คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 เห็นชอบปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งสุราแช่ประเภทเบียร์ และสุรากลั่นชนิดสุราขาว สุราผสม และสุราพิเศษ(บรั่นดี) โดยมีผลทันทีตั้งแต่เวลา 24.00 น.ของคืนวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 ซึ่งการปรับขึ้นภาษีในครั้งนี้ คาดว่า จะทำให้ภาครัฐมีรายได้ทางภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 6,300 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว จะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการปรับขึ้นภาษีในช่วงที่กำลังซื้อของประชาชนปรับลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และปัญหาการเมืองซึ่งส่งผลต่ออารมณ์ความต้องการสังสรรค์ที่ลดลง และยิ่งต้องเผชิญกับราคาจำหน่ายที่สูงขึ้นตามภาระต้นทุนด้านภาษี ก็มีแนวโน้มที่ประชาชนจะตัดสินใจชะลอหรือลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยลง แต่จากปัจจัยด้านกำลังซื้อที่ชะลอตัว ประกอบกับการที่ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และร้านค้าต่างๆมีการผลิตและสั่งซื้อสินค้าไว้ล่วงหน้าพอสมควร ภายหลังจากมีกระแสข่าวการปรับขึ้นภาษีออกมาก่อนล่วงหน้า ทำให้ผู้ประกอบการและร้านค้าสามารถแบกรับภาระภาษีที่ปรับขึ้นไปได้ระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากสต็อกที่เป็นต้นทุนเดิมหมดลงและจำเป็นต้องปรับราคาขึ้นตามภาระภาษีใหม่ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น ปริมาณจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คงจะต้องปรับลดลงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง และปัญหาหนึ่งที่จะเกิดขึ้นพร้อมๆกันได้แก่ การผลิตและลักลอบนำเข้าสุราโดยไม่เสียภาษีจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งท้ายที่สุดอาจทำให้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปรับเพิ่มขึ้นได้ไม่เท่ากับที่คาดหวังไว้ ซึ่งปัญหานี้จำเป็นที่ภาครัฐต้องระวังป้องกันไว้ด้วย
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กระแสข่าวเกี่ยวกับการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อชดเชยภาวะการขาดดุลงบประมาณภาครัฐ มีออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นสินค้าที่มีมูลค่าตลาดค่อนข้างสูงถึงประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท อีกทั้งรายได้ภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บได้ในแต่ละปีงบประมาณก็ค่อนข้างสูงถึงประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาทต่อปี ในขณะเดียวกัน อัตราการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังไม่เต็มเพดานสูงสุดมีหลายรายการ อาทิ สุราขาว สุราผสม สุราพิเศษประเภทบรั่นดี เบียร์ และสุราแช่พื้นเมือง ยกเว้นไวน์ที่เก็บภาษีเต็มเพดานแล้วรวมทั้งในช่วงที่ผ่านมา องค์กรภาคเอกชนต่างๆมีการเรียกร้องให้ปรับขึ้นภาษีเพื่อควบคุมและชะลอการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของภาคประชาชนที่อยู่ในระดับสูงให้ลดลงซึ่งในที่สุด ภาครัฐก็ได้ตัดสินใจปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา ทั้งประเภทสุราแช่และสุรากลั่น โดยมีรายละเอียดดังนี้
ประเภทสุราแช่
เบียร์ จากเดิมที่จัดเก็บภาษีตามมูลค่าร้อยละ 55 ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 ส่วนภาษีตามปริมาณยังคงเดิมที่ 100 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์(100 ดีกรี)หรือ 1 บาทต่อลิตรต่อ 1 ดีกรี คาดว่าการปรับภาษีดังกล่าวจะทำให้ราคาขายปลีกปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 4-5 บาทต่อขวด
ประเภทสุรากลั่น
สุราขาว จากเดิมที่จัดเก็บภาษีตามปริมาณจาก 110 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์(100 ดีกรี)หรือ 1.10 บาทต่อลิตรต่อ 1 ดีกรี ปรับเพิ่มเป็น 120 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์(100ดีกรี)หรือ 1.20 บาทต่อลิตรต่อ 1 ดีกรี ส่วนภาษีตามมูลค่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีการจัดเก็บภาษีเต็มเพดาน ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 1.75-2.50 บาทต่อขวด
สุราผสม จากเดิมที่จัดเก็บภาษีตามปริมาณจาก 280 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์(100ดีกรี)หรือ 2.80 บาทต่อลิตรต่อ 1 ดีกรี ปรับเพิ่มเป็น 300 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์(100ดีกรี)หรือ 3.00 บาทต่อลิตรต่อ 1 ดีกรี ส่วนภาษีตามมูลค่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีการจัดเก็บภาษีเต็มเพดาน คาดว่าการปรับภาษีดังกล่าวจะทำให้ราคาขายปลีกปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 4-5 บาทต่อขวด
