บริการเสริมมือถือ ปี ‘52 … ยังเติบโต โดยเฉพาะโมบายอินเทอร์เน็ต

จำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ใกล้จะอิ่มตัว โดยในปี 2551 มีจำนวนเลขหมายประมาณ 61 ล้านเลขหมาย คิดเป็นอัตราส่วนต่อประชากรทั้งหมดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 96.2 สะท้อนถึงโอกาสที่ยากขึ้นของผู้ให้บริการในการเพิ่มจำนวนเลขหมายใหม่ แม้ในความเป็นจริงจะมีการกระจุกตัวของจำนวนเลขหมายในบางพื้นที่หรือผู้ใช้บริการบางรายใช้เลขหมายมากกว่า 1 เลขหมายก็ตาม ทำให้ปัจจุบันผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับรายได้ที่ไม่ใช่การโทรมากขึ้น ซึ่งยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากและคาดว่าจะกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของผู้ให้บริการในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการบริโภคของประชาชนด้วย ดังจะเห็นได้จากรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนในไตรมาสแรกของปีนี้หดตัวร้อยละ 2.6 เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 ปี สะท้อนภาพการชะลอบริโภคและระมัดระวังการจับจ่ายของผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้รายได้จากบริการเสริมที่เคยถูกคาดหวังว่าจะเป็นโอกาสสำคัญของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อาจต้องเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากขึ้น

? บริการเสริมมือถือ … แหล่งรายได้สำคัญของอุตสาหกรรมมือถือ

ที่ผ่านมารายได้จากอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในส่วนของบริการสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ รายได้จากบริการเสียงหรือจากการโทร (Voice Service) และรายได้จากบริการที่ไม่ใช่เสียง (Non-Voice Service) หรืออาจเรียกว่าบริการเสริม (Value Added Service: VAS) โดยรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากบริการเสียงกว่าร้อยละ 85 ขณะที่รายได้จากบริการเสริมมีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยยังคงนิยมใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับการโทรเข้า/ออกเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งบริการเสริมยังคงมีไม่มากและไม่หลากหลาย ทำให้หลายปีที่ผ่านมาผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จึงใช้ กลยุทธ์การเพิ่มจำนวนเลขหมายและการเพิ่มปริมาณการใช้งาน แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ในระดับที่เข้าใกล้ร้อยละ 100 มากขึ้นส่งผลให้โอกาสที่จะเพิ่มจำนวนเลขหมายทำได้ยากขึ้น ขณะที่การเพิ่มปริมาณการโทรก็ทำได้ยากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากปริมาณการโทรอยู่ในระดับที่ค่อนข้างทรงตัวแล้วและมักจะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและฤดูกาล แผนการตลาดและโปรโมชั่นส่งเสริมการขายอาจทำให้ปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้นได้ชั่วคราวเท่านั้น แต่ในส่วนของบริการเสริมกลับมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นทุกปี โดยกว่า 3 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 20-25 อีกทั้งจำนวนผู้ใช้บริการก็ยังมีไม่มากนัก โดยบริการเสริมที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีการใช้งานอยู่เป็นประจำคือการส่งข้อความสั้นหรือ SMS (Short Message Service) และการส่งข้อความมัลติมีเดียหรือ MMS (Multimedia Message Service) ขณะที่บริการเสริมด้านข้อมูลอื่นๆ มีจำนวนผู้ใช้ประจำอยู่เพียงร้อยละ 10-15 ของจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่ายังมีโอกาสเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการได้อีกมาก อีกทั้งในอนาคตหากมีการพัฒนาบริการเสริมใหม่ๆ ขึ้นมาก็สามารถขยายกลุ่มผู้ใช้หรือเพิ่มจำนวนการใช้บริการให้มากขึ้นได้อีก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโครงสร้างรายได้ของบริการเสริมอาจแบ่งได้ 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่
1) บริการ SMS เป็นบริการส่งข้อความสั้นผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการมากที่สุด โดยมีสัดส่วนรายได้เฉลี่ยประมาณร้อยละ 35 ของรายได้บริการเสริมทั้งหมด

2) บริการ MMS เป็นบริการส่งข้อความในรูปแบบมัลติมีเดียทั้งภาพและเสียง ซึ่งเป็นการพัฒนามาจากการส่ง SMS โดยมีสัดส่วนรายได้เฉลี่ยประมาณร้อยละ 12 ของรายได้บริการเสริมทั้งหมด

