อะไหล่รถยนต์ไทยมีโอกาสเติบโตได้ในตะวันออกกลาง

ชิ้นส่วนรถยนต์ไทยปัจจุบันกำลังประสบปัญหายอดการส่งออกที่หดตัวอย่างหนัก โดยการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ช่วง 5 เดือนแรกได้หดตัวสูงถึงร้อยละ 43.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ทั้งนี้เนื่องมาจากสาเหตุสำคัญ คือ วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ยังคงดำเนินต่อเนื่อง และทิศทางการฟื้นตัวอย่างมั่นคงยังคงอยู่ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของผู้ซื้อรถยนต์ก็มีความผันผวนค่อนข้างมาก ส่งผลกระทบทำให้กำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อการซื้อรถยนต์ลดลง จึงกระทบต่อเนื่องอย่างรุนแรงมายังอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ โดยเฉพาะชิ้นส่วน OEM ซึ่งใช้ในการผลิตรถยนต์ใหม่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง อย่างไรก็ตามสภาพตลาดปัจจุบันกลับเป็นโอกาสให้กับการส่งออกอะไหล่รถยนต์ไทย เนื่องจากผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์เก่ามากขึ้น โดยภูมิภาคที่นอกจากจะเป็นตลาดใหม่ของการส่งออกรถยนต์ไทยแล้ว ยังมีบทบาทในการเป็นกลุ่มผู้นำเข้าหลักของรถยนต์ไทยมากขึ้นเรื่อยๆอย่างตลาดตะวันออกกลางนี้ จึงเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกอะไหล่รถยนต์ไทยในปัจจุบัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์โอกาสในการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไทยไปยังตลาดใหม่อย่างตะวันออกกลาง โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

ตลาดชิ้นส่วนรถยนต์รวมจะหดตัว…แต่อะไหล่รถยนต์ยังไปได้สวย

จากสภาพอุตสาหกรรมยานยนต์โลกที่ชะลอตัวในปัจจุบัน ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตหรือประกอบรถยนต์ใหม่ในช่วงเวลานี้ได้รับผลกระทบ ส่งผลให้ความต้องการชิ้นส่วนรถยนต์สำหรับการนำไปประกอบรถมีทิศทางที่ลดลงตามไปด้วย สวนทางกับความต้องการอะไหล่ที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ซื้อรถยนต์ใหม่ชะลอการตัดสินใจซื้อ และใช้รถยนต์เก่าซึ่งจะต้องมีการบำรุงรักษาที่มากกว่า ประกอบกับการให้สินเชื่อมีความยากลำบากมากขึ้นเนื่องจากรถยนต์ใหม่มีราคาแพงและมีโอกาสที่จะเป็นหนี้สูญได้ง่าย ซึ่งรถยนต์ใหม่ที่นำมาขายในตลาดรถมือสองราคาจะถูกตัดลดลงจากราคาเดิมมากทำให้มีความเสี่ยงสูง การซื้อรถยนต์มือสองจึงทำได้ง่ายกว่าและมีราคาซื้อที่ถูกกว่าด้วย ซึ่งการใช้รถยนต์เก่าที่เพิ่มขึ้นนี้สะท้อนถึงความต้องการอะไหล่รถยนต์ที่จะเพิ่มมากขึ้นตามมา ดังนั้นช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวนี้จึงเป็นโอกาสแก่การส่งออกอะไหล่ค่อนข้างมาก ซึ่งจากสถิติมูลค่าการส่งออกอะไหล่รถยนต์รายงานโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพบว่ามีการขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2552 มีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 40.4 ตรงข้ามกับการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์และเครื่องยนต์ซึ่งเป็นชิ้นส่วน OEM ที่หดตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว

ท่ามกลางวิกฤตการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไทย…ตลาดตะวันออกกลางหดตัวน้อยที่สุด

หากมองการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์โดยภาพรวม จากสถิติมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ พบว่าหดตัวสูงถึงร้อยละ 43.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว โดยแบ่งตามภูมิภาคสำคัญๆที่ไทยส่งออกเป็นมูลค่าสูงได้ดังตาราง 1.2

จากสถิติการส่งออกชิ้นส่วนช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 จำแนกตามภูมิภาคสำคัญที่ไทยส่งออกไปพบว่า ตะวันออกกลางเป็นตลาดส่งออกที่หดตัวน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 13.0 ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โอเชียเนีย และอเมริกาเหนือ ซึ่งช่วงเดียวกันในปี 2551 มีการขยายตัวสูงกว่ามากกลับหดตัวสูงถึงร้อยละ 40.4 54.9 และ 62.0 ตามลำดับในปี 2552 นี้ และถ้าพิจารณาเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรกของการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไทยพบว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่การส่งออกยังคงขยายตัว ซึ่งในจำนวนนั้นได้แก่ คูเวต (ร้อยละ 356.0) โอมาน (ร้อยละ 277.7) โมร็อกโก (ร้อยละ 149.7) อิหร่าน (ร้อยละ 140.2) อัฟกานิสถาน (ร้อยละ 133.4) พม่า (ร้อยละ 47.9) ซาอุดิอาระเบีย (ร้อยละ 35.4) ลาว (ร้อยละ 24.3) ไนจีเรีย (ร้อยละ 22.6) สหรัฐฯอาหรับเอมิเรตส์ (ร้อยละ 17.8) ปากีสถาน (ร้อยละ 5.3) และจีน (ร้อยละ 0.4) ซึ่งจะเห็นว่ากว่าครึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง หรือที่มักจะถูกเรียกว่ากลุ่มประเทศอาหรับ ซึ่งประกอบไปด้วย 15 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน ไซปรัส อิหร่าน อิรัก อิสราเอล จอร์แดน คูเวต เลบานอน โอมาน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน จากทิศทางดังกล่าวสามารถบ่งชี้ได้ในเบื้องต้นว่าตลาดตะวันออกกลางมีโอกาสที่จะเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจสำหรับไทยในการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ โดยเฉพาะการส่งออกอะไหล่รถยนต์ซึ่งมูลค่าการส่งออกของไทยมีการขยายตัวดีค่อนข้างมากในช่วงปีที่ผ่านมาสวนทางกับชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ OEM

ตะวันออกกลาง…ตลาดส่งออกอะไหล่รถยนต์ที่น่าสนใจในอนาคต

แม้ตลาดรถยนต์ส่วนใหญ่ทั่วโลกในปัจจุบันจะประสบปัญหายอดขายตกต่ำไม่เว้นแม้แต่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่แนวโน้มการส่งออกอะไหล่รถยนต์ของไทยในอนาคตไปยังภูมิภาคนี้คาดว่าจะมีทิศทางที่ดี โดยมาจากปัจจัยบวก เช่น การถือครองรถยนต์ของประชากรในสัดส่วนที่สูง และแนวโน้มการนำเข้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตจากการเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีฐานะร่ำรวย
จากสถิติที่รายงานโดย Population Reference Bureau ในสหรัฐฯ ถึงช่วงกลางปี 2551 พบว่าประชากรของประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางโดยเฉลี่ยแล้วมีรายได้ต่อบุคคลในปี 2550 ที่ประมาณ 18,700 ดอลลาร์ฯต่อปี ซึ่งสูงกว่าไทยซึ่งมีระดับรายได้ต่อบุคคลปีเดียวกันที่ 7,880 ดอลลาร์ฯต่อปีค่อนข้างมาก เนื่องจากประเทศในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศร่ำรวยจากการส่งออกน้ำมัน ทำให้ประชากรมีความสามารถในการจับจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยสูง ประกอบกับเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศอยู่ในระดับต่ำ ต้นทุนระยะยาวในการใช้รถยนต์จึงต่ำไปด้วย ทำให้สัดส่วนการถือครองรถยนต์ของประชากรอยู่ในระดับสูง โดยสัดส่วนการถือครองรถยนต์ช่วงปี 2543 ถึงปี 2548 อยู่ที่เฉลี่ย 270 คันต่อประชากร 1,000 คน ขณะที่สัดส่วนการถือครองรถยนต์ของคนไทยช่วงเดียวกันอยู่ที่ประมาณ 154 คันต่อประชากร 1,000 คนเท่านั้น ซึ่งจำนวนรถยนต์ในประเทศสะท้อนถึงความต้องการใช้อะไหล่รถยนต์ที่เพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้สัดส่วนจำนวนประชากรต่อรถยนต์ที่ผลิตขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางปี 2551 ซึ่งมีสัดส่วนที่สูงถึงประมาณ 126 คนต่อรถยนต์ที่ผลิตได้ 1 คัน เปรียบเทียบกับประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่มีสัดส่วนประมาณ 45 คนต่อรถยนต์ที่ผลิตได้ 1 คัน แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่ประเทศในตะวันออกกลางจะมีการนำเข้ารถจากประเทศในภูมิภาคอื่นสูง ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 ที่ผ่านมา จากสถิติที่รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์พบว่า มูลค่าการส่งออกรถยนต์ของไทยไปยังประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางอยู่ที่ 807.8 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวถึงร้อยละ 11.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.6 ของการส่งออกรถยนต์ไปต่างประเทศทั้งหมดของไทย จากเดิมที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 17.2 ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 โดยการส่งออกรถยนต์นั่ง รวมถึงรถบัสและรถบรรทุกมีการขยายตัวร้อยละ 49.9 และ 23.2 ตามลำดับ และเป็นการขยายตัวสวนทางกับการส่งออกรถยนต์รวม 2 ประเภทนี้ของไทยไปยังต่างประเทศที่หดตัวถึงร้อยละ 34.5 และ 2.8 ตามลำดับ ขณะที่รถแวนและปิคอัพที่ส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางกลับหดตัวถึงร้อยละ 42.3 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดส่งออกรถแวนและปิคอัพรวมไปยังต่างประเทศของไทยที่ก็หดตัวลงถึงร้อยละ 47.4 เช่นเดียวกัน ซึ่งตัวเลขที่แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องของไทย เช่น อะไหล่รถยนต์ โดยเฉพาะอะไหล่สำหรับรถยนต์นั่ง รวมถึงรถบัสและรถบรรทุก ทั้งนี้เนื่องจากทิศทางตลาดในอนาคตซึ่งเริ่มแสดงให้เห็นในปัจจุบัน คือ ความนิยมในรถยนต์นั่งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับรถปิคอัพได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้การลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆลดลง

จากการที่ตะวันออกกลางเป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีความสามารถในการจับจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยสูง และมีแนวโน้มที่จะนำเข้ารถยนต์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันกลายมาเป็นฐานการส่งออกรถยนต์ที่สำคัญของไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ย่อมส่งผลต่อความต้องการใช้อะไหล่รถยนต์ที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกชิ้นส่วนจากไทยไปยังตลาดดังกล่าว อย่างไรก็ตามการแข่งขันในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์โลกปัจจุบันได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้นนอกเหนือจากแนวทางการลดต้นทุนและพัฒนาคุณภาพชิ้นส่วนให้เป็นที่ยอมรับแล้ว ผู้ประกอบการควรหาช่องทางในการส่งออกโดยสร้างความสัมพันธ์กับธุรกิจที่อยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เช่น ศูนย์ซ่อม อู่ซ่อมรถยนต์ และบริษัทเทรดดิ้งในท้องถิ่นที่มีเครือข่ายในกลุ่มบริษัทชิ้นส่วน เพื่อให้เกิดความสะดวกในการส่งออก นอกจากนี้การร่วมมือกันเป็นกลุ่มเพื่อเปิดตลาดดังเช่นที่ผู้ประกอบการบางรายรวมตัวกันก่อตั้งบริษัทร่วมทุน และหาพันธมิตรร่วมทุนเพื่อเข้าไปบุกตลาดเปิดศูนย์กระจายสินค้าและอู่ซ่อมรถยนต์ในตะวันออกกลาง เพื่อเปิดตลาดส่งออกชิ้นส่วนและอะไหล่นั้น คาดว่าจะช่วยให้สามารถเข้าตลาดได้ง่ายรวมถึงมีตลาดพร้อมรองรับสินค้าที่ส่งออกไปในอนาคต ส่วนการสนับสนุนจากภาครัฐควรส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมในด้านต่างๆทั้งด้านบุคลากรและเทคโนโลยี รวมถึงการสร้างโอกาสในการขยายตลาด โดยการสนับสนุนให้เกิดการค้าเสรีระหว่างกันด้วยการร่วมผลักดันให้เกิดการเจรจาตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนและ กลุ่มประเทศสมาชิกสภาความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ หรือ GCC ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ประเทศสมาชิก ได้แก่ การ์ตา คูเวต ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน

ส่วนการส่งออกชิ้นส่วน OEM นั้นแม้ในช่วง 1 ถึง 2 ปีนี้จะเป็นช่วงที่ยังยากลำบากสำหรับการไปบุกตลาดใหม่อยู่ แต่ถึงอย่างนั้นแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในตะวันออกกลางในอนาคตซึ่งคาดว่านับวันจะเริ่มทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นนั้น เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้งซึ่งอย่างเร็วที่สุดคาดว่าจะเป็นช่วงปีหน้า คาดว่าจะมีผลต่ออุตสาหกรรมการผลิตและประกอบรถยนต์ที่อาจจะมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ปริมาณรถยนต์ที่ผลิตได้ต่อจำนวนประชากรในภูมิภาคที่ยังอยู่ในระดับต่ำอย่างตะวันออกกลาง ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่าค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นหลายค่ายให้ความสนใจในการไปลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในตะวันออกกลาง จึงน่าจะเป็นโอกาสให้กับชิ้นส่วนไทยอย่างชิ้นส่วน OEM ที่จะขยายการส่งออกไปยังภูมิภาคนี้ในอนาคตได้ไม่ยาก