นับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศชั้นนำของโลกหลายประเทศส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจจีนสะท้อนการเติบโตที่เร่งขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคเพื่อซื้อสินค้าคงทน และการทุ่มงบประมาณลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ขณะที่ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ เข้าสู่จุดที่มีเสถียรภาพและค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่ทยอยประกาศออกมา ได้ตอกย้ำความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นว่าเศรษฐกิจโลกกำลังมุ่งไปสู่การฟื้นตัว แม้เส้นทางของการฟื้นตัวนับจากนี้ยังคงมีความเปราะบาง จากปัญหาการว่างงานที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับยังไม่อาจละเลยความเสี่ยงของการหวนกลับมาของปัญหาในภาคสถาบันการเงิน แต่ถึงกระนั้น สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกนี้ก็ได้ทำให้ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ หรือ G-8 ล่าสุดเริ่มมีการหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อาจจะต้องเตรียมแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการถอยออกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล (เฉพาะมาตรการกระตุ้นทางการคลังของกลุ่มประเทศชั้นนำมีมูลค่ารวมกันกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ) เมื่อเศรษฐกิจโลกกลับสู่การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนแล้ว เพื่อไม่ให้ก่อปัญหาโดยเฉพาะเรื่องเงินเฟ้อตามมา แต่ทั้งนี้ ประเทศ G-8 จะยังไม่หยุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ณ ขณะนี้ เนื่องจากสถานการณ์โดยรวมยังคงมีความไม่แน่นอน สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยต่อจากนี้คงจะมีความเข้มข้นขึ้น หลังจากสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 วงเงิน 400,000 ล้านบาท และร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 วงเงิน 400,000 ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินลงทุนตามแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ที่จะทยอยไหลเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจน่าจะเป็นผลดีต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
เศรษฐกิจไทยเริ่มได้รับผลบวกจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น
ในด้านสถานการณ์เศรษฐกิจไทย แม้เศรษฐกิจยังคงมีแนวโน้มหดตัวในอัตราที่ค่อนข้างสูงในไตรมาสปัจจุบัน เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนเมษายนส่วนใหญ่ยังมีอัตราติดลบสูง ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคมยังคงลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 8 ปี อย่างไรก็ดี ก็ยังมีสัญญาณที่ดีให้เห็นจากเครื่องชี้เศรษฐกิจบางด้าน โดยดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index) ที่ปรับผลของฤดูกาลแล้ว ที่จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มมีระดับค่าดัชนีที่ทรงตัวอย่างมีเสถียรภาพตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา และเริ่มขยับขึ้นเล็กน้อยในเดือนเมษายน เนื่องจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมมีทิศทางที่ดีขึ้นตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
เพื่อวิเคราะห์โอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะเดือนข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้จัดทำดัชนีความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (Probability Index for Economic Recovery) ซึ่งความหมายของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในที่นี้คือภาวะที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวเป็นบวก ทั้งนี้ โดยปกติ การติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมักอิงกับข้อมูลอัตราการขยายตัวของจีดีพี ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แต่เนื่องจากตัวเลขจีดีพีมีการรายงานเป็นรายไตรมาส ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงใช้ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีการรายงานเป็นรายเดือน เป็นตัวแปรในการติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแทน โดย “การฟื้นตัว” หมายถึง การที่ดัชนีพ้องเศรษฐกิจมีการขยายตัวเป็นตัวเลขบวกเมื่อเทียบรายปี (Annualized) สำหรับตัวแปรอธิบาย (Explanatory Variables) ที่ใช้ในการพยากรณ์โอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนี้ ประกอบด้วยตัวแปร 3 ตัว คือ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index) ของธปท. ตัวแปรชี้วัฏจักรเศรษฐกิจ (ว่าอยู่ช่วงถดถอยหรือไม่) และตัวแปรชี้ความเชื่อมั่นโดยรวม โดยตัวแปรอธิบายจะสามารถคาดการณ์โอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนข้างหน้านับจากเดือนล่าสุดที่มีข้อมูล
