ตลาดรถยนต์ในประเทศครึ่งหลังปี 2552…ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย

ยอดขายรถยนต์ในประเทศช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 ที่ผ่านมา มีอัตราการหดตัวถึงร้อยละ 30.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากจะเป็นเพราะฐานที่สูงในปี 2551 ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 มีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 12.9 แล้ว ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งส่งผลต่อภาวะการลงทุน ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง และการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นก็เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และคาดว่าจะยังส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตามทิศทางของยอดขายรถยนต์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 นี้มีโอกาสที่จะหดตัวน้อยลงกว่าช่วงก่อนหน้า เนื่องจากคาดว่าตลาดรถยนต์จะมีปัจจัยบวกเพิ่มขึ้น จึงนับว่าช่วงต่อจากนี้ไปสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในประเทศน่าจะผ่อนคลายลง แต่ก็ยังคงเป็นภาวะที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการรถยนต์ค่ายต่างๆในการสร้างยอดขาย และช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์สถานการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศช่วงครึ่งหลังของปี 2552 โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

ตลาดรถยนต์ในประเทศช่วงครึ่งหลังปี 2552 น่าจะมีปัจจัยบวกมากขึ้น

• เศรษฐกิจในประเทศมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ทำให้คิดว่าเศรษฐกิจของไทยน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วจากที่จีดีพีไตรมาสแรกปี 2552 ได้หดตัวรุนแรงถึงร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกและการท่องเที่ยว ทำให้การผลิตและการลงทุนในประเทศประสบปัญหาส่งผลต่อเนื่องมายังภาวะรายได้และการมีงานทำ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคตามมา ทำให้สินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการชะลอการตัดสินใจซื้อ อย่างไรก็ตามจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะทำให้ภาคส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของรัฐ คาดว่าจะส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่จะเพิ่มขึ้นตามมา ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาส 2 จะมีทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ และอาจเริ่มกลับมาขยายตัวได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2552 นี้ หากการเบิกจ่ายงบประมาณและแผนการลงทุนของรัฐมีความคืบหน้าได้ตามกำหนด

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ
หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วนั้น จนถึงปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ของไทยได้ลดลงมาสู่ระดับร้อยละ 1.25 ซึ่งนับเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2543 และจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังคงมีระดับต่ำ ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศที่แม้จะมีแนวโน้มเริ่มกลับมาขยายตัวในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงปีหน้า แต่ก็ยังคงเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำอยู่มาก ทำให้คาดว่า ธปท. น่าจะยังคงดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำอยู่ในระดับปัจจุบันไปจนถึงสิ้นปีเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์น่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปได้ อย่างไรก็ตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ยังต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสภาพคล่องในระบบการเงินด้วยเช่นกัน

การให้สินเชื่ออาจมีความผ่อนคลายมากขึ้น
จากทิศทางการหดตัวของตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ในช่วงที่ผ่านมาอันเป็นผลมาจากยอดขายรถยนต์ใหม่ที่หดตัวต่อเนื่องนั้น ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำตลอดปี และแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นนั้น น่าจะทำให้สถาบันการเงิน หรือบริษัทผู้ให้สินเชื่อสามารถผ่อนคลายกฎเกณฑ์การให้สินเชื่อได้มากขึ้นเพื่อกระตุ้นยอดการปล่อยสินเชื่อหลังจากหดตัวมาตลอด ด้วยกิจกรรมส่งเสริมการตลาด โดยเฉพาะการให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ และแถมสิทธิประโยชน์ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ประกันอุบัติเหตุ พ.ร.บ. และวงเงินเติมน้ำมันฟรี เป็นต้น ซึ่งหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นอย่างมั่นคง ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้สินเชื่อมีความผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องตลอดปี

การเปิดตัวรถรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาด และกิจกรรมส่งเสริมการตลาดต่างๆ
ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 นี้ คาดว่าจะมีรถรุ่นใหม่ออกมาเปิดตลาดจำนวนไม่น้อย ทั้งรถยนต์ราคาแพง รถยนต์นั่งขนาดกลาง และขนาดเล็ก รถยนต์พลังงานทางเลือก รวมถึงรถยนต์รุ่นเดิมแต่มีการปรับไมเนอร์เชนจ์ เป็นต้น ซึ่งจะทยอยออกมาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และคาดว่าจะได้รับการตอบรับในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือกต่างๆ เช่น ไฮบริด และก๊าซ NGV ที่ออกมาตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในจังหวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มขยับสูงขึ้นอีกครั้ง ประกอบกับค่ายรถและดีลเลอร์ต่างออกกิจกรรมส่งเสริมการตลาดมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การแจกของสมนาคุณต่างๆ การจับรางวัลมูลค่าสูงสำหรับผู้ซื้อรถ การให้สิทธิประโยชน์ด้านบริการหลังการขาย เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ในช่วงครึ่งปีหลังได้พอสมควร

แม้ตลาดรถยนต์ครึ่งหลังจะกระเตื้องขึ้นแต่ก็ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยลบต่อเนื่อง

จากปัจจัยบวกข้างต้นทำให้คาดว่าตลาดรถยนต์ช่วงครึ่งหลังของปี 2552 จะขยายตัวดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งแรก ทว่าตลาดก็ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้านอยู่ โดยเฉพาะทิศทางการเพิ่มสูงขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกในระยะต่อไปนี้ยังเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการขยายตัวของตลาดรถยนต์อยู่ ซึ่งราคาน้ำมันที่เคยเป็นปัจจัยบวกเนื่องจากราคาที่ลดต่ำจนลงไปอยู่ที่ระดับราคา 32.21 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในรอบ 57 เดือนในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2551 กลับมาปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2552 ที่ผ่านมาราคาน้ำมันได้ปรับขึ้นสู่ระดับ 70 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล และยังคงรักษาระดับราคาระหว่าง 65 ถึง 72 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรลจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้มีการวิเคราะห์กันว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจขึ้นไปถึงระดับ 85 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรลได้ในปีนี้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวทำให้คาดว่าความต้องการน้ำมันในตลาดโลกจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นนี้ย่อมจะมีผลโดยตรงต่อราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทย ภาระค่าใช้จ่ายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอาจทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายรวมถึงการซื้อสินค้าที่มีราคาสูงอย่างเช่นรถยนต์ นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นยังจะส่งผลต่อชนิดของรถยนต์ที่จะตัดสินใจซื้อ

นอกจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันแล้วทิศทางเศรษฐกิจไทยที่แม้จะคาดว่านับจากนี้ไปจะมีแนวโน้มค่อยๆฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับแต่เศรษฐกิจไทยก็ยังถูกกดดันจากปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ผลกระทบจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เสถียรภาพของรัฐบาล ความสามารถในการเบิกจ่ายงบประมาณและเร่งรัดแผนการลงทุนให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่งผลต่อเนื่องมายังตลาดรถยนต์ในประเทศ

แนวโน้มตลาดยานยนต์ครึ่งหลังของปี 2552…น่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย

จากปัจจัยสนับสนุนตลาดรถยนต์ในประเทศช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ที่มีเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก เช่น เศรษฐกิจในประเทศที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ การให้สินเชื่อของสถาบันการเงินที่น่าจะมีความผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น และการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาด รวมถึงการทยอยจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่องนี้ คาดว่าจะส่งผลบวกต่อตลาดรถยนต์ต่อจากนี้ไป อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เช่น ทิศทางราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และเศรษฐกิจในประเทศที่อาจฟื้นตัวได้ไม่รวดเร็วนัก ซึ่งอาจจะยังคงส่งผลกดดันตลาดรถยนต์ในช่วงต่อไปนี้อยู่นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะส่งผลทำให้ตลาดรถยนต์ในประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 มีโอกาสที่จะฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย คาดว่าจะมียอดขายทั้งสิ้นประมาณ 229,000 ถึง 236,000 คัน หดตัวร้อยละ 20.0 ถึง 22.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรกที่มียอดขายประมาณ 226,000 ถึง 228,000 คัน หดตัวประมาณร้อยละ 29.0

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะทำให้ยอดขายรวมรถยนต์ในประเทศปี 2552 นี้ หดตัวประมาณร้อยละ 24.0 ถึง 26.0 หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ประมาณ 455,000 ถึง 464,000 คัน ลดลงกว่าปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 2.7 หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ 614,078 คัน โดยที่การหดตัวของตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2552 นี้ จะเป็นสัดส่วนของการหดตัวตลาดรถเพื่อการพาณิชย์สูงกว่าการหดตัวของตลาดรถยนต์นั่งค่อนข้างมาก เนื่องจากรถเพื่อการพาณิชย์ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการลงทุนในประเทศ ประกอบกับผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคมาใช้รถยนต์ขนาดเล็กที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น ทำให้รถยนต์นั่งมีทิศทางฟื้นตัวได้เร็วกว่ารถปิคอัพซึ่งอาจจะต้องรอถึงช่วงปีหน้าทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศเป็นสำคัญ

ส่วนในระยะยาว นอกเหนือจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปแล้ว นโยบายต่างๆของภาครัฐที่มุ่งสนับสนุนรถยนต์ที่มีคุณสมบัติในการประหยัดพลังงาน และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้เชื่อว่าแนวโน้มตลาดรถยนต์ในประเทศไทยในอนาคต จะมุ่งไปที่รถยนต์นั่งขนาดเล็กและขนาดกลางที่ช่วยประหยัดเชื้อเพลิง และสามารถใช้พลังงานทดแทนได้ ซึ่งอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีแนวทางการปรับตัว โดยพัฒนารถยนต์ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการรูปแบบดังกล่าวในอนาคตคาดว่าจะมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในอนาคต