อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในปีนี้กำลังประสบกับวิกฤติครั้งใหญ่อีกครั้งนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ถึง 2541 ซึ่งในครั้งนั้นยอดผลิตและยอดขายรถยนต์ในประเทศของไทยหดตัวลงอย่างรุนแรงถึงประมาณร้อยละ 60 ทำให้ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมรถยนต์ต่างพยายามหากลยุทธ์ต่างๆเพื่อประคองธุรกิจให้ผ่านสถานการณ์ในช่วงนี้ไปได้ โดยค่ายรถต่างๆได้นำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดต่างๆมาดึงดูดลูกค้าเพื่อกระตุ้นยอดขายของตน อย่างไรก็ตามในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ไปเกือบทั่วโลก และเศรษฐกิจในประเทศเองก็มีทิศทางที่หดตัวเช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงที่ลำบากพอสมควรสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ที่จะกระตุ้นตลาดในขณะนี้ ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มตลาดรถยนต์ในประเทศในช่วงเดือนถัดๆไป ดังรายละเอียดต่อไปนี้
จากรายงานตัวเลขยอดขายรถยนต์ในประเทศเบื้องต้นตั้งแต่ช่วงต้นปีพบว่า ยอดขายรถยนต์สะสมในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 ได้ร่วงลงไปถึงประมาณร้อยละ 30 เหลือเพียง 66,446 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มียอดขาย 94,679 คัน โดยหากพิจารณาเป็นรายเดือนจะพบว่ายอดขายในประเทศหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 แล้ว (เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน) ซึ่งเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมายอดขายได้หดตัวถึงร้อยละ 30.2 ติดลบเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่หดตัวร้อยละ 29.4 และเป็นตัวเลขติดลบสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2541 แต่หากวิเคราะห์อย่างละเอียดพบว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานเปรียบเทียบที่สูงอย่างมากในปีก่อน ที่ในช่วง 2 เดือนแรก ได้รับประโยชน์จากการที่มาตรการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์อี 20 เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 ทำให้ยอดขายขยายตัวเป็นตัวเลขถึง 2 หลัก ส่งผลให้ในปีนี้ยอดขาย 2 เดือนแรกนี้ดูแล้วหดตัวค่อนข้างรุนแรง นอกจากนี้ยอดขายรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ ยังมีผลของการชะลอการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เนื่องจากรอคอยความชัดเจนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการออกมาตรการกระตุ้นตลาดรถยนต์ของรัฐบาลที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ยื่นข้อเสนอไป ซึ่งผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์คาดหวังว่าถ้าหากมีมาตรการออกมาก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อรถได้มาก
ทั้งนี้ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาทางภาคเอกชนในอุตสาหกรรมรถยนต์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีการขอความช่วยเหลือในมาตรการต่างๆจากทางภาครัฐ* เพื่อกระตุ้นยอดขายรถยนต์ในประเทศ หลังยอดการส่งออกรถยนต์ของไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกทำให้หดตัวลงอย่างมากต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามเนื่องจากรัฐบาลเล็งเห็นว่าการให้ความช่วยเหลือแก่อุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งเป็นการเฉพาะ อาจจะเป็นการไม่เป็นธรรมสำหรับธุรกิจอื่นๆ จึงอาจไม่เหมาะสมในทางปฏิบัติ รวมทั้งรัฐบาลเองก็มีข้อจำกัดทางการคลัง ทำให้สุดท้ายแล้วรัฐบาลจึงตัดสินใจที่จะไม่ให้ความช่วยเหลือในด้านมาตรการลดภาษี แต่ได้รับที่จะนำไปพิจารณาความช่วยเหลือในด้านการฝึกอบรมแรงงาน และเพิ่มศักยภาพผู้ผลิตยานยนต์ รวมถึงการให้สำรวจความต้องการซื้อจากส่วนราชการ ที่ต้องการจริงๆ เพื่อช่วยกระตุ้นการซื้อส่วนหนึ่ง
แนวทางรอดของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถยนต์จึงจำเป็นต้องหาทางช่วยเหลือตนเองอย่างไม่อาจเลี่ยง ซึ่งงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 30 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 มีนาคม ถึง 6 เมษายน 2552 นี้ จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ต่างก็หวังว่าจะสามารถช่วยดึงยอดขายให้ฟื้นขึ้นมาได้บ้าง นอกจากนี้คาดว่ายอดขายรถยนต์ในเดือนมีนาคมจะมีปัจจัยหนุนจากความต้องการซื้อที่เลื่อนมาจากเดือนก่อนหน้า โดยหลังจากมีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะไม่มีการออกมาตรการลดภาษีสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ (มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา) น่าจะทำให้ผู้ซื้อรถที่รอผลการตัดสินใจของรัฐบาลในช่วงก่อนหน้านี้ สามารถตัดสินใจซื้อได้ทันที เนื่องจากไม่มีความจำเป็นจะต้องรอมาตรการที่รัฐจะออกมาให้ความช่วยเหลืออีก นอกจากนี้การตัดสินใจซื้อรถในเดือนมีนาคมยังอาจได้รับประโยชน์จากโปรโมชั่นส่งเสริมการขายต่างๆ รวมถึงรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่ทางค่ายรถต่างนำมาเสนอในงาน ซึ่งจะเห็นว่ารถยนต์รุ่นใหม่ที่นำมาเปิดตัวในงานหลายรุ่นมุ่งตอบสนองต่อการใช้งานของผู้ซื้อมากขึ้น โดยเฉพาะการนำเสนอรถยนต์รุ่นเล็กที่ประหยัดพลังงานได้มาก นอกจากนี้บางรุ่นก็มีการปรับเปลี่ยนภายในเพื่อดึงดูดความสนใจซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงมีการนำเสนอรถยนต์ที่เน้นราคาประหยัดมากชึ้น การเปิดตัวรถยนต์ยี่ห้อใหม่ เช่น รถยนต์ของบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่จากประเทศจีน เป็นต้น รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมการตลาดต่างๆนอกจากการลดราคารถยนต์ลง เช่น การให้โปรโมชั่นฟรีดอกเบี้ย หรือเงินดาวน์ต่ำเพียงร้อยละ 10 การให้ผ่อนดาวน์ได้ถึง 10 เดือน เหลือเดือนละไม่ถึง 2,000 บาท การแถมทั้งประกันภัยและการบำรุงรักษายาวถึง 5 ปี รวมไปถึงโปรโมชั่นนำรถเก่ามาแลกรถใหม่ และการแจกของรางวัลต่างๆ เช่น ทองคำ เป็นต้น เหล่านี้คาดว่าจะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้ในช่วงของการจัดงานในปีนี้มีโอกาสที่จะคึกคักขึ้นสวนทางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้บ้าง
อย่างไรก็ตามในปีนี้ เนื่องจากมีปัจจัยลบที่จะยังเป็นปัจจัยกดดันยอดขายอยู่ค่อนข้างมาก ทั้งภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทต่างๆโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกต้องประสบกับปัญหาสภาพคล่อง รวมถึงการลงทุนในประเทศที่ลดลง ทำให้ภาวะการว่างงานในประเทศเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงราคาสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะลดลง ต่างส่งผลให้สถาบันการเงินต่างเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าในหลายสาขาอาชีพ โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์เนื่องจากผู้ซื้อรถถึงประมาณร้อยละ 80 ยังคงใช้บริการสินเชื่อในการซื้อรถยนต์ อันจะส่งผลกระทบโดยตรงอย่างมากกับยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งผู้ซื้อส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้มีรายได้ประจำซึ่งเป็นเหตุผลหลักอย่างหนึ่งในการอนุมัติสินเชื่อ
นอกจากปัจจัยลบดังกล่าวแล้ว ปัจจัยด้านราคาน้ำมันก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยปัจจุบันราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นมาเหนือระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เทียบกับประมาณ 39 ถึง 40 ดอลลาร์ ณ ปลายปี 2551 นอกจากนี้ราคาน้ำมันในประเทศหลังรัฐบาลกลับมาใช้มาตรการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดังเดิมภายหลังนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชนให้ลดลงนั้นได้สิ้นสุดลงในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศค่อยๆปรับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกลับมาสู่ระดับเดียวกันกับช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว และทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลอย่างแก๊สโซฮอล์ ทั้ง อี 10 และ อี 20 ปรับขึ้นมาสูงกว่าราคาน้ำมันดีเซลอีกครั้ง หลังจากที่ราคาน้ำมันดีเซลได้ขึ้นสูงกว่าราคาน้ำมัน 2 ชนิดนี้ในช่วงเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้ที่คิดจะซื้อรถที่จะนำมาประกอบการพิจารณาเนื่องจากเป็นต้นทุนต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งเป็นโอกาสที่ค่ายรถบางรายนำรถยนต์นั่งส่วนบุคคลรุ่นที่ใช้น้ำมันดีเซลออกมากระตุ้นตลาดอีกครั้ง
