FTA อาเซียน-อียูชะงัก…ขณะที่การส่งออกไทยหดตัวจากภาวะถดถอยของยุโรป

การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป (FTA อาเซียน-อียู) ต้องยุติลงชั่วคราว หลังการประชุมคณะกรรมการร่วมจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรปครั้งที่ 7 เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2552 ที่มาเลเซีย ไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับข้อเสนอของสหภาพยุโรปที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการเจรจาจากระดับภูมิภาคต่อภูมิภาคไปเป็นระดับทวิภาคีในกรอบ FTA อาเซียน-อียูระหว่างสหภาพยุโรปกับสมาชิกอาเซียนเดิมคือ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไนรวมถึงเวียดนามเพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้โดยเร็วก่อนที่จะขยายขอบเขตออกไปยังสมาชิกที่เหลือ ที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความหลากหลายของพัฒนาการทางกฎหมายทำให้อาเซียนเดิม กับกลุ่มประเทศ CLMV ประกอบด้วยกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม มีความต้องการเปิดตลาดสินค้า บริการและการลงทุนแตกต่างกันและเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การเจรจาไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเจรจามาเป็นระดับทวิภาคีจะลดอำนาจการต่อรองของไทยซึ่งมีระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจและกฎหมายต่ำกว่าสหภาพยุโรปและอาจจะกระทบต่อโอกาสการค้าการลงทุนของไทยในอนาคต นอกจากนี้การเจรจาแบบทวิภาคีจะทำให้สมาชิกอาเซียนต้องแข่งขันกันเปิดการเจรจากับอียูก่อนเพื่อฉกฉวยโอกาสและชิงความได้เปรียบ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับไทยโดยเฉพาะหลังจากอาเซียนต้องลดอุปสรรคทางการค้าการลงทุนและการเคลื่อนย้ายแรงงานภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) อย่างสมบูรณ์ภายในปี 2558 ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนจากสหภาพยุโรปที่มีธุรกิจในอาเซียนสามารถใช้สิทธิประโยชน์จาก AEC ได้เช่นเดียวกับนักธุรกิจสัญชาติอาเซียนเอง โดยเฉพาะการใช้สิทธิประโยชน์จากการเปิดเสรีภาคบริการและลงทุนในกรอบ AEC ทำให้นักลงทุนจากสหภาพยุโรปสามารถเข้ามาให้บริการและลงทุนในสาขาบริการที่ไทยมีความอ่อนไหวสูงได้มากขึ้นเช่น บริการทางการเงิน บริการขนส่งและโลจิสติกส์ เป็นต้น

แต่ไม่ว่าการเจรจาจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม การเจรจา FTA อาเซียน-อียูอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้ จากประสบการณ์ของอาเซียนในการเจรจา FTA แต่ละกรอบความตกลงฯ ที่ผ่านมา มักจะใช้เวลาราว 3-4 ปีจึงจะได้ข้อตกลงร่วมกัน หลังจากนั้นจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งสำหรับการลงนามและให้สัตยาบันเพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน สวนทางกับความต้องการของอียูที่จะผลักดันให้การเจรจา FTA แล้วเสร็จภายใน 2 ปี เพราะการเจรจาที่เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ปัจจุบันยังคงอยู่ในขั้นตอนของการร่างกรอบความตกลงและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งยังไม่ได้เริ่มต้นการเจรจารายละเอียดของข้อบทในความตกลงฯ แต่อย่างใด ความเห็นที่ต่างกันมากของอาเซียนกับอียูในเรื่องรูปแบบการลดภาษีของการเปิดตลาดสินค้า รูปแบบการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุน ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงนโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนรวมถึงประเด็นสิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อม ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ข้อสรุปร่วมกัน โดยเฉพาะประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่อียูต้องการผลักดันให้บรรจุเป็นข้อบทในความตกลงฯ ขณะที่อาเซียนถือเป็นประเด็นอ่อนไหวเพราะไม่เคยมีประสบการณ์เจรจาเพื่อยกร่างเป็นข้อบทในความตกลงฯ มาก่อนเนื่องจากความไม่พร้อมของสมาชิกอาเซียนบางประเทศ

การหยุดพักการเจรจา FTA อาเซียน-อียู ลงชั่วคราวเพื่อรอการตัดสินใจจากเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ร่วมหารือกันในเรื่องรูปแบบของการเจรจาในคราวการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนราวต้นเดือนพฤษภาคม 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า การเจรจา FTA อาเซียน-อียูที่ยุติลงชั่วคราวอาจจะไม่ส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อทิศทางการส่งออกของไทยในปีนี้ แต่คาดว่าวิกฤตเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่กำลังคุกคามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในภูมิภาคเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยชะลอตัวลงอย่างหนัก แม้ว่าสินค้าไทยจะได้รับสิทธิ GSP รอบใหม่จากสหภาพยุโรปเป็นจำนวนมากก็ตาม นอกจากนี้ FTA อาเซียน-อียูที่ล่าช้าออกไปอาจจะไม่ทันท่วงทีที่จะช่วยต้านทานกระแสกีดกันทางการค้าของสหภาพยุโรปที่กำลังสร้างความท้าทายให้กับผู้ส่งออกของไทยได้ในขณะนี้

? วิกฤตเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับสองของไทยรองจากอาเซียนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยในปีนี้หดตัวลงเพราะขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยในสหภาพยุโรปอย่างเนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศสและอิตาลีต่างเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว ความเลวร้ายทางเศรษฐกิจที่ทำให้ปัญหาการว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกดดันให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหภาพยุโรปลดลงจนแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา และส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสหภาพยุโรปตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาหดตัวลงถึงร้อยละ 28.2 (yoy) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 19.4 (yoy) ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักที่ยังไม่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น จะกดดันให้การส่งออกของไทยในปี 2552 หดตัวลงถึงร้อยละ 13.5-20.0 แม้ว่าสินค้าส่งออกที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเช่น สินค้าอาหาร อาหารแปรรูป จะขยายตัวได้ดี ประกอบกับผู้ผลิตไทยบางส่วนปรับตัวโดยหันไปผลิตสินค้าที่มีราคาลดลงตามกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอลงเช่น ผลิตภัณฑ์เสริมความงามและเครื่องนุ่งหุ่มสำหรับตลาดระดับกลางและล่างมากขึ้น

นอกจากนี้รัฐบาลของหลายชาติสมาชิกในสภาพยุโรปต่างออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลเพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมและกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเยอรมนีมูลค่า 101.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ถึงร้อยละ 78.7 ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของฝรั่งเศสมูลค่า 35.12 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ กลับเน้นกระตุ้นการบริโภคในประเทศเป็นหลัก (ร้อยละ 71.5 ของวงเงิน) อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปโดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศยังไม่เห็นผลนั้น คาดว่า การส่งออกของไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยลบจากกำลังซื้อที่หดตัวลงพร้อมกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังไม่มีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นในระยะอันใกล้นี้ สะท้อนจากปัญหาการว่างงานที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูง

? ปัจจุบันสินค้าส่งออกไทยกว่า 7,000 รายการยังคงได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือสิทธิ GSP (Generalized System of Preference) จากสหภาพยุโรปส่งผลให้สินค้าไทยถูกเรียกภาษีในระดับต่ำหรือได้รับการยกเว้นภาษี ทั้งนี้จากการพิจารณาสิทธิ GSP ช่วงที่ 2 ของสหภาพยุโรปที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2552 จนถึง 31 ธันวาคม 2554 มีสินค้าของไทยจำนวน 20 หมวดสินค้าที่ยังคงได้รับสิทธิ GSP ที่สำคัญเช่น เครื่องปรับอากาศ อาหารทะเลแปรรูปและแช่แข็ง เป็นต้น โดยมีสินค้าที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP คือ กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ(HS 71) และกลุ่มสินค้าที่ได้คืนสิทธิ GSP คือ ยานพาหนะและอุปกรณ์ (HS 86-89) ส่งผลให้สินค้ากลุ่มยานยนต์ของไทยได้รับการยกเว้นภาษีอีกครั้งในปีนี้ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสของไทยให้เข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป 27 ประเทศได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากการเจรจา FTA เกาหลีใต้-อียูมีผลบังคับใช้อาจจะทำให้ผู้ส่งออกสินค้ายานยนต์และอุปกรณ์ไทยเผชิญกับการแข่งขันจากเกาหลีใต้ในตลาดสหภาพยุโรปมากขึ้น นอกจากนี้ไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของการได้รับสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรปในรอบต่อไปด้วย

นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยยังใช้สิทธิ GSP เพื่อการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปไม่มากนักคิดเป็นร้อยละ 45.75 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP ในปี 2550 โดยสินค้าที่มีการใช้สิทธิ GSP ไม่มากนักได้แก่ เครื่องหนัง อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เซรามิกและของที่ทำจากแก้ว ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า เฟอร์นิเจอร์และของเล่นเด็ก เป็นต้น คาดว่าสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากกฎแหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้กรอบ GSP ที่ค่อนข้างเข้มงวดของสหภาพยุโรปซึ่งกำหนดให้สินค้าไทยที่จะใช้สิทธิ GSP ต้องใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นอย่างน้อยร้อยละ 50-60 ขณะที่กฎแหล่งกำเนิดของอาเซียนกำหนดให้ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นร้อยละ 40 นอกจากนี้กฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่ไม่สอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตของไทยก็เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งทำให้สินค้าไทยที่แม้จะอยู่ในรายการที่จะได้รับสิทธิ GSP แต่ก็ไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ที่สหภาพยุโรปกำหนดให้ปลาทูน่าที่ถูกจับในน่านน้ำไทยเท่านั้นจึงจะได้รับสิทธิ GSP ขณะที่ไทยไม่มีปลาทูน่าในประเทศต้องอาศัยการนำเข้าจากญี่ปุ่นมาผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหภาพยุโรป

? มาตรการและกฎระเบียบทางการค้าของสหภาพยุโรปบางรายการที่เข้มงวดและยากต่อการปฏิบัติถือเป็นอุปสรรคและสร้างภาระต้นทุนให้กับผู้ส่งออกของไทยมาโดยตลอด ผนวกกับภาวะปัจจุบันที่กระแสกีดกันทางการค้าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมและการจ้างงานในประเทศกำลังมาแรงนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรการหรือกฎระเบียบทางการค้าที่อียูทยอยประกาศออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้สร้างความท้าทายให้กับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังอียูอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นมาตรการทางด้านสุขอนามัยคน พืชและสัตว์ ที่อยู่ในระดับสูงซึ่งอียูให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ และเป็นที่น่าสังเกตว่า อียูเพิ่มความเข้มงวดหรือยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยของสินค้านำเข้าให้สูงขึ้นทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม ทั้งนี้มาตรฐานสินค้า มาตรฐานสุขอนามัย มาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่สหภาพยุโรปเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นจะสร้างภาระต้นทุนให้กับสินค้าส่งออกของไทยที่จะต้องเร่งพัฒนามาตรฐานสินค้า มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสหภาพยุโรปได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ยังมีสินค้าส่งออกของไทยที่กำลังถูกมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ อย่างการกำหนดโควตาภาษีสำหรับสินค้าบางรายการของไทยเช่น ไก่ปรุงสุกและปลาทูน่ากระป๋อง และการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping หรือ AD) ซึ่งถือเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ที่สหภาพยุโรปใช้มากที่สุด โดยปี 2551 สหภาพยุโรปเรียกเก็บภาษี AD กับสินค้าจากไทย 7 รายการได้แก่ (1) Coumarin (2) ท่อ/ข้อต่อทำด้วยเหล็ก (Tube and pipe fitting, of iron or steel) (3) เม็ดพลาสติก (Polyethylene terephthalate: P.E.T) (4) ถุงหรือกระสอบพลาสติก(Plastic sacks and bags) (5) ท่อเหล็ก (Welded tubes and pipes, of iron or non-alloy steel) (6) สลักภัณฑ์ (Stainless steel fasteners and parts thereof) (7) ข้าวโพดหวาน (prepared or preserved, in kernels)

บทสรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป (FTA อาเซียน-อียู) ที่ต้องยุติลงชั่วคราวอาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยโดยรวมในปี 2552 ที่มีแนวโน้มหดตัวลงร้อยละ 13.5-20.0 มากนัก เพราะกระบวนการเจรจา FTA จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจนกว่าจะเสร็จสิ้นซึ่งอาจจะไม่ทันท่วงทีที่จะช่วยกระตุ้นการส่งออกท่ามกลางกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายได้ แม้ว่าไทยจะกระตุ้นการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับสองของไทยรองจากอาเซียนโดยเน้นการส่งออกสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตรวมถึงสินค้าที่มีราคาต่ำเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดสหภาพยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างหนัก แต่วิกฤตเศรษฐกิจที่คุกคามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหภาพยุโรปจนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้หดตัวลงอย่างหนักถึงร้อยละ 28.2 (yoy) ลดลงจากปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 19.4 (yoy)

แม้ว่าสินค้าไทยกว่า 7,000 รายการเช่น เครื่องปรับอากาศ กุ้งแปรรูปและปลาหมึกแช่เย็นแช่แข็ง จะได้รับสิทธิ GSP รอบใหม่จากสหภาพยุโรปที่เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นมา แต่การส่งออกของไทยส่วนใหญ่ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงซบเซาอย่างหนัก เห็นได้จากสินค้ากลุ่มยานยนต์และอุปกรณ์ ที่ไทยเพิ่งได้คืนสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรปในรอบนี้ แม้ว่าไทยจะสามารถส่งออกยานยนต์ไปยังสหภาพยุโรปได้โดยไม่ถูกเรียกเก็บภาษี แต่การส่งออกรถยนต์ของไทยกลับหดตัวถึงร้อยละ 62 ขณะที่การส่งออกรถจักรยานยนต์ซึ่งมีราคาต่ำกว่ารถยนต์กลับขยายตัวถึงร้อยละ 46.3 แม้ว่าอัตราการขยายตัวจะชะลอลงจากปี 2551 ก็ตาม สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแรงของผู้บริโภคและภาคการผลิตในสหภาพยุโรปโดยเฉพาะรถแวน รถกระบะและรถบรรทุกที่มีอัตราการหดตัวค่อนข้างสูง

นอกจากนี้การเจรจา FTA อาเซียน-อียูที่ล่าช้าออกไปอาจจะไม่ทันท่วงทีที่จะช่วยต้านทานกระแสกีดกันทางการค้าของสหภาพยุโรปที่กำลังสร้างความท้าทายให้กับผู้ส่งออกของไทยได้ในขณะนี้ เนื่องจากสหภาพยุโรปทยอยประกาศมาตรการและกฎระเบียบทางการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการด้านสุขอนามัยคน พืชและสัตว์ และมาตรการสิ่งแวดล้อมที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญค่อนข้างมาก คาดว่าการส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรปในปีนี้คงต้องเผชิญกับความท้าทายจากทั้งความต้องการของตลาดที่ชะลอตัวลงอย่างหนักและอุปสรรคทางการค้าจากมาตรการต่างๆ ของสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันทำให้ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างไทยต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก