สัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้….ช่วยกระตุ้นภาคส่งออกไทยไปเกาหลีใต้

ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศ ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเมษายนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 9 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนปรับขึ้นสูงระดับ 98 จุด จากเดิมในระดับ 84 จุดในเดือนมีนาคม อีกทั้ง ในไตรมาสที่ 1/ 2552 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเกาหลีใต้ (จีดีพี) ขยายตัวร้อยละ 0.1 (q-o-q) เทียบกับในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ที่ลดลงร้อยละ 5.1 (q-o-q) ทั้งนี้ การที่ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ปรับตัวดีขึ้นนี้อาจเป็นการบ่งชี้ถึงสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้ หลังจากรัฐบาลเกาหลีใต้ดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 6 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมา ลดลงเหลือร้อยละ 2 ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อรับมือกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก

ส่วนด้านการผลิตในไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่า ติดลบลดลงเหลือร้อยละ 3.2 (q-o-q) จากเดิมที่มีอัตราติดลบเกือบร้อยละ 12 (q-o-q) ในไตรมาสที่ 4/2551 ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการขยายตัวของสาธาณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ปรับตัวเป็นร้อยละ 8 (q-o-q) เทียบกับในไตรมาสที่ 4/2551 ที่ลดลงร้อยละ 1.6 ขณะเดียวกัน ภาคก่อสร้างมีอัตราการเติบโตร้อยละ 6.1 (q-o-q) ด้านภาคบริการและการบริโภคของเอกชนขยายตัวร้อยละ 0.3 (q-o-q) และร้อยละ 0.4 (q-o-q) ตามลำดับ ขณะที่ภาคส่งออกหดตัวในอัตราที่ชะลอลงเหลือร้อยละ 3.4 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 4/2551 ซึ่งหดตัวลงเกือบร้อยละ 13 ทั้งนี้ ภาคส่งออกในเดือนเมษายน ติดลบลดลงเหลือร้อยละ 19 (y-o-y) เทียบกับในเดือนมีนาคมมีอัตราที่ติดลบร้อยละ 22 (y-o-y) สะท้อนถึงสัญญาณการฟื้นตัวซึ่งอาจผ่านช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจต่ำสุดมาแล้ว ขณะที่การนำเข้าในไตรมาสแรกของปีนี้ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยหดตัวร้อยละ 7 เทียบกับในช่วงไตรมาสที่ 4/2551 ที่หดตัวสูงร้อยละ 15.7 ซึ่งอาจเป็นสัญญาณชี้ว่า ภาคส่งออกของเกาหลีใต้เริ่มทรงตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบเศรษฐกิจเกาหลีใต้รายไตรมาสกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เศรษฐกิจเกาหลีใต้หดตัวลงร้อยละ 4.3 (y-o-y) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปี 2551 เนื่องจากภาคส่งออกที่ยังคงทรุดตัวอย่างต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปีนี้ แม้จะมีสัญญาณที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกที่กดดันให้อุปสงค์ในตลาดต่างประเทศยังคงอ่อนแรง ขณะที่อัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4 ในเดือนมีนาคม โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เปิดเผยว่า ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกที่อาจจะต้องใช้เวลาการฟื้นตัว โดยคาดการณ์ในเดือนเมษายนว่า ในปี 2552 เศรษฐกิจเกาหลีใต้มีแนวโน้มจะหดตัวร้อยละ 4 และน่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ในปี 2553 อย่างไรก็ตาม ดัชนีทางเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ของเกาหลีใต้อย่างภาคส่งออกและภาคการผลิตได้ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 รวมถึงภาคส่งออกในเดือนเมษายน 2552 ซึ่งมีสัญญาณดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2552

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกและสัญญาณปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทย-เกาหลีใต้ในปี 2552 ซึ่งทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ภาวะการค้าระหว่างไทย-เกาหลีใต้ ในช่วงไตรมาสที่ 1/2552 และแนวโน้มที่เหลือของปีนี้ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

