ธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ต ปี 52 … ผู้ให้บริการมุ่งแข่งขันกันที่ความเร็ว

จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ยังอยู่ในระดับไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทำให้ยังมีโอกาสที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะเพิ่มสูงขึ้นได้อีก ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลดีต่อธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider: ISP) และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญของการเติบโตของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่การพัฒนาเทคโนโลยี โดยแนวโน้มการให้บริการจะมุ่งไปสู่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet) มากยิ่งขึ้น ขณะที่คาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ต หากมีการออกใบอนุญาตบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายระบบ WiMAX และโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ซึ่งจะส่งผลทั้งต่อจำนวนผู้ใช้บริการและการแข่งขันในตลาดบริการอินเทอร์เน็ต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์แนวโน้มตลาดบริการอินเทอร์เน็ต โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 17 ล้านคน

ในปี 2551 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของไทยมีประมาณ 15.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีประมาณ 13.4 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 24.3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ แม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 23.5 แต่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามากเช่น สิงคโปร์อยู่ที่ประมาณร้อยละ 67.4 มาเลเซียอยู่ที่ประมาณร้อยละ 62.8 เป็นต้น ขณะที่เมื่อพิจารณาถึงการกระจุกตัวของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย พบว่า ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง โดยจังหวัดที่มีผู้ใช้มากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ มีประมาณร้อยละ 36.0 นนทบุรีมีประมาณร้อยละ 34.1 ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ใช้น้อยที่สุด ได้แก่ ปัตตานีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 8.8 นราธิวาสอยู่ที่ประมาณร้อยละ 9.2 จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเขตเมืองและต่างจังหวัดอยู่ในระดับที่แตกต่างกันมาก สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือข้อจำกัดด้านโครงข่ายและเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยในต่างจังหวัดมีชุมสายและโครงข่ายในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อรองรับผู้ใช้บริการทั้งแบบมีสายและไร้สายน้อยกว่าในเขตเมือง ข้อจำกัดดังกล่าวนอกจากจะส่งผลต่อโอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่แตกต่างกันระหว่างในเขตเมืองและต่างจังหวัดแล้ว ยังส่งผลต่อความแตกต่างในด้านความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอีกด้วย โดยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมักจะให้บริการในเขตเมืองเท่านั้น เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านโครงข่ายในการเชื่อมต่อผ่าน ADSL ซึ่งเป็นรูปแบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่นิยมใช้มากที่สุด สำหรับในปีนี้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปี 2552 จะมีประมาณ 17 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณร้อยละ 10 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่อประชากรเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26.6 (คำนวณจากสมมติฐานประชากรปี 2552 มีประมาณ 64 ล้านคน) โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากอัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ตที่ปัจจุบันอยู่ในระดับไม่สูงแล้ว โดยค่าบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่าน ADSL ความเร็ว 256/128 Kbps เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 500 บาท/เดือน ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสในการสมัครใช้บริการได้มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ขณะที่ฐานผู้ใช้ยังอยู่ในระดับไม่สูงสามารถเติบโตได้อีก รวมทั้งผู้ให้บริการหลายรายขยายการลงทุนในโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ในต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคมากขึ้นด้วย ตลอดจนการที่อินเทอร์เน็ตได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวัน ทำให้หลายคนมีโอกาสที่จะได้ใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นทั้งในสถานศึกษาและที่ทำงาน

