ล่าสุด ธนาคารพาณิชย์ไทย 5 แห่งได้ประกาศผลประกอบการประจำไตรมาส 2/2552 ซึ่งแม้ธนาคารบางแห่งจะมีกำไรสุทธิที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารหลายแห่ง ก็ออกมาดีกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ทั้งนี้ ความสามารถในการทำกำไร ที่วัดจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ดีขึ้นดังกล่าว สอดคล้องกับการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่เชื่อว่าแนวโน้มธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ไทย ในไตรมาส 2 ตลอดจนช่วงครึ่งหลังของปี 2552 มีแนวโน้มที่จะสดใสขึ้นจากไตรมาสแรก หลังจากที่ ในไตรมาส 1/2552 ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ขยับลดลงถึงร้อยละ 0.27 จากไตรมาสก่อนหน้าและร้อยละ 0.43 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากทั้งการหดตัวของธุรกิจหลักอย่างสินเชื่อและปัญหาคุณภาพหนี้ ตามภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์กลับยังไม่สามารถรับรู้ผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำในช่วงที่ผ่านมาได้อย่างเต็มที่
กระนั้นก็ดี แม้แนวโน้มธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจมีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อจากนี้ไป ตามอานิสงส์จากภาพรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่น่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้น แต่ก็ยังน่าจะเป็นการปรับตัวดีขึ้นในลักษณะที่ ‘ระมัดระวัง’ ตราบใดที่ปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจยังมีความเสี่ยงอยู่ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นและข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งในไตรมาส 2/2552 และช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ดังนี้
แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2/2552…น่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว
สำหรับในไตรมาส 2/2552 คาดว่าธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ประกอบด้วยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรก พร้อมกับอาจมีอัตราการเปลี่ยนแปลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (% YoY) ที่พลิกกลับมาเป็นบวก จากที่หดตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาส 1/2552 ได้ นั่นหมายความว่าไตรมาสแรกของปี 2552 ที่ผ่านมา น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของวัฎจักรธุรกิจในรอบนี้แล้ว
โดยคาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 2 อาจไม่ลดลงจากในไตรมาส 1/2552 อันมีปัจจัยบวกที่สำคัญคือ ประการแรก การฟื้นตัวของสินเชื่อ ตามสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจที่เริ่มปรากฏให้เห็นบ้าง แม้ว่าในภาพรวมแล้ว จะยังแสดงการหดตัวอยู่ในระดับสูงก็ตาม โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า จีดีพีในไตรมาส 2/2552 จะหดตัวร้อยละ 5.6 ชะลอลงจากที่หดตัวร้อยละ 7.1 ในไตรมาสแรก อันอาจส่งผลตามมาให้สินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 2 เปลี่ยนแปลงอยู่ในช่วงระหว่างการหดตัวร้อยละ 0.4 และการขยายตัวร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อน (เทียบกับไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ 2.1 ขณะที่ การเปรียบเทียบกับปีก่อน จะได้รับอิทธิพลของฐานที่สูง จึงทำให้มีอัตราการเติบโตที่ชะลอลง) ทั้งนี้ แรงหนุนที่สำคัญน่าจะมาจากสินเชื่อหมุนเวียนในภาคการผลิต หลังจากที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มขยับสูงขึ้น เช่นเดียวกับยอดการผลิตและคำสั่งซื้อเริ่มฟื้นตัวขึ้นจากภาวะการหดตัวลงแรงในไตรมาส 1/2552 นอกจากนี้ สินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย น่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง หลังจากที่การคาดการณ์เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดอาจกระตุ้นให้มีความต้องการในสินเชื่อประเภทดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น ประการที่สอง การรับรู้ต้นทุนเงินฝากที่ทยอยลดลง เนื่องจากการที่ธนาคารพาณิชย์ไทยเดินหน้าลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนพฤษภาคม 2552 นั้น ทยอยมีผลในการลดต้นทุนเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทยชัดเจนขึ้นในไตรมาส 2/2552 ตามเงินฝากประจำเดิมที่ทยอยครบกำหนดและเริ่มบังคับใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากใหม่ที่ต่ำลง อีกทั้งมีโครงการเงินฝากพิเศษที่ทยอยออกในช่วงต้นปี ทยอยครบกำหนดในช่วงไตรมาส 2 นี้เช่นกัน
