ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าการแข่งขันธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลได้ลดอุณหภูมิความร้อนแรงลง เมื่อเศรษฐกิจไทยกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก มีการเลิกจ้างแรงงานเป็นจำนวนมากในบางภาคอุตสาหกรรม และโรงงานบางแห่งได้ปิดกิจการลง อีกทั้งแรงงานในภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องก็เผชิญการเลิกจ้างเช่นเดียวกันจากปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง และจากภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคบางกลุ่มที่มีภาระการผ่อนชำระสินเชื่อ กับธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank ไม่สามารถผ่อนชำระสินเชื่อต่อไปได้ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สูงขึ้นตามมา และภายใต้เศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงนานัปการ ทำให้สถาบันการเงินปรับเพิ่มความระมัดระวังการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น จะเห็นได้จากจำนวนบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลในเดือนมกราคม 2552 ที่ผ่านมา มีประมาณ 9,751,087 บัญชี หดตัวลงร้อยละ 10.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ที่มีจำนวนบัญชีประมาณ 10,859,449 บัญชี
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ แนวโน้มสินเชื่อส่วนบุคคลปี 2552 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แนวโน้มการเลิกจ้างงานที่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าที่จะส่งผลกระทบต่อความสามารถการผ่อนชำระสินเชื่อของผู้บริโภค และคุณภาพสินเชื่อในระบบของธนาคารพาณิชย์และ Non-Bank รวมถึงการเพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น ประกอบกับแนวโน้มการว่าจ้างแรงงานใหม่ที่ลดลง ทำให้เกิดข้อจำกัดในการขยายฐานสินเชื่อส่วนบุคคลในปีนี้ ดังนี้
ภาพรวมธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลชะลอตัว : เศรษฐกิจซบ…เลิกจ้างงานพุ่ง
ภาพรวมธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วงเดือนแรกของปี 2552 ที่ผ่านมา ชะลอตัวลง โดยยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบในเดือนมกราคม 2552 มีมูลค่าประมาณ 226,942 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.3 ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 8.2 ในปี 2551 ทั้งนี้สาเหตุของการชะลอตัวของยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลส่วนหนึ่งน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีปัจจัยลบรุมเร้ารอบด้าน ทำให้ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank เพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น นอกจากนี้อาจจะมีสาเหตุมาจากผู้ประกอบการมีการปิดบัญชีลูกค้าบางรายที่ประสบกับปัญหาในการผ่อนชำระสินเชื่อ และผู้ประกอบการมีการตัดหนี้สูญออกจากระบบเร็วขึ้น ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อบุคคลจึงชะลอตัวลงอย่างมาก ทั้งนี้จำนวนบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา (โดยจำนวนบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลสิ้นเดือนมกราคม 2552 มีประมาณ 9,751,087 บัญชี ลดลงถึง 1,698,073 บัญชี จากสิ้นเดือนตุลาคม 2551) ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเป็นรายผู้ประกอบการแล้ว พบว่า
ยอดสินเชื่อคงค้างส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงเดือนมกราคม ปี 2552 มีปริมาณอยู่ที่ 104,562 ล้านบาท โดยขยายตัวร้อยละ 18.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 19.3 ในปี 2551
ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในเดือนมกราคม ปี 2552 มีมูลค่าอยู่ที่ 20,806 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 6.9 ในปี 2551
สถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-Bank) ยอดสินเชื่อคงค้างส่วนบุคคลในเดือนมกราคม ปี 2552 มีปริมาณยอดคงค้างทั้งสิ้น 101,574 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 ในปี 2551
สินเชื่อส่วนบุคคลปี 2552 : จับตาทิศทางเศรษฐกิจ…ผลต่อการเลิกจ้างงาน
แนวโน้มธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลปี 2552 คงเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าท้ายในการดำเนินธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความเสี่ยงและอาจจะทวีความรุนแรงขึ้นในระยะข้างหน้า เนื่องมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงส่อเค้าถดถอยอย่างรุนแรง ทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกอาจใช้เวลายาวนานกว่าที่คาดไว้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการชะลอตัวของสินเชื่อบุคคลในปี 2552 ดังนี้
แนวโน้มการจ้างงานใหม่ลดลง…การเลิกจ้างมีทิศทางสูงขึ้น
