เนื่องจากปัจจุบัน รัฐบาลไทยกำลังเผชิญข้อจำกัดทางการคลัง หลังจากที่การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้รายรับจัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย สวนทางกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 และแผนปฎิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อประคับประคองและเยียวยาเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ ขณะที่ ทางออกเพื่อลดข้อจำกัดทางการคลังแบบยั่งยืนในรูปแบบของการปฏิรูประบบภาษี อาจจะยังคงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เพราะอาจส่งผลซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบางสูง ส่วนการแก้ปัญหาด้วยการก่อหนี้สาธารณะนั้น แม้ว่าจะสามารถดำเนินการได้ในทางปฏิบัติ แต่ก็อาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือในระดับประเทศที่ถูกสั่นคลอนลงไปบ้าง โดยหนี้สาธารณะประมาณ 1 ใน 3 เป็นผลจากการดำเนินการแก้ไขภาระหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จในการลดภาระดังกล่าวลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อให้การใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐยังคงเป็นกลจักรสำคัญที่จะประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในครั้งนี้ได้ นักวิชาการและหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงได้เสนอแนวคิดในการนำทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ท่ามกลางภาวะที่ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศดังกล่าว เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในปัจจุบันมีจำนวนสูงนับแสนล้านดอลลาร์ฯ แล้ว
ทางการไทยเอง ก็กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด ถึงความเป็นไปได้ในการนำทุนสำรองระหว่างประเทศ มาใช้พัฒนาประเทศในทางปฏิบัติ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีข้อสังเกตที่น่าสนใจต่อประเด็นดังกล่าว ดังนี้
การบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศในปัจจุบัน อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่ชัดเจน ขณะที่ ทุนสำรองระหว่างประเทศ มีจำนวนสูงกว่าธนบัตรออกใช้มาก ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย (ทุนสำรองฯ) ซึ่ง ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2552 มีจำนวน 1.21 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ไม่รวมฐานะ Forward) นั้น แม้ว่าจะถูกเก็บรักษาและดูแลโดยองค์กรเดียว อันได้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ก็อยู่ในรูปสินทรัพย์ต่างประเทศที่กระจายอยู่หลายส่วนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นที่ฝ่ายการธนาคาร (ซึ่งทำหน้าที่ดูแลและบริหารนโยบายการเงิน ตลอดจนอัตราแลกเปลี่ยน) และฝ่ายออกบัตรธนาคาร (ตามกฎหมาย พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 ซึ่งเน้นหน้าที่ในการบริหารและจัดการธนบัตรที่นำออกใช้หมุนเวียนในประเทศ) โดยมีกฎหมายดูแลการจัดการและบริหารงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน กล่าวคือ สินทรัพย์ต่างประเทศที่นับเป็นทุนสำรองฯ ของฝ่ายการธนาคาร จะอยู่ภายใต้การดูแลของ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ขณะที่ทุนสำรองฯ ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายออกบัตรธนาคาร จะอยู่ภายใต้การดูแลของ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501
