ตลาดหนังสือปี’52 : อัตราขยายตัวชะลอลง…สำนักพิมพ์ต้องเร่งปรับตัว

หนังสือเป็นสิ่งสำคัญที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของประชาชนในประเทศ ดังนั้น การผลักดันให้คนไทยมีนิสัยรักการอ่าน เพื่อเป็นการวางรากฐานทางความคิดและสร้างทักษะในการเรียนรู้ของเยาวชนตามแนวทางของภาครัฐที่ต้องการให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ จึงมีส่วนช่วยให้ธุรกิจสำนักพิมพ์ของไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการขยายตัวกว่าร้อยละ 10 ตั้งแต่ปี 2546 จากการผลักดันของภาครัฐที่ประกาศให้ปี 2546 เป็นปีแห่งการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ และเริ่มขยายตัวในอัตราที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งมีมูลค่าตลาดหนังสือรวมในประเทศประมาณ 18,300 ล้านบาท และขยับขึ้นมาอยู่ที่ 18,900 ล้านบาท ในปี 2551 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 3.2 และคาดการณ์ว่าปี 2552 มูลค่าตลาดหนังสือในประเทศจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3

ในปี 2551 จำนวนหนังสือใหม่ที่เข้าสู่ร้านหนังสือเฉลี่ยประมาณ 1,112 ชื่อเรื่องต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำว่าประเทศที่พัฒนาแล้วประมาณ 5-10 เท่าตัว คนไทยใช้เวลาว่างในการอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 2 เล่ม และใช้เงินซื้อหนังสือคนละประมาณ 300 บาทต่อปีเท่านั้น ถือว่ามีอัตราการอ่านหนังสือที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ที่มีสถิติการอ่านหนังสือเฉลี่ยคนละ 40-50 เล่มต่อปี ส่วนเวียดนามเฉลี่ยคนละ 60 เล่มต่อปี แสดงให้เห็นว่าตลาดหนังสือและสิ่งพิมพ์ในประเทศยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดันให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง โดยมีข้อเสนอแนะจากประชาชนในการช่วยรณรงค์ให้คนรักการอ่าน เช่น หนังสือควรมีราคาที่ถูกลง มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจ ภาษาที่ใช้เขียนควรเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย ส่งเสริมให้มีห้องอ่านหนังสือหรือมุมหนังสือตามสถานที่บริการสาธารณะ และส่งเสริมให้พ่อ แม่ ผู้ปกครองปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน

ธุรกิจสำนักพิมพ์ในประเทศ…ยังคงขยายตัวได้ แต่ในอัตราชะลอลง
ธุรกิจสำนักพิมพ์ของไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งในด้านปริมาณสิ่งพิมพ์ ประเภทสิ่งพิมพ์ และจำนวนร้านหนังสือในประเทศ ซึ่งปี 2551 มีสำนักพิมพ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 อยู่ที่ 512 สำนักพิมพ์ แบ่งเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็กร้อยละ 83.2 ขนาดกลางร้อยละ 9.8 และขนาดเล็กร้อยละ 7.0 ส่วนร้านหนังสือมีการขยายตัวอย่างมาก โดยในปี 2550 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 100.3 มีจำนวนอยู่ที่ 1,913 ร้าน และปี 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8 มีจำนวน 2,483 ร้าน ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของร้านหนังสือในปี 2550 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของร้านหนังสือขนาดเล็กที่ขยายสาขาอย่างรวดเร็วตามร้านสะดวกซื้อ

รูปแบบร้านหนังสือได้เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ตกแต่งในลักษณะอนุรักษ์นิยม แต่ปัจจุบันร้านหนังสือมีการตกแต่งที่สวยงามและทันสมัยมากขึ้น อีกทั้ง ยังมีการจำหน่ายสินค้าอื่น เช่น แผ่นซีดี เครื่องดื่ม เบเกอรี่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เป็นต้น พร้อมทั้งมีโซฟาให้นั่งสบายๆ ดังนั้น แทนที่จะเป็นแค่ร้านหนังสือ กลับกลายเป็นสถานที่นั่งเล่น พักผ่อน และสามารถทำงานได้ จึงช่วยดึงดูดผู้ที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ ให้เริ่มสนใจเดินเข้าร้านหนังสือมากขึ้น