การค้าไทย-เกาหลีใต้

ปัจจุบันเกาหลีใต้เป็นตลาดส่งออกสินค้าของไทยอันดับที่ 13 โดยมีสหรัฐ ฯ ญี่ปุ่น และจีนเป็นเป็นประเทศที่ไทยส่งออกไปมากในอันดับ 1, 2 และ 3 ตามลำดับ ส่วนในด้านการนำเข้า เกาหลีใต้ถือเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าสำคัญของไทยอันดับที่ 6 รองจากญี่ปุ่น จีน สหรัฐ ฯ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ตามลำดับ โดยในปี 2551 ที่ผ่านมา การส่งออกของไทยไปยังเกาหลีใต้ขยายตัวกว่าร้อยละ 23 จากปีก่อนหน้า ขณะที่การนำเข้าของไทยจากเกาหลีใต้ขยายตัวเกือบร้อยละ 30 อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 มูลค่าการค้ารวมของไทยกับเกาหลีใต้ ลดลงกว่าร้อยละ 23 มีมูลค่าการค้าทั้งสิ้น 1,838.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ โดยการส่งออกมีมูลค่าทั้งสิ้น 613.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ลดลงเกือบร้อยละ 25 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าลดลงเช่นกัน โดยมีอัตราหดตัวที่ร้อยละ 22.67 มูลค่าการนำเข้ารวม 1,225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ทั้งนี้ การค้าไทย-เกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 1/2552 ไทยยังคงเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับเกาหลีใต้ มูลค่า 611.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ จากเดิม 770.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยการขาดดุลการค้ากับเกาหลีใต้มีอัตราที่ชะลอลงร้อยละ 20.69

สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปเกาหลีใต้

ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 สินค้าส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้ที่สำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันดิบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

เมื่อวิเคราะห์สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปเกาหลีใต้ในช่วงไตรมาสที่ 1/2552 พบว่า สินค้าส่งออกที่ยังคงหดตัวสูงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2551 ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า มูลค่า 65.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ หดตัวร้อยละ 27.74 ยางพารา มูลค่า 52.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ลดลงเกือบร้อยละ 44 กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ มูลค่า 23.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ลดลงร้อยละ 8.31 ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มูลค่า 22.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ลดลงเกือบร้อยละ 40 ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ มูลค่า 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ลดลงกว่าร้อยละ 53

ขณะที่สินค้าส่งออกที่หดตัวในอัตราที่ชะลอลง คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 51.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ลดลงเหลือร้อยละ 11.82 จากเดิมหดตัวกว่าร้อยละ 21 ในช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า และ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 15.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ลดลงร้อยละ 12.3 เทียบกับในช่วงไตรมาสเดียวกันของปี 2551 หดตัวกว่าร้อยละ 40 นอกจากนี้ สินค้าส่งออกขยายตัวชะลอลง คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ มูลค่า 22.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ขยายตัวร้อยละ 14.54 จากช่วงเดียวกันของปี 2551 ที่ขยายตัวเกือบร้อยละ 62

เป็นที่น่าสังเกตว่า สินค้าส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากสวนทางกับสินค้าส่งออกหลักรายการอื่น ได้แก่ น้ำมันดิบ มูลค่า 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.60 และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร มูลค่า 38.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ขยายตัวสูงเกือบร้อยละ 240 จากเดิมที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 14.39 ในช่วงเดียวกันของปี 2551 ทั้งนี้ คาดว่า การขยายตัวของสินค้าส่งออกของไทยประเภทสินค้าพลังงานและสินค้าทุนไปเกาหลีใต้น่าจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยการผลิตในภาคอุตสาหกรรมบางสาขาของเกาหลีใต้ที่เริ่มฟื้นตัว จึงส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าน้ำมันดิบและเครื่องจักกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรของเกาหลีใต้จากไทยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

สินค้านำเข้าของไทยจากเกาหลีใต้

สินค้าที่ไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้ที่สำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ และ สิ่งพิมพ์

