ยางธรรมชาติครึ่งหลังปี 52 : ความต้องการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจจีน…แต่ยังมีหลากปัจจัยต้องติดตาม

ความหวังในการที่จะเห็นอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ฟื้นตัวนั้นยังขึ้นอยู่กับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยางสำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งจะส่งผลให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น และยอดจำหน่ายรถยนต์จะกลับมาเพิ่มขึ้นได้อีกครั้ง รวมทั้งส่งผลต่อเนื่องถึงการเพิ่มขึ้นของปริมาณการใช้ยาง อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์กันว่าคงต้องรอถึงต้นปี 2553 เศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเหล่านี้จึงจะพลิกฟื้นเป็นปกติ ดังนั้น ความหวังของอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ในช่วงที่เหลือของปี 2552 นี้จึงอยู่ที่ประเทศจีนเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันจีนเป็นประเทศผู้ใช้ยางมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก และมีข่าวดีว่ายอดผลิตและจำหน่ายรถยนต์ของจีนเริ่มกระเตื้องขึ้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาสแรกปี 2552 ทำให้คาดการณ์ว่าจีนต้องหันมานำเข้ายางและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น กล่าวคือ ยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 3.64 ล้านคัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.6 นอกจากนี้ คาดว่าการขยายตัวของกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนมิถุนายน ไปแตะที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งจะกระตุ้นให้ยอดขายรถยนต์ตลอดทั้งปีของจีนพุ่งไปแตะที่ 11 ล้านคัน ทั้งนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศจีนนั้น นับว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัดจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก หลังจากที่รัฐบาลจีนมีการออกกฎหมายปรับลดภาษีในรถยนต์บางรุ่น จึงทำให้ผู้ผลิตยางรถยนต์ในจีนเริ่มกลับมาซื้อยางพาราในตลาดโลกอีกครั้ง ทั้งนี้ แนวโน้มความต้องการใช้ยางพาราจากจีนที่เป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน ประกอบกับนโยบายช่วยเหลืออุตสาหกรรมผู้ผลิตรถยนต์ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ นั้น คาดว่าจะส่งผลให้แนวโน้มระยะยาวของยางพาราน่าที่จะทยอยปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ปริมาณการผลิตยาง…มีแนวโน้มลดลง
กลุ่มศึกษายางระหว่างประเทศ(International Rubber Study Group: IRSG) คาดการณ์ปริมาณการผลิตยางของโลกในปี 2552 ไว้ที่ระดับ 9.36 ล้านตัน เทียบกับในปี 2551 แล้วลดลงร้อยละ 6.3 นับเป็นครั้งแรกที่มีการปรับประมาณการการผลิตยางธรรมชาติ เนื่องจากการชะลอตัวของความต้องการใช้ยางในตลาดโลก ซึ่งกดดันราคายางให้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศผู้ผลิตยางสำคัญของโลกหันมาร่วมมือกันลดปริมาณการผลิตและการส่งออกยาง ทั้งนี้ เพื่อพยุงราคายางธรรมชาติในตลาดโลกไม่ให้ตกต่ำลงตามแรงกดดันจากปริมาณความต้องการยางที่ลดลง อันเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ

สำหรับประเทศไทยทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดว่าในปี 2552 ปริมาณการผลิตยางเท่ากับ 3.23 ล้านตัน เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 เนื่องจากเนื้อที่กรีดยางเพิ่มขึ้น เป็นพื้นที่ปลูกยางในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นยางอายุน้อยที่ยังให้น้ำยางไม่มากนัก ส่วนในภาคใต้นั้นเนื้อที่กรีดลดลง เนื่องจากยางที่ปลูกใหม่ยังไม่สามารถเปิดกรีดได้ นอกจากนี้ เนื้อที่ปลูกยางที่เหลือเป็นต้นยางที่อายุมาก และได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศหนาวยาวนานช่วงต้นปี 2552 ทำให้ยางผลัดใบ และปริมาณน้ำยางลดลง

อย่างไรก็ตาม บริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ(The International Rubber Conference Organisation :IRCO) และสภาความร่วมมือด้านยางระหว่างประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย(International Tripartite Rubber Council : ITRC) มีมติแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 อันเนื่องจากผลกระทบของภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการผลิต ดังนี้

1.เร่งรัดการปลูกแทนต้นยางเก่าที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ซึ่งทั้ง 3 ประเทศได้ตกลงที่จะเพิ่มพื้นที่ปลูกแทนในปี 2552 จากปกติที่เคยปลูกแทนปีละ 7 แสนไร่ เป็น 1.06 ล้านไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 51 จากพื้นที่ปลูกแทนเดิม ซึ่งในระหว่างที่รอต้นยางที่ปลูกใหม่ที่จะให้ผลผลิตในปีที่ 3 เป็นต้นไปจะทำให้ผลผลิตยางหายไปจากตลาด 2.15 แสนตัน สำหรับประเทศไทยจะปลูกแทนในพื้นที่ 4 แสนไร่ ทำให้ผลผลิตลดลง 1 แสนตันในปี 2552 ส่วนอินโดนีเซียจะลดการผลิตลง 116,000 ตัน

2.ควบคุมพื้นที่ปลูกยางใหม่ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดภาวะยางล้นตลาดในอนาคต โดยไทยจะสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยางในภาคใต้ไปปลูกพืชอื่นที่มีความเหมาะสมกว่า ส่วนอินโดนีเซียจะใช้วิธีควบคุมโดยการจดทะเบียน ขณะที่มาเลเซียจะไม่ขยายพื้นที่ปลูกใหม่อยู่แล้ว

3.ชะลอการกรีดยาง ทั้ง 3 ประเทศจะโน้มน้าวให้เกษตรกรใช้ระบบกรีดที่มีความถี่น้อยลง เช่น ใช้ระบบกรีด 1 วัน เว้น 2 วัน แทนระบบกรีดแบบวันเว้นวัน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่จะต้องติดตามในช่วงครึ่งหลังปี 2552 ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผลผลิตยางผันผวน คือ
1.การยกเลิกข้อตกลงชะลอการกรีดยาง
เมื่อความต้องการยางในตลาดโลกเริ่มฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากการคาดการณ์ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน ที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในจีน ดังนั้นมีแนวโน้มเป็นไปได้ว่าประเทศผู้ผลิตยางสำคัญนั้นอาจจะยกเลิกข้อตกลงในเรื่องการชะลอการกรีด ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการผลิตยางธรรมชาติของโลกเพิ่มมากขึ้นกว่าที่คาดไว้ นับว่าเป็นปัจจัยที่จะทำให้ราคายางอาจจะไม่ดีดกลับแรงมากนัก

2.ภาวะเอลนิโนอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตยาง อินโดนีเซียมีการคาดการณ์แล้วว่าปริมาณการผลิตยางของอินโดนีเซียในปี 2552 นี้อาจจะต่ำกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ เนื่องจากภาวะเอลนิโน กล่าวคือ ภาวะเอลนิโนในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 อาจทำให้ผลผลิตยางในปี 2552 ของอินโดนีเซียลดลงมากกว่าที่เคยคาดว่าจะอยู่ในระดับ 2.59 ล้านตันหรือลดลงร้อยละ 5.8 นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ต่อไปว่าถ้าภาวะเอลนิโนนั้นรุนแรง ก็จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตยางของมาเลเซียและไทยด้วย นับว่าภาวะเอลนิโนเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามทั้งในเรื่องความรุนแรง และการขยายวงกว้างของปรากฎการณ์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่อาจคาดการณ์ผลกระทบต่อปริมาณการผลิตยางได้อย่างชัดเจน

การส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยาง…อาจจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังปี 52
จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลกลดลงมากเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ส่งผลให้กลุ่มศึกษายางระหว่างประเทศคาดการณ์ว่าการใช้ยางธรรมชาติทั่วโลกในปี 2552 อาจจะลดลงร้อยละ 2.3 หรือลงมาอยู่ในระดับ 9.24 ล้านตัน

ในเดือนธันวาคม 2551 บริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศตกลงกันว่าในปี 2552 จะให้ความร่วมมือในการลดปริมาณการส่งออกยาง 915,000 ตัน โดยการเก็บสต็อกยางไว้ในแต่ละประเทศ ทั้งนี้เพื่อสร้างเสถียรภาพราคายางในตลาดโลก โดยในช่วงไตรมาสแรกลดการส่งออกยาง 270,000 ตัน และในไตรมาสที่สองลดการส่งออกลงอีกเดือนละ 48,000 ตัน อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งล่าสุดในเดือนเมษายน 2552 คาดว่าการเพิ่มขึ้นของความต้องการยางของจีน จะส่งผลให้ราคายางในตลาดโลกเริ่มกระเตื้องขึ้น ดังนั้น อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันลดปริมาณการส่งออกยางเพื่อพยุงราคายางอีกต่อไป ทำให้คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ปริมาณการส่งออกยางน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2552 มูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นเท่ากับ 1,418.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 แล้วหดตัวลงร้อยละ 49.1 เนื่องจากความต้องการยางในตลาดโลกลดลง จากการที่ยอดจำหน่ายรถยนต์ลดลงเป็นประวัติการณ์ อันเป็นผลต่อเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าตลอดทั้งปี 2552 การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้น(ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น) จะหดตัวลงร้อยละ 37.7 เมื่อเทียบกับปี 2551 เหลือมูลค่าการส่งออก 4,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการคาดการณ์ว่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังปี 2552 มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น เนื่องจากจีนเริ่มกลับมาซื้อยาง เพื่อนำไปป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนที่ฟื้นตัวจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล นอกจากนี้ การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นลดลงนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ส่งออกยางของไทยหันไปส่งออกยางคอมปาวน์หรือยางผสมแทนการส่งออกยางแท่ง เนื่องจากจีนลดภาษีผลิตภัณฑ์ยางลงเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่ต้นปี 2552 ซึ่งเร็วกว่ากำหนดการเดิมที่จะลดลงเหลือร้อยละ 0 ในช่วงต้นปี 2553 ตามข้อผูกพันเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ในขณะที่การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นยังคงต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 เท่าเดิม

