จากการชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลซึ่งทวีความรุนแรงถึงขั้นจลาจลในช่วงระหว่างวันที่ 11-12 เมษายน 2552 ทำให้รัฐบาลต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2552 และใช้กำลังทหารเข้าควบคุมสถานการณ์จนสามารถคลี่คลายสู่ภาวะปกติ โดยได้มีการยุติการชุมนุมลงในวันที่ 14 เมษายน 2552 แต่ภาพเหตุการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งตอกย้ำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติขาดความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยวประเทศไทยมากยิ่งขึ้น และเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์การท่องเที่ยวไทย ที่บอบช้ำอยู่แล้ว จากเหตุการณ์ชุมนุมและปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิของกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อปลายปี 2551 ให้ยิ่งทรุดหนักลงไปอีก
อาจกล่าวได้ว่า สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ยังไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งนำไปสู่การชุมนุมของกลุ่มต่างๆเพื่อเรียกร้องทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา บั่นทอนศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้ถอยหลังกลับไปอยู่ในช่วง 4-5 ปีก่อนหน้านี้ คือ ช่วงปี 2547-2548 ที่การท่องเที่ยวไทยต้องเผชิญกับวิกฤตสึนามิ และมีรายได้จากการท่องเที่ยวในขณะนั้นประมาณ 380,000 ล้านบาท
สำหรับ เหตุการณ์จลาจลที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นเทศกาลงานรื่นเริงเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทยในระหว่างวันที่ 11-15 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ความพยายามของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการเร่งฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทย ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆเรียกความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยให้กลับคืนมาในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงต้นปี 2552 ต้องสูญเปล่า ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวตามเมืองต่างๆในตลาดท่องเที่ยวหลักของไทยในภูมิภาคเอเชีย เพื่อชักจูงผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวให้นำนักท่องเที่ยวเดินทางมายังเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆของไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจการบิน โดยหลายฝ่ายต่างคาดหวังกันว่า ในช่วงโลว์ซีซั่นปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากจากตลาดท่องเที่ยวระยะใกล้ในภูมิภาคเอเชียเดินทางเข้ามายังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆของไทยอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในกรุงเทพฯในช่วงเวลาดังกล่าว จนรัฐบาลต้องประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งตอกย้ำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนไม่น้อยหวั่นเกรงความไม่ปลอดภัยภายในประเทศไทย และหวนระลึกถึงเหตุการณ์การปิดล้อมสนามบินในช่วงปลายปี 2551 รัฐบาลของกว่า 20 ประเทศจึงได้ประกาศเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทยในช่วงนี้ และเตือนนักท่องเที่ยวที่จำเป็นต้องพำนักอยู่ในประเทศไทยต่อไปให้ระมัดระวังตัวอย่างเข้มงวดเพื่อความปลอดภัย โดยหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ราชการหรือที่ที่มีการชุมนุมประท้วง ส่งผลให้บรรดาบริษัทนำเที่ยวในต่างประเทศทั้งหลาย โดยเฉพาะญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ต่างยกเลิกทัวร์ที่จะเดินทางมายังประเทศไทยทันที
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จึงคาดการณ์ว่า จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปี 2552 มีแนวโน้มถดถอยลงจากปี 2551 รุนแรงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์จลาจลดังกล่าว และมีแนวโน้มทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้ด้านการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นมูลค่าประมาณ 50,000-100,000 ล้านบาทจากประมาณการเดิม
กรณีเหตุการณ์ความรุนแรงไม่ยืดเยื้อ : คาดสูญรายได้ท่องเที่ยวเข้าประเทศ 50,000 ล้านบาท
ในกรณีที่เหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศได้รับการคลี่คลายลงได้โดยเร็ว และไม่เกิดเหตุการณ์ชุมนุมที่ทวีความรุนแรงขึ้นมาอีกในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2552 บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ถดถอยลงร้อยละ 16 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 มีแนวโน้มถดถอยลงในอัตราประมาณร้อยละ 24 ในช่วงไตรมาสที่ 2 และชะลอการถดถอยลงมาอยู่ในอัตราร้อยละ 16 ช่วงไตรมาสที่ 3 ส่วนไตรมาสสุดท้ายซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นคาดว่าจะสามารถฟื้นตัวกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปี 2551
จากแนวโน้มดังกล่าวจึงคาดว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยลดลงประมาณร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 6.3 ล้านคน และชะลอการถดถอยลงเหลือเพียงร้อยละ 4 ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามารวมทั้งสิ้นประมาณ 6.4 ล้านคน