ภาพรวมการขยายตัวของธุรกิจสำนักพิมพ์เพิ่มขึ้นในกลุ่มหนังสือเล่มและพ็อกเก็ตบุ๊ค แต่การชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภคจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง และความไม่มั่นใจในเสถียรภาพทางการเมืองในปีที่ผ่านมา มีผลให้อัตราการขยายตัวของยอดจำหน่ายหนังสือชะลอตัวลง ส่งผลให้สมาคมการพิมพ์ไทยได้ปรับลดเป้าอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมการพิมพ์ในประเทศปี 2552 เหลือร้อยละ 5-10 จากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 25 ส่วนด้านการส่งออกยังคงเป้าหมายเดิมโดยรักษาระดับการส่งออกเท่ากับปี 2551 ที่มีมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท ส่วนด้านวัตถุดิบ เนื่องจากการชะลอตัวของความต้องการใช้กระดาษและสิ่งพิมพ์ทั่วโลกในช่วงผ่านมา โดยเฉพาะในสหรัฐฯและแถบยุโรป ประกอบกับราคาน้ำมันที่ต่ำกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ราคากระดาษมีแนวโน้มลดลงจากปีที่ผ่านมา และเริ่มทรงตัวตั้งแต่ช่วงกลางปี 2552 แต่ในระยะต่อไปคาดว่ากำลังผลิตกระดาษอาจจะไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของ จีน อินเดีย และภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากยังมีตลาดใน กลุ่มพ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสารรองรับ

การส่งออก-นำเข้าหนังสือและสิ่งพิมพ์..หดตัวตามกระแสเศรษฐกิจโลก
การส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ของไทย 5 เดือนแรกของปี 2552 มีมูลค่า 20,276 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเมื่อเปรียบเทียบกับ 2551 ที่มีมูลค่าการส่งออก 47,809.1 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 88.6 จากปีก่อนหน้า ที่มีมูลค่าการส่งออก 25,349.7 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าทั้งปี 2552 มูลค่าการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ของไทยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 1-2 จากปีที่แล้ว ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เดนมาร์ก และไต้หวัน ตามลำดับ (จากเดิมช่วงก่อนปี 2550 ตลาดส่งออกอันดับต้นๆของไทย คือ สหรัฐฯ และประเทศในแถบยุโรป)

การนำเข้าหนังสือและสิ่งพิมพ์ของไทย 5 เดือนแรกของปี 2552 มีมูลค่า 3,447.5 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งปี 2551 มีมูลค่าการนำเข้า 9,137.5 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 28.6 จากปีก่อนหน้า ที่มีมูลค่าการนำเข้า 7,104.8 ล้านบาท ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เกาหลีใต้ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษ และจีน ตามลำดับ การนำเข้าจากเกาหลีใต้ปรับตัวสูงขึ้นมากจากอันดับ 11 มาเป็นอันดับ 1 ในช่วงปี 2550 เป็นต้นมา โดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ประเภทภาพพิมพ์ ภาพถ่ายจากเกาหลี ตามกระแสนิยมแฟชั่น/ดารา/นักร้องเกาหลีในไทย

ปัจจัยสนับสนุนธุรกิจสำนักพิมพ์
การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ตลาดหนังสือของไทยมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงกว่าช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าแนวโน้มในระยะยาวตลาดหนังสือยังคงเติบโตต่อเนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

 นโยบายภาครัฐที่สนับสนุนให้ประชาชนได้รับการศึกษาสูงขึ้น และส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่าน เพื่อยกระดับให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ อีกทั้ง การจัดงานหนังสืออย่างต่อเนื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้เลือกชม/เลือกซื้อหนังสือที่หลากหลาย โดยปรับให้เข้าไลฟ์สไตล์ของคนไทยที่ชอบการช้อปปิ้ง ล้วนเป็นการช่วยกระตุ้นยอดขายหนังสือให้เพิ่มขึ้น

 จากที่ไทยได้ส่งผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดสิ่งพิมพ์แห่งชาติ (Thai Print Awards) เข้าประกวดสิ่งพิมพ์ระดับอาเซียน (Asian Print Awards) ได้รับรางวัลที่ 1 ในปี 2550 และปี 2551 ที่ประเทศสิงคโปร์ เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ต่างชาติในมาตรฐานการพิมพ์ของไทย ซึ่งจากที่สมาคมการพิมพ์ไทยได้ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2552 จะผลักดันให้ไทยมีมูลค่าส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ที่ 30,000 ล้านบาท แต่ไทยก็สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้แล้วตั้งแต่ปี 2551 โดยมีมูลค่าการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ถึง 47,809.1 ล้านบาท จากเดิมหากต้องการจ้างพิมพ์งานที่มีคุณภาพจะต้องไปสั่งพิมพ์งานที่สิงคโปร์หรือฮ่องกง แต่ในปัจจุบันด้วยมาตรฐานการพิมพ์ของไทยที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงกลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับประเทศผู้ว่าจ้าง ด้วยราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่ง