ทั้งนี้ เนื่องจาก พ.ร.บ.เงินตรา กำหนดให้ ธปท.ต้องแยกทุนสำรองเงินตราออกจากสินทรัพย์อื่นๆ ที่เป็นของ ธปท. ดังนั้น ในทางปฏิบัติ ธปท.จึงจัดทำงบการเงิน 3 งบด้วยกัน ได้แก่ (1) งบการเงินของ “ฝ่ายการธนาคาร” (2) งบการเงินของ “ฝ่ายออกบัตรธนาคาร” (ปัจจุบัน สะท้อนเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกบัตรและโรงพิมพ์) และ (3) งบการเงินของ “ทุนสำรองเงินตรา” โดยงบทุนสำรองเงินตรานั้น ประกอบไปด้วย 3 บัญชีย่อย ได้แก่ (3.1) บัญชีทุนสำรองเงินตรา เพื่อหนุนหลังการออกใช้ธนบัตร (3.2) บัญชีผลประโยชน์ประจำปี ซึ่งเทียบได้กับงบกำไรขาดทุนของกิจการ โดยจะสะท้อนรายได้และค่าใช้จ่ายในแต่ละปี (3.3) บัญชีสำรองพิเศษ ซึ่งเทียบเคียงได้กับบัญชีกำไรสะสมของกิจการ
ทั้งนี้ พ.ร.บ.เงินตรา ได้กำหนดทำหน้าที่ดูแลและจัดการทุนสำรองเงินตราในทั้ง 3 บัญชีย่อยดังกล่าวอย่างชัดเจน ซึ่งสะท้อนจุดประสงค์และความตั้งใจของผู้ร่างกฎหมายที่ต้องการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้กับการบริหารทุนสำรองของประเทศ โดยเน้นไปที่การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเป็นหลัก เช่นเดียวกับการกำหนดกรอบและแนวทางการบริหารจัดการเงินตราและกลไกในการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทในภาพรวม
สำหรับประเด็นด้านการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทนั้น พ.ร.บ.เงินตรา กำหนดให้ธนบัตรที่นำออกใช้หมุนเวียนจะต้องหนุนหลังด้วยทุนสำรองเงินตราในค่าที่เท่ากัน ขณะที่ สินทรัพย์ที่ประกอบขึ้นเป็นทุนสำรองเงินตรา ประกอบด้วย ทองคำ เงินตราต่างประเทศ หลักทรัพย์ต่างประเทศ รวมถึงใบสำคัญสิทธิซื้อส่วนสำรอง ใบสำคัญสิทธิพิเศษถอนเงิน ตลอดจนหลักทรัพย์รัฐบาลไทยที่จะมีการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ หรือเป็นบาท เป็นต้น โดยสินทรัพย์ในรูปเงินตราต่างประเทศต่างๆ ดังกล่าว จะต้องดำรงไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของจำนวนธนบัตรออกใช้ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ จำนวนธนบัตรที่หมุนเวียนออกใช้ที่มีจำนวน 8.94 แสนล้านบาท (จากรายงานฐานะการเงินของ ธปท. ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2552) นั้น มีสินทรัพย์หนุนหลังเท่ากับร้อยละ 100 ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นสินทรัพย์ต่างประเทศทั้งหมด/เกือบทั้งหมด ขณะที่หลักทรัพย์ของรัฐบาลไทยในงบทุนสำรองเงินตรา มีจำนวนเพียง 87 ล้านบาทเท่านั้น นอกจากนี้ หากเทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 29 พ.ค.52 ที่มีจำนวนทั้งสิ้นสูงถึง 4.17 ล้านล้านบาท (1.21 แสนล้านดอลลาร์ฯ) นั้น จะพบว่ามีจำนวนมากกว่าธนบัตรออกใช้ถึงกว่า 4 เท่าตัว
แม้จะดูเหมือนว่า ทุนสำรองฯ ของไทยอยู่ในระดับที่สูงเพียงพอที่น่าจะสามารถดึงมาใช้ประโยชน์ได้ แต่การคำนวณระดับ “ทุนสำรองฯ ส่วนเกิน” เป็นประเด็นที่มีความซับซ้อน ขณะที่ ทุนสำรองฯ ที่หักภาระผูกพันในลักษณะอนุรักษ์นิยมนั้น อาจเหลือไม่ถึงแสนล้านบาท โดยนอกจากข้อจำกัดด้านกฎหมายแล้ว การใช้ประโยชน์จากทุนสำรองฯ ได้มากน้อยขนาดไหน จะขึ้นอยู่กับจำนวน “ทุนสำรองฯ ส่วนเกิน” ซึ่งคงเป็นประเด็นที่ซับซ้อน มีความเห็นที่หลากหลายในการคำนวณ และต้องอาศัยการประเมินโดยใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด เพราะมีนัยต่อความมั่นคงทางการเงินในระดับประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การมองภาพของทุนสำรองฯ ควรพิจารณาจากมิติของระดับทุนสำรองฯ สุทธิ ที่หักภาระผูกพัน (Net International Reserves) มากกว่าจำนวนทุนสำรองทั้งสิ้น (Gross International Reserves) โดยภาระผูกพันดังกล่าว ที่สำคัญได้แก่ หนี้ต่างประเทศ จำนวนธนบัตรออกใช้ทั้งในปัจจุบันและการรองรับโอกาสการเพิ่มจำนวนของธนบัตรในอนาคตตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงการสำรองไว้เผื่อนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศไม่น้อยกว่า 3 เดือน ซึ่งหากหักรายการต่างๆ ดังกล่าว จะได้ว่าทุนสำรองฯ สุทธิล่าสุดของไทยที่ประเมินในลักษณะที่อนุรักษ์นิยม (Conservative) มีจำนวนเหลือเพียง 6.96 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ฯ เทียบกับจำนวนทุนสำรองฯ ทั้งสิ้นที่ 1.21 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ณ วันที่ 29 พ.ค.52) ซึ่งแม้ว่าปริมาณทุนสำรองฯ ส่วนเกินดังกล่าว น่าจะเพียงพอในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่ก็ควรจะใช้อย่างระมัดระวัง และเหลือไว้รองรับกรณีฉุกเฉินด้วย
การใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศมีหลายทางเลือก แต่ด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ในกรณีที่ทางการต้องการนำทุนสำรองฯ ออกมาใช้ประโยชน์ ก็สามารถดำเนินการได้หลายแนวทางในทางปฏิบัติ ด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เรียงจากแนวทางที่สามารถดำเนินการได้ง่ายไปหายาก ดังนี้
ทางเลือกที่ 1: การใช้ช่องของกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากการพิมพ์ธนบัตรออกใช้ในปัจจุบัน หนุนหลังด้วยสินทรัพย์ต่างประเทศเกือบทั้งหมด/ทั้งหมดร้อยละ 100 ขณะที่ พ.ร.บ.เงินตรากำหนดไว้ที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ซึ่งปัจจุบัน คาดว่า ธปท.ไม่ได้ใช้พันธบัตรรัฐบาลในการหนุนหลังธนบัตรออกใช้เลย ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงอาจพิจารณาออกพันธบัตรรัฐบาลขายให้ฝ่ายการธนาคาร เพื่อนำส่งเข้าสู่บัญชีทุนสำรองเงินตรา ซึ่งจะทำให้มีการพิมพ์ธนบัตรออกใช้ในจำนวนเท่ากัน ทางเลือกนี้ มีข้อดีตรงที่รัฐบาลสามารถระดมทุนได้ในต้นทุนที่ต่ำ (ขึ้นกับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรที่เสนอขายให้ ธปท.) อีกทั้งไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมาย แต่ก็มีข้อด้อย คือ จะมีผลในการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ อีกทั้ง จำนวนเงินที่ภาครัฐสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้นั้น อาจมีข้อจำกัด หรือประมาณ 3.6 แสนล้านบาท เทียบกับวงเงินตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งปี 2552-2555 จำนวนทั้งสิ้นถึง 1.43 ล้านล้านบาท
อทางเลือกที่ 2: การขยายขอบเขตการลงทุนของสินทรัพย์ ธปท. ทางการอาจพิจารณาขยายขอบเขตการลงทุนของสินทรัพย์ ธปท. ซึ่งอยู่ในงบฝ่ายการธนาคาร ให้มีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม โดยอาจรวมถึงตราสารทางการเงินเพื่อไฟแนนซ์การลงทุนในโครงการลงทุนของภาครัฐโดยตรง แต่ก็มีข้อจำกัดตรงที่อาจต้องอาศัยการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 เนื่องจากในมาตราที่ 35 ของกฎหมายดังกล่าว กำหนดว่า “ธปท. มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท. ซึ่งรวมถึงการนำสินทรัพย์นั้นไปลงทุนหาประโยชน์ด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด โดยต้องคำนึงถึงความมั่นคง สภาพคล่อง และผลประโยชน์ตอบแทนของสินทรัพย์ ตลอดจนความเสี่ยงในการบริหารจัดการเป็นสำคัญ” ทำให้คาดว่าการลงทุนในตราสารที่ไฟแนนซ์โครงการขนาดใหญ่ หรือสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในลักษณะเฉพาะเจาะจงที่อาจมีความเสี่ยงสูงกว่า หรือสภาพคล่องต่ำกว่ากรอบกฎหมายดังกล่าวนั้น อาจไม่เข้าข่ายขอบเขตการลงทุนตามกฎหมาย ขณะที่ทางเลือกนี้ ก็มีผลในการเพิ่มปริมาณเงินบาทเข้าสู่ระบบเช่นกัน เนื่องจาก ธปท.อาจต้องแปลงสินทรัพย์ของตน ซึ่งอาจอยู่ในสกุลเงินตราต่างประเทศ มาเป็นเงินบาทเพื่อลงทุนในโครงการของภาครัฐ หรือพิมพ์เงินเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มจำนวนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย
ทางเลือกที่ 3: การใช้สินทรัพย์ต่างประเทศจากบัญชีสำรองพิเศษ โดยในกรณีที่รัฐบาลต้องการเพิ่มความยืดหยุ่นด้านปริมาณเงินทุนสำรองฯ ที่สามารถนำออกมาใช้ได้นั้น ก็อาจต้องพึ่งพิงทางเลือกสุดท้าย นั่นคือ การใช้ทุนสำรองฯ ในบัญชีสำรองพิเศษ ซึ่ง ณ วันที่ 21 พ.ค. 2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 8.78 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้ จะต้องแก้ไข พ.ร.บ.เงินตรา ดังเช่นที่เคยดำเนินการมาแล้วในปี 2545 ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและอ่อนไหวอย่างยิ่ง และรัฐบาลชุดก่อนหน้า เคยประสบอุปสรรคในการผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมาแล้ว ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าธปท. จะนำสินทรัพย์จากงบทุนสำรองเงินตราไปใช้ในกิจการของตน, ใช้ล้างผลขาดทุนสะสมจากการแทรกแซงค่าเงินบาท, ทำให้ ธปท.มีอิสระมากเกินไปในการบริหารทุนสำรองเงินตรา หรือจะกระทบเงินบริจาคของหลวงตามหาบัว เป็นต้น ขณะเดียวกัน การนำสินทรัพย์ต่างประเทศจากบัญชีสำรองพิเศษมาใช้ ก็จะมีผลในการเพิ่มปริมาณเงินบาทในระบบเช่นกัน เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ไม่เคยหมุนเวียนในระบบมาก่อน
แม้ว่าในหลักการอาจมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถนำทุนสำรองฯ ออกมาใช้ ตามแนวทางต่างๆ ข้างต้น แต่การนำทุนสำรองฯ ออกมาใช้ ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้าน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับสัดส่วนสินทรัพย์ที่หนุนหลังธนบัตรให้โน้มเอียงมาที่พันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น หรือการนำสินทรัพย์ต่างประเทศออกมาใช้นั้น ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบหลายประการด้วยกัน ได้แก่
การเพิ่มประมาณเงินในประเทศและสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อ การนำทุนสำรองฯ ออกมาใช้ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใด ก็จะมีผลในการเพิ่มปริมาณเงินบาทในระบบทั้งสิ้น ทั้งนี้ แม้ว่า ธปท.สามารถบริหารจัดการไม่ให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้นได้ ด้วยการให้ฝ่ายการธนาคารขายพันธบัตรรัฐบาล หรือซื้อเงินดอลลาร์ฯ ในตลาดฟอร์เวิร์ดกับสถาบันการเงินในประเทศ (Onshore) แต่การดำเนินการดังกล่าว ก็อาจมีผลในการเพิ่มภาระต้นทุนให้กับ ธปท. ขณะเดียวกัน ปริมาณเงินในระบบที่เพิ่มขึ้น ก็จะเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้นตามไปด้วย อันอาจผลักดันให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้และอัตราดอกเบี้ยในระบบขยับสูงขึ้น จนมีผลย้อนกลับมาเพิ่มต้นทุนในการระดมทุนในประเทศของทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้จำกัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้
ปัญหาวินัยทางการคลัง ทางออกในการลดข้อจำกัดทางการคลังด้วยการใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศ เป็นแหล่งเงินทุนในการลงทุนของภาครัฐนั้น ย่อมจะสร้างคำถามถึงการรักษาวินัยทางการคลังของรัฐบาลไทย อันอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ ตลอดจนอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในอนาคต ทั้งนี้ แม้หลายฝ่ายจะมองว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีระดับทุนสำรองฯ ทั้งสิ้นที่อยู่ในระดับสูงถึงเกือบ 14 เดือนของการนำเข้า ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ปกติที่เพียง 3 เดือนของการนำเข้ามาก และการนำทุนสำรองฯ มาใช้ น่าจะไม่มีต้นทุน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุนสำรองฯ ดังกล่าว ไม่ใช่ทุนสำรองที่ปราศจากภาระผูกพัน อีกทั้ง ต้นทุนทางอ้อมจากการใช้ทุนสำรองฯ ดังกล่าว จะตกอยู่ที่ ธปท.ที่จะต้องบริหารจัดการสภาพคล่องในระบบให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งจะตกอยู่กับระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากความเสี่ยงเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น