นอกจากนี้ การฟื้นตัวของสินเชื่อดังกล่าว ผนวกกับการใช้จ่ายในบางภาคส่วนที่ปรับตัวดีขึ้นบ้างในไตรมาส 2 อาทิ การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ดังจะเห็นได้จากปริมาณการใช้จ่ายในประเทศต่อบัตรเฉลี่ยของเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม (ของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ) อยู่ที่ 3,390 บาทต่อบัตร ขยับขึ้นจาก 1,472 บาทต่อบัตรในไตรมาสแรกของปีนี้นั้น น่าจะช่วยส่งเสริมให้รายไ+ด้ค่าธรรมเนียมมีโอกาสขยับขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าได้บ้าง แม้ว่าภาพรวมของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วง 5 เดือนแรกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จะแสดงอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างอ่อนแอ โดยขยายตัวร้อยละ 4.5 เทียบกับที่เคยทำได้ถึงร้อยละ 16.6 ในปี 2551 นอกจากนี้ รายได้จากธุรกิจบริการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) ก็น่าจะช่วยหนุนภาพรวมของรายได้ค่าธรรมเนียมเช่นกัน
แนวโน้มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2552
ภายใต้มุมมองที่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 จะมีอัตราการหดตัว (%YoY) รายไตรมาสที่ค่อยๆ ลดลง จนอาจพลิกกับมาบันทึกอัตราการเติบโตได้ในที่สุดในไตรมาส 4/2552 โดยได้รับแรงหนุนที่สำคัญจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก (สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย นำโดยจีนและสหรัฐฯ) ตลอดจนความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐนั้น ธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งสินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียมในช่วงครึ่งปีหลัง จึงน่าจะเติบโตขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก โดยคาดหวังการเติบโตของสินเชื่อในอัตราเร่งถึงประมาณ 1.5-3.0 แสนล้านบาท (เทียบกับที่คาดว่าจะหดตัว 1.0-1.5 แสนล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรก) จากความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจ ครัวเรือน รวมถึงภาครัฐเพื่อไฟแนนซ์การใช้จ่ายตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับช่วงครึ่งปีหลัง มักเป็นช่วงฤดูกาลของสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์มักเร่งผลักดันให้เข้าเป้าหมายรายปีที่ตั้งไว้ ขณะที่ สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมนั้น ก็น่าจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งแรกของปี ตามปริมาณสินเชื่อใหม่ ธุรกรรมทางการเงิน และการใช้จ่ายที่อาจคึกคักขึ้น
กระนั้นก็ดี อาจกล่าวได้ว่า การฟื้นตัวของธุรกิจหลักดังกล่าวเป็นเพียงช่วงเริ่มต้น ทำให้น่าจะยังมีความเปราะบาง ขณะที่ สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจก็ยังมีความซับซ้อนอีกหลายประการ อันเป็นโจทย์ในการดำเนินงานที่สำคัญในระยะถัดไป กล่าวคือ
ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีอยู่ แม้นักวิเคราะห์จะยังคงมุมมองในเชิงบวกต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกและไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2553 เช่นเดียวกับการที่องค์กรระหว่างประเทศ อาทิ IMF ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2553 ขึ้นจากเดิมร้อยละ 1.9 มาที่ร้อยละ 2.5 แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามุมมองดังกล่าว ตั้งอยู่บนความไม่แน่นอนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหลายประเทศในโลกกำลังก้าวเข้าสู่ฤดูหนาวที่อาจทำให้การระบาดทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีตัวแปรในประเทศ อาทิ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งหากตัวแปรดังกล่าว มีการเคลื่อนไหวที่เหนือความคาดหมายไปในเชิงลบมาก ก็อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ตลอดจนธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ไทยให้ลดความสดใสลงได้
