มันสำปะหลังปี ‘52: ผลผลิตเพิ่ม…ส่งออกลด…ราคาดิ่ง

มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อประเทศ ซึ่งมันสำปะหลังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังประเภทต่าง ๆ เช่น มันเส้น มันอัดเม็ด หรือผลิตภัณฑ์แป้งมัน เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมกระดาษ เป็นต้น สำหรับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในปี 2552 ประสบปัญหาราคาตกต่ำ อันเนื่องมาจากผลผลิตมีเพิ่มมากเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่การส่งออกชะลอตัวลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จนต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการต่าง ๆ ในการช่วยเหลือ

สถานการณ์มันสำปะหลังในช่วงไตรมาสแรกของปี ‘52
เนื่องจากในปี 2551 ราคามันสำปะหลังอยู่ในเกณฑ์สูง และมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2552 นี้ ราคามันสำปะหลังจะยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่การปลูกมากขึ้น อีกทั้งผลผลิตมันสำปะหลังปีเพาะปลูก 2551/52 ที่จะเข้าสู่ตลาดมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่ภายหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ภาคการผลิตทั่วโลกชะลอตัว ส่งผลกระทบในทางลบต่อความต้องการใช้มันสำปะหลังของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทำให้ปริมาณการส่งออกลดลง ผนวกกับความต้องการใช้มันสำปะหลังภายในประเทศชะลอตัว ทำให้มีปริมาณมันสำปะหลังค้างสต็อกอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ราคามันสำปะหลังไม่เป็นไปตามที่มีการคาดการณ์ไว้ โดยสถานการณ์มันสำปะหลังในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 มีรายละเอียดดังนี้

• ปริมาณผลผลิตเพิ่มเป็นประวัติการณ์ ในปี 2551 ราคามันสำปะหลังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรขยายปริมาณการผลิต สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ว่า ในปี 2552 มีปริมาณผลผลิตมันสำปะหลัง 29.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 เมื่อเทียบกับปี 2551

• ราคามันสำปะหลังดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 นั้น ราคามันสำปะหลังในประเทศ ทั้งราคาหัวมันสำปะหลังสดคละที่เกษตรกรขายได้ ราคามันเส้น และราคาแป้งมันสำปะหลังขายส่งตลาดกรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.4 บาท 3.4 บาท และ 7.9 บาท ลดลงร้อยละ 41.7 34.6 และ 33.6 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 เนื่องจากมีผลผลิตออกมาในปริมาณมาก ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอ่อนตัวลง

สำหรับราคาส่งออก ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 พบว่า ราคาส่งออกมันเส้นเฉลี่ยตันละ 116.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 34.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ส่วนราคาส่งออกแป้งมันสำปะหลังเฉลี่ยตันละ 243.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 38.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551

• ประเทศคู่ค้าสำคัญลดการนำเข้า การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 นั้น ลดลงเหลือ 1.3 ล้านตัน มูลค่า 8,798.4 ล้านบาท (253.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 34.1 และ 42.5 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยแยกเป็น ปริมาณการส่งออกมันสำปะหลังอัดเม็ด 1 แสนตัน มูลค่า 506.8 ล้านบาท (14.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ลดลงร้อยละ 87.3 และ 87.7 ตามลำดับ มันเส้น 5.6 แสนตัน มูลค่า 2,211.3 ล้านบาท (63.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) แม้ว่าปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.1 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 11.1 เนื่องจากราคาส่งออกมันเส้นลดลง ส่วนแป้งมันสำปะหลังปริมาณส่งออก 3.3 แสนตัน มูลค่า 2,833.3 ล้านบาท (81.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ลดลงร้อยละ 11.2 และ 34.6 ตามลำดับ สาเหตุที่มีการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังลดลงนั้น มีผลมาจาก คู่ค้ารายใหญ่ของไทย คือ ตลาดจีน และตลาดสหภาพยุโรป ลดการนำเข้าดังนี้