ทำให้โดยรวมตลอดทั้งปี 2552 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 12.7 ล้านคน ลดลงร้อยละ 13 จากปี 2551 และสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวเข้าประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 430,000 ล้านบาทลดลงร้อยละ 17
เมื่อเปรียบเทียบกับที่คาดการณ์ไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์รุนแรงในช่วงสงกรานต์ พบว่า กรณีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมประมาณ 1.3 ล้านคน (เดิมคาดการณ์ไว้ที่ 14 ล้านคน) และส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้ด้านการท่องเที่ยวคิดเป็นมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาทจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 480,000 ล้านบาท
กรณีเหตุการณ์ความรุนแรงยืดเยื้อ : คาดสูญรายได้ท่องเที่ยวเข้าประเทศ 100,000 ล้านบาท
ในกรณีที่ความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจทางการเมืองทวีความรุนแรง และอาจนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศได้อีกในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2552 อันจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านความสงบและปลอดภัยในประเทศอย่างมาก จนยากที่จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของไทยให้กลับคืนมาในหมู่นานาประเทศได้ในระยะเวลาอันสั้น ทำให้มีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้แก่ประเทศคู่แข่งด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น โดย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ถดถอยลงร้อยละ 16 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 มีแนวโน้มถดถอยลงอย่างรุนแรงในอัตราประมาณร้อยละ 35 ในช่วงไตรมาสที่ 2 และชะลอการถดถอยลงมาอยู่ในอัตราร้อยละ 25 ช่วงไตรมาสที่ 3 ส่วนไตรมาสสุดท้ายซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นมีแนวโน้มทรงตัว โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2551
จากแนวโน้มดังกล่าวจึงคาดว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยลดลงประมาณร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 5.9 ล้านคน และชะลอการถดถอยลงเหลือเพียงร้อยละ 12 ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามารวมทั้งสิ้นประมาณ 5.8 ล้านคน
ทำให้โดยรวมตลอดทั้งปี 2552 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 11.7 ล้านคน ลดลงเกือบร้อยละ 20 จากปี 2551 และสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวเข้าประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 380,000 ล้านบาทลดลงร้อยละ 27 ตัวเลขนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวถอยหลังไป 4-5 ปีใกล้เคียงกับจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ในปี 2547-2548
เมื่อเปรียบเทียบกับที่คาดการณ์ไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์รุนแรงในช่วงสงกรานต์ พบว่า กรณีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมประมาณกว่า 2 ล้านคน (เดิมคาดการณ์ไว้ที่ 14 ล้านคน) และส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้ด้านการท่องเที่ยวคิดเป็นมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาทจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 480,000 ล้านบาท
สรุป
นอกจากจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ลุกลามไปทั่วโลกแล้ว ในปี 2552 การท่องเที่ยวไทยยังคงต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความไม่แน่นอน ซึ่งได้นำไปสู่ความแตกแยกทางสังคมของประชาชนในประเทศอย่างเด่นชัดนับตั้งแต่ปลายปี 2551 เป็นต้นมา จนมาถึงเหตุการณ์จลาจลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ที่ตอกย้ำซ้ำเติมให้ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2552 ย่ำแย่มากยิ่งขึ้น ทำให้คาดว่ารายได้ด้านการท่องเที่ยวของไทยในปี 2552 มีแนวโน้มลดลงจากที่เคยได้ประมาณกว่า 5 แสนล้านในปีที่แล้วเหลือเพียงประมาณ 380,000-430,000 ล้านบาทใกล้เคียงกับรายได้ด้านการท่องเที่ยวของไทยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว
ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนคนไทยทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันสานสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้เกิดความสงบสุขในประเทศอย่างแท้จริง และมีการประสานความร่วมมืออย่างจริงจังและต่อเนื่องระหว่างหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในอันที่จะเร่งชี้แจงสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบันที่กลับสู่ภาวะปกติแล้ว และเชิญผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวและสื่อมวลชนจากนานาประเทศ ให้เดินทางมาสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วยตนเอง เพื่อความมั่นใจด้านความปลอดภัย อันจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของไทยทำให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และสามารถเพิ่มพูนรายได้ด้านการท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามาช่วยเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศได้ในที่สุด