ปัญหาด้านความโปร่งใส เนื่องจากการใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศ ต้องอาศัยการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องบางฉบับ ขึ้นอยู่กับว่าจะนำทุนสำรองฯ ส่วนไหนมาใช้ ซึ่งตามความตั้งใจเดิมของผู้ร่างกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.เงินตรานั้น ต้องการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเงินและค่าเงินของประเทศ ด้วยการสร้างกลไกที่รัดกุมให้กับการบริหารทุนสำรองฯ ในลักษณะที่ป้องกันไม่ให้ผู้ดูแลทุนสำรองอย่าง ธปท. ตลอดจน รัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหารของประเทศ สามารถนำทุนสำรองฯ ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนได้ ดังนั้น การแก้กฎหมายดังกล่าว จึงอาจตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการบริหารงานของรัฐบาลตามมาได้
ปัญหาด้านความเสี่ยงจากการลงทุน โดยตามกรอบกฎหมายปัจจุบัน กรอบการลงทุนของทุนสำรองฯ ภายใต้ พ.ร.บ.เงินตรานั้น เน้นไปที่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ จึงทำให้อัตราผลตอบแทนอยู่ในระดับต่ำตามไปด้วย ซึ่งก็ถือว่ามีความเหมาะสมในระดับหนึ่ง เพราะตั้งอยู่บนหลักการที่ไม่ต้องการให้นำความมั่งคั่งของประเทศ ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเกินไป จนอาจสร้างความเสียหายต่อเงินต้นได้ อย่างไรก็ตาม การนำทุนสำรองฯ ไปลงทุนในโครงการของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจ็กต์นั้น อาจไม่สามารถตอบโจทย์ด้านความมั่นคงจากการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มักมีประเด็นในแง่ของผลตอบแทนจากการลงทุน และมีระยะเวลาความคุ้มทุนที่ค่อนข้างนาน โดยในกรณีที่เกิดความเสียหายจากการลงทุนขึ้น ก็จะนำมาสู่ประเด็นคำถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบท้ายที่สุด
โดยสรุปแล้ว แม้ว่าข้อเสนอในการนำทุนสำรองฯ ออกมาใช้ในการลงทุนพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะทุนสำรองฯ ส่วนที่เกินความจำเป็น นับเป็นทางออกหนึ่งที่น่าสนใจ ในภาวะที่รัฐบาลกำลังประสบกับปัญหาข้อจำกัดทางการคลัง แต่การดำเนินการดังกล่าวในบางแนวทาง ก็อาจต้องอาศัยการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ขนาดของทุนสำรองฯ ที่สามารถนำออกมาใช้ประโยชน์ได้ ขึ้นกับการประเมิน “ทุนสำรองฯ ส่วนเกิน” ซึ่งควรจะวัดจากทุนสำรองที่ปราศจากภาระผูกพัน ไม่ว่าจะเป็นหนี้ต่างประเทศ การหนุนหลังธนบัตรออกใช้ และการนำเข้า โดยจากการคำนวณเบื้องต้นในลักษณะอนุรักษ์นิยม (Conservatives) แล้วจะพบว่า ทุนสำรองฯ ส่วนเกินที่หักภาระต่างๆ ดังกล่าว จะมีจำนวนเพียงประมาณ 6.96 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ฯ เทียบกับจำนวนทุนสำรองฯ ทั้งสิ้นที่ 1.21 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ณ วันที่ 29 พ.ค.52) ซึ่งแม้ว่าปริมาณทุนสำรองฯ ส่วนเกินดังกล่าว น่าจะเพียงพอในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่ก็ควรจะใช้อย่างระมัดระวัง และเหลือไว้รองรับกรณีฉุกเฉินด้วย
ขณะเดียวกัน ทางการไทยคงต้องตระหนักถึงผลกระทบที่อาจตามมาอย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มปริมาณเงินในระบบ อันจะเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ตลอดจนต้นทุนการดำเนินธุรกิจของทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ ก็อาจสร้างคำถามถึงปัญหาวินัยทางการคลัง ความโปร่งใสในการบริหารประเทศของรัฐบาล ตลอดจน ปัญหาความเสี่ยงจากการนำทุนสำรองฯ ไปลงทุน ซึ่งอาจสูงเกินไป จนผิดไปจากความตั้งใจในการร่างกฎหมายเริ่มแรกที่ต้องการให้ทุนสำรองฯ เป็นแหล่งสะสมความมั่งคั่งและสร้างเสริมเสถียรภาพทางการเงินระยะยาวของประเทศ ดังนั้น ทางการไทยและฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คงต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ดังกล่าวอย่างรอบคอบ และรัดกุม เพื่อนำมาสู่การหาทางออกในการลดข้อจำกัดทางการคลังที่เหมาะสมต่อไป