ตลาดจีน ตลาดจีนเป็นตลาดสำคัญอันดับหนึ่งของไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 23.3 ของการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมด ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 จีนนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทย 5.6 แสนตัน มูลค่า 2,203.2 ล้านบาท (6.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.0 และ 1.7 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 แต่คาดว่าทั้งปี 2552 จีนจะชะลอการนำเข้ามันเส้น เนื่องมาจากรัฐบาลจีนมีนโยบายให้เน้นการใช้ธัญพืชในประเทศมากขึ้นเนื่องจากราคาธัญพืชในตลาดโลกเริ่มลดลง ทำให้หันไปใช้ธัญพืชอื่น ๆ ทดแทนความต้องการใช้มันสำปะหลังในประเทศเพื่อเป็นพลังงานทดแทน และเป็นอาหารสัตว์ อีกทั้งไทยยังต้องเผชิญกับการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งรายสำคัญ คือ เวียดนาม เนื่องจากราคาส่งออกมันเส้นของเวียดนามไปยังตลาดจีนมีราคาต่ำกว่าไทย เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินด่อง ทำให้จีนหันมานำเข้ามันเส้นจากเวียดนามเพิ่มขึ้น ส่วนแป้งมันสำปะหลังนั้น คาดว่าจีนจะชะลอการนำเข้าเช่นกัน โดยสาเหตุหลักมาจาก โรงงานอุตสาหกรรมกระดาษของจีนประสบกับปัญหาจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ต้องปิดโรงงานเป็นจำนวนมาก ส่วนโรงงานที่เหลือชะลอการสั่งซื้อแป้งมัน ทำให้ปริมาณแป้งมันค้างสต็อกเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงมีความหวังในการขยายการส่งออกไปจีน เนื่องจากรัฐบาลของจีนได้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดโดยกำหนดภาษีร้อยละ 35 กับแป้งมันฝรั่งจากสหภาพยุโรปเป็นเวลา 5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2550 ถึงปี 2555 คาดว่าจะทำให้ไทยมีโอกาสได้ส่วนแบ่งตลาดในประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้น

ตลาดสหภาพยุโรป ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 นี้ สหภาพยุโรปนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทย 0.2 แสนตัน มูลค่า 60.7 ล้านบาท (1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 97.4 และ 98.2 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 สาเหตุที่มีการนำเข้าลดลงเนื่องจาก ผลผลิตธัญพืชในสหภาพยุโรปมีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาธัญพืชในสหภาพยุโรปปรับลดลงร้อยละ 60-70 สหภาพยุโรปจึงหันไปใช้ธัญพืชในประเทศมากขึ้น ประกอบกับมีการรณรงค์ให้ใช้ทรัพยากรในประเทศแทนการนำเข้า อันเนื่องมาจากผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ

สถานการณ์มันสำปะหลังช่วงที่เหลือของปี ‘52
คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2552 นี้ ผลผลิตมันสำปะหลังยังคงล้นสต็อกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากความต้องการมันสำปะหลังไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศยังคงลดลง ส่วนราคามันสำปะหลังในทุกระดับตลาดยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการการรับจำนำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร

ความต้องการใช้ในประเทศ ในช่วงที่เหลือของปี 2552 นี้ คาดว่าความต้องการแป้งมันยังคงชะลอตัวหรือใกล้เคียงกับปี 2551 แต่ความต้องการใช้มันเส้นยังคงมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์คาดว่า ปริมาณการใช้ในปี 2552 จะเพิ่มเป็น 2.2 แสนตัน เทียบกับปี 2551 ที่มีปริมาณการใช้เพียง 1.2-1.5 แสนตัน เนื่องจากราคามันเส้นลดลงมาเหลือ 4 บาท/ก.ก. ต่ำกว่าปี 2551 ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ในระดับ 6 บาท/ก.ก.

