เศรษฐกิจไทยอาจฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในครึ่งปีหลัง … แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องระวัง

จากการรายงานตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพี ในไตรมาสที่ 1/2552 ที่หดตัวสูงถึงร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year หรือ YoY) สูงขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 4.2 ในไตรมาสที่ 4/2551 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จีดีพีที่ปรับฤดูกาล (Quarter-on-Quarter, Seasonally Adjusted หรือ QoQ) ลดลงร้อยละ 1.9 เป็นการลดลงต่อเนื่องจากที่ติดลบร้อยละ 6.1 ในไตรมาสที่ 4/2551 การถดถอยของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องและนับเป็นสภาวะที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปีนี้ มีต้นเหตุมาจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของโลกครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ทำให้ภาคการส่งออกของไทยต้องปรับลดการผลิตและการจ้างงานลงตามคำสั่งซื้อที่ลดลงอย่างหนัก รวมทั้งธุรกิจต่างชะลอการลงทุนออกไป ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาสู่ภาวะรายได้และการมีงานทำ รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศ ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยลดลง สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีความอ่อนไหวอย่างมากต่อปัจจัยเศรษฐกิจโลก

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป แม้ว่ามีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจในหลายประเทศ แต่เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคหลักของโลกยังคงมีความเปราะบาง อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังทั้งจากภายนอกประเทศและในประเทศอยู่หลายด้าน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะเวลาที่เหลือของปี 2552 ดังประเด็นสำคัญ ต่อไปนี้

? เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2552 แม้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มดีขึ้น แต่ยังเผชิญปัจจัยลบหลายด้าน ในด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ นับตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ได้ปรากฏสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับของเครื่องชี้เศรษฐกิจของประเทศชั้นนำ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ตามมาด้วยญี่ปุ่น รวมทั้งการประกาศตัวเลขจีดีพีในไตรมาสที่ 1/2552 ของเศรษฐกิจเอเชียที่ส่วนใหญ่ติดลบทำสถิติสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ ซึ่งเศรษฐกิจที่หดตัวรุนแรงอันเป็นผลจากการผลิตที่ลดลงอย่างมากและทำให้ระดับสินค้าคงคลังของอุตสาหกรรมต่างๆ ในภูมิภาคนี้ลดต่ำลงค่อนข้างมากนี้ ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นสัญญาณเชิงบวกว่าการผลิตรอบใหม่กำลังเกิดขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทางการของหลายประเทศนำออกมาใช้เริ่มมีผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น วิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของโลกที่ผ่อนคลายลงน่าจะเป็นผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 นี้ แต่ในด้านอัตราการขยายตัวอาจจะยังคงเห็นการติดลบในระดับสูงกว่าร้อยละ 20 (YoY) ต่อเนื่องต่อไปอีกในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงค่อนข้างมากในระยะเดียวกันของปีก่อน

? ในด้านเศรษฐกิจในประเทศ คาดว่าการเร่งเบิกจ่ายวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีและการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น มาตรการแจกเช็คช่วยชาติ จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจในไตรมาสนี้ และบรรเทาผลกระทบจากปัญหาเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วงเดือนเมษายนลงได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ความสูญเสียอย่างหนักของภาคการท่องเที่ยวในไตรมาสนี้ ตั้งแต่การยกเลิกการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ต่อเนื่องมาถึงแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือ Influenza A (H1N1) ที่เริ่มแพร่กระจายหนักขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งล่าสุดมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO (World Health Organization) ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 12,022 รายใน 43 ประเทศ แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจะไม่สูงนัก แต่การติดต่อที่เกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็วก็ทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วนชะลอการเดินทางทางเครื่องบินในระยะนี้เนื่องจากหวั่นเกรงโอกาสการติดเชื้อ ซึ่งคาดว่าการสูญเสียรายได้การท่องเที่ยวและเดินทางจากปัจจัยลบทั้งสองนี้จะมีผลตัดลดจีดีพีลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 (ของจีดีพีรายไตรมาส)

? ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจีดีพีในไตรมาสที่ 2/2552 ที่ปรับฤดูกาลเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) อาจจะปรับตัวดีขึ้นแต่ยังไม่ใช่ระดับที่สูงนัก เนื่องจากปัจจัยลบที่ยังคงมีอยู่ค่อนข้างมากในไตรมาสนี้ แม้คาดว่าบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการจ่ายของผู้บริโภคให้ปรับตัวดีขึ้นกว่าในไตรมาสแรก ขณะที่โครงการช่วยเหลือผู้ว่างงานและการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคเศรษฐกิจที่มีปัญหาจะช่วยบรรเทาปัญหาให้แก่ผู้ที่ตกงานและชะลอการเลิกจ้างได้พอสมควรก็ตาม ทั้งนี้ คาดว่าอัตราการขยายตัวของจีดีพีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) อาจยังคงหดตัวในอัตราที่ค่อนข้างสูงที่ประมาณร้อยละ 5.6-7.0

? สำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยจีดีพีในไตรมาสที่ 3/2552 น่าจะหดตัว (YoY) ในอัตราที่ชะลอลง และหากการเบิกจ่ายงบประมาณและแผนการจัดหาแหล่งเงินกู้ของรัฐบาลไม่สะดุด อัตราการขยายตัวของจีดีพีน่าจะกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 4/2552 โดยปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่

o แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจหลายประเทศ น่าจะช่วยให้การส่งออกหดตัวในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งถ้าการฟื้นตัวมีความต่อเนื่องก็จะช่วยสนับสนุนให้การส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศชั้นนำ หรือ G-3 อันได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยูโซน อาจจะยังคงดำเนินไปอย่างช้าๆ เนื่องจากปัญหาการว่างงานจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นไปจนถึงปีหน้า ขณะที่สถาบันการเงินอาจยังลังเลที่จะปล่อยกู้ให้แก่ภาคธุรกิจและผู้บริโภค

o สำหรับปัจจัยภายในประเทศ บทบาทของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังยังคงมีความสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในช่วงไตรมาสที่ 3/2552 ต่อเนื่องถึงปี 2553 ในยามที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ผลกระตุ้นเศรษฐกิจที่มาจากการบริโภคของรัฐบาล อาจจะอ่อนแรงลงนับตั้งแต่ในไตรมาสที่ 4/2552 เนื่องจากวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 ได้ถูกปรับลดลงมาอยู่ที่ 1,700,000 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิมที่กำหนดไว้ที่ 1,900,000 ล้านบาท รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรก ซึ่งเน้นการอัดฉีดเงินสู่ประชาชนผ่านโครงการช่วยเหลือเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย น่าจะค่อยๆ สิ้นสุดไป แต่แนวทางดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะเปลี่ยนมาสู่การลงทุนของรัฐในโครงสร้างพื้นฐาน ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 มูลค่า 1,431,330 ล้านบาท ระหว่างปีงบประมาณ 2553-2555 ซึ่งถ้ามีการดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ก็น่าจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานและเม็ดเงินหมุนเวียนสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ภาคการก่อสร้างได้

? อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะมีปัจจัยที่ต้องระวังหลายด้าน ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังขาดเสถียรภาพ ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิรกรไทย ยังไม่ตัดทิ้งความเป็นไปได้ของสมมติฐานกรณีเลวร้ายที่สุดที่เศรษฐกิจมีโอกาสที่จะฟื้นตัว ในลักษณะรูปตัว W (W-Shaped) ซึ่งหมายถึงการที่จีดีพีอาจกลับมาติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) แทนที่จะเป็นรูปตัว U (U-Shaped) ที่การฟื้นตัวมีความต่อเนื่องในแต่ละไตรมาสข้างหน้า ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่

o ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะเห็นการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจในหลายประเทศ แต่แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลของปัจจัยด้านอุปทานที่สินค้าคงคลังปรับลดลงมามาก ขณะที่ปัจจัยด้านอุปสงค์เกิดขึ้นจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการในแต่ละประเทศเป็นสำคัญ แต่การฟื้นตัวอย่างแท้จริงของอุปสงค์โดยเฉพาะในภาคการบริโภคนั้นยังต้องรอคอยจนกว่าการว่างงานจะค่อยๆ ลดลง ซึ่งอย่างเร็วที่สุดก็น่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ไปแล้ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจึงยังถือได้ว่าอาจไม่มั่นคงนักและมีความเปราะบาง ดังนั้น จึงอาจเร็วเกินไปที่จะคาดหวังผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของกลุ่ม G-3 อย่างเต็มที่ในระยะอันใกล้นี้

o พัฒนาการของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ แม้ในขณะนี้ความรุนแรงของอาการของโรคยังมีน้อย แต่การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วก็ได้ส่งผลกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ขณะที่ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาคือในระยะต่อจากนี้จะเป็นฤดูกาลที่ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลมีการแพร่ระบาดมากขึ้น ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับการเข้าสู่ไฮซีซันของการท่องเที่ยวในประเทศไทยเช่นกัน สิ่งที่หลายฝ่ายหวั่นเกรงคือการแพร่ระบาดที่อาจกระจายตัวในวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งโอกาสในการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ไปสู่เชื้อที่มีระดับความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

o ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจในหลายประเทศ ประกอบกับทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวสูงขึ้นเกือบเท่าตัว จากจุดที่ราคาลงไปต่ำสุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 ที่ 32.21 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล มาอยู่ที่เกือบ 60 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล ในช่วงเช้าของวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 แม้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่แท้จริงในขณะนี้ยังคงลดลง ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเร็วกว่าปัจจัยพื้นฐานด้านอุปสงค์นี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกย้อนกลับไปสู่สภาวะเงินเฟ้อสูงเร็วกว่าที่คาด ซึ่งจะส่งผลกดดันอำนาจซื้อของผู้บริโภค และการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย

o การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท ทิศทางกระแสเงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทในปัจจุบันแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 34.30 บาท/ดอลลาร์ฯ (ช่วงเช้าของวันที่ 25 พฤษภาคม) หรือแข็งค่าขึ้นเกือบร้อยละ 6 จากจุดที่เป็นระดับต่ำสุดของปีนี้ที่ 36.22 บาท/ดอลลาร์ฯ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในระยะสั้นของผู้ส่งออกของไทยในช่วงที่ตลาดต่างประเทศกำลังเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น

o ปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศ ปัจจัยเสี่ยงเฉพาะสำหรับเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นประเด็นทางการเมือง แม้ว่ารัฐบาลในขณะนี้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเตรียมดำเนินแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคงมีความอ่อนไหว อาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลให้มีความคืบหน้าได้ล่าช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ข้อจำกัดด้านงบประมาณเริ่มมีมากขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องเสนอร่างกฎหมายผ่านความเห็นชอบต่อสภาหลายฉบับในการผลักดันแผนการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อมาสนับสนุนการใช้จ่ายและโครงการลงทุนของรัฐบาล

? จากปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ไว้ที่หดตัวร้อยละ 3.5-6.0 โดยกรณีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคาดว่าจะหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.5 โดยคาดว่า การบริโภคของภาคครัวเรือนจะหดตัวร้อยละ 1.5-2.4 การลงทุนหดตัวร้อยละ 6.9-9.4 การส่งออกในรูปมูลค่าดอลลาร์ฯ หดตัวประมาณร้อยละ 14.5-19.0 นับเป็นการหดตัวรายปีที่หนักที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การนำเข้าอาจหดตัวลงร้อยละ19.0-24.0 ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงที่ระดับ 8.1-8.9 พันล้านดอลลาร์ฯ โดยการนำเข้าที่คาดว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นมากกว่าการส่งออก จากผลของการนำเข้าวัตถุดิบและปัจจัยการผลิต รวมทั้งราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลให้ไทยกลับมามีสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลในช่วงครึ่งหลังของปี (จากที่เกินดุลถึง 9.1 พันล้านดอลลาร์ฯ ในไตรมาสแรกของปีนี้)

