จากตัวเลขการพยากรณ์ของสมาคมเหล็กโลกเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งคาดว่าปริมาณการใช้เหล็กโลกในปี 2552 จะหดตัวลงถึงร้อยละ 14.9 หรือมีจำนวน 1,018.6 ล้านตัน ลดลงจาก 1,197 ล้านตัน (หดตัวร้อยละ 1.4) ในปี 2551 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีแรกนี้ก่อนที่ความต้องการเหล็กจะทรงตัวในช่วงครึ่งหลังและค่อยๆฟื้นตัวขึ้นในปี 2553 อย่างไรก็ตามความต้องการเหล็กดังกล่าวยังคงต้องขึ้นอยู่กับผลจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของรัฐบาลในหลายๆประเทศ ความมั่นคงของระบบการเงินโลก และความเชื่อมั่นผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถบอกทิศทางที่แน่ชัดได้ จากข้อมูลความต้องการเหล็กที่ลดลงมากดังกล่าวแสดงถึงทิศทางการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดส่งออก เนื่องจากปริมาณการผลิตที่มีแนวโน้มสูงเกินความต้องการของผู้บริโภค ทำให้หลายประเทศจำเป็นต้องหันมาพึ่งมาตรการต่างๆเพื่อกีดกันการนำเข้าและปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ด้วยเหตุนี้การส่งออกเหล็กสำเร็จรูปจากไทยจึงคาดว่าจะได้รับผลกระทบทั้งจากภาวะอุปสงค์ที่หดตัวสูง และมาตรการกีดกันการค้าต่างๆอย่างไม่อาจเลี่ยง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อผู้ส่งออกเหล็กไทยจากการแข่งขันในตลาดส่งออกเหล็กปี 2552 ที่รุนแรงขึ้นโดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
การผลิตเหล็กหดตัวสูงสะท้อนความต้องการเหล็กในตลาดโลกที่ลดลง
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 ที่ผ่านมา ความรุนแรงของวิกฤตเศรษฐกิจได้ส่งผลต่อปริมาณความต้องการบริโภคเหล็กที่ลดลงสะท้อนปริมาณการผลิตเหล็กรวมทั่วโลกที่หดตัวสูงถึงประมาณร้อยละ 22.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 โดยที่กลุ่มประเทศอเมริกาเหนือมีการผลิตที่หดตัวสูงสุดถึงร้อยละ 52.1 ตามด้วยการผลิตในกลุ่มสหภาพยุโรป 27 ที่หดตัวสูงประมาณร้อยละ 43.8 อย่างไรก็ตามกลุ่มประเทศเอเชียแสดงการหดตัวที่ต่ำที่สุดประมาณร้อยละ 8.9 ทั้งนี้มาจากสาเหตุสำคัญ คือ การผลิตเหล็กในจีนที่ยังคงขยายตัวประมาณร้อยละ 1.4 ท่ามกลางการหดตัวของการผลิตทั่วโลก ซึ่งหากไม่รวมการผลิตเหล็กจากจีนแล้วปริมาณการผลิตเหล็กของโลกช่วงไตรมาสแรกของปีนี้จะหดตัวลงมากขึ้นจากร้อยละ 22.8 กลายเป็นร้อยละ 36.9 จากทิศทางการผลิตเหล็กที่หดตัวสูงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการเหล็กในตลาดโลกปัจจุบันที่ลดลง ซึ่งจากการคาดการณ์ของสมาคมเหล็กโลก กลุ่มประเทศอเมริกาเหนือและยุโรปจะแสดงแนวโน้มความต้องการบริโภคเหล็กที่ลดลงมากที่สุด โดยมีสาเหตุหลักๆมาจากอุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญ เช่น การก่อสร้าง การผลิตยานยนต์ และเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆมีการใช้เหล็กลดลง นอกจากนี้ จีนซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคเหล็กมากที่สุดของโลกเองก็คาดว่าจะหดตัวลงประมาณร้อยละ 5 เช่นกัน จากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลทำให้การส่งออกของจีนลดลง และทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอลง โดยการหดตัวของการบริโภคเหล็กของจีนครั้งนี้นับว่าเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์จีนในปี 2538 อย่างไรก็ตามการบริโภคเหล็กในบางประเทศในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่แม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจแต่ก็ได้รับผลกระทบในระดับที่น้อยกว่า เช่น อินเดียที่คาดว่าจะยังคงมีการขยายตัวของการบริโภคเหล็กในปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 2 เป็นต้น
การบริโภคในประเทศที่ลดลงผลักดันให้การแข่งขันในตลาดส่งออกทวีความรุนแรงขึ้น
