รองเท้ากีฬา ปี’52 : ตลาดส่งออกและตลาดในประเทศซบเซา

ด้วยผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ทำให้ตลาดรองเท้ากีฬาของโลกในปี 2552 ซบเซาลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งออกรองเท้ากีฬาของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 มีมูลค่าการส่งออกรวมประมาณ 5 พันล้านบาท หดตัวลงถึงร้อยละ 19.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้ารองเท้ากีฬารายใหญ่ของโลกและเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ลดปริมาณการนำเข้ารองเท้ากีฬาลง ทำให้มูลค่าการส่งออกรองเท้ากีฬาของไทยไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 หดตัวลงถึงร้อยละ 41.9 และ 11.5 ตามลำดับ นอกจากนี้การส่งออกรองเท้ากีฬาของไทยไปยังจีนซึ่งเป็นตลาดใหม่ก็ยังมีการหดตัวลงเช่นเดียวกันถึงร้อยละ 30.5

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่าแม้ในขณะนี้ไทยจะมีความได้เปรียบประเทศคู่แข่งขันสำคัญในตลาดรองเท้ากีฬาของโลกอย่างจีนและเวียดนาม ซึ่งถูกสหภาพยุโรป (EU) ขยายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดออกไปอีก 2 ปี และการที่ไทยได้รับคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในยุโรป ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรองเท้ากีฬาของไทยที่จะสามารถส่งออกรองเท้ากีฬาไปยังสหภาพยุโรปได้เพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่ด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ ทำให้คาดการณ์ว่า การส่งออกรองเท้ากีฬาของไทยตลอดทั้งปี 2552 นี้ จะยังคงมีแนวโน้มหดตัวลงประมาณร้อยละ 19.0 หรือมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 11.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากตลาดส่งออกรองเท้ากีฬาเกรดเอของไทย ทั้งในตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปลดลงประมาณร้อยละ 25 ทำให้ผู้ส่งออกต้องพยายามเสนอราคาเพื่อจูงใจให้มีการสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าราคาต่อหน่วยของการส่งออกรองเท้ากีฬาของไทยจะลดลงประมาณร้อยละ 3.7

ในขณะเดียวกัน จากผลกระทบของความต้องการรองเท้ากีฬาในตลาดส่งออกที่หดตัวลงอย่างมาก ทำให้ปริมาณการผลิตรองเท้ากีฬาเพื่อการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 หดตัวลงถึงร้อยละ 22.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การผลิตรองเท้ากีฬาเพื่อการส่งออกของไทยในปี 2552 นี้ จะลดลงตามภาวะการส่งออกที่หดตัวลงถึงร้อยละ 19.5 หรือมีปริมาณการผลิตรวมทั้งสิ้นประมาณ 29.4 ล้านคู่

ตลาดรองเท้ากีฬาในประเทศ… ปริมาณการจำหน่ายหดตัว
ขณะที่ตลาดส่งออกซึ่งเป็นตลาดหลักของอุตสาหกรรมรองเท้ากีฬาของไทยหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ตลาดรองเท้ากีฬาภายในประเทศก็มีการหดตัวลงเช่นเดียวกัน โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 การจำหน่ายรองเท้ากีฬาในประเทศมีปริมาณ 3.5 ล้านคู่ หดตัวลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.7 อันเป็นผลมาจากกำลังซื้อของคนในประเทศลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการรองเท้ากีฬาภายในประเทศลดลง ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่าตลอดทั้งปี 2552 นี้ ปริมาณการจำหน่ายรองเท้ากีฬาภายในประเทศจะลดลงประมาณร้อยละ 26.6 หรือมีปริมาณการจำหน่ายรวมทั้งสิ้นประมาณ 8.4 ล้านคู่ โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552 ตลาดรองเท้ากีฬาภายในประเทศน่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น เพราะผู้ผลิตประสบปัญหาการขยายตลาดส่งออกไม่ได้ตามเป้าหมาย ทำให้ต้องหันมาให้ความสนใจกับตลาดภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าที่มีชื่อเสียงก็จะพยายามนำเสนอสินค้ารุ่นใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาและโปรโมชั่นเพื่อจูงใจให้เกิดการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายรองเท้ากีฬาในประเทศของไทยนั้น แบ่งเป็นรองเท้ากีฬาที่ผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 71.6 และเป็นรองเท้ากีฬาที่นำเข้าจากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 28.4 ทั้งนี้ จากตัวเลขปริมาณการจำหน่ายรองเท้ากีฬาในประเทศที่ลดลง ทำให้ปริมาณการผลิตรองเท้ากีฬาเพื่อจำหน่ายภายในประเทศลดลงตามไปด้วย โดยปริมาณรองเท้ากีฬาที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 ลดลงถึงร้อยละ 27.6 ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2552 นี้ ปริมาณการผลิตรองเท้ากีฬาเพื่อจำหน่ายในประเทศจะลดลงประมาณร้อยละ 23.2 หรือมีปริมาณการผลิตรวมประมาณ 7.0 ล้านคู่ ซึ่งผู้ผลิตส่วนใหญ่จะหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและการเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดในช่วงที่ความต้องการรองเท้ากีฬาราคาถูกจากจีนในประเทศเริ่มลดลง

