แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยจะทำให้ดูเหมือนว่าพลังงานทางเลือกอาจได้รับความสนใจลดลง เนื่องจากการลงทุนใช้เม็ดเงินเป็นมูลค่าค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง กระแสความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและความกังวลในเรื่องของสภาวะโลกร้อนก็ทำให้รัฐบาลของหลายๆ ประเทศได้เพิ่มการสนับสนุนโดยบรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เนื่องด้วยภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้จากเดิมที่อุปทานด้านวัตถุดิบเคยเป็นข้อจำกัดในการเติบโตของอุตสาหกรรม ในช่วงต่อไป กลายเป็นอุปสงค์ที่เป็นปัจจัยหลักที่กำหนดทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ของโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้ทำการประเมินแนวโน้มและศักยภาพของอุตสาหกรรมนี้ในตลาดโลก และนัยตลอดจนการปรับตัวของธุรกิจในประเทศ ดังต่อไปนี้
อุตสาหกรรมโซลาร์ไทยกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพตลาดโลก
สำหรับประเทศไทย การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ภายในประเทศยังเป็นไปอย่างค่อนข้างจำกัด โดยในปี 2550 มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพียง 32 เมกะวัตต์หรือคิดเป็นร้อยละ 1.8 ของการใช้พลังงานทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่การใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกล (off-grid) คิดเป็นประมาณร้อยละ 80 ของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดในประเทศ และเป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในรูปของความร้อน เช่น การอบแห้ง การใช้ผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงพยาบาล โรงแรม และสถานประกอบการอื่นๆ ขณะที่การใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าโดยเชื่อมต่อกับระบบ (grid-connected) ยังมีเพียงประมาณร้อยละ 10 ซึ่งสาเหตุของการติดตั้งและการใช้งานภายในประเทศที่จำกัดเมื่อเทียบกับการใช้พลังงานประเภทอื่นๆ ก็เนื่องมาจากต้นทุนที่ค่อนข้างสูงและการขาดแคลนการสนับสนุนจากภาครัฐ
ดังนั้น อุตสาหกรรรมการผลิตเซลล์/แผงโซลาร์ในไทยจึงเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก โดยไทยมีการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มยุโรปโดยเฉพาะเยอรมัน สาธารณเชคฯ และอิตาลี ประเทศสหรัฐฯ ประเทศในแถบเอเชีย เช่น อินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน และประเทศในแถบตะวันออกกลาง โดยมีมูลค่าการส่งออกเซลล์แสงอาทิตย์ในปี 2551 สูงถึง 39.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 8 เท่าตัว ก่อนที่จะเริ่มชะลอตัวลงในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ อย่างไรก็ตามอัตราการขยายตัวของการส่งออกในช่วงเดือนม.ค.-มีค. 2552 ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าของช่วงเดียวกันของปีก่อนก็ยังนับว่าอยู่ในระดับที่สูง
ทั้งนี้ เมื่อดูแนวโน้มตลาดโลกจะเห็นได้ว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์ทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยนับตั้งแต่ปี 2545 การผลิตแผงโซลาร์ทั่วโลกเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 48 ต่อปีหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1 เท่าทุกๆ 2 ปี (ณ สิ้นปี 2551 การติดตั้งสะสมรวมทั้งโลกอยู่ที่ 15,200 เมกะวัตต์) ซึ่งสาเหตุหลักของการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการติดตั้งแผงโซลาร์ก็เนื่องมาจากนโยบายสนับสนุน ของประเทศต่างๆ อาทิ ออสเตรเลีย เยอรมัน สเปน กลุ่มประเทศยุโรปอื่นๆ อิสราเอล ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เป็นต้น โดยการติดตั้งโซลาร์เซลล์ทั่วโลกในปี 2008 อยู่ที่ 5,559 เมกะวัตต์เพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 เท่าจากปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ดี จากปัญหาเศรษฐกิจและปัจจัยอื่นๆ อาจทำให้การเติบโตของการติดตั้งแผงโซลาร์ในปี 2552 ต้องหยุดชะงัก โดยจากเดิมในปีก่อนหน้าที่การผลิตถูกจำกัดโดยอุปทานของโพลีซิลิคอนซึ่งเป็นวัตถุดิบและเป็นต้นทุนที่สำคัญในการผลิตแผง/เซลล์แสงอาทิตย์ ปัจจุบันความสามารถในการผลิตโพลีซิลิคอนมีเพิ่มขึ้นทำให้ราคาและต้นทุนในการผลิตโซลาร์เซลล์มีแนวโน้มลดลง เมื่อประกอบกับผู้เล่น (players) ในอุตสาหกรรมที่มีจำนวนมาก แนวโน้มของตลาดโลกในปี 2552 จึงจะถูกกำหนดจากภาวะด้านอุปสงค์เป็นหลัก