สินค้านำเข้ารายการสำคัญที่ลดลงอย่างมาก ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 143.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ลดลงร้อยละ 40.28 เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน มูลค่า 102.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ลดลงเกือบร้อยละ 16 เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ มูลค่า 92.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ลดลงเกือบร้อยละ 29 เคมีภัณฑ์ มูลค่า 78.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ลดลงกว่าร้อยละ 53 แผงวงจรไฟฟ้า มูลค่า 68.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ลดลงร้อยละ 53.01 สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 49.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ลดลงร้อยละ 41.38 และเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ มูลค่า 36.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ลดลงร้อยละ 41.1

ส่วนสินค้านำเข้าที่ขยายตัวเร่งขึ้น ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มูลค่า 178.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เพิ่มขึ้นสูงเกือบร้อยละ 50 เทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 11.3ผลิตภัณฑ์โลหะ มูลค่า 155.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ขยายตัวเกือบร้อยละ 110 และเป็นที่น่าสังเกตว่า ไทยนำเข้าสิ่งพิมพ์จากเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างมาก มูลค่า 31.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ขยายตัวมากถึง 3,683.41 จากเดิมขยายตัวร้อยละ 300 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญของการสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากเกาหลีใต้ที่หดตัวลงส่วนใหญ่น่าจะมาจากปัญหาภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจโลก ซึ่งทำให้ความต้องการนำเข้าของไทยเพื่อใช้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมลดลง โดยเฉพาะสินค้านำเข้าวัตถุดิบ/ขั้นกลาง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ วิกฤตเศรษฐกิจโลกยังส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อภายในประเทศไทยที่อ่อนแรงลง รวมทั้ง ภาวะการว่างงานที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคมีการเก็บออมและชะลอการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าบางรายการลดลง โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ และ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เป็นต้น

สำหรับทิศทางการค้าไทย-เกาหลีใต้ ในปี 2552 น่าจะชะลอตัวลงจากปี 2551 เนื่องจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงบั่นทอนความต้องการของตลาดต่างประเทศให้ชะลอลง ส่งผลให้ภาคส่งออกและภาคการผลิตของประเทศเกาหลีใต้ยังคงอ่อนแรงและทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางจากไทยชะลอลงตามไปด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สะท้อนถึงแนวโน้มการค้าไทย-เกาหลีใต้ว่าอาจจะติดลบต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ แต่คาดว่า การส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้น่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราติดลบน่าจะชะลอลง เนื่องจากสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจเกาหลีใต้และเศรษฐกิจประเทศสำคัญ ๆ ของโลกอย่าง สหรัฐ ฯ จีน และญี่ปุ่น โดยได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเกาหลีใต้มูลค่า 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ที่ส่งผลขับเคลื่อนเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของเกาหลีใต้ที่ออกมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตาสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจของโลกที่เป็นหัวจักรขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะ สหรัฐ ฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน รวมถึงสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้อย่างใกล้ชิด ซึ่งหากมีสัญญาณชี้วัดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น ก็อาจส่งผลให้การค้าระหว่างไทย-เกาหลีใต้ฟื้นตัวขึ้นและอาจขยายตัวเป็นบวกในช่วงปลายปี 2552

กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 ส่งสัญญาณบ่งชี้ถึงการปรับตัวที่ดีขึ้น โดยในไตรมาสที่ 1/ 2552 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเกาหลีใต้ (จีดีพี) ขยายตัวร้อยละ 0.1 (q-o-q) เทียบกับในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ที่ลดลงร้อยละ 5.1 (q-o-q) ขณะที่การส่งออกในเดือนเมษายน 2552 ปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราติดลบชะลอลงเหลือร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับที่ติดลบร้อยละ 22 ในเดือนมีนาคม 2552 ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนปรับขึ้นสูงระดับ 98 จุด จากเดิมในระดับ 84 จุดในเดือนมีนาคม การที่ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ปรับตัวดีขึ้นนี้อาจเป็นการบ่งชี้ถึงเศรษฐกิจเกาหลีใต้ที่ถึงจุดต่ำสุดแล้วและมีสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยหลังจากรัฐบาลเกาหลีใต้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 6 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมา จนลดลงเหลือร้อยละ 2 ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อรับมือกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ยังพบว่า ภาคการผลิตในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มีการปรับตัวดีขึ้น ติดลบลดลงเหลือร้อยละ 3.2 (q-o-q) สอดคล้องกับอัตราการขยายตัวของสาธาณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8 (q-o-q) เทียบกับในไตรมาสที่ 4/2551 ที่ลดลงร้อยละ 1.6 ขณะเดียวกันภาคก่อสร้างมีอัตราการเติบโตร้อยละ 6.1 (q-o-q) ด้านภาคบริการและการบริโภคของเอกชนขยายตัวเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 (q-o-q) และร้อยละ 0.4 (q-o-q) ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบเศรษฐกิจเกาหลีใต้กับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 เศรษฐกิจเกาหลีใต้หดตัวลงร้อยละ 4.3 (y-o-y) เนื่องจากภาคส่งออกที่ยังคงทรุดตัวในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่องที่กดดันให้อุปสงค์ในตลาดต่างประเทศลดลง ขณะที่อัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4 ในเดือนมีนาคม
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกและสัญญาณปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทย-เกาหลีใต้ในปี 2552 โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 มูลค่าการค้ารวมของไทยกับเกาหลีใต้ ลดลงกว่าร้อยละ 23 มีมูลค่าการค้าทั้งสิ้น 1,838.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ โดยการส่งออกมีมูลค่าทั้งสิ้น 613.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ลดลงเกือบร้อยละ 25 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ในขณะเดียวกันมูลค่าการนำเข้าลดลงเช่นกันที่ร้อยละ 22.67 มูลค่าการนำเข้ารวม 1,225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ โดยการค้าไทย-เกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 1/2552 ไทยยังคงเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับเกาหลีใต้ มูลค่า 611.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ จากเดิม 770.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2551 แต่มูลค่าขาดดุลมีอัตราชะลอลงร้อยละ 20.69 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ยังมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 อย่างไรก็ตาม น้ำมันดิบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร ซึ่งมีการขยายตัวดีขึ้น รวมถึงสินค้าส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้บางรายการมีอัตราติดลบชะลอลง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สะท้อนถึงภาคการผลิตในเกาหลีใต้ที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ขณะที่สินค้านำเข้าของไทยจากเกาหลีใต้ที่หดตัวลงในช่วงเดียวกันส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้านำเข้าวัตถุดิบ/ขั้นกลาง อย่างไรก็ตาม ไทยนำเข้าสินค้าบางรายการจากเกาหลีใต้ขยายตัวเร่งขึ้น อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ และสิ่งพิมพ์ สะท้อนถึงความต้องการผลิตในไทยที่ปรับตัวดีขึ้น

ส่วนแนวโน้มการค้าไทย-เกาหลีใต้ในปี 2552 นั้น คาดว่า น่าจะชะลอตัวจากปี 2551 เนื่องจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงบั่นทอนความต้องการของตลาดต่างประเทศให้ซบเซา ส่งผลให้ภาคส่งออกและภาคการผลิตของประเทศเกาหลีใต้ชะลอลงและทำให้ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทยและเกาหลีใต้ตามไปด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สะท้อนถึงแนวโน้มการค้าไทย-เกาหลีใต้ว่า อาจจะยังคงติดลบต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ทิศทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้ที่ปรับตัวดีขึ้นน่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่คงต้องจับตาสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจของโลกที่เป็นหัวจักรขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐ ฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน และสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้อย่างใกล้ชิด ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจเกาหลีใต้ที่ชัดเจนขึ้น ก็อาจส่งผลกระตุ้นให้การค้าระหว่างไทย-เกาหลีใต้ฟื้นตัวอย่างมั่นคงมากขึ้น โดยมีอัตราติดลบชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 โดยหากเศรษฐกิจเกาหลีใต้เริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ชัดเจนแล้ว คาดว่าการส่งออกของไทยที่จะขยายตัวได้ดีคือ แผงวงจรไฟฟ้า ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