ปริมาณการส่งออก ในช่วงที่เหลือของปี 2552 ยังมีแนวโน้มลดลงเนื่องจาก ประเทศผู้นำเข้าสำคัญของโลกชะลอการสั่งซื้อ เนื่องจากราคาธัญพืชในตลาดโลกเริ่มลดลง ทำให้หันไปใช้ธัญพืชอื่น ๆ ทดแทนความต้องการใช้มันสำปะหลังในประเทศเพื่อเป็นพลังงานทดแทน และเป็นอาหารสัตว์

แนวทางในการบรรเทาปัญหามันสำปะหลังล้นสต็อก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วนั้น เป็นการแก้ไขปัญหามันสำปะหลังล้นสต็อกในระยะสั้นเท่านั้น แต่ปัญหามันสำปะหลังล้นสต็อกก็ยังคงมีอยู่ ดังนั้น แนวทางในการบรรเทาปัญหามันสำปะหลังล้นสต็อกในระยะยาวนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อเสนอแนะดังนี้

• เพิ่มมูลค่าและพัฒนาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกถดถอยจากวิกฤตการเงิน ส่งผลให้ภาคการผลิตในหลายประเทศลดกำลังการผลิต และหันมาใช้วัตถุดิบในประเทศทดแทนการนำเข้า การกำหนดมาตรการในการส่งออกจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เพราะแม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดมันสำปะหลังโลกเป็นอันดับ 1 แต่ปริมาณการส่งออกกลับมีแนวโน้มลดลง ดังนั้น การเพิ่มมูลค่าและพัฒนาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพื่อการส่งออกจึงเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาได้ เช่น การพัฒนามันเส้นให้มีคุณภาพดีเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูปใบมันสำปะหลังเพื่อส่งออกไปยังประเทศไต้หวัน เนื่องจากประเทศไต้หวันมีความต้องการนำเข้าใบมันสำปะหลังตากแห้งจำนวนมากเพื่อผลิตอาหารสัตว์ เพราะมีคุณสมบัติพิเศษช่วยให้สัตว์มีความต้านทานโรคเพิ่มขึ้น และสามารถควบคุมพยาธิในสัตว์ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย นอกจากนี้ การส่งเสริมให้มีการทำบรรจุภัณฑ์จากมันสำปะหลังแทนภาชนะที่ทำจากวัสดุอื่น ๆ หรือพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางในการแก้ปัญหามันสำปะหลังล้นสต็อก อีกทั้งยังช่วยให้สภาวะแวดล้อมธรรมชาติดีขึ้นและช่วยลดปัญหาโลกร้อนควบคู่ไปด้วย ซึ่งเป็นการช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจภายในประเทศ

• ขยายตลาดส่งออกใหม่ ๆ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้เพิ่มมากขึ้น ในปัจจุบันตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังหลักของไทยได้แก่ ตลาดจีน และตลาดสหภาพยุโรป ต่อมากระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่าจะเดินทางไปเยือนหลายประเทศ เพื่อขยายการค้าและการลงทุน โดยจะเน้นการสนับสนุนสินค้าที่มีศักยภาพในตลาดต่าง ๆ ซึ่งมันสำปะหลังก็เป็นสินค้าที่ได้มีการผลักดันให้มีการขยายไปยังตลาดใหม่ ๆ ได้แก่ ตลาดญี่ปุ่น ตลาดเกาหลีใต้ เป็นต้น เพื่อเป็นการเร่งระบายมันสำปะหลังที่ประสบปัญหาล้นสต็อกอยู่ในเวลานี้ได้อีกทางหนึ่งด้วย

• ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังมีการรวมกลุ่มกัน แม้ว่ามันสำปะหลังจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย แต่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังกลับประสบปัญหาราคามันสำปะหลังตกต่ำมาโดยตลอด และไม่มีอำนาจต่อรองกับโรงมัน หรือลานรับซื้อมันสด การแปรรูปมันสำปะหลังเบื้องต้นเป็นมันเส้นทดแทนการจำหน่ายมันสด โดยการรวมกลุ่มของเกษตรกรก็เป็นแนวทางหนึ่งสำหรับการแก้ปัญหาของภาคการผลิตได้

• ใช้มันเส้นเป็นส่วนประกอบในอาหารสัตว์มากขึ้น ควรมีการส่งเสริมให้เกษตรกรนำมันเส้นมาทำเป็นอาหารสัตว์มากขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิตอาหารสัตว์ อีกทั้งยังช่วยระบายปริมาณมันสำปะหลังให้ลดจำนวนลง เช่น ทำเป็นอาหารโคขุนและโคนม เนื่องจากในมันสำปะหลังมีปริมาณพลังงานมาก และสัตว์กลุ่มนี้ต้องการพลังงานมากเช่นกัน เป็นต้น

• การจัดการปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิต เช่น ให้เกษตรกรใช้มันสำปะหลังพันธุ์ดีในการปลูก มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีเพื่อลดต้นทุน เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชที่ดูแลง่าย และทนต่อแมลงศัตรูพืชได้ดี จึงไม่จำเป็นต้องมีการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชมากนัก เป็นต้น

บทสรุป
ในปี 2552 นี้ ผลผลิตมันสำปะหลังมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสวนทางกับความต้องการใช้มันสำปะหลังที่มีปริมาณลดลง ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกที่ลดลงเนื่องมาจากตลาดจีนและตลาดยุโรปมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังลดลง รวมทั้งการใช้ภายในประเทศก็มีความต้องการใช้มันสำปะหลังลดลงเช่นกัน มูลเหตุเหล่านี้ส่งผลให้มันสำปะหลังในปีนี้ล้นสต็อก ทางรัฐบาลจึงได้หาทางออกในการแก้ปัญหาในระยะสั้น โดยมีการดำเนินมาตรการในการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น โครงการการรับจำนำมันสำปะหลัง ปล่อยกู้ระยะสั้น 6 เดือน ปลอดดอกเบี้ยให้เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง มีการเจรจากับบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ให้เข้ามารับซื้อมันสำปะหลังเพื่อใช้ในโครงการผลิตเอทานอล รวมทั้งมีการเจรจาด้านการส่งออกมันสำปะหลังผ่านช่องทางการค้าแบบรัฐบาลกับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรที่จะวางแนวทางแก้ไขปัญหามันสำปะหลังระยะยาว โดยมีข้อกำหนดและประกาศให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทราบอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลจะรับซื้อมันสำปะหลังในแต่ละพื้นที่จำนวนเท่าใด และในราคาเท่าใดในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้เกษตรกรตัดสินใจได้ว่าจะปลูกมันสำปะหลังหรือพืชอย่างอื่นทดแทน ภาคเอกชนเองก็สามารถจะต่อยอดและเพิ่มความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ และอีกทางหนึ่ง หากภาครัฐยังสนับสนุนให้มีการใช้มันสำปะหลังในการผลิตพลังงานทดแทน ภาครัฐก็จะต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างจริงจังและโดยต่อเนื่อง เช่น รัฐออกมาตรการสนับสนุนด้านยานยนต์ โดยการลดภาษีรถยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทนเพื่อกระตุ้นความต้องการใช้ของผู้บริโภค หรืออาจจะเป็นการขึ้นภาษีนำเข้าน้ำมันแทน เพื่อเป็นการลดการนำเข้า แล้วดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาใช้พลังงานทดแทนที่มีราคาถูกกว่า เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อช่วยผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนของไทยให้เกิดผลสำเร็จสูงสุดเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของไทยในอนาคต และสุดท้าย เกษตรกรก็จะมีความยั่งยืนในด้านรายได้จากการขายผลิตผลทางการเกษตรในราคาที่เหมาะสมกับภาวะตลาด