ตลาดบริการอินเทอร์เน็ต ปี 52 … แข่งขันกันที่ความเร็ว ส่วนราคาเริ่มมีเสถียรภาพ

ภาวะการแข่งขันในตลาดบริการอินเทอร์เน็ต ปี 2552 คาดว่าผู้ให้บริการจะยังคงเร่งแข่งขันกันขยายตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในต่างจังหวัดมากขึ้น เนื่องจากอัตราผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ในเขตเมืองก็คาดว่าผู้ให้บริการจะยังคงออกโปรโมชั่นและกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ รวมทั้งจะหันมาใช้กลยุทธ์แข่งขันกันพัฒนาความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น โดยล่าสุดมีแนวโน้มที่จะให้บริการที่ความเร็วสูงถึง 8 Mbps ตลอดจนยังให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการให้บริการมากกว่าที่จะแข่งขันด้านราคาเพียงอย่างเดียว ทำให้อัตราค่าบริการเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ปัจจุบันมีจำนวนผู้ขอใบอนุญาตให้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก แต่ผู้ให้บริการที่ยังทำตลาดอยู่มีประมาณ 20 ราย เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ประมาณ 4 ราย ครองส่วนแบ่งตลาดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ทั้งในส่วนของลูกค้าบุคคลและองค์กร โดยผู้ให้บริการดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาลักษณะของการให้บริการอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่จะต้องใช้โครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานเป็นหลัก ทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานมีความได้เปรียบในแง่ของฐานลูกค้าและการจัดทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายควบคู่กันไปทั้งบริการโทรศัพท์พื้นฐานและบริการอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองก็จะมีความได้เปรียบ โดยผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายต้องมาเช่าใช้โครงข่ายในการให้บริการ ต้นทุนในการดำเนินงานจึงอาจสูงกว่า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าตลาดบริการอินเทอร์เน็ต ปี 2552 จะมีมูลค่าประมาณ 13,000-13,500 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 8-10 ชะลอลงหรือใกล้เคียงกับปีก่อนที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 10 โดยมีปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจที่อาจบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภคลง ทำให้ในตลาดลูกค้าส่วนบุคคลจำนวนลูกค้าใหม่อาจเติบโตในระดับไม่สูงนัก แม้ผู้ให้บริการจะมีแนวโน้มเพิ่มความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากขึ้น ขณะที่แนวโน้มราคามีโอกาสลดลงได้อีกเล็กน้อย แต่โดยรวมแล้วน่าจะใกล้เคียงกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม ในแง่ของตลาดองค์กรคาดว่าจะยังมีแนวโน้มสดใส เนื่องจากปัจจุบันอินเทอร์เน็ตถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินธุรกิจและช่วยลดต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตาม รวมทั้งในตลาดการศึกษาที่มีการลงทุนด้านระบบอินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเรียนการสอนผ่านทางอินเทอร์เน็ต (e-Learning) การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อค้นคว้าข้อมูล โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาเอกชนที่ให้ความสำคัญกับระบบอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างมาก มีการจัดตั้งงบลงทุนเพื่อขยายประสิทธิภาพและความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ แนวโน้มราคาแบนด์วิดท์ที่ลดลงจะช่วยให้ต้นทุนของผู้ให้บริการมีแนวโน้มลดลง โดยในปีนี้ราคาเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 7,000 บาท/Mbps/เดือน ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท/Mbps/เดือน

ปัจจัยที่ต้องติดตามในอนาคตอันใกล้ … WiMAX และ 3G

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดในอีก 1-2 ปีข้างหน้า คือ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไร้สายผ่านระบบ WiMAX และโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ซึ่งปัจจุบัน WiMAX อยู่ในระหว่างจัดทำแผนความถี่และพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีจัดสรรคลื่นความถี่ หลังจากนั้นจึงจะออกใบอนุญาตและเปิดให้บริการได้ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นในปีหน้า ส่วน 3G ก็อยู่ในขั้นตอนเตรียมจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีประมูล โดยจะให้ใบอนุญาตแก่ผู้ให้บริการประมาณ 4 ราย คาดว่าน่าจะจัดประมูลได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และหลังจากนั้นอีกประมาณ 6 เดือน ก็น่าจะเปิดให้บริการได้ในพื้นที่ที่มีฐานผู้ใช้บริการข้อมูลสูง เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต เป็นต้น แล้วจึงทยอยเปิดให้บริการในจังหวัดอื่นๆ

ทั้งนี้ หลังการเปิดให้บริการคาดว่าจะทำให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันเป็นอย่างมาก รวมทั้งจะส่งผลให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยรวมเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มีข้อจำกัดด้านโครงข่ายแบบมีสาย แต่ระบบ WiMAX ซึ่งเป็นระบบอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายจะเข้ามาช่วยขยายโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น โดยมีรัศมีการให้บริการถึงประมาณ 50 กิโลเมตร ขณะที่ระบบ 3G ก็คาดว่าจะเข้ามาช่วยกระตุ้นการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คขนาดเล็ก (Mini Notebook) มากขึ้น ซึ่งจะเหมาะแก่ผู้ใช้บริการที่ต้องมีการเดินทางบ่อย โดยจะมีความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสูงกว่าระบบ GPRS และ EDGE ในปัจจุบัน นอกจากนี้ คาดว่าจะส่งผลต่อการแข่งขันในตลาดบริการอินเทอร์เน็ตด้วย เนื่องจากความเร็วในการให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งแบบมีสายและไร้สายจะใกล้เคียงกันมากขึ้น ภาวะการแข่งขันในตลาดจึงมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นกว่าปัจจุบันและจะส่งผลดีต่อเนื่องมายังผู้บริโภคทั้งในแง่ของบริการและอัตราค่าใช้บริการด้วย แม้ว่าระบบ WiMAX และ 3G คาดว่าจะเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ได้ในปีหน้า แต่ก็คาดว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายเดิมในตลาดจะมีการปรับตัวเร่งจัดทำกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้และเตรียมรองรับการแข่งขันที่จะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

โอกาสของธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคาดว่าจะส่งผลดีต่อหลายธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์โอกาสของธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่สำคัญ ดังนี้

ธุรกิจบริการเชื่อมต่อโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ได้รับผลดีจากจำนวนผู้ใช้และปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองก็ต้องมาใช้บริการขอเช่าหรือเชื่อมต่อโครงข่ายกับผู้ให้บริการโครงข่าย โดยที่ผ่านมาธุรกิจนี้มีมูลค่าตลาดกว่า 3,300 ล้านบาท แม้แนวโน้มราคาแบนด์วิทด์จะมีทิศทางลดลง แต่ปริมาณการใช้งานแบนด์วิทด์กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) คาดว่าจะได้ผลดีจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยขยายตลาดให้กว้างมากขึ้นด้วย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติประเมินว่าธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีมูลค่าสูงถึง 427,460 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกตามจำนวนผู้ใช้อินเทอร์ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาความเชื่อมั่นในการซื้อขายยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการเติบโตของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับสินค้าที่คาดว่าจะมีโอกาสสดใสควรจะเป็นสินค้าที่ขึ้นอยู่กับกระแสนิยมและมีราคาไม่สูงมากนัก ซึ่งราคาขายในอินเทอร์เน็ตก็ควรต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไปด้วย เพื่อที่จะดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาสนใจมากขึ้น โดยสินค้าที่คาดว่าจะมีโอกาส อาทิ สินค้าไอที เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ บริการเดินทางและท่องเที่ยว

ธุรกิจโฆษณาออนไลน์ จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นย่อมทำให้กลุ่มเป้าหมายที่จะสื่อสารด้วยโฆษณาออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้งจากกระแสเว็บเครือข่ายสังคมที่แพร่หลายเป็นอย่างมากน่าจะช่วยผลักดันให้ตลาดโฆษณาออนไลน์เติบโตได้มากขึ้น การโฆษณาออนไลน์ผ่านเว็บเครือข่ายสังคมจะช่วยให้ผู้ประกอบการสินค้าและบริการสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจและมีศักยภาพในการซื้อ ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบการโฆษณาออนไลน์เดิมที่ไม่สามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจน อีกทั้งไทยมีฐานของผู้ใช้งานเว็บเครือข่ายสังคมเป็นจำนวนที่สูงติดอันดับต้นๆ ของโลก ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะซบเซาทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับลดค่าใช้จ่ายโฆษณาลง ซึ่งโฆษณาออนไลน์เป็นช่องทางการโฆษณาที่มีต้นทุนต่ำ ทำให้มีโอกาสที่ภาคธุรกิจจะหันมาใช้การโฆษณาออนไลน์มากขึ้น โดยจากเดิมที่โฆษณาออนไลน์มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 ของโฆษณาโดยรวม ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 2-3

ธุรกิจเกมส์ออนไลน์ ในปี 2551 มูลค่าตลาดของธุรกิจเกมส์ออนไลน์มีถึงประมาณ 3,000-3,200 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าในปีนี้ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวอีกประมาณร้อยละ 8-12 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ทิศทางของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงได้ส่งผลให้ต้นทุนลิขสิทธิ์เกมส์ออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยลบต่อการนำเข้าเกมส์ออนไลน์ใหม่ๆ รวมทั้งปัจจุบันมีจำนวนเกมส์ในตลาดเป็นจำนวนมาก ก็อาจเป็นข้อจำกัดในการเติบโตของตลาดได้

ธุรกิจบริการชำระเงินออนไลน์ ก็จะได้รับประโยชน์จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยที่ผ่านมาบริการชำระเงินออนไลน์สามารถทำได้หลายช่องทาง ทั้งผ่านบัตรเครดิต/บัตรเดบิต ผ่านบริการตัวกลางทางการเงิน หรือผ่านสถาบันการเงิน (e-Banking) ซึ่งจากแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีระบบรักษาความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ต ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการมากขึ้น ประกอบกับการเติบโตของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ก็ทำให้มีการชำระเงินออนไลน์มากขึ้นตามไปด้วย