3) บริการด้านข้อมูลอื่นๆ เป็นบริการข้อมูลในหลายรูปแบบ เช่น บริการอินเทอร์เน็ตผ่านระบบ EDGE/GPRS บริการเสียงเพลงรอสาย บริการเสียงเรียกเข้า บริการข่าว เป็นต้น โดยรายได้จากบริการด้านข้อมูลอื่นๆ มีสัดส่วนเฉลี่ยประมาณร้อยละ 53 ของรายได้บริการเสริมทั้งหมด

? แนวโน้มบริการเสริม ปี ’52 … ยังคงเติบโต แม้ในอัตราที่ชะลอลง

ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้สถานการณ์ของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ในภาวะที่ชะลอตัวลง โดยจำนวนเลขหมายใหม่มีเพียง 0.8 ล้านเลขหมาย หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 65.5 ส่งผลให้คาดว่าจำนวนเลขหมายใหม่ตลอดทั้งปีน่าจะมีเพียง 3-4 ล้านเลขหมาย ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ขณะที่จำนวนเลขหมายโดยรวมทั้งระบบน่าอยู่ที่ประมาณ 64-65 ล้านเลขหมาย แต่ก็จะทำให้อัตราส่วนจำนวนเลขหมายต่อประชากรจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับที่เกินร้อยละ 100 สะท้อนภาพการเข้าใกล้จุดอิ่มตัวของตลาดเลขหมายใหม่มากขึ้น ขณะที่หากพิจารณาจากข้อมูล GDP ในไตรมาสแรกของปีนี้จะพบว่าการบริโภคของภาคครัวเรือนในด้านบริการไปรษณีย์และโทรคมนาคมหดตัวร้อยละ 0.3 อย่างไรก็ตาม รายได้จากบริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ประมาณ 35,518 ล้านบาท* หดตัวร้อยละ 2 แบ่งเป็นรายได้จากการโทรประมาณ 29,486 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 6.1 และรายได้จากบริการเสริมประมาณ 6,032 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 24.3 จะเห็นได้ว่าแม้ภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้อาจจะไม่สดใสโดย GDP หดตัวสูงถึงร้อยละ 7.1 ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอยลงและทำให้รายได้จากการโทรหดตัวลงด้วย แต่รายได้จากบริการเสริมยังคงสามารถเติบโตได้ในระดับสองหลัก โดยหนึ่งในบริการเสริมที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างมากคือบริการอินเทอร์เน็ตผ่านระบบ EDGE/GPRS รวมทั้งยังมีรายได้จากบริการเสริมรูปแบบใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น เช่น บริการเสียงเพลงรอสาย บริการเสียงเพลงเรียกเข้า บริการข่าว เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าบริการเสริมจะยังคงขยายตัวได้ในระดับสองหลัก แม้จะอยู่ในอัตราที่ชะลอลง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากผู้ให้บริการมีการปรับลดอัตราค่าใช้บริการลง อีกทั้งอุปกรณ์ Air Card ที่จะช่วยให้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คสามารถใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ก็มีราคาถูกลง ขณะที่บริการเสริมใหม่ๆ ก็มีความหลากหลายขึ้น ทำให้สามารถขยายกลุ่มผู้ใช้บริการได้มากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะบริการข่าวผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ผู้ให้บริการร่วมกับสำนักข่าวเปิดให้บริการ ทำให้บริการข่าวมีความหลากหลายและเป็นที่น่าสนใจ รวมทั้งบริการคอนเทนต์ด้านบันเทิงที่คาดว่าจะยังคงได้รับความนิยมเนื่องจากการทำการตลาดร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และผู้ให้บริการด้านบันเทิง ตลอดจนแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มกลับมาสู่ความสงบ ก็น่าจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยง อาทิ ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งซึ่งอาจส่งผลกดดันต่อค่าครองชีพและบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภคลงได้ สถานการณ์ทางการเมืองที่แม้อาจดูเหมือนเข้าสู่ภาวะสงบ แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่โดยตลอด รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องคอยจับตามองต่อไป ได้แก่ การเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G และบริการคงสิทธิเลขหมาย (Mobile Number Portability: MNP) แม้มีแนวโน้มที่จะเปิดให้บริการได้ในปีหน้า แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อตลาดบริการเสริมในปีนี้เช่นกัน โดยคาดว่าผู้ให้บริการจะปรับกลยุทธ์ในการแข่งขันโดยจะหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาฐานลูกค้าเดิมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เตรียมเปิดตัวบริการเสริมใหม่ๆ เพื่อรองรับการเข้ามาของระบบ 3G อาทิ ผู้ให้บริการบางรายเปิดตัวบริการดาวน์โหลดภาพยนตร์ฉบับเต็ม ซึ่งในทางปฏิบัติก็อาจยังไม่สะดวกนัก แต่ก็ช่วยนำเสนอบริการใหม่ๆ ออกสู่ตลาด หรือบริการอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็มีผู้ให้บริการหลายรายพยายามที่ออกแพ็คเก็จเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาใช้บริการมากขึ้น รวมทั้งยังมีโปรโมชั่นขายอุปกรณ์เสริมที่รองรับระบบ 3G ได้อีกด้วย ซึ่งฐานลูกค้าที่ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันถือเป็นฐานลูกค้าสำคัญ โดยคาดว่าจะเป็นกลุ่มแรกที่จะใช้บริการระบบ 3G หลังจากมีการเปิดให้บริการ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดบริการเสริมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2552 จะอยู่ที่ประมาณ 23,000-24,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 20-25 เติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อนที่มีมูลค่าประมาณ 19,337 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 27.5 แต่ก็ถือว่าเป็นธุรกิจที่เติบโตได้ดีสวนกระแสภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้