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2552 มีมูลค่าการ 1,547.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 หดตัวลงร้อยละ 13.6 ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าตลอดทั้งปี 2552 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางจะมีมูลค่า 4,010 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 12.0 เมื่อเทียบกับปี 2551 อันเป็นผลมาจากการคาดการณ์ว่าการส่งออกยางยานพาหนะในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางตลอดทั้งปีหดตัวน้อยลง

ความผันผวนจากตลาดจีน และตลาดโลก….ปัจจัยที่ยังคงต้องติดตาม
แม้ว่าความต้องการยางของตลาดจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นับว่าเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญต่อการฟื้นตัวของตลาดยางโลก และตลาดยางของไทย แต่ในช่วงครึ่งหลังปี 2552 ยังมีปัจจัยที่ยังคงต้องติดตาม ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการยางของจีนมีแนวโน้มผันผวนได้ ดังนี้

ปัจจัยแรก ในวันที่ 19 มิถุนายน 2552 สหรัฐฯประกาศเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุนการส่งออก(ซีวีดี)สินค้ายางรถยนต์ของจีน โดยจะต้องรอการตัดสินใจอนุมัติจากประธานาธิบดีโอบามาภายในเดือนกันยายน 2552(โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ประกาศ) ส่งผลบวกเพิ่มเติมจากภาษีนำเข้าปกติ กล่าวคือ คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (The United States International Trade commission : ITC) มีมติว่า จีนได้ทำการทุ่มตลาดยางรถยนต์ในสหรัฐฯ การไหลทะลักเข้ามาของยางรถยนต์ต้นทุนต่ำจากจีน สร้างความปั่นป่วนในตลาดสหรัฐฯ ข้อเรียกร้องในการให้ไต่สวนสินค้ายางรถยนต์ของจีนนี้มาจากสหภาพคนงานเหล็กกล้า (The United Steelworkers : USW) ต้องการให้จำกัดการนำเข้ายางรถยนต์จากจีนไว้ที่ระดับ 21 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับของปี 2548 โดยให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ต่อปีในช่วงเวลา 3 ปีต่อไป หลังจากที่ได้ยื่นคำร้อง ระบุว่าการนำเข้าดังกล่าวทำให้การจ้างงานในสหรัฐฯลดลงไปหลายพันตำแหน่ง คาดว่าคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศ จะเสนอแนวทางแก้ไขภายในปลายเดือนนี้ ขณะที่ประธานาธิบดีโอบามาจะยังไม่ตัดสินใจจนกว่าจะถึงเดือนกันยายน 2552 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการค้ากำลังจับตาดูว่าประธานาธิบดีโอบามาจะจัดการกับจีนเด็ดขาดกว่าประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชหรือไม่ ซึ่งอดีตปธน.บุชเคยคัดค้านคำร้องให้จำกัดการนำเข้าของจีนในกรณียางรถยนต์ในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2551

การที่ยางรถยนต์ของจีนมีแนวโน้มถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุนการส่งออก อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 เนื่องจากที่ผ่านมา จีนมีการนำเข้ายางพาราแปรรูปขั้นต้นจากไทยเป็นอันดับหนึ่งเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางรถยนต์ ซึ่งหากจีนส่งออกยางรถยนต์ได้น้อยลงก็จะต้องลดการนำเข้าวัตถุดิบจากไทยตามไปด้วย

ปัจจัยที่สอง เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราของจีน ซึ่งมีแหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่เกาะไหหลำ และที่มณฑลยูนานเรียกร้องให้รัฐบาลจีนขึ้นภาษีนำเข้ายางคอมปาวด์หรือยางธรรมชาติที่ผ่านการผสมเคมี ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลจีนได้เก็บภาษีร้อยละ 0 จาก 3 ประเทศคือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)อาเซียน-จีน ในปี 2552 โดยเป็นการลดอัตราภาษีให้ก่อนกำหนดที่จะต้องลดภาษีในปี 2553 โดยอ้างผลกระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกยางในประเทศจีน ซึ่งผลจากการลดภาษีนำเข้าของจีนในครั้งนี้ทำให้ผู้ส่งออกยางของไทย หันไปส่งออกยางคอมปาวด์ แทนการส่งออกยางแท่ง ซึ่งยังต้องเสียภาษีร้อยละ 5.0