สุราพิเศษประเภทบรั่นดี จากเดิมภาษีตามมูลค่าอยู่ที่ร้อยละ 45 ปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 48 ส่วนภาษีตามปริมาณยังคงเดิมที่ 400 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์(100 ดีกรี)หรือ 4 บาทต่อลิตรต่อ 1 ดีกรี คาดว่าการปรับภาษีดังกล่าวจะทำให้ราคาขายปลีกปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 19 บาทต่อขวด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของภาครัฐในครั้งล่าสุดนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อหลายๆฝ่าย เช่น ผู้ผลิตสุรา ผู้บริโภค ภาครัฐ รวมทั้งภาพรวมตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งระบบ ซึ่งสรุปเป็นข้อสังเกตได้ดังนี้
ผลกระทบทางด้านผู้ผลิตและผู้ค้า กระแสข่าวการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเพิ่มรายได้ให้รัฐ เป็นประเด็นข่าวที่รับทราบมานาน ก่อนที่ภาครัฐจะได้อนุมัติปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 ส่งผลให้ผู้ผลิตและร้านค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการเตรียมตัวมาระยะหนึ่ง โดยในส่วนของผู้ผลิตนั้น ได้มีการเร่งผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากในช่วงไตรมาสแรกปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว แต่อัตราการใช้กำลังการผลิตของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม อัตราการใช้กำลังผลิตสุราอยู่ที่ร้อยละ 70.4 ทั้งที่โดยปกติอัตราการใช้กำลังผลิตในช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50-60 ส่วนเบียร์นั้นอัตราการใช้กำลังผลิตเดือนมีนาคม 2552 อยู่ที่ร้อยละ 99.2 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 80-90 สำหรับในส่วนของร้านค้านั้นก็มีการสั่งซื้อสินค้าเพื่อสต็อกเพิ่มขึ้นทั้งที่ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม สุรามีปริมาณจำหน่ายอยู่ที่ 80 ล้านลิตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับเบียร์นั้นปริมาณจำหน่ายอยู่ที่ 197.8 ล้านลิตรเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.5 ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ทำให้ผู้ผลิตและผู้ค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้มีการสต็อกสินค้าไว้ สามารถชะลอการปรับขึ้นราคาจำหน่าย หรือบางรายอาจปรับราคาขึ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าภาระภาษีจริงโดยยอมแบกรับภาระบางส่วนไว้ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะกำลังซื้อที่ไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะความต้องการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายหลังจากช่วงสงกรานต์ที่มีน้อยลง เนื่องจากมิใช่ฤดูขายเพราะจะเข้าสู่ฤดูฝนและเทศกาลเข้าพรรษา รวมทั้งยังสามารถช่วยด้านการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นที่มีการปรับขึ้นราคาสินค้าได้
อย่างไรก็ตาม หากสต็อกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นต้นทุนเดิมหมดลง ผู้ประกอบการก็มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาให้สอดคล้องกับภาระภาษีใหม่ ซึ่งก็มิอาจปฎิเสธได้ว่าเมื่อถึงตอนนั้นแล้ว จะส่งผลกระทบทั้งในส่วนของผู้ผลิตและภาพรวมตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งระบบ ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดแบกรับภาระต้นทุนภาษีที่ปรับขึ้นไว้เอง ก็จะกระทบต่อรายได้และกำไรของธุรกิจ และส่งผลต่อเนื่องไปถึงงบประมาณการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่มีจำกัดตามไปด้วย ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการปรับภาษีในครั้งนี้ ได้แก่ ตลาดเบียร์ราคาถูกและสุราขาว ซึ่งมีฐานลูกค้าสำคัญในกลุ่มรายได้ไม่สูงมากนักเหมือนกัน จึงมีการแข่งขันกันระหว่างสินค้าเพื่อช่วงชิงกำลังซื้อที่มีจำกัดในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว สำหรับในส่วนของสุราขาวนั้น คาดว่า ผลกระทบที่ได้รับจะรุนแรงน้อยกว่าเบียร์ เนื่องจากภาระทางภาษีเพิ่มขึ้นเพียงประมาณขวดละ 1.75-2.00 บาท ในขณะที่เบียร์เพิ่มขึ้นประมาณขวดละ 4-5 บาท มิหน่ำซ้ำยังอาจจะได้กลุ่มลูกค้าที่เคยดื่มเบียร์บางส่วนหันมาดื่มสุราขาวทดแทนอีกด้วย