? บริการเสริมใหม่ๆ … ช่วยเพิ่มมูลค่าให้อุตสาหกรรมมือถือ

แนวโน้มบริการเสริมยังคงมีทิศทางที่สดใส อีกทั้งหากมีการเปิดใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ก็จะช่วยสนับสนุนให้มีการพัฒนาบริการเสริมใหม่ๆ มากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มบริการเสริมที่เปิดให้บริการในปัจจุบันและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีตัวอย่างดังต่อไปนี้

? บริการ SMS แม้จะเป็นบริการเสริมระดับพื้นฐาน แต่คาดว่าจะยังคงได้รับความนิยมในการใช้บริการอยู่ เนื่องจากใช้งานง่ายและค่อนข้างสะดวก เป็นบริการเสริมที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่สามารถใช้งานได้

? บริการ MMS เป็นการพัฒนาการส่งข้อความให้เป็นระบบมัลติมีเดียมีทั้งภาพและเสียง แต่ข้อเสียที่ทำให้บริการ MMS ยังไม่แพร่หลายเหมือนบริการ SMS ก็เนื่องจากอาจใช้งานยากสำหรับผู้บริโภคบางกลุ่ม จึงมีข้อจำกัดที่จะทำตลาดสำหรับผู้บริโภคส่วนใหญ่

? บริการอินเทอร์เน็ต แม้ในอดีตจะได้รับความนิยมไม่มากนัก เนื่องจากมีความเร็วในการรับส่งข้อมูลต่ำ แต่ปัจจุบันก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากอัตราค่าใช้บริการและอุปกรณ์เสริมมีราคาถูกลง อย่างไรก็ตาม ความเร็วในการให้บริการยังคงไม่สูงเมื่อเทียบกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านระบบ ADSL แต่หากมีการเปิดใช้บริการ 3G ก็จะส่งผลให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งน่าจะทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่แพร่หลายมากขึ้น โดยจุดแข็งก็คือสามารถใช้บริการในพื้นที่มีอาณาเขตกว้างกว่าอินเทอร์เน็ตระบบ ADSL หรือ Wi-Fi เนื่องจากสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ครอบคลุมพื้นที่ได้ค่อนข้างกว้าง แต่คาดว่าในระยะเริ่มต้นระบบ 3G จะเปิดให้บริการในเขตเมืองของจังหวัดสำคัญก่อน เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต เป็นต้น

? บริการข่าว เป็นบริการเสริมที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการบริโภคข่าวสารที่รวดเร็วและทันเหตุการณ์ โดยคาดว่าในปีนี้จะมีจำนวนผู้สมัครใช้บริการกว่า 3-3.5 ล้านราย อีกทั้งหากมีการเปิดใช้ระบบ 3G ก็น่าจะช่วยให้บริการข่าวบนมือถือพัฒนาไปในรูปแบบของมัลติมีเดียมากขึ้น เช่น คลิปข่าว วิดีโอข่าวย้อนหลัง เป็นต้น

? บริการด้านบันเทิง อาทิ บริการเสียงเพลงรอสาย บริการเสียงเพลงเรียกเข้า บริการดาวน์โหลดเพลง/มิวสิควิดีโอ/คอนเสิร์ต/ภาพยนตร์ นับเป็นบริการเสริมที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดทั้งกลยุทธ์ด้านราคาและมิใช่ราคา ประกอบกับกระแสความนิยมในศิลปิน/นักร้อง/บทเพลง/ภาพยนตร์/แฟชั่นที่จะเปลี่ยนไปตามกระแสนิยม ทำให้จำนวนการดาวน์โหลดเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งหากมีการเปิดให้บริการระบบ 3G ก็คาดว่าจะช่วยให้บริการนี้ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากผู้ใช้บริการจะสามารถดาวน์โหลดได้สะดวกรวดเร็ว