จากความต้องการบริโภคที่หดตัวลงมากเกือบทั่วโลก ตามการหดตัวของอุตสาหกรรมที่สำคัญต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการผลิต เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งนักวิเคราะห์ในตลาดบางรายได้คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2552 นี้ตลาดรวมทั่วโลกของอุตสาหกรรมทั้ง 2 ประเภทจะมีอัตราการขยายตัวไม่เกินร้อยละ 1 และหดตัวถึงร้อยละ 11.2 ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคเหล็กในแต่ละประเทศที่หดตัวลงมากดังที่ได้กล่าวในเบื้องต้น ทำให้การแข่งขันในตลาดส่งออกของสินค้าเหล็กทวีความรุนแรงขึ้นในปี 2552 นี้ ทั้งจากเหล็กที่ส่งออกอยู่เดิมในตลาด และจากเหล็กที่เดิมผลิตเพื่อใช้ในประเทศแต่ปัจจุบันมีปริมาณมากเกินความต้องการในประเทศจากการหดตัวของอุตสาหกรรมผลิตที่ลดลง
ในสภาวะที่มีอุปทานส่วนเกินในตลาดสูงเช่นนี้ ผู้ส่งออกหรือรัฐบาลประเทศนั้นๆมักใช้กลยุทธ์ด้านราคาเป็นแนวทางหลักในการเพิ่มยอดขายของตน โดยเฉพาะรัฐบาลจีนซึ่งจากเดิมที่มีการเพิ่มภาษีส่งออกและลดอัตราเงินคืนภาษีส่งออกลงในปี 2551 ทว่าตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2551 เป็นต้นมาทางการจีนได้ยกเลิกภาษีส่งออกในสินค้าเหล็กหลายรายการ ทั้งเหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นหนา เหล็กรูปพรรณขนาดใหญ่ ท่อเหล็กชนิดเชื่อม รวมไปถึงลวดเหล็กและเหล็กเจือส่วนใหญ่ เป็นต้น (ยกเว้นภาษีส่งออกสำหรับเหล็กเส้น เหล็กลวด เหล็กท่อนกลม และเหล็กรูปพรรณขนาดเล็กที่ยังคงเดิม) ไม่เพียงเท่านั้นในเดือนเมษายนที่ผ่านมาทางการจีนยังได้ประกาศเพิ่มอัตราส่วนคืนภาษีส่งออกของจีน (Export Rebate) ในสินค้าเหล็กหลายรายการเพื่อช่วยเหลือกิจการส่งออก เช่น เหล็กรีดร้อนไร้สนิม เหล็กซิลิคอน เหล็กแผ่นรีดเย็น และเหล็กแผ่นเคลือบ เป็นต้นจากเดิมร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 13 (อย่างไรก็ตามเหล็กรีดร้อนชนิดม้วนและแผ่นไม่ได้รับสิทธิ์การคืนภาษีดังกล่าวทำให้อัตราส่วนคืนภาษีส่งออกยังคงเท่าเดิมที่ร้อยละ 0) จากที่จีนซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กขนาดใหญ่ที่สุดของโลกได้รับประโยชน์ด้านราคาจากอัตราส่วนคืนภาษีส่งออกดังกล่าวทำให้ปริมาณโลหะที่ซื้อขายในตลาดส่งออกมีโอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ประเทศผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่อย่างรัสเซีย ยูเครน และเกาหลีใต้เองต่างก็พากันตัดราคาลงด้วยเพื่อกระตุ้นการส่งออก
ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายประเทศมองหาแนวทางที่จะปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศของตน ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ทำได้คือการใช้มาตรการกีดกันการค้าในรูปแบบต่างๆ เช่น
– เวียดนาม ซึ่งจากรายงานของ The Viet Nam Steel Association เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีกำลังการผลิตเหล็กอยู่ที่ประมาณ 4.5 ล้านตันต่อปี และมีเหล็กแท่งบิลเลตอยู่ในสต๊อกแล้วถึง 300,000 ตัน รวมถึงผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปอีก 200,000 ตัน ต้องเผชิญกับอุปสงค์จากตลาดในประเทศที่ลดลงเหลือเพียง 698,000 ตันในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 หดตัวลงจากปีที่แล้วถึงประมาณร้อยละ 30 จากอุตสาหกรรมก่อสร้างที่หดตัวลงทำให้มีอุปทานส่วนเกินในตลาด นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากสินค้าเหล็กราคาต่ำกว่าเหล็กในประเทศอีกด้วย จากทั้งภูมิภาคอาเซียน รัสเซียและเกาหลีใต้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในประเทศได้รับผลกระทบอย่างมาก ทางการเวียดนามจึง ตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กแท่งบิลเลตจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 และเหล็กทรงยาวสำหรับงานก่อสร้างจากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 15 ส่วนภาษีนำเข้าของเหล็กแผ่นรีดเย็นจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 8 ในขณะที่ภาษีนำเข้าเหล็กแผ่นเคลือบเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 13 และผลิตภัณฑ์เหล็ก เช่น เหล็กฉากจะเพิ่มจากร้อยละ 0 เป็นร้อยละ 10 ซึ่งภาษีใหม่นี้ปัจจุบันมีผลบังคับใช้แล้ว อย่างไรก็ตามประเทศในกลุ่มอาเซียนยังคงได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีนำเข้าเท่าเดิมภายใต้ข้อกำหนดของกรอบความตกลงอาเซียนที่ห้ามขึ้นภาษีศุลกากรในภายหลัง
