าวได้เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการนำเข้ามีแนวโน้มลดลงด้วย

อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ยังคงต้องนำเข้าข้าวในปีนี้ แต่ในช่วงที่ผ่านมาประเทศเหล่านี้ชะลอการนำเข้าข้าวเพื่อรอให้ราคาข้าวลดลงต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วว่าราคาข้าวน่าจะถึงจุดต่ำสุด หรือพอใจกับราคาข้าวแล้ว ประเทศหล่านี้ก็คงจะหวนกลับเข้ามาซื้อข้าวในตลาดอีกครั้ง

ประเด็นที่จะต้องติดตามถึงทิศทางของราคาข้าวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ก็คือ เศรษฐกิจโลกยังมีสัญญาณที่จะฟื้นตัวในระยะอันสั้น หรือตั้งแต่ช่วงนี้ถึงปลายปีนี้ ดังนั้นเท่ากับว่าถ้าพิจารณาจากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจแล้วไม่เป็นปัจจัยหนุนให้ราคาข้าวมีโอกาสจะดีดตัวขึ้น โดยปัจจัยทางเศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยที่กดดันราคาข้าวต่อไปในช่วงที่เหลือของปีนี้ นอกจากนี้ ราคาข้าวในตลาดโลกยังได้รับแรงกดดันไม่ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก จากการคาดการณ์ถึงการแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาดโลก ทั้งจากประเทศผู้ส่งออกข้าวสำคัญ และประเทศที่เข้ามาเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหม่อย่างพม่าและกัมพูชา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภค นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้วคงต้องพิจารณาปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่ได้กล่าวมาแล้วประกอบกันไปด้วย โดยเฉพาะปัจจัยที่มีโอกาสสร้างความผันผวนต่อราคาข้าวในช่วงที่เหลือในปีนี้ได้อย่างมากคือ ปัจจัยทางด้านความผันผวนของอากาศ โดยเฉพาะภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง หรือน้ำท่วม รวมทั้งความกังวลของทั้งประเทศผู้ส่งออกและผู้นำเข้าข้าวในด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อและความมั่นคงของประเทศ

บทสรุป
ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยมีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 เดือนต่อเนื่องกัน จากปัจจัยกดดันทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยปัจจัยกดดันในประเทศคือ การกำหนดราคารับจำนำข้าวนาปีในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ทำให้ผู้ส่งออกข้าวไทยเสียเปรียบในการแข่งขันในตลาดโลก ส่วนปัจจัยกดดันจากภายนอกประเทศ คือ ประเทศคู่ค้าข้าวของไทยหันไปซื้อข้าวราคาถูกจากเวียดนาม รวมทั้งแหล่งผลิตข้าวใหม่คือ พม่าและกัมพูชา ซึ่งปริมาณการผลิตข้าวของทั้งสองประเทศในปีนี้เพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ ประเทศผู้ผลิตและผู้นำเข้าข้าวหันไปขยายพื้นที่ปลูกข้าวเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ ทำให้การค้าข้าวในตลาดโลกลดลง

แนวโน้มราคาข้าวในช่วงที่เหลือของปี 2552 ยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณา คือ ระยะเวลาและราคาที่ประเทศผู้นำเข้าข้าวพิจารณาเพื่อกลับเข้ามาซื้อข้าวในตลาดอีกครั้ง หลังจากที่สต็อกเริ่มลดลง หรือเมื่อผู้นำเข้ามองว่าราคาข้าวในตลาดโลกใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะส่งผลต่อราคาข้าวในช่วงที่เหลือของปี 2552 คือ ปริมาณผลผลิตข้าวนาปรัง ผลกระทบของสภาพอากาศต่อปริมาณผลผลิตข้าว ไม่ว่าจะเป็นภาวะภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงหรือน้ำท่วม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงนโยบายข้าวของประเทศผู้ผลิตข้าวสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการกลับเข้าตลาดของอินเดีย รวมทั้ง การชะลอการส่งออกข้าวของเวียดนาม และการกำหนดราคารับจำนำข้าวนาปรังของไทย ตลอดจนการระบายสต็อกข้าวของไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวในช่วงระยะสั้น หรือตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่ยังกดดันราคาข้าวในช่วงที่เหลือของปีนี้ เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยบวกและปัจจัยลบประกอบด้วยแล้ว ปัจจัยที่มีโอกาสสร้างความผันผวนให้กับราคาข้าวในช่วงที่เหลือของปีนี้คือ สภาพความผันผวนของสภาพอากาศและความกังวลถึงความมั่นคงทางด้านอาหารของแต่ละประเทศ