การแข่งขันที่รุนแรงระหว่างธนาคารพาณิชย์มักจบลงด้วยสงครามราคา ซึ่งบั่นทอนเสถียรภาพด้านรายได้ในระยะยาว โดยเฉพาะในการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรายใหญ่และเอสเอ็มอีที่ยังมีการเติบโตของธุรกิจ หรือลูกค้าบุคคลระดับบนที่รายได้และการใช้จ่ายมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรเศรษฐกิจต่ำกว่ากลุ่มลูกค้าที่มีระดับรายได้รองลงมา ทั้งนี้ เนื่องจากในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ต่างพุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มลูกค้าดังกล่าว เพื่อบรรเทาความเสี่ยงเครดิตในภาพรวม จึงทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่เสนอต่อลูกค้า จนในหลายกรณี ทำให้ไม่คุ้มต้นทุนของเงินทุน ทั้งนี้ แม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง อาจทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายขยายวงกว้างออกไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพรองลงไป มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสงครามราคาจะยุติลง เพราะสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินสามารถลอกเลียนแบบกันได้ง่าย ขณะเดียวกันหากกลยุทธ์ด้านราคายังดำเนินต่อเนื่องไปในอนาคต ก็อาจสร้างข้อจำกัดด้านรายได้ให้กับธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อไปได้
ปัญหาคุณภาพหนี้ แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะมีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้น แต่คุณภาพหนี้ที่วัดจากสินเชื่อด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) มักเป็นตัวแปรตาม (Lagging Indicator) ที่มักปรับตัวตามหลังกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริง อีกทั้งยังได้รับอิทธิพลอย่างมากจากนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ หรือการขายหนี้
นั่นหมายความว่า ถึงแม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยอาจเริ่มฟื้นจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 1/2552 แต่ปัญหาคุณภาพหนี้อาจยังไม่ได้ฟื้นตัวขึ้นตามในทันที ดังจะเห็นได้จากการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mentioned Loans) ที่บ่งชี้ถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ยังน่าเป็นห่วง ตัวแปรด้านคุณภาพหนี้ดังกล่าว อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยมีความจำเป็นที่จะต้องคงนโยบายการติดตามคุณภาพหนี้และการกันสำรองแบบอนุรักษ์นิยมต่อไป ซึ่งอาจทำให้ค่าใช้จ่ายในการกันสำรองในช่วงครึ่งปีหลังยังทรงตัวอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงครึ่งปีแรก ขณะเดียวกัน มูลหนี้ที่เข้าสู่การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารพาณิชย์อาจยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง (หลังจากที่ยอดหนี้ปรับโครงสร้างเฉลี่ยรายไตรมาสเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 33-46 ในปี 2551 และไตรมาส 1/52 ที่ผ่านมา) จนมีผลกดดันรายได้ดอกเบี้ยรับแท้จริงจากเงินให้สินเชื่อในภาพรวมได้ เนื่องจากหนึ่งในทางออกของการปรับโครงสร้างนี้ คือ การผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ย หรือระยะเวลาการชำระหนี้
การระดมเงินฝากอาจเข้มข้นมากขึ้น ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 เงินฝากของธนาคารพาณิชย์อาจยังคงเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากทางเลือกในการออมอื่นๆ โดยเฉพาะการออกตราสารหนี้ของภาครัฐและภาคเอกชน การเร่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ของกองทุนรวมที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากประจำทั่วไป ตลอดจนตลาดหุ้นที่อาจกลับมาฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปี ขณะที่ การปล่อยสินเชื่ออาจมีความก้าวหน้ามากขึ้น หากเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นจริง ซึ่งปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว จะทำให้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยมีโอกาสปรับตัวลดลง จนอาจกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ไทยทยอยออกผลิตภัณฑ์เงินฝากโครงการพิเศษอีกครั้ง ทั้งนี้ แม้ว่าการออกโครงการเงินฝากพิเศษดังกล่าว มีข้อดีตรงที่ช่วยลดความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเป็นการทั่วไป อันอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายในวงกว้าง แต่การที่อัตราผลตอบแทนของโครงการเงินฝากพิเศษดังกล่าว อยู่ในระดับสูงกว่าปกติ ผนวกกับการแข่งขันด้านราคาระหว่างสถาบันการเงิน อาจผลักดันให้เกิดวัฏจักรการเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จึงอาจทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายของธนาคารพาณิชย์ไทยในระยะต่อไปได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การบริหารสภาพคล่อง ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อาจยังไม่ปรับขึ้นในอนาคตอันใกล้ แม้ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีโอกาสปรับตัวลดลง แต่ก็อาจยังอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับระดับ 2 ล้านล้านบาท เทียบกับปริมาณล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2552 ที่ 2.2 ล้านล้านบาท โดยปริมาณสภาพคล่องส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 54 และ 40 อยู่ในรูปเงินลงทุนสุทธิ และการปล่อยกู้สุทธิในตลาดเงินระยะสั้น ตามลำดับ ทำให้อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าว ค่อนข้างเชื่อมโยงกับอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดหมายว่า ธปท.อาจพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ถึงสิ้นปี 2551 หรือครึ่งแรกของปี 2552 เป็นอย่างน้อย เนื่องจากให้น้ำหนักกับความจำเป็นในการประคับประคองพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยที่น่าจะยังคงมีความเปราะบาง แม้ว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีก็ตาม นั่นหมายความว่า การบริหารสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจเผชิญข้อจำกัดด้านอัตราผลตอบแทนที่อยู่ในระดับต่อเนื่องไปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทำให้การรักษาความสามารถในการทำกำไร หรือการเพิ่มผลตอบแทนของพอร์ตสินทรัพย์ในภาพรวม คงขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าในการขยายสินเชื่อเป็นสำคัญ
โดยสรุป สำหรับแนวโน้มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น อาจกล่าวได้ว่า ความสามารถในการทำกำไรที่ประเมินจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอาจผ่านพ้นจุดต่ำสุดในไตรมาส 1/2552 มาแล้ว โดยในไตรมาส 1/2552 ที่ผ่านมา ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดลงถึงร้อยละ 0.27 จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งบันทึกอัตราการถดถอยที่เร่งขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.20 ในไตรมาส 4/2551 ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 2/2552 อาจไม่ลดลงจากในไตรมาส 1/2552 ที่ร้อยละ 3.29 และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ทั้งนี้ ปัจจัยหนุนความสามารถในการทำกำไรดังกล่าวทั้งสำหรับในไตรมาส 2/2552 และในช่วงที่เหลือของปี 2552 ที่สำคัญมาจากโอกาสการฟื้นตัวของสินเชื่อ ตามสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ นอกจากนี้ การทยอยรับรู้ต้นทุนเงินฝากที่ต่ำลงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำในช่วงก่อนหน้านี้ ยังเป็นผลดีต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมนั้น คาดว่าคงได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของสินเชื่อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะหนุนปริมาณธุรกรรมทางการเงินให้คึกคักขึ้น ทำให้ในภาพรวมแล้ว ธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียม จึงน่าจะมีแนวโน้มที่สดใสขึ้นจากในไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการฟื้นตัวของธุรกิจหลักดังกล่าวเป็นเพียงช่วงเริ่มต้น ทำให้น่าจะยังมีความเปราะบาง ขณะที่ สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจก็ยังมีความซับซ้อนอีกหลายประการ อันเป็นโจทย์ในการดำเนินงานที่สำคัญในระยะถัดไป ได้แก่ ประการแรก ปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ยังคงมีอยู่ทั้งจากความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และความไม่แน่นอนทางการเมือง ประการที่สอง การแข่งขันที่รุนแรงระหว่างธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะในด้านสินเชื่อ ที่มักนำมาสู่การแข่งขันด้านราคา อันจะสร้างข้อจำกัดด้านรายได้ในระยะต่อไป ประการที่สาม ปัญหาด้านคุณภาพหนี้ ที่อาจยังไม่ปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยมีค่าใช้จ่ายในการกันสำรองที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปีแล้ว ก็ยังจะมีผลกดดันรายได้ดอกเบี้ยรับแท้จริงจากเงินให้สินเชื่อในภาพรวมได้ ประการที่สี่ แนวโน้มการระดมเงินฝากอาจเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งอาจนำมาสู่การแข่งขันออกผลิตภัณฑ์เงินฝากโครงการพิเศษที่นำเสนออัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประจำทั่วไป อันจะเพิ่มภาระด้านต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายให้กับธนาคารพาณิชย์ และประการสุดท้าย คือ อัตราผลตอบแทนจากสภาพคล่องส่วนเกินที่แม้ว่าปริมาณสภาพคล่องส่วนเกินดังกล่าว จะปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ก็อาจยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่ อัตราผลตอบแทนจากสภาพคล่องน่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ ตราบใดที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังไม่เข้าสู่จังหวะขาขึ้น ทำให้การรักษาความสามารถในการทำกำไรในภาพรวม คงต้องฝากความหวังไว้ที่การขยายสินเชื่อเป็นสำคัญ