ผลกระทบทางด้านผู้บริโภค ในปี 2552 กำลังซื้อของประชาชนมีการชะลอตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกและของไทยที่ถดถอย ส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานมากกว่า 1 ล้านคน ในขณะเดียวกัน ราคาพืชผลการเกษตรส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพาราที่เคยปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับสูงในปี 2551 มีแนวโน้มปรับลดลงในปี 2552 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากภาคการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยด้านการเมืองอีกด้วย ดังนั้นการขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงนี้ จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคที่ต้องแบกรับภาระภาษีที่ผู้ประกอบการจะผลักภาระมาให้ โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่มีรายได้ปานกลางถึงล่างที่กำลังแบกรับค่าครองชีพภายใต้กำลังซื้อที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มภาษีในครั้งนี้ หากพิจารณาในด้านดีจะพบว่า มีส่วนช่วยส่งเสริมให้ประชาชนชะลอหรือลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อสุขภาพอนามัยแล้ว ยังช่วยทำให้ครัวเรือนประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านนี้ลงในระยะยาวอีกด้วย
ผลกระทบทางด้านภาพรวมตลาด การขึ้นภาษีสรรพสามิตหลายครั้งที่ผ่านมา พบว่าตลาดสามารถปรับตัวในระยะเวลาไม่นานนัก โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง กำลังซื้อของประชาชนยังดี แต่สำหรับการขึ้นภาษีในครั้งนี้ระยะเวลาการฟื้นตัวของตลาดคาดว่า จะยาวนานกว่าเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนมีความระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น โดยลดการใช้จ่ายในส่วนสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นลง อาทิ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งลดกิจกรรมการจัดงานประชุม งานเลี้ยงสังสรรค์ การทำกิจกรรมนอกบ้าน (เช่น ด้านบันเทิง สันทนาการ) และยิ่งมาถูกซ้ำเติมด้วยการปรับขึ้นภาษีเข้าด้วยแล้ว ผลกระทบจึงมีมากขึ้นตาม ซึ่งหากต้องการให้ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฟื้นตัว คงต้องฝากความหวังไว้กับความสำเร็จของภาครัฐในการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย
ผลกระทบด้านภาครัฐ กระทรวงการคลังได้ประเมินว่า การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ จะทำให้ภาครัฐมีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 6,300 ล้านบาทต่อปี ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ประชาชนลดการดื่มแอลกอฮอล์ลงไปได้ระดับหนึ่ง และช่วยให้ภาครัฐลดภาระรายจ่ายด้านการรักษาผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุอันเป็นผลจากการดื่มแอลกอฮอล์ได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามสิ่งที่ภาครัฐควรระมัดระวังเป็นพิเศษภายหลังการปรับขึ้นภาษีดังกล่าว ได้แก่ ปัญหาด้านการลักลอบผลิตหรือนำเข้าสุราโดยหลีกเลี่ยงภาษีอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการลักลอบนำเข้าพื้นที่ตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะทำให้รัฐเก็บภาษีน้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
กล่าวโดยสรุปแล้ว การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของภาครัฐในครั้งนี้ ด้านหนึ่ง จะเป็นประโยชน์ต่อการช่วยชะลอหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชน ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพอนามัย และช่วยลดปัญหาการบาดเจ็บและการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ได้เป็นอันมาก ในขณะเดียวกัน ยังสามารถสร้างรายได้และแบ่งเบาภาระด้านการเงินของภาครัฐ โดยเฉพาะในช่วงที่การจัดเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย ประการสำคัญ ยังช่วยลดแรงกดดันจากองค์กรภาคเอกชนที่ต้องการให้ภาครัฐมีมาตรการลดการดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนลง สำหรับผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็คงจะต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอดของธุรกิจด้วย เช่น การให้ความสนใจกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จับตลาดกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อไม่สูงมากนัก อาทิ สุรา เบียร์และไวน์ราคาถูก เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อที่ลดลง ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง สำหรับในส่วนของภาครัฐเอง ก็จำเป็นต้องสอดส่องและตรวจตราการผลิตหรือการลักลอบนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่เสียภาษี โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้