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพี ในไตรมาสที่ 1/2552 ที่หดตัวสูงถึงร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) น่าจะเป็นจุดที่ต่ำสุดแล้วสำหรับวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของประเทศไทยในรอบนี้ โดยคาดว่าจีดีพีในไตรมาสที่ 2/2552 ที่ปรับฤดูกาลเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) น่าจะปรับตัวดีขึ้นแม้จะไม่ใช่ระดับที่สูงนัก โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่เศรษฐกิจในไตรมาสนี้เผชิญปัจจัยลบที่สำคัญคือการทรุดตัวในภาคการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์จลาจลจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงเดือนเมษายน และตามมาด้วยผลของการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้ส่งผลกระทบต่อการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าการสูญเสียรายได้การท่องเที่ยวและเดินทางจากปัจจัยลบทั้งสองนี้จะมีผลตัดลดจีดีพีในไตรมาสที่ 2/2552 ลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 (ของจีดีพีรายไตรมาส) ทำให้อัตราการขยายตัวของจีดีพี (YoY) ในไตรมาสที่ 2/2552 อาจยังคงหดตัวในอัตราที่ค่อนข้างสูงที่ประมาณร้อยละ 5.6-7.0

สำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยจีดีพีในไตรมาสที่ 3/2552 น่าจะหดตัว (YoY) ในอัตราที่ชะลอลง และกลับมามีอัตราการขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 4/2552 หากการเบิกจ่ายงบประมาณและแผนการจัดหาแหล่งเงินกู้ของรัฐบาลไม่พบกับอุปสรรคที่ทำให้ต้องสะดุดหรือล่าช้าออกไป ปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมาจากแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจในหลายประเทศ ที่น่าจะช่วยให้การส่งออกหดตัวในอัตราที่ชะลอลง และกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี นอกจากนี้ ยังน่าจะได้รับปัจจัยหนุนจากความพยายามในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล ซึ่งแม้ว่าได้มีการปรับลดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 ลง แต่แนวทางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสองจะเปลี่ยนจากเป็นการลงทุนของรัฐในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถ้ามีการดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ก็น่าจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานและเม็ดเงินหมุนเวียนสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีปัจจัยที่ต้องระวังหลายด้าน ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวยังขาดเสถียรภาพ ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิรกรไทย ยังไม่ตัดทิ้งความเป็นไปได้ของสมมติฐานกรณีเลวร้ายที่สุดที่เศรษฐกิจมีโอกาสที่จะฟื้นตัว ในลักษณะรูปตัว W (W-Shaped) ซึ่งหมายถึงการที่จีดีพีอาจกลับมาติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) แทนที่จะเป็นรูปตัว U (U-Shaped) ที่การฟื้นตัวมีความต่อเนื่องในแต่ละไตรมาสข้างหน้า ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจยังถือว่าไม่มั่นคงนักและมีความเปราะบางต่อปัจจัยเสี่ยงที่อาจเข้าจะมากระทบในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะ ความเสี่ยงจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ที่สิ่งที่หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าอาจมีการแพร่กระจายในวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งโอกาสการกลายพันธุ์ของเชื้อดังกล่าว ตลอดจนแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วต่อแนวโน้มเงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศต่างๆ สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นอกเหนือจากประเด็นในด้านการแข็งค่าของเงินบาทที่อาจจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในระยะสั้นของผู้ส่งออกของไทยแล้ว เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงเฉพาะตัวคือปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รวมทั้งอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลให้มีความคืบหน้าได้ล่าช้า

จากปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ไว้ที่หดตัวร้อยละ 3.5-6.0 โดยกรณีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคาดว่าจะหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.5 จากที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 ในปี 2551 สำหรับแนวโน้มในปี 2553 แม้คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะกลับมามีอัตราการขยายตัวเป็นบวกได้ แต่อาจยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งสะท้อนนัยที่รัฐบาลอาจยังต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะการผลักดันโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดการจ้างงานกลับเข้ามา โดยในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2553 อาจขยายตัวอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 2.0-3.0