โดยตัวเลขอุปสงค์รวมซึ่งขึ้นอยู่กับกรอบนโยบายสนับสนุนนั้นคาดว่าอาจมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการว่าการติดตั้งใหม่ในปีนี้จะอยู่ในช่วง 4,000-6,000 เมกะวัตต์ขึ้นกับความรุนแรงและยาวนานของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการใช้นโยบายสนับสนุนในประเทศต่างๆ ก่อนที่อัตราการเติบโตของตัวเลขการติดตั้งจะกระเตื้องขึ้นอีกครั้งในปี 2553 หลังเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ในระยะข้างหน้า การที่ต้นทุนการติดตั้งแผงโซลาร์มีแนวโน้มที่ลดลงขณะที่การใช้พลังงานจากฟอสซิล อาทิ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ประสบกับความขาดแคลนและมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ การปรับตัวของกลไกตลาดจะส่งผลให้การใช้แผงโซลาร์เพื่อใช้ในการผลิตพลังงานสามารถแข่งขันกับการผลิตพลังงานในรูปแบบดั้งเดิมได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ มีการประเมินว่าจะถึงจุด grid parity ภายในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า (ภายในปี 2012 ตามการคาดการณ์ของ European Photovoltaic Industry Association)
ซึ่งในภาวะที่อุปทานเพิ่มขึ้นแต่อุปสงค์ชะลอตัว อุตสาหกรรมการผลิตเซลล์/แผงโซลาร์ของไทยอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในขณะที่ราคาของเซลล์/แผงโซลาร์มีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ ในระยะสั้นซึ่งอุปสงค์โลกชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ทำให้ราคาของโซลาร์และรายรับของผู้ประกอบการในธุรกิจมีแนวโน้มการเติบโตที่ลดลง อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจและตลาดสินเชื่อที่ตึงตัวทำให้บริษัทขนาดเล็กอาจประสบกับปัญหาการจัดหาแหล่งเงินทุน ความท้าทายของอุตสาหกรรมไทยซึ่งเป็นบริษัทขนาดกลาง-เล็กจึงอยู่ที่การประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นไปในช่วงนี้ไปได้ โดยการบริหารจัดการด้านการตลาดและด้านการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสำหรับบริษัทที่มีปัญหาด้านเงินทุนและสภาพคล่องอาจพิจารณาการหาผู้ร่วมทุนหรือพันธมิตรทางธุรกิจ หรือการควบรวมกิจการหรือหน่วยการผลิตระหว่างกัน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กร
ในด้านบวก แม้ว่าภาพรวมของตลาดโลกในปี 2552 อาจชะลอตัว แต่ในบางตลาด เช่น ญี่ปุ่น ได้กลับมามีนโยบายสนับสนุนการติดตั้งแผงโซลาร์อีกครั้งหลังจากที่ได้หยุดไปในปี 2548 โดยบรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับการที่อีกหลายๆ ประเทศในยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน เชคโกสโลวาเกีย ยังจะคงนโยบายการอุดหนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ก็น่าที่จะทำให้อุตสาหกรรมไทยพอมีช่องทางในการเติบโตต่อไปได้ นอกจากนี้ ยังมีตลาดใหม่ที่อาจเป็นโอกาสที่ธุรกิจอาจควรพิจารณาด้วย เช่น กลุ่มประเทศแอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ ซึ่งความต้องการการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในรูปแบบการเชื่อมต่อกับระบบ (grid-connected) และการใช้ในพื้นที่ห่างไกลหรือในชนบท (off-grid) ทำให้เป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ และในประเทศจีนซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าในอนาคตอันใกล้อาจมีการออกนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการขยายการใช้งานเซลล์/แผงโซลาร์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น การใช้งานในยานยนต์ หรือการใช้งานประกอบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่น ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในอนาคตจากผลของการตื่นตัวในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมและความพยายามในการหยุดยั้งภาวะโลกร้อน
นโยบายสนับสนุนภาครัฐในตลาดต่างประเทศ
สเปน
• จำกัดการติดตั้งใหม่ที่ 500 เมกะวัตต์ต่อปี ระหว่างปี 2552-2554
• ลดอัตราการอุดหนุน (feed-in tariffs) ลงจากเดิมประมาณร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 30 ขึ้นกับชนิดและปริมาณการติดตั้ง
เยอรมัน
• การสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์โดยการใช้ feed-in tariffs และสนับสนุนการจัดหาแหล่งเงินทุนผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาของรัฐ
สหรัฐฯ
• ขยายการให้ Investment Tax Credit: ITC ในกฎหมาย The Emergency Economic Stabilization Act (EESA) ปี 2551
• การต่ออายุมาตรการสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในระดับรัฐ เช่น ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และในเดือนเมษายน 2552 อีก 11 รัฐได้มีการพิจารณาที่จะนำระบบ feed-in tariffs มาใช้
• การบรรจุมาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนไว้ในมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การให้เปลี่ยนเงินลดหย่อนภาษีเป็นเงินสดสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม การให้งบสนับสนุนเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ฯลฯ
ญี่ปุ่น
• ตั้งเป้าหมายการติดตั้งไว้ที่ 14 กิกะวัตต์ภายในปี 2563 และ53 กิกะวัตต์ในปี 2573 โดยมีเป้าหมายให้ร้อยละ 30 ของครัวเรือนติดตั้งแผงโซลาร์ภายในปี 2573
• ภาครัฐมีแผนการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ (feed-in tariff) เป็นระยะเวลา 10 ปี
• นโยบาย Green New Deal เพื่อสนับสนุนให้โรงเรียนและสถานที่ราชการติดตั้งแผงโซลาร์ โดยจะกำหนดให้บริษัทที่อยู่ในธุรกิจพลังงานรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตในอัตราเกือบ 2 เท่าของราคาปกติ
จีน • รัฐบาลจีนจะทบทวนเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนในปี 2563 ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์เป้าหมายการติดตั้งปัจจุบันอยู่ที่ 1,800 เมกะวัตต์ภายในปี 2563
• ในเดือนมีนาคม 2552 จีนประกาศแผนอุดหนุนโครงการทดลองการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในอาคาร โดยกำหนดอัตรารับซื้อไว้ที่ 20 หยวน
ความท้าทายอุตสาหกรรมผลิตแผง/โซลาร์เซลล์ไทยก่อนที่จะถึงจุด grid parity อีกประการอยู่ที่การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกทั้งโดยการทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) การปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพของโซลาร์เซลล์ และการพัฒนานวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ เช่น ในเรื่องของความทนทานและลักษณะของผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับการใช้งานซึ่งเป็นตลาดเป้าหมาย เช่น แผงโซลาร์เพื่อโครงการผลิตพลังงาน (solar farm หรือ solar plant) เพื่อการติดตั้งในตึกและอาคารสำนักงาน หรือเพื่อการติดตั้งตามที่พักอาศัย
นโยบายของรัฐกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศ
ในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากสถานการณ์ทางด้านพลังงานที่ราคาน้ำมันมีความผันผวน ทำให้ภาครัฐให้ความสนใจกับการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นจะเห็นได้จากในแผนพลังงานทดแทน 15 ปี (พ.ศ.2551-2565) ไทยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทนที่ได้จากพลังงานน้ำ แสงอาทิตย์ พลังลม และพลังชีวมวลทั้งไบโอเอธานอลและแก๊ซโซฮอลล์ เป็นร้อยละ 10.6 ภายในปี 2554 (จากเดิมร้อยละ 8) และร้อยละ 14.1 ในปี 2565 โดยมีเป้าหมายสำหรับพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพิ่มจาก 32 เมกะวัตต์เป็น 55 เมกะวัตต์ในปี 2554 และ 500 เมกะวัตต์ภายในปี 2565 ตามลำดับ ปัจจุบันรัฐมีมาตรการสนับสนุนธุรกิจและส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์โดยการยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ และการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (ค่า adder) ในอัตรา 8 บาทต่อหน่วยเป็นระยะเวลา 10 ปี เป็นต้น ซึ่งในการให้มาตรการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนเกี่ยวกับระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแผนพัฒนากำลังไฟฟ้า (PDP) ล่าสุด ที่ประชุมได้พิจารณาคงอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อของไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไว้เท่าเดิม สำหรับการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เพิ่มการส่งเสริมเพื่อผลิตวัตถุดิบสำหรับการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ จากปัจจุบันให้ส่งเสริมเฉพาะเซลล์แสงอาทิตย์เป็นการให้ครอบคลุมกิจการที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ วัตถุดิบสำหรับการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ ได้แก่ ซิลิกอนบริสุทธิ์ แผ่นเวเฟอร์ กระจกเคลือบขั้ว โปร่งแสง นำไฟฟ้า เพื่อการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมต้นน้ำและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาครัฐจะให้การสนับสนุนมากขึ้น แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการผลิตและติดตั้งแผงโซลาร์ยังอยู่ในระดับที่สูง จึงทำให้การใช้งานในภาคครัวเรือน อุตสาหกรรมและในภาคธุรกิจไม่เป็นไปในวงกว้าง การเพิ่มแรงจูงใจโดยการใช้นโยบายสนับสนุนเพิ่มเติมและการลดอุปสรรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการใช้งาน อาทิ การคำนวณค่า adder จึงเป็นปัจจัยสำคัญและมีความจำเป็นในการที่จะกระตุ้นตลาดในประเทศเพื่อรองรับอุปทานของอุตสาหกรรมและทำให้อุตสาหกรรมการผลิตแผง/เซลล์โซลาร์ไทยมีความแข็งแกร่งในระยะยาว