สรุปและข้อคิดเห็น

ในปี 2551 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของไทยมีประมาณ 15.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีประมาณ 13.4 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 24.3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ แม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของทั่วโลก แต่เมื่อเทียบกับสิงคโปร์และมาเลเซียก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาก อีกทั้งส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง เนื่องจากข้อจำกัดด้านโครงข่ายและเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งยังส่งผลต่อความแตกต่างในด้านความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอีกด้วย สำหรับในปีนี้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปี 2552 จะมีประมาณ 17 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณร้อยละ 10 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่อประชากรเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26.6 มีปัจจัยสนับสนุนมาจากอัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ตที่ปัจจุบันอยู่ในระดับไม่สูงแล้ว ขณะที่ฐานผู้ใช้ยังอยู่ในระดับต่ำสามารถเติบโตได้อีก รวมทั้งผู้ให้บริการหลายรายยังขยายการลงทุนในโครงข่ายเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ในต่างจังหวัดมากขึ้น

ภาวะการแข่งขันในตลาดบริการอินเทอร์เน็ต ปี 2552 คาดว่าผู้ให้บริการจะยังคงเร่งแข่งขันกันขยายตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในต่างจังหวัดมากขึ้น เนื่องจากอัตราผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ในเขตเมืองก็คาดว่าผู้ให้บริการจะยังคงออกโปรโมชั่นและกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ รวมทั้งจะหันมาใช้กลยุทธ์แข่งขันกันพัฒนาความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น ทำให้อัตราค่าบริการเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าตลาดบริการอินเทอร์เน็ต ปี 2552 จะมีมูลค่าประมาณ 13,000-13,500 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 8-10 ชะลอลงหรือใกล้เคียงกับปีก่อนที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 10

โดยมีปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจที่อาจบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภคลง ทำให้ในตลาดลูกค้าส่วนบุคคลจำนวนลูกค้าใหม่อาจเติบโตในระดับไม่สูงนัก อย่างไรก็ตาม ในแง่ของตลาดองค์กรคาดว่าจะยังมีแนวโน้มสดใส เนื่องจากปัจจุบันอินเทอร์เน็ตถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินธุรกิจและช่วยลดต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตาม รวมทั้งในตลาดการศึกษาที่มีการลงทุนด้านระบบอินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาเอกชนที่ให้ความสำคัญกับระบบอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ราคาแบนด์วิดท์ในปีนี้มีแนวโน้มลดลง โดยราคาเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 7,000 บาท/Mbps/เดือน ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท/Mbps/เดือน ทำให้ต้นทุนของผู้ให้บริการมีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดในอีก 1-2 ปีข้างหน้า คือ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไร้สายผ่านระบบ WiMAX และโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ซึ่งหลังการเปิดให้บริการคาดว่าจะทำให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันเป็นอย่างมาก รวมทั้งจะส่งผลให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยรวมเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งคาดว่าจะส่งผลต่อการแข่งขันในตลาดบริการอินเทอร์เน็ตด้วย เนื่องจากความเร็วในการให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งแบบมีสายและไร้สายจะใกล้เคียงกันมากขึ้น ภาวะการแข่งขันในตลาดจึงมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นกว่าปัจจุบันและจะส่งผลดีต่อเนื่องมายังผู้บริโภคทั้งในแง่ของบริการและอัตราค่าใช้บริการด้วย

ระบบอินเทอร์เน็ตถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อหลายภาคส่วน ทั้งด้านเศรษฐกิจ เช่น กระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนสำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ช่วยส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมไอซีที เป็นต้น รวมทั้งด้านสังคม เช่น ขยายโอกาสทางการศึกษา พัฒนาระบบสาธารณสุขทางไกล เป็นต้น ดังนั้น นโยบายของภาครัฐควรมุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและกระจายโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้มากขึ้น โดยเฉพาะการพิจารณาออกใบอนุญาต WiMAX และ 3G ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ให้มากขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐก็ควรควบคุมให้อัตราค่าบริการเป็นไปอย่างเหมาะสมและสะท้อนต้นทุนการดำเนินงานอย่างแท้จริง