ทั้งนี้ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยอย่างหนัก ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว เช่น การลดกำลังการผลิต ลดเวลาทำงาน ตลอดจนลดจำนวนพนักงานลงให้สอดคล้องกับภาวะการผลิต แต่บางรายถึงขั้นต้องปิดกิจการลง จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตัวเลขการว่างงานล่าสุด ณ เดือนธันวาคม 2551 มีจำนวนผู้ว่างงาน 538,500 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.4 เพิ่มขึ้น 220,000 คนจากเดือนเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามภายใต้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกมีโอกาสถดถอยรุนแรงมากขึ้นกว่าที่คาดนั้น ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการเลิกจ้างในภาคธุรกิจแผ่ขยายออกไปในวงกว้างมากขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การว่างงานในไตรมาสแรกอาจจะสูงขึ้นมาเกิน 1 ล้านคน จาก 538,500 คนในเดือนธันวาคม 2551 และเมื่อรวมกับการทยอยเลิกจ้างในภาคธุรกิจในเดือนต่อๆ มา ตลอดจนผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ที่คาดว่าจะว่างงานประมาณ 158,000-184,000 คน ก็คาดว่าในช่วงที่ปัญหาการว่างงานรุนแรงที่สุด จำนวนผู้ว่างงานทั้งหมดอาจจะเพิ่มขึ้นไปถึง 1.28-1.52 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานประมาณร้อยละ 3.4-4.0 ของกำลังแรงงานทั้งหมด นับเป็นอัตราที่สูงสุดตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ภาวะดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2552 เมื่อแนวโน้มการเลิกจ้างงานมีทิศทางที่สูงขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของสินเชื่อในระบบ รวมถึงแนวโน้มการว่าจ้างงานที่ลดลง จะส่งผลกระทบลูกค้าใหม่ที่จะเข้ามาสู่ระบบมีจำนวนลดลง
ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank ต่างระมัดระวังการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น
เป็นที่ทราบกันดีว่า ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีปัจจัยลบรุมเร้ารอบด้าน แม้ว่าในขณะนี้ผู้บริโภคกำลังเผชิญกับภาวะที่บีบคั้นทางเศรษฐกิจจนประสบกับสภาพคล่องทำให้ต้องหันมาพึ่งพาสินเชื่อเพื่อนำมาใช้จ่ายมากขึ้นก็ตาม แต่ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank ต่างเพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง
ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank ต่างให้ความสำคัญอย่างมากในการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อรวมถึงการปรับระบบการบริหารความเสี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต อาทิ
การปรับกฎเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ โดยผู้ประกอบการบางรายได้ปรับเพิ่มกฎเกณฑ์คุณสมบัติของผู้สมัครสินเชื่อส่วนบุคคล เช่น การปรับเพิ่มขึ้นอัตรารายได้ขั้นต่ำจากเดิม 7,000 บาทต่อเดือน เป็นรายได้ขั้นต่ำ 10,000 บาทต่อเดือน หรือบางกรณีจากเดิม 10,000 บาทต่อเดือน ก็ปรับขึ้นเป็น 15,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์บางรายได้ปรับรายได้ขั้นต่ำขึ้นเป็น 20,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น
การเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ โดยธนาคารพาณิชย์และ Non-Bank เพิ่มความระมัดระวังการอนุมัติสินเชื่อในบางอาชีพมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจส่งออก โรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจ เช่น ในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น รวมถึงภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่ได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง
การเคร่งครัดการปล่อยวงเงินสินเชื่อ สถาบันการเงินจะปล่อยวงเงินสินเชื่อตามความสามารถการผ่อนชำระสินเชื่อของผู้กู้แต่ละราย โดยขั้นพื้นฐานนั้นสถาบันการเงินจะคำนวณจากภาระรายจ่ายละรายได้ของผู้กู้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งภาวะในขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank ส่วนใหญ่จะอนุมัติวงเงินประมาณ 2-3 เท่าของรายได้ แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank สามารถอนุมัติวงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ต่อเดือนก็ตาม เป็นต้น
จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2552 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบในปี 2552 ภายใต้ สถานการณ์ 2 กรณี คือ
กรณีพื้นฐาน (Base Case) หากรัฐบาลสามารถผลักดันนโยบายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กลับมาสู่ภาคเอกชนและผู้บริโภค ขณะที่หากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่ส่งสัญญาณทรุดตัวลงมากกว่าในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะช่วยลดแรงกดดันต่อภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ที่อาจจะมีผลต่อภาวะการเลิกจ้างงานเพิ่มขึ้นมากนักในระยะข้างหน้า คาดว่ายอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบในปี 2552 น่าจะขยายตัวร้อยละ 0.0 ถึงหดตัวร้อยละ 2.5 (229,100- 223,500 ล้านบาท) จากปี 2551