สำหรับการนำเข้ารองเท้ากีฬาของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 นั้น ปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 16.5 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปริมาณการนำเข้ารองเท้ากีฬาราคาถูกจากจีนลดลงมากถึงร้อยละ 19.7 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่าตลอดทั้งปี 2552 นี้ ปริมาณการนำเข้ารองเท้ากีฬาของไทยจะหดตัวลงประมาณร้อยละ 20.2 หรือมีปริมาณการนำเข้ารองเท้ากีฬารวมทั้งสิ้นประมาณ 2.1 ล้านคู่

ผู้ประกอบการรองเท้ากีฬาไทย… ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือ

จากสถานการณ์ทางการตลาดรองเท้ากีฬาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการของไทยจำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้
เพิ่มความระมัดระวังในการรับออเดอร์จากต่างประเทศ โดยหลีกเลี่ยงการรับออเดอร์เพื่อผลิตสินค้าที่มีอัตราการทำกำไรต่ำ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะขาดทุน และควรมีแผนการจัดหาออร์เดอร์ล่วงหน้าอยู่ตลอดเวลา

ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และพัฒนาสินค้าให้มีนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์รองเท้ากีฬา จากตลาดผลิตภัณฑ์ระดับล่างไปสู่ตลาดระดับกลางถึงบนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาสินค้าให้มีนวัตกรรมมากขึ้น ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการสร้างโอกาสที่ดีสำหรับรับมือต่อการขยายตัวของการส่งออกรองเท้ากีฬาในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง

กระจายความเสี่ยงทางการตลาด ด้วยการมองหาตลาดใหม่ๆ แม้ว่าการส่งออกรองเท้ากีฬาของไทย จะมีตลาดในสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดส่งออกหลัก ซึ่งผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญ เนื่องจากมีกำลังซื้อสูง และเป็นตลาดที่ผลิตภัณฑ์รองเท้ากีฬาของไทยสามารถแข่งขันในตลาดระดับผลิตภัณฑ์ระดับกลางถึงบนที่สินค้ามีราคาสูงได้ก็ตาม แต่การลดความเสี่ยงทางการตลาด ด้วยการมองหาตลาดส่งออกใหม่ๆ ที่มีศักยภาพและสามารถแข่งขันได้ก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงอย่างจีน ซึ่งผู้ประกอบการไทยน่าจะมีโอกาสในการขยายการส่งออกรองเท้ากีฬาไปยังจีนได้มากขึ้น โดยอาศัยประโยชน์ที่ได้รับจากข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-จีน เช่นเดียวกันกับตลาดส่งออกในญี่ปุ่น ที่ผู้ประกอบการไทยสามารถอาศัยประโยชน์ที่ได้รับจากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ เจเทปปา ได้เช่นกัน

ให้ความสำคัญกับตลาดภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยการออกสินค้าใหม่ๆ ที่มีนวัตกรรม และมีการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดต่างๆ เพื่อจูงใจผู้บริโภคภายในประเทศมากขึ้น

บริหารการเงินอย่างรัดกุม ผู้ประกอบการรองเท้ากีฬาของไทยยังต้องรับมือกับความผันผวนทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย ทั้งการแข็งตัวของค่าเงินบาท โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งขันอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน และอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ดังนั้น ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการบริหารการเงิน เพื่อจัดการต้นทุนทางการเงิน และบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไปพร้อมๆ กัน

สรุป

แม้ว่านักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจหลายท่านจะให้ความเห็นว่า ขณะนี้วิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐฯ ที่ส่งผลลุกลามจนกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจของโลกนั้น ได้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุดมาแล้วก็ตาม แต่ด้วยแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้คาดว่ามูลค่าการส่งออกรองเท้ากีฬาของไทยไปยังตลาดโลกในปี 2552 นี้ จะยังคงมีแนวโน้มหดตัวลงประมาณร้อยละ 19.0 ตามกำลังซื้อที่ลดลงของผู้บริโภคในประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ขณะที่การแข่งขันของตลาดภายในประเทศในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552 คาดว่าจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตประสบปัญหาการส่งออกไม่ได้ตามเป้าหมาย นอกจากนี้ คาดว่าปริมาณการจำหน่ายรองเท้ากีฬาภายในประเทศจะมีแนวโน้มหดตัวลงเช่นเดียวกันประมาณร้อยละ 26.6 ตามกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศที่ลดลงเนื่องจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ทางการตลาดในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ผู้ประกอบการควรเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนานวัตกรรมสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพิ่มความระมัดระวังในการรับออเดอร์จากต่างประเทศ บริหารจัดการทางการเงินให้มีความรัดกุมเพื่อให้สามารถควบคุมต้นทุนทางการเงิน และเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศได้มากขึ้น พร้อมทั้งมองหาตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการตลาด อาทิ จีน และญี่ปุ่น