 ความได้เปรียบในด้านวัตถุดิบ กล่าวคือ ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษครบวงจร เริ่มตั้งแต่การปลูกป่าของต้นไม้ประเภทโตเร็ว เช่น ต้นยูคาลิปตัส และต้นอาคาเซีย เป็นต้น เรายังมีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ รวมถึงโรงงานผลิตกระดาษที่มีคุณภาพดีหลายแห่ง นอกจากนี้ การก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาครตั้งแต่ปี 2547 เพื่อสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยให้ครบวงจร สอดรับนโยบายภาครัฐที่ต้องการรวมกลุ่มผู้ประกอบการด้านการพิมพ์ทั้งกระบวนการ และร่วมถ่ายทอดความรู้ในด้านการตลาด เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมแห่งนวัตกรรมการพิมพ์ และก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางการพิมพ์ในภูมิภาคอาเซียน (Asian Printing Hub)
 การพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Book หรือ E-Book) ที่มีแนวโน้มพัฒนาสู่ตลาดนักอ่านมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากมีความสะดวกในการพกพา อีกทั้ง ยังมีปฏิสัมพันธ์และตอบโต้กับผู้อ่านได้ ซึ่งหากมองอีกแง่มุมอาจจะส่งผลกระทบธุรกิจในด้านลบ ดังที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ และในแถบยุโรป แต่หากธุรกิจสำนักพิมพ์เริ่มวางแผนปรับตัว โดยประสานสื่อสมัยใหม่เข้าเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้อ่าน โดยเลือกเนื้อหาหนังสือที่จะจัดทำ E-Book ให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายที่ชื่นชอบเทคโนโลยี คือ วัยรุ่น และวัยทำงาน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม การเติบโตของหนังสือรูปเล่มก็ยังคงมีอยู่ เนื่องจากมีลักษณะทางกายภาพที่เหมาะสมกับการอ่านในระยะเวลานานๆ มากกว่าการอ่านจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และมีคุณค่าในการเก็บสะสม

 การขยายตัวของสื่ออินเทอร์เน็ต เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สำนักพิมพ์สามารถใช้เป็นสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์หนังสือ/งานพิมพ์ เนื่องจากใช้ต้นทุนต่ำ สื่อสารได้รวดเร็วและกระจายได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ยังเป็นช่องทางแสดงความคิดเห็นสำหรับลูกค้าเกี่ยวกับหนังสือ/งานพิมพ์อีกด้วย

 อัตราการอ่านหนังสือเฉลี่ยของคนไทยที่ต่ำมาก เป็นข้อบ่งชี้ถึงโอกาสที่ตลาดหนังสือของไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมากในระยะ เพราะคนไทยมีอัตราการอ่านหนังสือเฉลี่ยต่อคนต่ำมากอยู่ที่ปีละ 2 เล่มเท่านั้น ประกอบกับ แนวโน้มที่คนไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการอ่านมากขึ้น ทั้งเพื่อเสริมสร้างความรู้ และให้ความบันเทิง

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจสำนักพิมพ์…ชะลอตัว
จากที่คาดการณ์ว่าในระยะยาวธุรกิจสำนักพิมพ์ยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่ก็มีปัจจัยพึงระวังที่อาจส่งผลกระทบในด้านต้นทุนการผลิตและการจัดจำหน่าย ที่อาจส่งผลให้อัตราการขยายตัวชะลอลง ดังนี้

 จากการสำรวจการอ่านหนังสือของประชากรปี 2551 พบว่า อัตราการอ่านหนังสือ นอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงานของคนไทยที่อายุ 6 ปีขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 66.3 ลดลงจากปี 2548 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 69.1 ทั้งนี้ เพราะคนไทยใช้เวลาดูโทรทัศน์มากกว่าอ่านหนังสือ อาจเนื่องด้วยเวลาที่จำกัด และประชากรผู้ชายมีอัตราการอ่านหนังสือสูงกว่าผู้หญิงเล็กน้อย คือ ร้อยละ 67.5 และ 65.1 ตามลำดับ กลุ่มเด็กมีอัตราการอ่านหนังสือสูงที่สุด รองลงมา คือ เยาวชน วัยทำงาน และผู้สูงอายุ

 การเติบโตอย่างรวดเร็วของอินเทอร์เน็ตและสื่อมัลติมีเดีย โดยเฉพาะการพัฒนาของ Audio Book ที่กำลังนิยมในต่างประเทศ โดยสามารถดาวน์โหลดไฟล์เสียงของหนังสือที่ต้องการฟังได้ทางเว็บไซต์ มีทั้งบริการฟรีและเสียค่าสมัครสมาชิก ซึ่งเสียงบันทึกนั้นจะให้อารมณ์และความรู้สึก ที่สามารถทำให้ผู้ฟังเกิดความเพลิดเพลินและสื่อความหมายได้ตรงกับอารมณ์ของตัวละครเสมือนการพากษ์หนัง สื่อในรูปแบบเสียงนี้เป็นความก้าวหน้าที่พัฒนามากขึ้นกว่า Digital Book หรือ E-Book โดยหากในอนาคตมีการพัฒนาจนเป็นที่นิยมแพร่หลาย เทคโนโลยีนี้ก็มีโอกาสที่จะแย่งส่วนแบ่งตลาดหนังสือเล่มได้โดยตรง เนื่องจากสามารถฟังและพกพาได้สะดวก สอดคล้องกับอุปนิสัยของคนไทยที่ชอบการดูและฟัง มากกว่าการอ่าน และไม่รู้สึกเมื่อยล้าเหมือนกับการอ่านจากหนังสือเล่ม และ E-Book อีกทั้ง ยังเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถอ่านหนังสือได้เองอีกด้วย

 ความต้องการใช้กระดาษใน จีน อินเดีย และแถบเอเชีย ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวตามการขยายตัวของประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง จึงอาจส่งผลต่อต้นทุนวัตถุดิบของธุรกิจสำนักพิมพ์สูงขึ้นในอนาคตหากสำนักพิมพ์ขาดระบบการบริหารจัดการวัตถุดิบที่ดีพอ

 สำหรับวัตถุดิบเยื่อใยยาวที่จำเป็นต้องใช้ควบคู่กับเยื่อใยสั้น เพื่อเพิ่มคุณภาพกระดาษ ด้วยข้อจำกัดทางด้านเกษตรกรรมที่ไม่สามารถเพาะปลูกไม้ที่ให้ใยยาวได้ในเขตเมืองร้อน จึงทำให้ไทยต้องนำเข้าเยื่อใยยาว ซึ่งมีราคาสูงและผันผวนตามตลาดโลก

 ปัญหาการสูญหายจากการถูกขโมยหนังสือตามร้านหนังสือในสาขาต่างๆ ส่งผลให้ร้านหนังสือต้องติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อเป็นการลดสูญเสียรายได้ ทำให้ร้านหนังสือมีต้นทุนสูงขึ้น และร้านหนังสืออาจขอต่อรองส่วนลดการค้าเพิ่มขึ้นจากสำนักพิมพ์เพื่อชดเชยต้นทุนดังกล่าว หรือในกรณีที่สำนักพิมพ์ดำเนินธุรกิจร้านหนังสือเป็นของตนเองก็จะทำให้มีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น

สรุป
คุณภาพของประชากรมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ธุรกิจสำนักพิมพ์และหนังสือจึงมีส่วนช่วยส่งเสริมและผลักดันให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ ซึ่งที่ผ่านมาคนไทยให้เวลากับการอ่านหนังสือค่อนข้างน้อย อาจเนื่องจากใช้เวลาส่วนมากหมดไปกับสื่อบันเทิง ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ ภาพยนตร์ แผ่น VCD/DVD ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้การค้นคว้าหาความรู้สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วโดยใช้สื่ออินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ รวมถึงการยกระดับมาตรฐานงานพิมพ์ของไทยที่มีการพัฒนามาโดยตลอด เพื่อก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางการพิมพ์ในภูมิภาคอาเซียน (Asian Printing Hub) นับว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ตลาดหนังสือของไทยยังขยายตัวได้ ส่งผลถึง ธุรกิจสำนักพิมพ์ในประเทศมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ทั้งในด้านปริมาณและประเภทสิ่งพิมพ์ โดยในปี 2551 จำนวนหนังสือใหม่ที่เข้าสู่ร้านหนังสือเฉลี่ยประมาณ 1,112 ชื่อเรื่องต่อเดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 จากปีก่อนหน้า ส่วนสำนักพิมพ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 อยู่ที่ 512 สำนักพิมพ์ และจำนวนร้านหนังสือเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8 อยู่ที่ 2,483 ร้าน โดยคาดว่าในปี 2552 ตลาดหนังสือในประเทศยังคงขยายตัวได้ แต่ด้วยอัตราที่ชะลอลง และมีแนวโน้มที่การแข่งขันจะรุนแรงขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องพื้นที่การวางสินค้าของร้านหนังสือ และกำลังซื้อของประชาชนที่ยังคงชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ส่วนตลาดต่างประเทศ การยกระดับในงานพิมพ์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับจากต่างชาติส่งผลให้มูลค่าการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และยังมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากประเทศในแถบเอเชีย คาดว่าปี 2552 มูลค่าการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ของไทยจะขยายตัวร้อยละ 1-2 จากปีที่แล้ว โดยตลาดส่งออกสำคัญ คือ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย

ดังนั้น ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง สำนักพิมพ์ควรเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มยอดขายและสร้างช่องทางการตลาด โดยเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ เลือกเรื่องที่มีเนื้อหาสาระน่าสนใจ ทันตามกระแสสังคมและทันต่อเหตุการณ์ในขณะนั้น สอดคล้องกับช่วงงาน/เทศกาลต่างๆของปี ซึ่งหนังสือนิยาย/วรรณกรรมและการ์ตูนยังคงเหมาะสำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชน ส่วนธรรมะประยุกต์ แนวสร้างสรรค์พัฒนาตนเอง และกระแสเหตุการณ์ปัจจุบัน ยังคงอยู่ในความสนใจของกลุ่มคนวัยทำงาน อีกทั้ง ควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ออกแบบรูปเล่ม/หน้าปกให้มีรูปลักษณ์สวยงาม สะดุดตา ใช้กระดาษที่มีคุณภาพ อาทิ เช่น กระดาษถนอมสายตาซึ่งเป็นแนวใหม่ที่เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่นักอ่าน รวมถึงการประสานสื่อสมัยใหม่เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกแก่ผู้อ่าน และที่สำคัญควรมีราคาที่ไม่แพงจนเกินไป สอดคล้องกับกำลังซื้อของกลุ่มเป้าหมายและต้นทุนการผลิตที่แท้จริง การขยายช่องทางการตลาด วางแผนการโฆษณา/ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆอย่างต่อเนื่อง การจัดโปรโมชั่น/ส่วนลดสมาชิก เพื่อจูงใจให้ผู้อ่าน/สมาชิกซื้อหนังสือบ่อยขึ้น หรือให้สิทธิในการจองซื้อหนังสือก่อนลูกค้าปกติ เป็นต้น รวมถึงการเลือกทำเลที่ตั้งร้านหนังสือก็เป็นส่วนสำคัญ โดยควรเลือกจุดตั้งร้านที่เป็นแหล่งชุมชนตรงตามกลุ่มเป้าหมาย เดินทางสะดวก มีที่จอดรถรองรับ พร้อมทั้งประเมินศักยภาพของคู่แข่งในกรณีที่มีร้านหนังสืออื่นในพื้นที่เดียวกัน เป็นต้น

สำหรับสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ ที่มีร้านหนังสือเป็นของตนเองควรปรับเปลี่ยนรูปแบบของร้านหนังสือให้ดูทันสมัย เพื่อดึงดูดความสนใจลูกค้าทุกวัย รวมถึงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเพื่อนำฐานข้อมูลมาใช้วางแผนการตลาดของร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ต่อไป ส่วนสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ที่ไม่มีโรงพิมพ์และร้านหนังสือเป็นของตน ก็ควรหาช่องทางการผลิตที่มีคุณภาพและต้นทุนไม่สูงนัก อีกทั้งแสวงหาช่องทางการตลาดที่สามารถกระจายหนังสือได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย สอดคล้องกับแนวหนังสือของสำนักพิมพ์ และอาจอาศัยเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย เช่น การขายตรงผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต เป็นต้น เพราะจากภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวทำให้ธุรกิจสำนักพิมพ์มีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด สำนักพิมพ์ขนาดใหญ่จึงได้เปรียบสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก เนื่องจากมีเครือข่ายการผลิตครบวงจร เทคโนโลยีที่ทันสมัย และเงินทุนที่เข้มแข็งกว่า