สำหรับกรณีเลวร้าย (Worst Case) การหดตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลนั้นไม่ได้เป็นผลจากการที่ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank ไม่อนุมัติสินเชื่อแก่ผู้ขอสินเชื่อแต่เพียงประการเดียว แต่ยังเป็นผลจากปัจจัยภาพรวมทางเศรษฐกิจด้วย โดยสำหรับกรณีเลวร้ายนี้ มีความเป็นไปได้ที่ว่าปัญหาวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ จะยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทย รวมทั้งอาจจะส่งผลกระทบต่อการเลิกจ้างในภาคธุรกิจแผ่ขยายออกไปในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถการผ่อนชำระสินเชื่อของผู้บริโภค และสะท้อนกลับมายังคุณภาพสินเชื่อในระบบ ทำให้ผู้ประกอบการอาจจะมีการยกเลิกบัญชีสินเชื่อ และตัดหนี้สูญเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่ายอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบในปี 2552 อาจจะหดตัวร้อยละ 3.8 (220,370 ล้านบาท) จากปี 2551ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank ปรับกลยุทธ์…รับมือเศรษฐกิจ
ภาพรวมของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2552 คงจะเผชิญกับความท้าทายเพิ่มมากขึ้น เมื่อภาวะเศรษฐกิจยังคงเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลในปีนี้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าธนาคารพาณิชย์ และ กลุ่ม Non-Bank จะเพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้นก็ตาม แต่เนื่องจากธุรกิจยังคงต้องดำเนินต่อไป ขณะที่ผู้บริโภคบางกลุ่มยังคงมีความต้องการสินเชื่อ เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทำให้คาดว่าในด้านการดำเนินกลยุทธ์การตลาดขยายฐานสินเชื่อส่วนบุคคลในปีนี้ ธนาคารพาณิชย์ และกลุ่ม Non-Bank คงจะมีวิธีที่แตกต่างกัน ดังนี้
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย ค่อนข้างจะได้เปรียบผู้ประกอบการกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากมีฐานลูกค้าบัญชีเงินฝาก มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงบริษัทที่เป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาด โดยหันมาเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าในกลุ่มบริษัทที่เป็นลูกค้าของตน โดยเฉพาะการเจาะกลุ่มลูกค้าในบริษัทที่มีการทำธุรกรรมกับธนาคารพาณิชย์ อาทิ กลุ่มบริษัทที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ บริษัทที่มีการเปิดบัญชีการจ่ายเงินเดือนพนักงาน (Pay Roll) เป็นต้น ในกรณีนี้ธนาคารพาณิชย์เองสามารถที่จะรู้ถึงความมั่นคงในหน้าที่การงานของผู้ขอสินเชื่อ และสามารถตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ เพื่อช่วยในการอนุมัติสินเชื่อให้ง่ายขึ้น รวมถึงการเจาะกลุ่มลูกค้าเงินฝาก โดยอาจจะมอบสิทธิพิเศษแก่ลูกค้าของสถาบันเงินเมื่อลูกค้าต้องการใช้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ โดยทั่วไปแล้วลูกค้าที่มีเงินฝากกับสถาบันการเงินนั้น อาจจะหันไปใช้บริการสินเชื่อจากแหล่งอื่นเนื่องจากได้รับสิทธิพิเศษ เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ดีกว่า เป็นต้น
กลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศ การแข่งขันจากธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในปีนี้ คาดว่าน่าจะชะลอตัวลง เนื่องจากข้อจำกัดในด้านการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นการขยายสาขา ซึ่งทำให้ฐานลูกค้าของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ถูกจำกัดอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงสาขาธนาคารต่างประเทศบางแห่งก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากวิกฤตการเงินที่กำลังส่งผลกระทบสถาบันการเงินรายใหญ่ทั่วโลกในขณะนี้
กลุ่ม Non-Bank ผู้ประกอบการกลุ่มนี้อาจจะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการเลิกจ้างงานในระยะข้างหน้ามากกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากลูกค้าของกลุ่ม Non-Bank ส่วนหนึ่งจะเป็นกลุ่มที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ ส่งผลทำให้การทำตลาดของกลุ่ม Non-Bank คงจะถูกจำกัดมากขึ้น อย่างไรก็ดีการที่ธนาคารพาณิชย์หลายรายได้ปรับเพิ่มขึ้นอัตรารายได้ขั้นต่ำจากเดิม 15,000 บาทต่อเดือน เป็น 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งทำให้ลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท อาจจะหันมาใช้บริการสินเชื่อในกลุ่ม Non-Bank มากขึ้น แต่การทำตลาดคงจะเน้นที่คุณภาพมากกว่าการเน้นจำนวนบัญชีใหม่ที่เกิดขึ้น
บทสรุปและข้อคิดเห็น
ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2552 คงจะหลีกไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างรุนแรง และแนวโน้มการเลิกจ้างงานที่อาจจะเพิ่มขึ้น ซึ่งธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank คงจะเผชิญกับความท้าทายอย่างมากในการดำเนินธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล เพราะนอกจากที่ต้องคอยติดตามดูแลพอร์ตสินเชื่อของตนอย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการที่ลูกค้าบางรายประสบกับปัญหาเลิกจ้างงาน หรือถูกปรับลดเงินเดือน จนส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้คืนแล้ว การที่ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank ได้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคล อาทิเช่น การปรับกฎเกณฑ์คุณสมบัติขั้นต่ำของผู้ขอสินเชื่อ โดยการปรับขึ้นระดับรายได้ขั้นต่ำต่อเดือนให้สูงขึ้น อาจจะส่งผลกระทบกลับมาสู่ตัวผู้ประกอบการที่จะต้องทำการตลาดหนักขึ้น เนื่องจากฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายและมีคุณภาพจะแคบลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในภาวะเช่นนี้ ธนาคารพาณิชย์ และ Non-bank ต่างปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่แตกต่างไป แม้ความต้องการสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอาจเป็นปัจจัยหนุนต่อการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลก็ตาม แต่การอนุมัติสินเชื่อในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้หากไม่รัดกุมเพียงพอก็อาจจะย้อนกลับมาส่งผลกระทบได้ในภายหลัง ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank บางรายอาจจะเลือกวิธีการการปรับเปลี่ยนกลุ่มลูกค้า โดยหันมาเน้นกลุ่มลูกค้าระดับกลางขึ้นไป เช่น การปรับขึ้นระดับรายได้ขั้นต่ำต่อเดือนให้สูงขึ้นมาเป็น 20,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank บางรายอาจจะยังคงกฎเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำเท่าเดิม โดยคาดหวังว่าจะได้รับลูกค้ามากขึ้น อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมแล้วธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank คงจะเพิ่มความระมัดระวังการอนุมัติสินเชื่อ โดยเฉพาะในกลุ่มสาขาอาชีพ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบในปี 2552 ภายใต้ สถานการณ์ 2 กรณี คือ กรณีพื้นฐาน (Base Case) โดยหากรัฐบาลสามารถผลักดันนโยบายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กลับมาสู่ภาคเอกชนและผู้บริโภค รวมทั้งหากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งอาจจะช่วยลดแรงกดดันต่อภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ที่อาจจะมีผลต่อภาวะการเลิกจ้างงาน คาดว่ายอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบในปี 2552 อาจจะขยายตัวร้อยละ 0.0 ถึงหดตัวร้อยละ 2.5 จากปี 2551 สำหรับกรณีเลวร้าย (Worst Case) ภายใต้สมมติฐานที่สถานการณ์ที่วิกฤตการเงินในสหรัฐฯ จะยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทย รวมทั้งอาจจะส่งผลกระทบต่อการเลิกจ้างในภาคธุรกิจแผ่ขยายออกไปในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบต่อความสามารถการผ่อนชำระสินเชื่อของผู้บริโภค และสะท้อนกลับมายังคุณภาพสินเชื่อในระบบ ทำให้เป็นไปได้ว่าในกรณีเลวร้ายนี้ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบในปี 2552 อาจจะหดตัวร้อยละ 3.8 จากปี 2551
อย่างไรก็ตามประเด็นการหดตัวของยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลนั้นไม่ได้เป็นผลมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อแต่ประการเดียว แต่ยังเป็นผลมาจากปัญหาการเลิกจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเช่นกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถและการผ่อนชำระสินเชื่อ โดยผู้บริโภคบางกลุ่มอาจจะไม่สามารถผ่อนชำระสินเชื่อต่อไปได้ และทำให้ผู้ประกอบการอาจจะมีการยกเลิกบัญชีสินเชื่อ และตัดหนี้สูญเพิ่มขึ้น
สำหรับข้อพิจารณาของผู้ใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่เริ่มมียอดสินเชื่อคงค้างที่เกินกว่าระดับรายได้ของตนเอง หรือมีสินเชื่อมากกว่า 1 บัญชี และต้องการรีไฟแนนซ์สินเชื่อของตนเอง หรือขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น เพื่อนำมาปิดบัญชีสินเชื่อที่มีอยู่นั้น อาจจะต้องศึกษาถึงความสามารถในการผ่อนชำระของตนเอง โดยในกรณีที่ไม่สามารถขอสินเชื่อได้เต็มวงเงินที่จะนำมาปิดบัญชีเก่าได้ทั้งหมด การขอสินเชื่อใหม่ก็อาจจะกลับมาเป็นการเพิ่มภาระในการผ่อนชำระของผู้กู้ได้ในระยะข้างหน้า ซึ่งผู้บริโภคควรที่จะมีการจัดการบริหารการเงินที่ดี ที่สำคัญผู้บริโภคควรที่จะใช้จ่ายบนพื้นฐานของความระมัดระวัง ไม่ควรใช้จ่ายจนเกินกำลัง เพื่อป้องกันการก่อหนี้เพิ่มขึ้น