? บริการ Mobile Banking/Payment เป็นบริการเสริมที่ในอนาคตจะกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของผู้ให้บริการ โดยเฉพาะหากมีการเปิดให้บริการระบบ 3G เนื่องจากจะช่วยให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลมีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการและการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลทางการเงินอีกด้วย โดยปัจจุบันเริ่มเห็นถึงแนวโน้มการที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับสถาบันการเงินเพื่อร่วมกันเปิดให้บริการในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของการเติบโตคือความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยและความเที่ยงตรงของข้อมูล ตลอดจนลักษณะการใช้งานที่อาจมีความยุ่งยากสำหรับผู้บริโภคบางกลุ่ม

? สรุปและข้อคิดเห็น

รายได้จากบริการเสริมคาดว่าจะกลายมาเป็นแหล่งรายได้สำคัญของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หลังจากที่จำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าใกล้จุดอิ่มตัวมากขึ้น โดยในปี 2551 มีจำนวนเลขหมายประมาณ 61 ล้านเลขหมาย คิดเป็นอัตราส่วนต่อประชากรทั้งหมดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 96.2 สะท้อนถึงโอกาสที่ยากขึ้นของผู้ให้บริการในการเพิ่มจำนวนเลขหมายใหม่ ขณะที่ในส่วนของบริการเสริมกลับมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นทุกปี อีกทั้งจำนวนผู้ใช้บริการก็ยังมีไม่มากนัก โดยบริการเสริมที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีการใช้งานอยู่เป็นประจำคือการส่งข้อความสั้นหรือ SMS และการส่งข้อความมัลติมีเดียหรือ MMS ขณะที่บริการเสริมด้านข้อมูลอื่นๆ มีจำนวนผู้ใช้ประจำอยู่เพียงร้อยละ 10-15 ของจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่ายังมีโอกาสเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการได้อีกมาก

ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้สถานการณ์ของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ในภาวะที่ชะลอตัวลง โดยจำนวนเลขหมายใหม่มีเพียง 0.8 ล้านเลขหมาย หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 65.5 ส่งผลให้คาดว่าจำนวนเลขหมายใหม่ตลอดทั้งปีน่าจะมีเพียง 3-4 ล้านเลขหมาย ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ขณะที่จำนวนเลขหมายโดยรวมทั้งระบบน่าอยู่ที่ประมาณ 64-65 ล้านเลขหมาย แต่ก็จะทำให้อัตราส่วนจำนวนเลขหมายต่อประชากรจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับที่เกินร้อยละ 100 ขณะที่การบริโภคของครัวเรือนในด้านบริการไปรษณีย์และโทรคมนาคมหดตัวร้อยละ 0.3 ส่วนรายได้จากบริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ประมาณ 35,518 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 2 แบ่งเป็นรายได้จากการโทรประมาณ 29,486 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 6.1 และรายได้จากบริการเสริมประมาณ 6,032 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 24.3 จะเห็นได้ว่าแม้เศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้อาจไม่สดใสโดย GDP หดตัวสูงถึงร้อยละ 7.1 แต่รายได้จากบริการเสริมยังคงสามารถเติบโตได้ในระดับสองหลัก

สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าบริการเสริมจะยังคงขยายตัวได้ในระดับสองหลัก แม้จะอยู่ในอัตราที่ชะลอลง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากผู้ให้บริการมีการปรับลดอัตราค่าใช้บริการลง อีกทั้งอุปกรณ์เสริมที่จะช่วยให้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คสามารถใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ก็มีราคาถูกลง ขณะที่บริการเสริมใหม่ๆ ก็มีความหลากหลายขึ้น ทำให้สามารถขยายกลุ่มผู้ใช้บริการได้มากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะบริการข่าวผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมทั้งบริการคอนเทนต์ด้านบันเทิงที่คาดว่าจะยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่อง ตลอดจนแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มกลับมาสู่ความสงบ ก็น่าจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยง อาทิ ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งซึ่งอาจส่งผลกดดันต่อค่าครองชีพและบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภคลงได้ สถานการณ์ทางการเมืองที่แม้อาจดูเหมือนเข้าสู่ภาวะสงบ แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่โดยตลอด รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องคอยจับตามองต่อไป ได้แก่ การเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G และบริการคงสิทธิเลขหมาย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดบริการเสริมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2552 จะอยู่ที่ประมาณ 23,000-24,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 20-25 เติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อนที่มีมูลค่าประมาณ 19,337 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 27.5 แต่ก็ถือว่าเป็นธุรกิจที่เติบโตได้ดีสวนกระแสภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้0