– อินเดีย เองเพื่อหลีกเลี่ยงการทุ่มตลาดจากเหล็กราคาถูกจากต่างประเทศ กระทรวงการคลังอินเดียจึงได้ตัดสินใจออกภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดซึ่งจะเก็บจากเหล็กกล้าไร้สนิมรีดเย็นที่นำเข้าจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อัฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป รวมถึงประเทศไทย เป็นเวลา 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน ถึง 21 ตุลาคม 2008 โดยจะต้องจ่ายภาษีด้วยเงินรูปี อัตราภาษีจะเรียกเก็บจะอยู่ที่12.74 ถึง 2,011 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันขึ้นกับประเทศและบริษัทผู้ผลิตรวมถึงชนิดสินค้าที่นำเข้าด้วย ซึ่งในส่วนของไทยอัตราภาษีที่ถูกเรียกเก็บจะอยู่ระหว่าง 241.25 ถึง 1,373 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน
– นิวซีแลนด์ อาจต่ออายุภาษีต่อต้านทุ่มตลาดที่เคยเรียกเก็บไปก่อนหน้านี้จากเหล็กเส้นก่อสร้างเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ถึง 40 มิลลิเมตร ที่นำเข้าจากไทย ซึ่งภาษีนี้เริ่มมีการใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2547 และได้หมดอายุลงในวันที่ 5 มีนาคมปี 2552 เนื่องจากยังคงมีความกังวลว่าในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้ ทำให้มีการแข่งขันในตลาดส่งออกค่อนข้างสูงจึงอาจเกิดการทุ่มตลาดได้
ท่ามกลางตลาดที่แข่งขันสูง : ตลาดก่อสร้างในประเทศกำลังพัฒนาอาจเป็นโอกาสสำหรับเหล็กไทย
จากสถานการณ์ตลาดเหล็กในต่างประเทศที่มีทิศทางการแข่งขันกันสูงเนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลงในตลาดจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยเกือบทั่วโลก และการแข่งขันกันในด้านของราคาที่ลดต่ำลง ย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกเหล็กของไทยในปี 2552 อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ซึ่งจากรายงานมูลค่าการส่งออกเหล็กไทยของกระทรวงพาณิชย์ในช่วงไตรมาสแรกนี้พบว่ามูลค่าการส่งออกเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ มีอัตราการขยายตัวเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยไทยส่งออกไปยังมาดากัสการ์สูงสุดถึง 218.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 18.7 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด (ขยายตัวร้อยละ 100,838.2 เมื่อเทียบกับที่ส่งออกเป็นมูลค่า 0.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน) รองลงมา คือ การส่งออกไปยังออสเตรเลีย 152.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 13.1 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด (ขยายตัวร้อยละ 304.9 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) ซึ่งตลาดทั้งสองก้าวขึ้นแซงหน้าประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม สหรัฐฯ สิงคโปร์ และอินเดีย ซึ่งในปีก่อนๆเป็นประเทศที่ไทยมีการส่งออกไปสูง แต่ช่วงไตรมาสที่ 1 ปีนี้ กลับหดตัวลงค่อนข้างมากทุกประเทศ ขณะเดียวกันประเทศที่ไทยมีการขยายการส่งออกไปสูงช่วงนี้นอกเหนือจากมาดากัสการ์แล้วกลับเป็นตลาดประเทศกำลังพัฒนาในแถบตะวันออกกลาง และแอฟริกา เช่น กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต โอมาน เยเมน ไนจีเรีย อังโกลา กานา เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้นอกจากอุตสาหกรรมก่อสร้างจะยังคงมีการขยายตัวอยู่บ้างแล้ว ในภูมิภาคนี้ยังมีแหล่งผลิตเหล็กค่อนข้างน้อยมากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น
ทั้งนี้หากแยกพิจารณาตามกลุ่มสินค้าส่งออกพบว่า ไตรมาสแรกของปี 2552 นี้ การส่งออกในรูปเหล็กและเหล็กกล้าซึ่งคิดเป็นร้อยละ 22.5 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดนั้นหดตัวลงสูงถึง 54.2 ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์แผ่นรีด มุม รูปทรง และหน้าตัด รวมถึงเหล็กและเหล็กกล้าอื่นๆ ขณะที่ในส่วนของผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าซึ่งคิดเป็นร้อยละ 77.5 กลับยังมีการขยายตัวดีอยู่ถึงร้อยละ 53.2 โดยเป็นการขยายตัวเฉพาะโครงก่อสร้างทำด้วยเหล็กและท่อเหล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงก่อสร้างทำด้วยเหล็กซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 52.3 