นอกจากปัจจัยข้างต้นที่อาจส่งผลให้เกิดความผันผวนของความต้องการยางจากตลาดจีนแล้ว ปัจจัยที่เริ่มส่งสัญญาณให้ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดยังได้แก่ ราคาน้ำมันและดัชนีตลาดหุ้นในสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มแสดงถึงความไม่มั่นใจในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรป กล่าวคือ ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นสหรัฐฯได้ปรับลดลงมาสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน 2552 ส่วนดัชนี S&P 500 ต่ำสุดตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม เนื่องจากนักลงทุนแทขายหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากราคาน้ำมันดิบในตลาดไนแม็กซ์ ดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจไม่ฟื้นตัวรวดเร็วเหมือนที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับผลกระทบจากความกังวลที่ว่าภาคเอกชนจะรายงานผลประกอบการที่อ่อนแอ ในฤดูการรายงานผลประกอบการของภาคเอกชนที่จะเริ่มต้นในสัปดาห์หน้า(13 กรกฏาคม) ส่วนสัญญาน้ำมันดิบตลาดไนแม็กซ์ ส่งมอบเดือนส.ค.ร่วงลง 1.12 ดอลลาร์ ปิดที่ 62.93 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่ในวันที่ 26 พฤษภาคม เป็นต้นมา หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 62.35-64.91 ดอลลาร์สหรัฐฯ สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนสิงหาคมร่วงลง 2.59 เซนต์ แตะที่ 1.6007 ดอลลาร์สหรัฐฯ/แกลลอน ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนสิงหาคม ขยับลง 0.76 เซนต์ แตะที่ 1.7328 ดอลลาร์สหรัฐฯ/แกลลอน ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนสิงหาคม ร่วงลง 82 เซนต์ ปิดที่ 63.23 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 62.69-64.89 ดอลลาร์สหรัฐฯ สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกัน 5 วันทำการถึงเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรป หลังจากสหรัฐฯและยุโรปรายงานตัวเลขจ้างงานที่ยังไม่มีสัญญาณดีขึ้น ความไม่มั่นใจนี้ทำให้คาดการณ์ได้ว่าตลาดรถยนต์ของสหรัฐฯและยุโรปอาจจะยังไม่ฟื้นตัว ดังนั้นความต้องการยางในตลาดโลกยังจะไม่ได้แรงหนุนจากตลาดสหรัฐฯและยุโรป

บทสรุป
การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนได้ส่งผลทำให้ความต้องการยางในตลาดโลกมีแนวโน้มที่น่าจะฟื้นตัวตามไปด้วย ดังนั้นเป็นไปได้ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 นี้ ทั้งปริมาณยางที่ออกสู่ตลาดและปริมาณความต้องการยางน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในด้านปริมาณยางที่ออกสู่ตลาดนั้นยังคงต้องจับตาว่า การคาดการณ์ว่าประเทศผู้ผลิตยางสำคัญอาจจะยกเลิกการร่วมมือกันลดปริมาณการส่งออกยางเพื่อพยุงราคายาง เนื่องจากคาดการณ์ว่าราคายางในช่วงครึ่งหลังปี 2552 มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องจับตาผลกระทบของภาวะเอลนิโน ทั้งในด้านความรุนแรง และพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาฝนแล้งและฝนทิ้งช่วง ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตยางในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ด้วย

ส่วนในด้านความต้องการยางนั้น แม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน น่าจะส่งผลให้ความต้องการยางกระเตื้องขึ้นอย่างมาก แต่ปัจจัยที่น่ากังวลคือ การที่สหรัฐฯประกาศเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุนการส่งออก(ซีวีดี)สินค้ายางรถยนต์ของจีน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อไทยในฐานะที่เป็นประเทศที่ส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นไปยังจีนเพื่อป้อนอุตสาหกรรมยางรถยนต์ รวมทั้งข้อเรียกร้องจากเกษตรกรผู้ปลูกยางของจีนในการที่จะให้ยกเลิกการลดภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนก่อนกำหนด เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกยางของจีน นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามราคาน้ำมันและตลาดหุ้นของสหรัฐฯที่เริ่มดิ่งลงในช่วงที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรปอาจจะไม่ฟื้นตัวรวดเร็วดังที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกดังกล่าว อาจกระทบต่อความต้องการยางในตลาดโลกได้ แม้จะมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นของจีนก็ตาม