จากข้อมูลดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของธปท. ที่มีการรายงานตัวเลขถึงเดือนเมษายน 2552 ทำให้ ดัชนีความเป็นไปได้ของการฟื้นตัว ที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จัดทำขึ้น สามารถประเมินโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2552 และพบว่าโอกาสที่ดัชนีพ้องเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกมีเพิ่มขึ้น โดยหลังจาก ดัชนีความเป็นไปได้ของการฟื้นตัว ลงไปแตะร้อยละ 19 ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดัชนีความเป็นไปได้ดังกล่าวก็เริ่มค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาอยู่เหนือระดับร้อยละ 50 ตั้งแต่เดือนเมษายน และล่าสุด ดัชนีความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวในระยะ 3 เดือน (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2552) มีระดับเฉลี่ยประมาณร้อยละ 61 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโอกาสของการฟื้นตัวจะเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้า ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่ระดับของความน่าจะเป็นที่ร้อยละ 61 ดังกล่าว ก็ยังคงถือว่ามีความเสี่ยงอยู่พอสมควร ทำให้ทางการไทยยังคงต้องดูแลประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ นอกจากประเด็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีผลต่อการส่งออกของไทย รวมทั้งความเสี่ยงจากสถานการณ์การเมืองในประเทศแล้ว ความเสี่ยงล่าสุดที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยยังได้แก่การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
ความเสี่ยงจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
ความเสี่ยงประการหนึ่งที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือ Influenza A (H1N1) ในประเทศที่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว หลังพบการติดเชื้อภายในประเทศในระดับชุมชน จากที่ก่อนหน้านี้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ได้รับเชื้อมาในช่วงที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้าวันที่ 10 มิถุนายน ที่มีการยืนยันผลตรวจพบผู้ป่วยรายแรกที่มีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากภายในประเทศนั้น ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อ 15 ราย ซึ่งติดเชื้อมาจากต่างประเทศ แต่หลังจากนั้น จำนวนผู้ป่วยก็ได้เพิ่มขึ้นทั้งในพื้นที่สถาบันการศึกษาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดจนพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว เช่น พัทยาและภูเก็ต จนจำนวนผู้ติดเชื้อล่าสุดในวันที่ 17 มิถุนายน 2552 ตามที่มีการรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขอยู่ที่ 405 ราย ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประเมินว่าความเสี่ยงของการแพร่ระบาดอาจจะมีเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เชื้อไข้หวัดตามฤดูกาลจะแพร่ระบาดง่ายขึ้น ในด้านจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่มีการยืนยันโดยองค์การอนามัยโลก หรือ WHO (World Health Organization) ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2552 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 35,928 ราย จาก 76 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต163 ราย หรือคิดเป็นอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 0.45
จากการประเมินสถานการณ์ในขณะนี้ที่แม้ว่าการแพร่กระจายของเชื้อเกิดขึ้นรวดเร็ว แต่ความรุนแรงของอาการยังมีไม่มาก และส่วนใหญ่สามารถรักษาอาการให้หายได้ ขณะที่โอกาสการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ จึงทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่เริ่มขยายวงกว้างขึ้นไปสู่พื้นที่หลายจังหวัด ไม่น่าจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเหมือนในกรณีโรคซาร์ส แต่อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดก็อาจสร้างผลกระทบผ่านการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในการดำเนินชีวิตและการจับจ่ายใช้สอย เช่น ในด้านสันทนาการและการท่องเที่ยว โดยคาดว่าการแพร่ระบาดภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นของเชื้อไข้หวัดนี้ อาจสร้างความกังวลต่อประชาชน และทำให้มีพฤติกรรมที่จะพยายามป้องกันไม่ให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยประชาชนส่วนใหญ่คงหันมาดูแลสุขภาพ และดำเนินการตามมาตรการที่ทางการมีการรณรงค์ ขณะที่คงมีประชาชนบางส่วนที่พยายามหลีกเลี่ยงหรือลดการทำกิจกรรมในสถานที่ปิด ซึ่งมีผู้คนแออัด พลุกพล่านรวมกันอยู่จำนวนมาก เช่น ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ โรงภาพยนตร์ ขณะที่สินค้าเพื่อการดูแลสุขภาพ เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และยาฆ่าเชื้อโรค อาจเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับอานิสงส์จากการตื่นตัวในการระวังรักษาสุขภาพของประชาชน ทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยอยู่ภายใต้ข้อสมมติ กล่าวคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วอาจจะยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะเวลา 1-2 เดือน จากนั้นมาตรการในการป้องกัน ควบคุม ดูแลของทางการ และการปฏิบัติอย่างถูกต้องของประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานต่างๆ อาจจะทำให้การแพร่กระจายช้าลงมาอยู่ในอัตราที่ต่ำ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นกรณีที่ผลกระทบไม่ยืดเยื้อและรุนแรงมากนัก โดยผลกระทบมีดังต่อไปนี้