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าทั้งหมดนั้นมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 776.3 โดยที่ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปยังมาดากัสการ์ถึงร้อยละ 46 ของการส่งออกโครงก่อสร้างทำด้วยเหล็กทั้งหมด ซึ่งการส่งออกโครงก่อสร้างทำด้วยเหล็กไปมาดากัสการ์นี้พึ่งจะเริ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้วเท่านั้น เนื่องจากในช่วง 1 ถึง 2 ปีนี้ มาดากัสการ์มีโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมถึงโครงการก่อสร้างสำนักงานธุรกิจจำนวนมาก จากที่บริษัทจากต่างชาติเริ่มเข้าไปลงทุนในกิจการด้านทรัพยากรธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นการทำเหมืองแร่ต่างๆ และการผลิตปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ในดินแดนแห่งนี้ ทำให้การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆเพื่อรองรับการลงทุนได้ขยายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจึงมีการนำเข้าเหล็กเพื่อการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก
จากตัวเลขสถิติการส่งออกเหล็กไทยดังกล่าวจะเห็นว่าจากภาวะอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงและการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาเหล็กที่อยู่ในระดับต่ำในปีนี้ตรงข้ามกับปีที่แล้วที่มีความผันผวนสูงมากทำให้ปีนี้ผู้ประกอบการลดการซื้อเพื่อนำไปกักตุนลง การส่งออกเหล็กของไทยปีนี้จึงเติบโตเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 ลดลงจากเดิมที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 ในช่วงไตรมาสแรกของปีก่อน อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเฉพาะกลุ่มสินค้าจะพบว่ากลุ่มเหล็กและเหล็กกล้าหดตัวสูงถึงร้อยละ 54.2 ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้ากลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามโดยขยายตัวสูงถึงร้อยละ 53.2 ทั้งนี้จากแนวโน้มตลาดดังกล่าวอาจจะพอสรุปได้ว่าการส่งออกเหล็กไทยในปีนี้น่าจะเป็นโอกาสสำหรับสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าโดยเฉพาะโครงก่อสร้างทำด้วยเหล็กซึ่งมีการขยายตัวสูงมากในประเทศส่งออกของไทยส่วนใหญ่ นอกจากนี้การส่งออกท่อเหล็กแม้ตลาดรวมจะขยายตัวไม่มาก แต่ประเทศนำเข้าจากไทยส่วนใหญ่ก็มีทิศทางขยายตัวเช่นกัน โดยการส่งออกไปยังตลาดประเทศกำลังพัฒนาอย่างบางประเทศในตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก แอฟริกา และเอเชียนั้น คาดว่าจะยังคงเป็นแนวทางหลักในการทำตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าได้ต่อไป เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศเหล่านี้ยังคงมีการขยายตัวอยู่บ้าง
อย่างไรก็ตามแนวโน้มอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นโอกาสกับการส่งออกเหล็กไทยได้ โดยเฉพาะจากมาตรการลงทุนด้านสาธารณูปโภคต่างๆของรัฐบาลแต่ละประเทศเพื่อให้เกิดการลงทุนและการใช้จ่ายในประเทศ เช่น จีนและสหรัฐฯ ซึ่งในส่วนของจีนนั้นอาจจะเริ่มเห็นการลงทุนและการใช้เหล็กเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 นี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสแก่การส่งออกผลิตภัณฑ์แผ่นรีดของไทยเนื่องจากไทยมีการส่งออกไปจีนเป็นอันดับต้นๆและปัจจุบันราคาเหล็กรีดร้อนของจีนก็สูงกว่าตลาดค่อนข้างมาก ไม่เพียงเท่านั้นจากที่เวียดนามได้มีการประกาศขึ้นภาษีศุลกากรสำหรับเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศในขณะที่ไทยไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าวเนื่องจากเป็นสมาชิกอาเซียนจึงเป็นโอกาสที่จะขยายการส่งออกไปยังเวียดนามได้ ขณะเดียวกันอุปสรรคทางการค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมาตรการกีดกันการค้าโดยเฉพาะจากอินเดียซึ่งไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์แผ่นรีดไปอินเดียเป็นอันดับต้นๆในช่วงเกือบ 6 เดือนต่อจากนี้ไปซึ่งคาดว่าจะอาจกระทบต่อการส่งออกเหล็กไทยนอกเหนือจากปัจจัยอุปสงค์ในตลาดที่ลดลงจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวอยู่ในขณะนี้ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเนื่องจากจะมีผลต่อทิศทางการส่งออกไทยในระยะต่อไป