จากปัจจัยข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ายอดขายรถยนต์ในเดือนมีนาคมน่าจะกระเตื้องขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ แต่ถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าคาดว่าจะยังหดตัวในอัตราที่ค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากฐานเปรียบเทียบที่สูงมากในปีก่อนซึ่งมีการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์อี 20 รวมทั้งมีรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดหลายรุ่น สำหรับสีสันของตลาดรถยนต์ในช่วงนี้ คาดว่ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลจะยังคงได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะรถขนาดเล็กประหยัดพลังงาน รวมไปถึงรถยนต์นำเข้าขนาดเล็กราคาประหยัดจากต่างประเทศ ส่วนรถเพื่อการพาณิชย์นั้นจะเน้นที่สมรรถนะ และความสามารถในการประหยัดพลังงานของตัวรถเป็นหลัก ในขณะที่รถยนต์นังส่วนบุคคลที่ติดตั้งถังเอ็นจีวีคาดว่าจะได้รับความนิยมน้อยลงพอสมควร เนื่องจากความไม่สะดวกในการเติมก๊าซเอ็นจีวี และราคาน้ำมันที่แม้จะเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยแต่ก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงวิกฤติน้ำมันในปีที่แล้วค่อนข้างมาก และคาดว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากระดับนี้มากนักตลอดทั้งปี เนื่องจากได้รับความกดดันจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มจะยังไม่ฟื้นตัวในปีนี้
โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยอดขายรถยนต์ในเดือนมีนาคมจะมีจำนวนประมาณ 43,500 ถึง 46,000 คัน เทียบกับ 34,361 คันในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าคาดว่าจะยังหดตัวสูงถึงร้อยละ 30 ถึง 34 โดยปัจจัยหนุนยอดขายในเดือนมีนาคมมาจากความต้องการซื้อที่เลื่อนมาจากเดือนก่อนหน้า (Pent-up Demand) รวมถึงการทุ่มโปรโมชั่นต่างๆของค่ายรถในงานมหกรรมมอเตอร์โชว์ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วคาดว่ายอดขายรถยนต์โดยรวมช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 มีโอกาสหดตัวลงถึงร้อยละ 30 ถึง 32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยด้านเศรษฐกิจจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันที่สำคัญอยู่
สำหรับยอดขายรถยนต์ในช่วง 1 ถึง 2 ไตรมาสจากนี้จะยังเผชิญปัจจัยลบจากปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะปัญหาการว่างงานและรายได้ของผู้บริโภคที่ลดลง แต่ในด้านอัตราการเปลี่ยนแปลงอาจจะหดตัวน้อยลง เนื่องจากฐานเปรียบเทียบที่ทยอยต่ำลงในปีที่แล้ว โดยในปี 2551 ยอดขายค่อยๆชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 2 จากที่เติบโตสูงขึ้นในไตรมาสที่ 1 และการที่รัฐจะมีการสำรวจความต้องการรถของภาคราชการเพื่อซื้อรถใหม่นั้นคาดว่าอาจทำให้ปริมาณการซื้อรถยนต์ใหม่ในตลาดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามต่อไปว่าแนวทางความช่วยเหลือของภาครัฐแก่อุตสาหกรรมรถยนต์ว่าจะมีผลต่อตลาดได้เพียงใด โดยในส่วนของความช่วยเหลือจากภาครัฐนอกเหนือจากการหาแนวทางช่วยเพิ่มอุปสงค์ในการซื้อรถยนต์ในส่วนของภาคราชการแล้ว รัฐบาลควรเฝ้าติดตามสถานการณ์และผลกระทบที่จะมีต่อกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์โดยเฉพาะเอสเอ็มอีซึ่งกำลังประสบปัญหาคำสั่งซื้อที่หดหายไปอย่างมากและมีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองได้น้อยกว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ทั้งในด้านการหาตลาดใหม่ๆและด้านการเงิน ขณะเดียวกันควรเร่งรัดโครงการความช่วยเหลือที่สามารถบรรเทาผลกระทบของธุรกิจให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว เช่น ความช่วยเหลือในด้านสภาพคล่องผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และการจัดโครงการอบรมทักษะแรงงานโดยรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนเพื่อชะลอการเลิกจ้างในธุรกิจ เป็นต้น อย่างไรก็ตามตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ยังพอจะมีโอกาสท่ามกลางวิกฤติบ้าง โดยอาจหันไปผลิตเพื่อรองรับตลาดชิ้นส่วนอะไหล่ซึ่งน่าจะเป็นที่ต้องการมากขึ้นในระยะข้างหน้านี้ นอกจากนี้แม้ว่าช่วงนี้สภาพเศรษฐกิจจะมีทีท่าไม่สู้ดีนักแต่ค่ายรถยนต์ต่างๆยังคงปักหลักเดินหน้าลงทุนในไทยต่อเนื่อง ในจำนวนนี้บางค่ายก็มีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตบางรุ่นมายังประเทศไทยอีกด้วย เป็นสัญญาณแสดงว่าเมื่อเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัวแล้ว ตลาดรถยนต์ในประเทศของไทยคาดว่าจะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในรถขนาดเล็กประหยัดพลังงาน