โดยสรุป ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มีต้นตอมาจากวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ได้ส่งผลต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์โลก โดยจากเดิมที่ตลาดเคยถูกกำหนดจากอุปทาน ในช่วงต่อไปทิศทางการเติบโตจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์เป็นหลัก โดยตัวเลขของอุปสงค์รวมซึ่งขึ้นอยู่กับกรอบนโยบายสนับสนุนของประเทศต่างๆ นั้นอาจมีการชะลอตัวลงในบางตลาด ประกอบกับการที่โครงการลงทุนเพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมากอาจประสบกับปัญหาในการจัดหาแหล่งเงินทุนในสภาพตลาดเงินตึงตัว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปริมาณการติดตั้งใหม่ทั่วโลกในปีนี้อาจชะลอตัวลงมาอยู่ในช่วง 4,000-6,000 เมกะวัตต์เมื่อเทียบกับ 5,235 เมกะวัตต์และอัตราการเติบโตกว่า 1.3 เท่าในปีก่อนหน้า ซึ่งสำหรับอุตสาหกรรมไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกจึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยผลของการชะลอตัวของอุปสงค์และความสามารถในการผลิต (capacity) ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นจะเป็นแรงกดดันให้ราคาของแผง/โซลาร์เซลล์และรายรับของธุรกิจมีแนวโน้มการเติบโตที่ลดลง ทำให้อุตสาหกรรมไทยซึ่งเป็นบริษัทขนาดกลาง-เล็กอาจประสบปัญหาด้านเงินทุนและสภาพคล่องในระยะสั้นได้
ดังนั้น ในระยะสั้นธุรกิจจึงต้องพยายามประคองตัวให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไป โดยบริษัทที่ขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียนและไม่สามารถกู้ยืมได้ อาจต้องพิจารณาหาผู้ร่วมทุนหรือพันธมิตรทางธุรกิจ หรือพิจารณาการควบคุมกิจการหรือหน่วยการผลิตระหว่างกันเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ ในด้านการตลาด แม้ว่าภาพรวมตลาดโลกจะชะลอตัว แต่ในหลายๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐฯ ที่ได้มีหรือจะมีการรวมนโยบายสนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์และ/หรือพลังงานทดแทนเข้าไว้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ก็น่าที่จะเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจไทยที่จะขยายตลาดเข้าไปในประเทศเหล่านี้ นอกจากนี้ ตลาด อย่างเช่น ประเทศในแอฟริกาและเอเชียใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์และยังขาดแคลนไฟฟ้า ก็เป็นตลาดที่น่าจับตามองในอนาคตเช่นเดียวกัน
ความท้าทายของอุตสาหกรรมแผง/โซลาร์เซลล์ของไทยในระยะยาวอยู่ที่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกซึ่งมีผู้เล่นรายใหญ่มากราย และการมีการประหยัดต่อขนาดเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ในด้านการผลิต ผู้ประกอบการควรที่จะปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพของสินค้าอย่างต่อเนื่อง และในระยะยาว ควรที่จะมีการระบุกลุ่มเป้าหมายของสินค้า เช่น เพื่อการใช้งานในครัวเรือน หรือสำหรับไว้ติดตั้งในโรงงานผลิตพลังงาน เป็นต้น เพื่อที่จะสามารถพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการและเหมาะกับการใช้งานของกลุ่มเป้าหมาย เป็นการสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ที่บริษัททำการผลิต
ทั้งนี้ ก่อนที่จะถึงจุดที่ต้นทุนการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์จะเท่ากับหรือน้อยกว่าการใช้พลังงานในรูปแบบดั้งเดิม (grid parity) ที่มีการประเมินว่าอาจจะเห็นได้ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า นโยบายการสนับสนุนและการส่งเสริมของรัฐในรูปแบบต่างๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมากต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมไทย เนื่องจากต้นทุนการติดตั้งที่สูง ในปัจจุบันการติดตั้งในประเทศจึงยังมีในปริมาณที่จำกัด ดังนั้น ธุรกิจโซลาร์เซลล์ไทยจึงต้องพึ่งพาตลาดส่งออกค่อนข้างมากขณะที่ยังคงเป็นเรื่องที่ยากต่อการที่ผู้ประกอบการจะมีการประหยัดต่อขนาด ซึ่งภาครัฐควรที่จะตระหนักและแก้ไขอุปสรรคเหล่านี้เพื่อช่วยอุตสาหกรรมโซลาร์ไทยให้มีความแข็งแกร่งและพร้อมสำหรับแข่งขันในตลาดโลกที่จะเติบตัวอย่างรวดเร็วในช่วงอีกไม่กี่ปีข้างหน้า