โดยสรุป จากสัญญาณเศรษฐกิจในต่างประเทศที่ดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีทิศทางค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นกว่าในไตรมาสที่ 1/2552 ที่ผ่านมา ที่เศรษฐกิจไทยหดตัวลงไปถึงร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) ซึ่งเป็นอัตราติดลบที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดมาแล้ว โดยภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดสะท้อนความถดถอยในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่ดัชนีความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (Probability Index for Economic Recovery) ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจัดทำขึ้น ได้บ่งชี้โอกาสฟื้นตัวเพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจไทยในระยะเดือนข้างหน้า โดยดัชนีความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2552 มีระดับเฉลี่ยประมาณร้อยละ 61 จากที่เคยลงไปต่ำสุดที่ร้อยละ 19 ในเดือนมีนาคม
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอน โดยปัจจัยเสี่ยงประการหนึ่งในขณะนี้ คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือ Influenza A (H1N1) ในประเทศไทยที่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว หลังพบการติดเชื้อภายในประเทศในระดับชุมชน จากที่ก่อนหน้านี้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ได้รับเชื้อมาจากต่างประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยอยู่ภายใต้ข้อสมมติที่คาดว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วอาจจะยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะเวลา 1-2 เดือน จากนั้นมาตรการในการป้องกัน ควบคุม ดูแลของทางการ และการปฏิบัติอย่างถูกต้องของประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานต่างๆ อาจจะทำให้การแพร่กระจายของโรคชะลอตัวลง ในกรณีดังกล่าวนี้ธุรกิจที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ได้แก่
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนหนึ่งอาจหลีกเลี่ยงการเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย เนื่องจากกังวลต่อโอกาสการติดเชื้อ โดยเฉพาะจากข่าวที่มีนักท่องเที่ยวติดเชื้อหลังจากมาท่องเที่ยวในประเทศไทย สำหรับคนไทยที่กังวลต่อการแพร่ระบาดของโรค ก็อาจหลีกเลี่ยงการเดินทางท่องเที่ยวในระยะนี้เช่นกัน โดยเฉพาะการเดินทางที่ต้องใช้บริการโดยสารสาธารณะและเครื่องบิน
ธุรกิจด้านบริการประเภทต่างๆ ที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีผู้คนจำนวนมาก เช่น ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ธุรกิจด้านบันเทิง โดยเฉพาะโรงภาพยนตร์และสถานบันเทิง ธุรกิจบริการโดยสารสาธารณะ เป็นต้น
ผลกระทบดังกล่าวจะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมมูลค่าประมาณ 9,000-28,000 ล้านบาท โดยประมาณร้อยละ 65 เป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 2/2552 อาจลดลงประมาณร้อยละ 0.2-0.3 จากกรณีพื้นฐาน (Base Case) ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่คาดว่าจีดีพีอาจหดตัวร้อยละ 5.6 ขณะจีดีพีในไตรมาสที่ 3/2552 ลดลงประมาณร้อยละ 0.2-0.9 จากประมาณการกรณีพื้นฐานที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 4.0 ส่งผลให้ตลอดทั้งปี 2552 อัตราการขยายตัวของจีดีพีโดยเฉลี่ยอาจจะลดลงประมาณร้อยละ 0.1-0.3 จากประมาณการกรณีพื้นฐานที่คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวร้อยละ 3.5
ทั้งนี้ ผลกระทบจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังคงมีความเสี่ยงที่อาจจะรุนแรงกว่าการประเมินในเบื้องต้นนี้ โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงและยาวนานของการระบาดของโรค แต่กรอบประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดว่าจีดีพีของไทยในปี 2552 อาจจะหดตัวร้อยละ 3.5-6.0 นั้นเป็นกรอบที่น่าจะสามารถรองรับการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ในขั้นรุนแรงได้ ขณะเดียวกัน กรอบประมาณการในกรณีเลวร้าย (กรอบล่างที่คาดว่าจีดีพีจะหดตัวร้อยละ 6.0) ได้ผนวกผลของปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ไว้ด้วย เช่น ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เสถียรภาพทางการเมือง และการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันรวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่อาจเป็นตัวเร่งอัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น ทำให้ ณ ขณะนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับประมาณการเศรษฐกิจสำหรับปีนี้แต่อย่างใด
สำหรับการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ภาครัฐควรมีการเปิดเผยข้อมูลให้เกิดความโปร่งใส รวมทั้งมีมาตรการรณรงค์สร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนในการป้องกันการติดต่อของโรค เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรคให้ได้เร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและชาวต่างชาติต่อแนวทางปฏิบัติและมาตรการรับมือของประเทศไทย